ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

นิทรรศการศิลปะ “กลุ่มคณาจารย์ช่างศิลป์”

ชื่อภาพ ไก่แจ้ ชื่อภาพ Human Digital นิทรรศการผลงานศิลปะกลุ่มศิลปินคณาจารย์ช่างศิลป์ ลาดกระบัง เกิดจากการรวมตัวเพื่อนำเอาองค์ความรู้ ทักษะด้านศิลปะที่ปริ่มล้นระบายสีสัน ขีดเขียน แต่งแต้มตามความถนัดและตามแนวทางสร้างสรรค์ศิลปะของแต่ละคนด้วยความพึงพอใจ โดยมุ่งหมายถ่ายทอดความคิดคำนึง สำนึกรู้สึกแบบศิลปินที่ไม่ละทิ้งการสร้างงานศิลปะแม้ว่าจะต้องทุ่มเวลาให้กับการเรียนการสอนศิลปะแก่ศิษย์เป็นหลักก็ตาม   ดังนั้น ความหลากหลายทั้งรูปแบบและเทคนิคการทำงานสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปินกลุ่มนี้จึงมีความน่าสนใจ นำเข้าสู่ความรู้สึกที่น่าตื่นเต้นกับนิทรรศการซึ่งล้วนแต่มีความตั้งใจรวบรวมผลงานที่ทุ่มเทใจให้กับผลงานในนิทรรศการมากกว่า 60 ชิ้นกับศิลปิน 8 คน   หอศิลป์ริมน่านหวังเป็นอย่างยิ่งที่นิทรรศการของกลุ่มศิลปินคณาจารย์ช่างศิลป์ ลาดกระบัง   จะได้รับการตอบรับจากผู้รักศิลปะและนักท่องเที่ยวที่เยือนเมืองน่านในช่วงฤดูฝนนี้อย่างน่าประทับใจ จัดแสดง ณ หอศิลป์ริมน่าน ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2558 สอบถามรายละเอียดได้ที่ หอศิลป์ริมน่าน 122 หมู่ 2 ถ.น่าน – ทุ่งช้าง อ.เมือง จ.น่าน 55000  โทร. 081-989-2912 E-mail: Winai_nrg@hotmail.com/ Facebook: www.facebook./ Winai Prabripoo. เปิดทุกวันเวลา : 9.00-17.00 น . ปิดเฉพาะวันพุธ

นิทรรศการ “คุณข้าว” : สำนึกคุณข้าว สัมผัสงานศิลป์

มิวเซียมสยาม ร่วมกับ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชวนเสพย์นิทรรศการงานศิลป์ “คุณข้าว” ประติมากรรมซ่อนกล สะท้อนความสุขของชาวนา ด้วย “สัมผัสศาสตร์” รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส แนวคิดเทพๆ สร้างสำนึกรักษ์ข้าวไทย สไตล์นักพิพิธภัณฑ์รุ่นใหม่ผลงานความคิดสร้างสรรค์ของทีม “หัดบิน” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 1 ใน 3 ทีมผู้ชนะจาก Young Muse Project 5 หรือ โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 5   จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 7 - 27 กรกฎาคม 2558 เวลา 10.00 - 19.00 น. ที่ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชั้น 5 (ปิดวันพุธ)   สอบถาม โทร. 02-225-2777 ต่อ 429 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan   แผนที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ: www.queengallery.org/Visit/   ข้อมูลจาก Facebook-Museum Siam วันที่ 6 กรกฎาคม 2558

“พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา Bangkok Dolls” ปรับโฉมใหม่ เปิดให้เที่ยวฟรี!

มิวเซียมสยาม โดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) และพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา Bangkok Dolls ขอชวนผู้ที่สนใจร่วมสัมผัสโฉมใหม่ของ “พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา Bangkok Dolls” เขตดินแดง กรุงเทพฯ ที่ได้รับการปรับปรุงรูปโฉมใหม่ให้รื่นรมย์น่าเที่ยวชมมากขึ้น จากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้ชนะจาก โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 5 (Young Muse Project) พร้อมชมตุ๊กตา “ชุดยกทัพ” จากวรรณคดีรามเกียรติ์ ที่จัดแสดงในรูปแบบใหม่สุดอลังการเต็มทัพ ที่ได้รางวัลชนะเลิศการประกวดตุ๊กตานานาชาติครั้งที่ 3 ประจำปี 2521 ที่ประเทศโปแลนด์   พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา Bangkok Dolls เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-เสาร์ (ปิดวันอาทิตย์ วันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 23 มิถุนายน 2558

เข้าชมพิพิธภัณฑ์เหรียญ ฟรี!

