“แมวโกนจา” หรือบางแห่งเขียนว่า “โกญจา” (มาจาก โกญฺจา แปลว่า นกกระเรียน ในภาษาบาลี) แมวโกนจาเป็นแมวไทยโบราณพันธุ์ที่หาได้ง่ายกว่าทุกสายพันธุ์ที่ยังเหลืออยู่ หากแต่คนไม่นิยมเลี้ยง เนื่องจากความเชื่อโบราณเกี่ยวกับแมวดำ ว่าเป็นแมวผี และอัปมงคล ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว แมวพันธุ์นี้นับเป็นแมวมงคลพันธุ์หนึ่ง หากเลี้ยงดีก็จะให้คุณแก่ผู้เลี้ยงดังตำราว่าไว้
แมวโกนจาเป็นแมวสีดำตลอดตัว คล้ายกับแมวนิลรัตน์ มีข้อแตกต่างที่พอจะเห็นได้ชัดคือ แมวโกนจาจะมีนัยน์ตาเป็นสีเหลืองอำพัน ส่วนแมวนิลรัตน์จะมีนัยน์ตาเป็นสีดำสนิท รูปพรรณสัณฐานอื่น ๆ เช่นลักษณะของขน รูปร่าง และหางนั้นก็มีส่วนแตกต่างกันแบบยิบย่อย อาจจะแยกความต่างได้ไม่ชัดเจนนัก แมวโกนจาจะมีรูปร่างสะโอดสะอง คล่องแคล่ว หางยาว สง่างามเหมือนสิงโต ดูน่าเกรงขาม หรือบางที คำว่าโกนจา หรือโกญจานั้น อาจจะมาจากคำว่า โกญจนาท ที่หมายถึงเสียงร้องที่บันลือ กึกก้อง ก็เป็นได้
บทที่ 7 แมวโกนจา
คำถ่ายถอดจากสมุดไทย (ตามอักขรวิธีเดิม)
ฯ|7 หนืงกัายดังป่รอดมีสี เลือมแสงรูจี ดังแกล้งมาลูบล่ลัายทา
เลี้ยงดีมีคูนส่หัสา จ"งเร่งหามา เลี้ยงไว้ยาแคลส"งไส ฯ|
คำปริวรรตเป็นภาษาไทยปัจจุบัน
หนึ่งกายดำปลอดมีศรี เลื่อมแสงรูจี ดังแกล้งมาลบลายทา
เลี้ยงดีมีคุณสหัศา จงเร่งหามา เลี้ยงไว้อย่าแคลงสงสัย ฯ|
สรุปรูปพรรณของแมวโกนจาจากตำรา - มีขนทั่วกายสีดำปลอด ขนเป็นมันเลื่อมเงางาม หากเลี้ยงดีจะให้คุณมหาศาล
เมื่ออ่านถึงตรงนี้ใครจะมองว่าแมวโกนจาเป็นแมวผีต่อไปเห็นจะมิได้ ด้วยตำราว่าไว้ดังนี้ เชื่อไว้ไม่เสียหลาย แมวมงคลหากเลี้ยงไว้มักจะให้คุณแก่ผู้เลี้ยงไม่มากก็น้อย
น่าเสียดายที่สืบค้นไม่พบประวัติความเป็นมาของแมวโกนจา พบแต่ข้อมูลที่บอกรายละเอียดลักษณะรูปร่างตามสายพันธุ์ซึ่งมีบางแห่งระบุไว้ว่าแมวโกนจานั้นมีลักษณะคล้ายกับแมวสายพันธุ์ต่างชาติสายพันธุ์หนึ่ง คือ แมวบอมเบย์
จบตอนที่ 7
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ : ตำราแมว ตำราแมวไทย ฉบับ หมอเห ณ วัดท่าพูด วรรณกรรมวัดท่าพูด