Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ลาสิกขา-ปาราชิก?

ลาสิกขา-ปาราชิก?

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 เวลา 17:05:32
บทความโดย : ทีมงาน

เคยมีไหม...เรื่องของการ "ลาสิกขาฯ" หรือ "ปาราชิก" ในจารึก?

การ "ลาสิกขาฯ" หรือเรียกเต็มๆ ว่า "ลาสิกขาบท" นั้น พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า  (ก.) ลาสึก ลาจากเพศสมณะ (สิกขา มาจากคำว่า สิกฺขา ในภาษาบาลี แปลว่า เรียน  หรือ ศึกษา)

ส่วนการ "ปาราชิก" นั้น พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า  (น.) ชื่ออาบัติหนักที่สุดในพระวินัย เมื่อภิกษุล่วงละเมิดแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที บวชเป็นภิกษุอีกไม่ได้ มี 4 ข้อ คือ
1. เสพเมถุน     
2. ลักทรัพย์
3. ฆ่ามนุษย์
4. อวดอุตริมนุสธรรม

อีกความหมายหนึ่งคือ ปาราชิก (ว.) ผู้ละเมิดอาบัติปาราชิก เช่น พระปาราชิก (ป.)

ทั้ง 2 คำข้างต้น แม้ผลลัพธ์จะออกมาคล้ายๆ กัน คือพ้นจากความเป็นสมณเพศ ทั้งสองกรณี หากแต่โดยนัยนั้นกลับต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ การ "ลาสิกขาบท" นั้นมีทั้งการลาตามวาระ ตามควร ตามความปรารถนาที่จะลาของสมณะนั้น และมีแม้กระทั่งการลาที่ถูก ให้ "ลาสิกขาฯ" อย่างไม่เต็มใจ หรือถูกบังคับให้ "ลา"

แตกต่างกับการ "ปาราชิก" ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ถูกบังคับให้ "ลาสิกขา" แม้จะได้ลาหรือไม่ได้ลาก็ตามแต่ เมื่อโดนข้อหา "ปาราชิก" นี้ก็ถือว่าพ้นจากสมณเพศไปโดยปริยาย

การ "ปาราชิก" ที่ถือว่าร้ายแรง เมื่อมีการละเมิดในข้อใดข้อหนึ่งแล้วนั้นจะถือว่าอาบัติและถูกให้ลาสิกขาทันที คือพ้นสภาพจากความเป็นพระภิกษุและไม่สามารถกลับมาบวชได้อีก มีดังต่อไปนี้
(1) เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)
(2) ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน จากบ้านก็ดีจากป่าก็ดี (ขโมย)
(3) พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) หรือแสวงหาศาสตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์
(4) กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม คือความไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง
 
ในศิลาจารึกมีเรื่องที่ว่าด้วยการ "ลาสิกขาฯ" หรือ "ปาราชิก" บ้างหรือไม่?
    คำตอบ คือ พบบ้าง แต่ไม่มากนัก
 
เรื่องราวเกี่ยวกับการ “ลาสิกขาฯ” หรือ “ปาราชิก” ที่พบในจารึกนั้น มีเพียงเล็กๆ น้อยๆ แตกต่างกันไปในแต่ละกรณี เช่น
จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ เรื่องธุดงค์ 13 แผ่นที่ 11 กล่าวถึงตอน โสสานิกังคธุดงค์ เรื่องราวมีอยู่ว่า ชายสามคนพี่น้อง เดิมเป็นกระฎุมพีอยู่ในเมืองเสตพยนคร ได้บรรทุกสินค้าไปขายที่เมืองสาวัตถี จวบจนได้ฟังเทศนาในสำนักพระพุทธองค์ จึงเกิดศรัทธา และพากันบวชเป็นภิกษุทั้ง 3 คน ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมายังเมืองนี้ พระภิกษุทั้ง 3 รูปกับพระสงค์ก็ขอตามไปด้วยเป็นอันมาก ทั้งนี้ก่อนจะตามพระพุทธเจ้าไป พระมหากาลเถรได้ถูกภรรยารั้งไว้และจะให้ “สึก” แต่พระมหากาลเถรนั้นเหาะออกทางจั่วบ้านได้
นี่นับเป็นการ “สึก” หรือ “ลาสิกขาบท” ประเภทหนึ่งที่โดนบังคับ คือ ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของพระภิกษุ อีกทั้งยังไม่ได้อาบัติหรือประพฤติผิดใดๆ ด้วย หากแต่เป็นการสึกในบริบทของสังคม ครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา
 