พิพิธภัณฑ์เหรียญ เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ของกรมธนารักษ์โดยการปรับปรุงอาคารสำนักบริหารเงินตราเดิม ตั้งอยู่หัวมุมถนนเจ้าฟ้า เยื้องตรอกข้าวสาร จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่เข้าชมได้รับรู้ถึงวิวัฒนาการของเหรียญกษาปณ์ไทยตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน และเพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับนักสะสมเหรียญและผู้ที่สนใจทั่วไปในการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ โดยการออกแบบอาคารได้ยึดหลักอารยสถาปัตย์ (Universal design) เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เข้าชมทุกช่วงอายุและทุกประเภท ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการด้วย พิพิธภัณฑ์เหรียญ แบ่งระยะดำเนินการสร้างเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้ารับชมแล้ว ส่วนระยะที่ 2 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2559 สำหรับนิทรรศการระยะที่ 1 จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของเงินตรา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่มีการนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกันจนมีการสร้างตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้า จัดแสดงพัฒนาการของเงินตราไทยตั้งแต่สมัยฟูนัน-ทวารวดี ถึงปัจจุบัน และจัดแสดงเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จัดทำขึ้นในวาระสำคัญต่างๆ   ผู้สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์เหรียญได้ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. เข้าชมเป็นรอบทุก 20 นาที รอบแรกเริ่มเวลา 10.00 น. รอบสุดท้ายเวลา 17.00 น. ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเข้าชมฟรี *สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 2820818 หรือผ่านทาง website: coinmuseum.treasury.go.th ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook: coinmuseumthailand   ข้อมูลจาก www.mthai.com วันที่ 15 มิถุนายน 2558

อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง: การพัฒนาจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับองค์กร

หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอเชิญร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง: การพัฒนาจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับองค์กร ในวันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2558 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   สนใจดูข้อมูลโครงการและลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่: http://www.library.kku.ac.th/archive2015/   ค่าลงทะเบียน • ลงทะเบียนและชำระเงินภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ค่าลงทะเบียน 2,500.- บาท • ลงทะเบียนและชำระเงิน ระหว่างวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2558 ค่าลงทะเบียน 3,000.- บาท   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: คุณยุพา ดวงพิมพ์ โทร: 086-859-229-3 email: yupdua@kku.ac.th ข้อมูลจาก Facebook-หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 9 มิถุนายน 2558

