Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

มอญ - เตลง - รามัญ

มอญ - เตลง - รามัญ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2555 เวลา 14:54:23
บทความโดย : ทีมงาน

มอญ-เตลง-รามัญ
ในพงศาวดารไทยของไทยถ้าจะกล่าวถึงพม่าก็ต้องใช้ควบกันเป็น พม่ามอญ ดังกล่าวแล้ว ยิ่งในสมัยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ พระเจ้าบุเรงนอง และนันทบุเรง ราชธานีอยู่ที่หงสาวดี และเราเรียกกษัตริย์เหล่านี้ว่า สมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ก็เป็นอันใช้คำ พม่ามอญ โดยตลอด บางแห่งยังใช้ว่า พลมอญ กองตระเวนรามัญ แม้พระเจ้าหงสาวดีก็ยังต่อท้ายว่า ในรามัญประเทศ แม้ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพม่าในครั้งนั้นไม่ใช่พระเจ้าหงสาวดีแล้ว ก็ยังใช้คำว่า ทัพพม่ามอญมาล้อมเมือง คำว่า พม่า กองทัพพม่า เพิ่งจะมาใช้กันเมื่อเสียกรุงครั้งหลัง เมื่อกล่าวถึงมอญก็แยกมอญไว้ต่างหาก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เข้าใจกันว่าผู้ที่เรารบด้วยนั้นคือชนชาติมอญ คำ เตลงพ่าย ก็ชวนให้เข้าใจเช่นนั้น ใน ไทยรบพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงมีกล่าวไว้ว่า “เมื่อคราวรบศึกพระเจ้าหงสาวดีนั้น คนไทยมักเข้าใจกันมาแต่ก่อนว่า ไทยรบกับมอญ แต่ที่จริง ชนชาติมอญหาได้ปรากฏว่าเคยเป็นศัตรูกับไทยโดยลำพังไม่”
เมื่อกล่าวถึงตอนนี้ จะเห็นว่า ชื่อที่หมายถึงมอญ มีถึง 3 คำ คือ มอญ เตลง และรามัญ จึงน่าถามว่าเหตุใดจึงเรียกได้ต่างๆ กันไปเช่นนั้น ที่จริงพวกมอญเขาเรียกตัวเองว่า โม่น เขียน มน (น่าสงสัยอีกว่าทำไมเราจึงใช้ ญ สะกด และใช้มาแต่ครั้งใด) พม่าก็มีคำเรียกคล้ายอย่างนี้ เขียน มอน ออกเสียง มุ่น แต่ส่วนมากเรียก ตไลง (เสียง ไอ มี ง สะกด) คำนี้คงเป็นคำเดียวกับคำ เตลง มอญเขียน ตเลง ออกเสียง ตะลอญ (คำที่มีเสียง สระเอ และมี ง สะกด มอญออกเสียงเป็น ออย มีเสียงขึ้นจมูก จึงเขียน ญ แทน) แต่จะเป็นด้วยเขาไม่นับเป็นชื่อของเขาหรืออย่างไร จึงไม่มีคำนี้ปรากฏอยู่ในพจนานุกรม ชนชาติมอญไม่ได้เรียกตัวเองว่า ตเลง หรือ ตะลอญ ถ้าเช่นนั้น ชื่อนี้ได้มาอย่างไร ชาวมอญเชื่อว่าคำเต็มคงเป็น อิต๊ะลอญ อิต๊ะ แปลว่า พ่อ ลอญ แปลว่า หาย สูญหาย ฉิบหาย วายวอด คำ อิต๊ะลอญ บ้างแปลว่าพ่อหาย บ้างแปลว่า พ่อฉิบหายแล้ว ทั้งนี้เพราะมีเล่าไว้ (ไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงได้) ว่า พม่าจับเด็กมอญมารวมกันไว้ที่เกาะแห่งหนึ่ง เมื่อน้ำท่วมจะได้ท่วมตายหมด เด็กเหล่านั้นเมื่อเห็นภัยมีมาถึงตัวจึงร้องเรียกพ่อว่าดังนั้น (ในพจนานุกรมมอญ-อังกฤษของฮัลลิเดย์ออกเสียงคำที่มีความหมายอย่างนี้เป็น อิต๊ะเลิ่ม กล่าวว่าใช้เป็นคำอุทานเทียบเท่า อนิจจา แปลตามคำว่า พ่อ เราพินาศแล้ว อิต๊ะ = พ่อ เลิ่มและลอญ แปลว่า พินาศ เช่นเดียวกัน) พม่าคงได้ยินคำ อิต๊ะลอญ นี้เป็น ตไลง จึงนำมาใช้เป็นคำเรียกชนชาติมอญ
