Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

แผ่นทองคำกับจารึก

แผ่นทองคำกับจารึก

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 เวลา 09:32:19
บทความโดย : ทีมงาน

ข่าวการขุดพบแผ่นทองคำในสวนปาล์มที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง สร้างความฮือฮาน่าสนใจให้กับสังคมไทยไม่น้อย ทำให้ผู้ที่อยากได้ทองคำพากันไปขุดทองคำที่ขุดพบนั้นเป็นแผ่นทองคำรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดประมาณ 5x5 ซม. ในข่าวยังบอกอีกว่าที่แผ่นทองคำมีภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน(ที่จริงควรเป็นอักษรญี่ปุ่น หรืออักษรจีน) จารึกไว้ที่บริเวณมุมของแผ่นทองคำ อย่างไรก็ดีก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเป็นอักษรใดกันแน่ เพราะภาพที่เห็นตามข่าวไม่ชัดเท่าที่ควร อักษรจีนและอักษรญี่ปุ่นเองก็มีความคล้ายคลึงกันในด้านเส้นอักษร เพราะอักษรญี่ปุ่นเองก็ยืมตัวอักษรจีนมาใช้โดยบางตัวก็ได้ลดทอนเส้นอักษรไปบ้างและเรียกตัวอักษรชนิดนี้ว่า “คันจิ” ซึ่งใช้ควบคู่ไปกับอักษร “ฮิรางานะ” ที่เป็นอักษรญี่ปุ่นดั้งเดิม และอักษร “คาตากานะ” อักษรที่ใช้เขียนคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ ดังนั้นญี่ปุ่นเอง ก็มีอักษรที่ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ 3 แบบ ดังกล่าว แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดก็คืออักษรคันจิ หากเราลองดูหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นก็จะเต็มไปด้วยอักษรคันจิ ซึ่งก็ดูคล้ายๆ หนังสือพิมพ์จีนเหมือนกัน
กลับมาดูที่บ้านเราบ้าง ในอดีตบ้านเราเองก็มีการจารึกลงบนแผ่นทองแบบนี้เช่นกัน บางครั้งเราก็เรียกว่า “สุพรรณบัฏ” ซึ่งแปลว่า บัตรทองคำ จารึกบนแผ่นทองคำของเรานี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยโน่นแล้ว เช่น “จารึกพระพุทธฎีกาสมเด็จพระคุรุจุฬามุณีศรีสังฆราช” จารึกเมื่อ พ.ศ. 1990 ด้วยอักษรขอมสุโขทัย ภาษาไทย มีลักษณะเป็นสุพรรณบัฏระบุชื่อว่าเป็นของมหาเถรสารี หลังจากนั้นก็พบจารึกบนแผ่นทองคำแบบนี้เรื่อยมาจนถึงช่วงยุครัตนโกสินทร์ดังนี้
“จารึกคาถาหัวใจพระสูตร” อักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลี จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
“จารึกคาถาหัวใจพระพุทธคุณ” อักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลี จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
“จารึกวัดส่องคบ 1” อักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย, บาลี จารึกเมื่อ พศ. 1951
“จารึกเจ้าเถรพุทธสาคร 1” อักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย จารึกเมื่อ พ.ศ. 1959
“จารึกเจ้ารัตนโมลีไตรโลกย์” อักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย จารึกเมื่อ 1986
“จารึกแผ่นทองคำจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ 1” อักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
“จารึกแผ่นทองคำจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ 2” อักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
“จารึกแผ่นทองคำจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ 3” อักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
“จารึกพระมหาเถรชัยโมลี” อักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
“จารึกเจ้าเถรพุทธสาคร 2” อักษรขอมอยุธยา, ภาษาไทย จารึกเมื่อ พศ. 2047
“จารึกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี” อักษรขอมรัตนโกสินทร์ ภาษาบาลี จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
“จารึกเจ้าวัดบริพารภิกษุ” อักษรธรรมล้านนาและอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
“จารึกวัดวิมาน 1” อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
“จารึกวัดวิมาน 2” อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
 
เนื้อหาจารึกแผ่นทองคำส่วนใหญ่ที่พบเป็นการประกาศนามที่ได้รับการแต่งตั้งยศ ตำแหน่งต่างๆ ของเจ้าของสุพรรณบัฏนั้นๆ หรือเป็นจารึกคาถาย่อ และมักจารึกด้วยอักษรขอม
 
อักษรขอมในสมัยต่างๆ ทั้งสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ที่ใช้จารึกบนแผ่นทองคำเหล่านี้ เป็นอักษรที่เราใช้ควบคู่กับอักษรไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่มีพัฒนาการตัวอักษรน้อยกว่าอักษรไทยมาก อักษรขอมไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงสัณฐานตัวอักษรมากนัก มักใช้เขียนเรื่องราวในพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีอักขรวิธีที่ง่ายต่อการเขียนภาษาบาลี อย่างไรก็ตามอักษรขอมเองก็หมดความนิยมลงไปในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการนำเอาแท่นพิมพ์หนังสือเข้ามา การพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกด้วยอัการขอมเป็นเรื่องยากมากในการทำแท่นพิมพ์ ดังนั้นจึงมีการคิดค้นการเขีนภาษาบาลีด้วยอักษรไทยขึ้นมาโดยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เพื่อที่จะให้พระไตรปิฎกแพร่หลายไปในสังคมวงกว้าง แต่เราก็ยังพบเห็นอักษรขอมอยู่บ้างในปัจจุบัน ที่แฝงอยู่กับพิธีกรรม ความเชื่อ เช่น การเจิม ผ้ายันต์ การสักยันต์ พระเครื่อง ฯลฯ
อักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรท้องถิ่นที่ใช้กันในอาณาจักรล้านนาในอดีต มีจุดประสงค์เพื่อใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกันกับอักษรขอม อักษรทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันในด้านรูปสัณฐานโดยที่อักษรธรรมล้านนามีพัฒนาการมาจากอักษรมอญโบราณใช้กันในแถบภาคเหนือของประเทศไทย แต่อักษรขอมมีพัฒนาการมาจากอักษรเขมรโบราณใช้กันอยู่บริเวณภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ
ทางด้านประวัติของจารึก เมื่อตรวจสอบประวัติของจารึกแผ่นทองคำแต่ละชิ้นพบว่า ส่วนใหญ่จะพบที่วัด แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนพบ หรือใครมาถวายให้กับวัด บางชิ้นก็ไม่มีที่มาที่ไป แต่ก็มีบางชิ้น เช่น จารึกคาถาหัวใจพระสูตร และจารึกคาถาหัวใจพระพุทธคุณ ที่เป็นสมบัติส่วนบุคคลและได้นำมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ทางการเพื่อเป็นสมบัติของชาติ ตามประวัติได้เล่าว่า “นายสมพงษ์ และนางวิภาพรหมวิภา ร้านขายยาพรมวิภา ตลาดสุโขทัย จ.สุโขทัย ได้มอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502”
 
 
 
ข้อมูลและภาพข่าวขุดทองจากไทยรัฐ www.thairath.co.th
ข้อมูลจารึกจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย www.sac.or.th/databases/inscriptions

ผู้เขียน : ดอกรัก พยัคศรี

คำสำคัญ : จารึกแผ่นทองคำ แผ่นทองคำ การขุดทอง การพบแผ่นทอง