วธ.ยันไม่ยุบพิพิธภัณฑ์พระปฐม-สร้างใหม่บนพื้นที่เรือนจำกลางนครปฐม

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่เกิดกระแสข่าวการยุบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์และโยกย้ายโบราณวัตถุออกไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอื่น ๆ ตนได้เชิญนายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายนายพเยาว์ เนี๊ยะแก้ว อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาหารือและได้ข้อสรุปตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย ว่าจะไม่มีการยุบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ รวมถึงไม่มีการย้ายโบราณวัตถุทั้งหมด นอกจากนี้ ได้คุยถึงปัญหาต่างๆโดยเฉพาะเรื่องระบบความรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งกังวลว่าอาจส่งผลต่อโบราณวัตถุจะสูญหายได้ในอนาคต รวมถึงพื้นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดเล็ก ดังนั้น ทางจังหวัดจึงนำเสนอพื้นที่เรือนจำกลางจังหวัดนครปฐมเดิม ซึ่งมีเนื้อที่ถึง 40 ไร่ มาใช้ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ขึ้นใหม่ โดยทุกฝ่ายก็ยอมรับในข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งตนได้มอบหมายให้ นายบวรเวท จัดส่งนักสถาปนิก มัณฑนากร ไปสำรวจและศึกษาพื้นที่ เพื่อกำหนดว่าจะใช้ส่วนใดในการก่อสร้าง และให้ดำเนินการออกแบบ เพื่อนำมาเสนอของบประมาณก่อสร้างในปีงบประมาณ 2560        นอกจากนี้ ยังได้หารือกันถึงแผนในอนาคต หากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ อาจจะมอบให้ทางจังหวัด หรือ ท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการด้วย อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาในส่วนวธ. ตนจะพยายามหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถึงปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังของวธ. โดยเฉพาะปัญหาของกรมศิลปากร ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องขออัตราเพิ่มเติม โดยจะให้กรมต่างๆ มีการประเมิน และประมวลปัญหา เพื่อนำเสนอไปยัง ก.พ. โดยเร็วที่สุด        ด้าน นายชาติชาย กล่าวว่า ผลการหารือเป็นที่น่าพอใจ และยินดีที่จะให้มีการก่อสร้างพิพิธภัณฑสานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ใหม่ ขณะเดียวกันทางจังหวัดได้รับปากที่จะร่วมมือกับ วธ. ในการดำเนินงานร่วมกัน โดย ระหว่างนี้ ตนจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดชุดสายตรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ให้ถี่มากขึ้น รวมทั้งจะนำผลการหารือไปแจ้งให้ชาวนครปฐมได้ทราบต่อไป ซึ่งตนคิดว่าการเคลื่อนไหวน่าจะยุติลงได้ นอกจากนี้ เมื่อมีกระแสข่าวออกมา ประชาชนเกิดความสนใจในการดูแลรักษาของมีค่าในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีหลาย1,000 รายการ ทางจังหวัดจึงจะใช้โอกาสนี้ ให้เป็นประโยชน์ด้วยการช่วยจัดรถให้บริการนักเรียน นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ให้มากขึ้นด้วย   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่15 พฤษภาคม 2558