เรื่องดังกล่าวนับเป็นการสันนิษฐานที่มาของคำ เตลง อย่างหนึ่ง ส่วนที่สันนิษฐานเป็นอย่างอื่นก็มี คือ สันนิษฐานว่าเป็นคำที่ได้จาก ตลิงคะนะ อันเป็นชื่อเชื้อชาติของคนที่มาจากดินแดนตลิงคะนะ ชายฝั่งทะเลตอนใต้ของอินเดีย ทั้งนี้เพราะได้มีชนฮินดูเข้ามาตั้งรกรากทำมาค้าขายอยู่ในดินแดนแถบที่มอญลงมายึดครองเป็นอันมาก ถึงจะถูกขับออกไปบางคราวก็หาโอกาสกลับเข้ามาใหม่ ทั้งยังได้แต่งงานกับชนพื้นเมืองเสียอีกด้วย กล่าวว่าพวกมอญที่ผสมกับอินเดียนี้แหละ ที่เรียกพวกอิต๊ะลอญ จึงไม่ใช่คำที่นำมาเรียกชนชาติมอญโดยทั่วไป
ส่วนคำ รามัญ ก็เชื่อกันว่าเป็นชื่อประเทศบ้านเมืองอันเป็นที่อยู่ของมอญ เรียกเต็มๆ ว่า รามญญูเทส คือประเทศของรามเห็นได้ว่าคงเป็นชื่อชาวฮินดูตั้งไว้แต่เดิม หรือมิฉะนั้นก็ตั้งตามชนฮินดูในภายหลัง เมื่อชนชาติมอญเข้ามาอยู่ในดินแดนนั้น จึงเรียก รามัญเทส ไปด้วย กล่าวว่าดินแดนที่เรียกว่า รามัญเทส แต่ดั้งเดิมมีอยู่ 3 แคว้นด้วยกัน คือ หริภุญชัย ทวารวดี และ สะเทิม แต่ภายหลังหมายถึงเมืองพะโค พะสิม และ เมาะตะมะ
ดังนั้น การที่มีชื่อเรียกชนชาติมอญว่ามอญบ้าง เตลงบ้าง และรามัญบ้าง จึงพอจะกำหนดได้ว่า ชื่อมอญ เป็นชื่อที่เจ้าของเชื้อชาติเรียกตัวเอง และ เตลง เป็นชื่อที่พม่าหรืออาจจะมีชนชาติอื่นเรียก ส่วนรามัญเชื่อกันว่า น่าจะเป็นชื่อถิ่นที่อยู่ เพราะคำเต็มควรเป็น รามัญเทส คือดินแดนของรามัญหรือดินแดนของราม คำ ราม อาจจะหมายถึง เทพของชาวฮินดู เพราะดินแดนแถบนี้เคยมีชาวฮินดูตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน หรือจะหมายถึง ราชวงศ์รามะ อันเป็นชื่อราชวงศ์ที่สืบมาแต่พระเจ้าทุตตะบองของพวก ปยุ ชื่อที่แท้คือ วิกรม แต่มอญเรียกเป็น รามะ เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ข้อเท็จจริงผิดหรือถูกอยู่ที่ข้อวินิจฉัยทางประวัติศาสตร์

๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
บรรจบ พันธุเมธา ใน อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2535) หน้า 44 - 47.

คำ มอญ, รามัญ ปรากฏในข้อมูล จารึกโคลงภาพคนต่างภาษา แผ่นที่ 17 (ภาพมอญ) บรรทัดที่ 1, 3 และ 8
 

ผู้เขียน :

คำสำคัญ :