Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

จารึกแจ้งโจร ?!?

จารึกแจ้งโจร ?!?

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 เวลา 10:14:10
บทความโดย : ทีมงาน

ในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองนี้เราจะได้ยินบ่อยๆ จากข่าวจำพวกข่าวชาวบ้าน ทำนองว่าที่บ้านโดนโจรขึ้นมาขโมยของไปหมดแล้ว มาหลายรอบ จนไม่มีอะไรเหลือแล้ว เจ้าของบ้านไม่รู้จะทำเช่นไร จึงติดป้ายแจ้งโจรให้รู้ซะเลย เช่น หญิงสาวเจ้าของบ้านท่านหนึ่งติดป้ายไว้ว่า “ถึงคุณโจร ... คุณโจรเจ้าขา กรุณาไปขโมยบ้านอื่นบ้างเถอะค่ะ บ้านนี้หมดเกลี้ยงแล้ว ไม่มีอะไรให้ขโมยแล้ว ขโมยมาแล้ว 9 ครั้ง ขอให้เป็นเลขมงคลสุดท้ายเถอะนะคุณขโมย”


หรือคุณป้าอีกท่านหนึ่งก็ติดป้ายไว้ว่า “ข่าวดี! ประกาศ น้องๆ หลานๆ ขโมย ที่รัก ถ้าจะเอาของบ้านป้าอีก ไม่ต้องตัดกุญแจ หรือถีบประตูบ้านป้าอีก ไขกุญแจเข้าไปเลย กุญแจอยู่ใต้โซฟาสีแดง ยังพอมีของเหลืออยู่นิดหน่อย ไม่ได้หลอก”




หรือชายหนุ่มคนหนึ่งก็ทำป้ายติดไว้หน้าบ้านว่า “กราบเรียน โจร!ที่เคารพ...มาขโมยรถผม สู้มาเอาเมียผมไปดีกว่า”


ก็เป็นเรื่องทุกข์ของชาวบ้านที่ดูจะไม่ใช่เรื่องชวนขำขันแต่อย่างใด  ถือเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งระหว่างเจ้าทุกข์ซึ่งก็ทุกข์จนไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร รู้สึกไร้ที่พึ่งจนต้องบอกกล่าวเล่าแจ้งไปยังโจรผู้ก่อการโดยตรง สะท้อนบุคลิกบางอย่างของคนไทยที่มีความประนีประนอมถ้อยทีถ้อยอาศัยแม้กระทั่งกับโจร

ผู้เขียนนึกถึงข่าวคราวเหล่านี้ขึ้นมา เนื่องจากได้อ่านพบข้อมูลจารึกหลักหนึ่งเข้า มีเนื้อหาใกล้เคียงกับในป้ายข้างต้น  เห็นว่าน่าสนใจดี และเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าบุคลิกของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นไม่เคยเปลี่ยน ยังคงมีความถ้อยทีถ้อยอาศัยและ ‘คุยกันได้’ แม้กับคนที่เรารู้ว่าไม่หวังดีกับทรัพย์สินของเรา

จารึกที่กล่าวถึงนี้คือ จารึกที่อุโบสถวัดหน้าพระเมรุ 2 เป็นจารึกอักษรไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์ ภาษาไทย จารไว้เมื่อ พ.ศ. 2378 ผู้สร้างคือ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาการพระนครศรีอยุธยา (คนเดียวกับผู้สร้างจารึกที่อุโบสถวัดหน้าพระเมรุ 1)



พระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้สร้างจารึกโดยระบุข้อความเป็นร่ายไว้ดังนี้ (ผู้เขียนได้ปริวรรตมาจากคำอ่านจารึกอีกทอดหนึ่ง)