ฮือฮา มิวเซียมคางคก "พญาคันคาก" ที่ยโสธร

ชาวเน็ตกำลังฮือฮา กับ แลนมาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นอาคารรูปพญาคักคาก หรือ คางคก สูงเท่าตึก 5 ชั้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทวน จนบางคนพูดทีเล่นทีจริงว่า สามารถสู้กับเมอร์ไลอ้อน ได้สบาย!!!   โดยภายในอาคารพญาคักคาก มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติ ความสำคัญ ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนอีสาน เช่น ตำนานบั้งไฟ   ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2ก.พ. 2557นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รอง ผอ. รักษาการแทน ผอ. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวมติชนรายวัน ถึงโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก (คางคก) ที่ จ. ยโสธร ซึ่งเป็นโครงการจัดทำศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการท่องเที่ยวและการค้าการลงทุน   โดยมีอาคารพญาคักคาก ออกแบบเป็นรูปคางคก และอาคารพญานาค ออกแบบเป็นรูปพญานาคเลื้อย บริเวณริมฝั่งลำน้ำทวน ที่ต่อเชื่อมกับสวนสาธารณะพญาแถน   "คางคกเป็นสัตว์ที่คนส่วนใหญ่เกลียด เป็นอุบายของคนโบราณที่จะแต่งเรื่องนี้ให้คนหันมาอนุรักษ์คางคก ไม่ฆ่าคางคก เพราะคางคกเป็นสัตว์กินแมลง - คางคกในประเทศไทยมี 32พันธุ์ จะเอามาโชว์ให้หมดเลย สุดท้ายคือ ของดีเมืองยโสธร ซึ่งมี ข้าวหอมมะลิ แตงโมหวาน แล้วก็มีปลาส้ม คือนอกจากให้ความรู้ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจการขายสินค้า" นายสาครกล่าวถึงแนวคิดในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานพญาคันคาก ซึ่งสามารถรบเอาชนะพญาแถน เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ ทั้งยังเกี่ยวพันกับกำเนิดพิธีกรรมการยิงบั้งไฟ และเสริมว่า   "การยิงบั้งไฟไม่ได้มีแค่ไทย เขมรก็มี ลาวก็มี เราต้องช่วงชิง เพราะต่อไปจะไร้พรมแดน ประเทศไทยจะต้องช่วงชิงมาก่อน เหมือนกับมวยไทย ที่พม่าก็มี มาเลย์ก็มี เมื่อก่อนเรียก ‘คิก บ็อกซิ่ง’ แต่ตอนนี้เรียก ‘มวยไทย’"   ซึ่งนายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านศิลปวัฒนธรรมชื่อดัง ได้เขียนบทความเผยแพร่ในมติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า ไทยคุ้นเคยและถูกครอบงำด้วยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะที่เต็มไปด้วยเศียรพระ แขนพระ ขาพระ เหมือนโบสถ์ วิหาร การเปรียญ จึงอาจรู้สึกขัดๆ ข้องๆ ต่อมิวเซียมคางคกและพญานาคซึ่งจะมีขึ้นที่ยโสธร   แต่แท้จริงนี่คือมิวเซียมที่ไทยควรมีนานแล้ว ขนานไปกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ แล้วควรมีมิวเซียมหลากหลายแบบอื่นๆ อีกอย่างไร้ขีดจำกัด โดยไม่ทิ้งวิชาการ   นี่อาจเป็นแนวทางมิวเซียมในอนาคตของไทยที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่ วธ. ต้องทบทวนตัวเอง   ขณะที่เมื่อวันที่ 19พฤษภาคม 2558ที่ผ่านมา เว็บไซต์นิตยสารทางอีสาน ได้เผยแพร่บทความ รู้จัก “พิพิธภัณฑ์พญาคางคก” ยโสธร  จากแฟนเพจเฟซบุ๊กคน-ยโสธร ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า   ทางจังหวัดยโสธรมีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีที่โดดเด่นของจ.ยโสธร แต่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ และได้ปรึกษากับ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะนั้น (ซึ่งต่อมา เสียชีวิตเมื่อ 30เม.ย. 57) ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมอบหมายให้ อพวช. เข้าไปดูแลและจัดทำนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์   ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์พญาคันคากเป็นพิพิธภัณฑ์แรกใน 3พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีบุญบั้งไฟที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างก่อน โดยพิพิธภัณฑ์ที่เหลือคือ พิพิธภัณฑ์พญาแถน และพิพิธภัณฑ์พญานาค ซึ่งตามตำนานนั้นพญาคันคากเป็นโอรสของกษัตริย์ แต่มีผิวพรรณเหมือนคางคก ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า "คันคาก" แต่ด้วยมีบุญญาการมากจึงได้รับการช่วยเหลือจากพระอินทร์และเป็นที่นับถือของชาวบ้าน จนลืมเซ่นสรวงบูชาพญาแถน ทำให้พญาแถนไม่ปล่อยฝนลงมาบนโลก   "ตามตำนานชาวอีสาน เชื่อว่าโลกมีโลกมนุษย์และโลกเทวดา โดยโลกมนุษย์อยู่ใต้โลกเทวดา และเรียกเทวดาว่า ′แถน′ ส่วนฟ้าฝนหรือลมนั้นเป็นอิทธิพลของแถน การที่พญาแถนไม่ปล่อยฝนให้ตกลงบนโลกมนุษย์ ทำให้พญาคันคาก อาสานำสัตว์ต่างๆ อาทิ ช้าง ม้า วัว ควาย ปลวก ผึ้ง ต่อแตน ขึ้นไปรบกับพญาแถนจนชนะ และปล่อยให้ฝนตกตามเดิม แต่มีข้อแม้ว่าต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบอกกล่าว จึงเป็นที่มาของประเพณีบั้งไฟ" นายสาคร รักษาการผอ.อพวช. กล่าวและว่า   พิพิธภัณฑ์พญาคันคากจะก่อสร้างเป็นรูปคางคก และนิทรรศการภายในจะบอกเรื่องเกี่ยวกับที่มาของบั้งไฟ โดยจัดฉายเป็นภาพยนตร์ 4 มิติ และนิทรรศการเกี่ยวกับคางคกชนิดต่างๆ ที่พบได้ในเมืองไทย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ อพวช. ร่วมศึกษากับมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่อาจเพิ่มไปถึงคางคกชนิดต่างๆ ที่พบได้ทั่วโลกซึ่งมีกว่า 500 ชนิด รวมทั้งรวบรวมของดีทางด้านเกษตรกรรมของเมืองยโสธรไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย อาทิ จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดที่เกิดขึ้นก่อนจังหวัดอื่นๆ ในอีสานใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีชื่อว่า "ยศโสธร" ก่อนย่อเป็นยโสธร หรือเป็นจังหวัดที่มีข้าวหอมมะลิอร่อยที่สุดในประเทศไทย   นายสาครเปิดเผยด้วยว่า ตัวพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก จะแล้วเสร็จในปี 2559-2560 ส่วนพิพิธภัณฑ์พญาแถนและพญานาค ต้องรออนุมัติงบประมาณต่อไป   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 20 พฤษภาคม 2558  

