‘ศุภ’ ภาษาสันสกฤต แปลว่า ดี งาม, ‘ลกฺษณ’ ภาษาสันสกฤต แปลว่า รูปร่าง รูปลักษณ์ หรือ ลักษณะ อย่างที่เรา ๆ ใช้กันในภาษาไทยนั่นเอง รวมความแล้ว ‘ศุภลักษณ์’ ก็แปลได้ว่า ลักษณะที่ดี ลักษณะที่งาม
“แมวศุภลักษณ์” เป็นแมวที่มีลักษณะดีสมชื่อ ทั้งยังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกด้วย น่าเสียดายที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสายพันธุ์ Burmese Cat ทั้ง ๆ ที่รู้กันว่าเป็นแมวที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองไทย จากประวัติทราบว่า แมวชนิดนี้ได้ติดตามเจ้าของที่เป็นคนไทยแต่โดนกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกที่พม่า และแพร่พันธุ์มาจนได้รับความนิยม ชาวตะวันตกที่ไปอยู่พม่าเข้าใจผิด คิดว่าเป็นแมวพม่า จึงนำไปจดทะเบียนเป็น Burmese Cat ดังกล่าว
กระนั้นก็ตาม ในสายตาของชาวไทย ‘แมวศุภลักษณ์’ หรือ เจ้า ‘แมวทองแดง’ นี้ ก็ยังถือว่าเป็นแมวไทยอยู่ดี เพราะมีโครงสร้าง รูปร่าง และลักษณะนิสัยเป็นแบบฉบับแมวไทย อีกทั้งยังคล้ายคลึงมากกับแมว Siamese Cat หรือ ‘แมววิเชียรมาศ’ที่แสนโด่งดัง เพียงแต่ว่าแมวศุภลักษณ์จะสีเข้มกว่า และมีสีเหลือบแดงมากกว่า
“แมวศุภลักษณ์” มีรูปร่างลักษณะอย่างไรในสมัยก่อน? จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับแมวศุภลักษณ์ที่ยังพบเห็นกันอยู่ทุกวันนี้? ต้องศึกษาจาก ‘ตำราแมว’ เป็นอาทิ ^^-
บทที่ 4 แมวศุภลักษณ์
คำถ่ายถอดจากสมุดไทย (ตามอักขรวิธีเดิม)
ฯ|4 หนืงนามทองแดงแสงใส เลบลี้นฟันใน นั้นแดงดังแกลงย้อมมา
ใครเลี้ยงได้ส่ถา* ยิ่พ้นค‟นล่นัา เปนที่อำมาดม‟นตรีฯ|
คำปริวรรตเป็นภาษาไทยปัจจุบัน
หนึ่งนามทองแดงแสงใส เล็บลิ้นฟันใน นั้นแดงดังแกล้งย้อมมา
ใครเลี้ยงได้ยศถา ยิ่ง**พ้นคณนา เป็นที่อำมาตย์มนตรี ฯ|
*ส่ถา คำนี้น่าจะจารตก เมื่อพิจารณาจากบริบทแล้วน่าจะเขียนเป็น ยส่ถา ซึ่งก็คือ ยศถา
** ในต้นฉบับไม่ปรากฏ ‘ง’ หลังตัว ‘ยิ่’ แต่ผู้อ่านเลือกปริวรรตเป็น ‘ยิ่ง’ เพราะสามารถใช้ในบริบทนี้ได้พอดี และไม่มีคำไหนจะใกล้เคียงไปกว่านี้อีกแล้ว
สรุปรูปพรรณของแมวศุภลักษณ์ – เป็นแมวสีทองแดงตลอดตัว (บางทีเรียก ‘แมวทองแดง’) มีเล็บ ลิ้น และฟันเป็นสีแดงดังย้อม ผู้ใดได้เลี้ยงจะเจริญด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์
แมวศุภลักษณ์นี้เป็นแมวพันธุ์หายากพันธุ์หนึ่ง แม้จะยังมีเลี้ยงอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ก็มักจะเป็นพันธุ์ผสม หรือไม่ต้องตามตำราซะทีเดียว หากพบเห็นหรือมีกำลังพอที่จะเลี้ยง...ก็ไม่ควรมองข้าม ^^
จบตอนที่ 4
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ : ตำราแมว ตำราแมวไทย ฉบับ หมอเห ณ วัดท่าพูด วรรณกรรมวัดท่าพูด