“เราผู้มี(อ)ภินิหาร        ชำนาญในอุปเทศ        วิเศษในคดีโลกคดีธรรม        สรรพจะรอบรู้ทุกสิ่ง        
ปัญญายิ่งทุกอย่าง        ถึงจะใบ้พรางวางขุมทรัพย์        จะลึกลับฉันใดก็ดี        ถึงจะมีก็แจ้งใจ        
ถึงจะหาไม่ก็รู้        อันพวกผู้คิดปริศนา        เสาะแสวงหาขุมของ        เงินทองที่ฝังแฝง
ในตำแหน่งพระอาราม        นามชื่อวัดพระเมรุราช        อย่าพึงมาดพึงหมาย        ขุดเจาะทำลายหาของ        
ป่วยการปองเสียเปล่า        บ่มีเท่าปีกริ้น        เงินทองสิ้นไปแล้ว        บ่มิแคล้วมีคลาด        
แต่สักบาทก็บ่เหลือ        ใครอย่าเชื่ออย่าหลง        ปลงปริศนาต่อไป        ไฟนรกจะเผาผลาญ   
ยมบาลจะทำโทษ        พระจะโปรดก็บ่ได้        เราใช้ผู้สำเร็จ         บอกเขบ็ตขบวนถ้วนถี่            
วัดนี้ที่เราสร้าง        ทำหนีอย่างให้ประหลาด        เพราะเปรมปราชญ์ปรีชา        ไว้ปัญญาให้ชม          
ไว้คารมให้ฟัง        อย่าหวังว่าทำไบ้พราง        เราบ่วางไว้ของ        เงินทองบ่ห่อนมี    
อย่ายินดีโดยหลง        ใครอย่าปลงอย่าเจาะ        ขุดคัดกะเทาะอิฐปูน        ให้เสียสูญของบูชา           
ล้างศรัทธาเราอุทิศ        เป็นอุกฤษฎ์โทษโหดหืน        ให้ตายคืนตายวัน        อย่าให้ทันถึงเดือน      
อย่าให้เคลื่อนถึงปี        ตกอเวจีแสนกัปกัลป์        อย่าให้ทันพระโปรดได้        แม้ผู้ใด(เลื่อม)ใสศรัทธา          
โมทนาในกุศล        เราแผ่ผลอุทิศให้        จำเริญในมนุษย์สมบัติ        เสวยสวัสดิ์ในสวรรค์   
ทันพระศรีอาริยเจ้า        สำเร็จมรรคผลเข้า        สู่ห้องนิรพาน        ขอสำเร็จมรรคผล       
เป็นพระอริยบุคคลอันประเสริฐ        นิพพานปัจจโยโหตุ ฯ     

พระสังฆเถรผู้เฒ่าเจ้าอธิการพระภิกษุสงฆ์องค์ใดก็ดี สัปบุรุษผู้มีศรัทธา ช่วยซ่อมแซมอย่าให้ผนังหลังคาแตกร้าวชำรุดรั่ว จะได้ถาวรไปห้าพันปี”

พอจะสรุปความจากจารึกได้คร่าวๆ ดังนี้        

พระยาไชยวิชิต (เผือก) แจ้งไว้ในจารึกว่า ตนเองนั้นเป็นคนฉลาดรอบรู้ๆ หมดว่าที่วัดแห่งนี้มีขุมทรัพย์หรือไม่มี ใครที่คิดจะไขปริศนาเพื่อหาขุมทรัพย์นั้นก็อย่าได้หวังเลย ป่วยการเปล่าๆ เพราะที่วัดนี้ไม่มีขุมทรัพย์เหลือแล้วแม้เงินสักบาท ใครยังจะมาขุดมาเจาะเพื่อหาขุมทรัพย์นั้น ถือว่ามาทำลายศรัทธาของผู้อุทิศ ขอให้ตายภายในหนึ่งเดือน ตายแล้วก็ตกนรกอเวจีชั่วแสนกัปกัลป์ไม่ได้ทันเห็นพระศรีอาริย์ ส่วนผู้ใดที่มีศรัทธาก็ขอให้เจริญๆ สำเร็จมรรคผล ถึงนิพพานโดยถ้วนหน้ากัน

จะเห็นว่าเนื้อความในจารึกมีส่วนคล้ายป้ายประกาศแจ้งโจรข้างต้นไม่น้อยทีเดียว คือมีการเจรจาแจ้งโจรว่าไม่มีอะไรให้ขโมยแล้ว มาก็เสียเวลาเปล่า แม้จะมีการสาปแช่งในตอนท้ายค่อนข้างร้ายแรง แต่โดยรวมก็ถือว่าคุยกันเบาๆ หรือ ‘คุยกันได้’ สะท้อนความน่ารักเล็กๆ ของผู้สร้างจารึก
อย่างที่ใครๆ ก็บอกไว้ว่าคนไทยเป็นคนอารมณ์ดี (^ ^)  
 
สะท้อนจาก :
พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร. “จารึกที่อุโบสถวัดหน้าพระเมรุ 2.” ใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2548 (online). เปิดข้อมูลเมื่อ 11 พฤษภาคม 2559 หาข้อมูลจาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=1108

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : จารึกแจ้งโจร จารึกที่อุโบสถวัดหน้าพระเมรุ 2 จารึกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จารึกพระยาไชยวิชิต (เผือก)