หรืออย่างกรณี “ลาสิกขา” อย่างตั้งใจ ก็พบบ้างเหมือนกัน เช่น ในจารึกอรรถกถาชาดก เรื่อง อุทัญชนีชาดก (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ) เรื่องมีอยู่ว่า พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นดาบศอยู่ในป่ากับดาบศกุมารผู้เป็นบุตร วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ได้ออกไปหาผลไม้ แล้วให้กุมารเฝ้าอาศรม บังเอิญมีหญิงสาวคนหนึ่งหลงทางมา ได้พบกับดาบศกุมารเข้าก็มีจิตปฏิพัทธ์ต่อกัน ทั้งสองได้เสพสังวาสกัน แล้วไปซ่อนตัวอยู่หลังพุ่มไม้แห่งหนึ่ง ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์กลับมา ดาบศผู้เป็นบุตรก็แจ้งว่าจะไปตามสตรี พระโพธิสัตว์ก็ยอมให้ไป ดาบศกุมารก็ “สึก” ออกไปอยู่เป็นสามีภรรยาด้วยหญิง (ภายหลัง ทราบว่าดาบศผู้บุตรถูกภรรยาใช้งานจนทนไม่ได้ จึงกลับมาหาบิดา) อย่างกรณีนี้ ถือว่า “สึก” หรือ “ลาสิกขาบท” อย่างตั้งใจ ไม่มีใครบังคับ
 
ตัวอย่างสุดท้าย จากจารึกวัดบ้านขามเมืองปัน  (พุทธศักราช  2113) จังหวัดเชียงราย ซึ่งข้อความในจารึกเป็นสารตราอาชญาแห่งพระญาแก้วผาบราชภุมินท์ ว่าด้วยเรื่องการบวชเรียนของพระสงฆ์ และข้อห้ามต่างๆ ของผู้ที่จะบวชเป็นพระ ในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 10 มีข้อห้ามว่า “... ผิ หากลักบวชลักเรียนกูจักมีอาชญาจำสึกเสียชะแล” กล่าวคือ หากตรวจพบว่ามีผู้มาบวชเรียนอย่างไม่ถูกต้อง เช่น แอบมาบวชโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะถูกจับสึก หรือให้ “ลาสิกขา” ไปเสีย
 
น่าเสียดายที่ยังไม่พบตัวอย่างของการ “ปาราชิก” ในจารึก มิเช่นนั้นคงจะได้ยกมาให้ศึกษากันในคราวนี้
 
ที่เล่าเรื่องการ “ลาสิกขา” ทั้งแบบตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ โดยยกตัวอย่างข้อความในอดีตหรือข้อความจากจารึกมาให้ดูกันนี้ ด้วยเห็นว่าปัจจุบันมีข่าวคราวมากมายเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติตนของพระสงฆ์ บางเรื่องบางราวก็ชวนให้คลางแคลงใจ และมีการถกเถียงกันทั่วไปถึงความเหมาะหรือไม่เหมาะสมต่างๆ นานา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อมองย้อนไปในอดีตจะพบว่าเคยมีหลายๆ กรณีที่พอจะเทียบเคียงได้กับภาวะการณ์ในปัจจุบัน  ดังนั้น อย่าได้ตื่นตระหนกหรือวิตกวิจารณ์อะไรให้เคร่งเครียดเกินการณ์เลย
 
ด้วยความปรารถนาดี...
                                                                                                                                       

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : การลาสิกขาบท การปาราชิก การประพฤติปฏิบัติตนของพระสงฆ์ วินัยสงฆ์ อาบัติ