Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ความสับสนในเรื่องของ "ปาง" กับ "พุทธอิริยาบถ"

ความสับสนในเรื่องของ "ปาง" กับ "พุทธอิริยาบถ"

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 เวลา 08:51:14
บทความโดย : ทีมงาน

คำว่า "ปาง" ที่เราใช้เรียกพระพุทธรูปตามปางหรือตามพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่งนั้น สันนิษฐานว่าเดิมนั้นไม่มี การสร้างพระพุทธรูปเพื่อแสดงความหมายถึงพระพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่งนั้นมีอยู่แล้ว แต่มิได้นำคำว่า "ปาง" มาใช้กับพระพุทธรูป

ในเอกสารเก่าๆ ของไทย เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูป จะใช้ว่า "พระพุทธเจ้า" และหากมีการขยายรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของพระพุทธรูปนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยอย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน เอกสารเก่าอาจจะใช้ว่า พระพุทธเจ้าทรงชนะมาร โดยไม่มีคำว่า ปาง

หรือหากต้องการแสดงลักษณะของพระพุทธรูปเพิ่มเติม ก็อาจเรียกตามอิริยาบถของพระพุทธรูป เช่น พระเจ้าหย่อนตีน หรือ พระเจ้าจงกรม

หรือไม่ก็ถวายพระนามให้แก่พระพุทธรูปองค์นั้นๆ เลย เช่น พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธชินราช ฯลฯ

คาดว่า คำว่า "ปาง" ได้ถูกนำมาใช้กับพระพุทธรูป ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพบรูปประติมากรรมขนาดเล็กสร้างขึ้นในสมัยนี้ เป็นพุทธประวัติตอนต่างๆ จำนวน 27 ตอนด้วยกัน ซึ่งในแต่ละตอนนั้นก็ไม่ได้สร้างเป็นพระพุทธรูปแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะมีองค์ประกอบแสดงเรื่องราวด้วย ประกอบกับวรรณกรรมสำคัญที่แต่งขึ้นในสมัยนี้คือ ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ นอกจากนั้นยังมีหนังสือเรื่อง ภาพพระพุทธรูป ปรากฏในคำนำว่าเป็นของสมเด็จฯ กรมพรระปรมานุชิตชิโนรส ข้างในหนังสือเป็นภาพวาดด้วยดินสอขาวในสมุดไทยดำ เป็นพระพุทธรูปแบบต่างๆ รวม 32 ภาพ มีคำบรรยายใต้ภาพว่าปางที่เท่าไร ชื่อปางว่าอะไร นี่จึงพอจะเป็นหลักฐานให้คาดเดาได้ว่า คำว่า "ปาง" ที่ใช้กับพระพุทธรูปน่าจะมีใช้ตั้งแต่สมัยนี้

คำว่า "ปาง" ในปัจจุบันนี้ใช้ในความหมายที่ชักจะเลือนไป บางครั้งใช้กับพระพุทธรูปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือแสดงพุทธประวัติเลยก็มี เช่น การใช้คำว่า "ปาง" กับพระพุทธรูปที่แสดงอิริยาบถ  ได้แก่ นั่ง นอน ยืน และเดิน (จงกรม) ซึ่งเป็นอิริยาบถหนึ่งของพระพุทธองค์ มีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มิใช่พุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง จึงเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปยืน ก็น่าจะเรียกว่า พระพุทธรูปยืน ไม่ใช่ พระพุทธรูปปางประทับยืน  ซึ่งการยืนนั้นเป็นอิริยาบถทั่วไปของพระพุทธองค์ ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นพุทธประวัติตอนใดเลย พระพุทธรูปนอน พระพุทธรูปนั่ง และพระพุทธรูปเดิน ก็เช่นกัน
 
เก็บความจาก:
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. "ประติมากรรมขนาดเล็ก." ศิลปากร 46, 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม, 2546) : 107-113.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. "พระพุทธรูปปางปรินิพพานกับพระพุทธไสยาสน์." ศิลปากร 46, 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2546) : 106-114.
 
ภาพธัมเนลจาก :
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=29&chap=2&page=t29-2-infodetail03.html

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปางของพระพุทธรูป พุทธอิริยาบถ