ผู้ว่าฯ ยันไม่ย้ายพิพิธภัณฑ์ หลังถูดคนนครปฐมกดดัน

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 58 นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ร่วมกับ นาย กองโท พเยาว์ เนี่ยะแก้ว ร่วมกันแถลงในการย้ายพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครปฐม ไปที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จนเป็นกระแสทำให้มวลชนชาวนครปฐมต้องรวมตัวกันออกมาคัดค้านนับหมื่นคนจนในวันนี้ผู้ว่านครปฐม ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมจากนั้น ได้กลับมาแถลงข่าวให้กับชาวนครปฐมว่า จะไม่มีการย้ายพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครปฐม พระปฐมเจดีย์แล้ว เพราะกรมศิลปากรได้มีคำสั่งให้ระงับแผนดำเนินงานพัฒนาพิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์ทันที   นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า ทางรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ไม่ได้มีคำสั่งย้ายพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครปฐมพระปฐมเจดีย์ หลังจากชาวนครปฐมออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านไม่ให้กรมศิลปากร ทำการเคลื่อนย้ายศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เบื้องต้น อธิบดีกรมศิลปากร มาชี้แจงรายละเอียดกรณีที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้สั่งการให้กรมศิลปากร ระงับแผนดำเนินงานพัฒนาพิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์ทันที เนื่องจากมีกระแสต่อต้านออกมามาก และได้สั่งระงับแผนการพัฒนาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศของกรมศิลปากรไว้ก่อน ต่อไปหากกรมศิลปากรต้องการพัฒนาหรือปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการยุบ หรือย้ายโบราณวัตถุควรต้องทำแผนเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อพิจารณาอย่างละเอียด เพราะเป็นเรื่องใหญ่ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ จึงจะเห็นชอบให้ดำเนินการได้   นายกองโท พเยาว์ เนี่ยะแก้ว อดีตนายก อบจ. นครปฐม บอกว่า ทาง อบจ. นครปฐมจะหางบประมาณในการสร้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครปฐมด้วยงบประมาณภาษีของคนนครปฐมขึ้นมาเองและตอนนี้ก็ได้มีการไปดูสถานที่เรือนจำกลางนครปฐมแห่งเก่าแล้ว แต่ยังต้องให้ทางกรมศิลปากรเข้ามาตรวจดูก่อน และในวันที่ 22 พ.ค.58 ทางจะตัวแทนของกระทรวงวัฒนธรรมจะเดินทางมายื่นหนังสือว่า ไม่มีการย้ายพิพิธภัณฑ์นครปฐมด้วยตนเอง   นายประเชิญ คนเทศ ตัวแทนจากกลุ่มรักปฐมนคร บอกว่า แม้จะมีคำสั่งระงับแผนย้ายพิพิธภัณฑ์ นครปฐม จากปลัดกระทรวงวัฒนธรรมออกมาแล้ว แต่ชาวนครปฐม ยังยืนยัน จะเดินหน้าการชุมนุมเพื่อแสดงพลังครั้งใหญ่ในวันที่ 22 พ.ค. 58 นี้ เพื่อเรียกร้องให้กรมศิลปากร ถ่ายโอนอำนาจการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ ให้ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบโดยตรง   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 15 พฤษภาคม 2558

เปิดพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ กรมศิลป์สัญจรเพื่อผู้พิการ

นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้มอบหมายให้กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดโครงการพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่สำหรับผู้พิการทางสายตาและผู้พิการอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมรถพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่สู่สถานศึกษา เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาตลอดจนผู้พิการอื่นๆ ได้สัมผัสโบราณวัตถุจำลองกว่า 30 รายการ โดยมีการจัดทำคำบรรยายเป็นภาษาไทยและอักษรเบล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ดำเนินการแปลข้อความจากภาษาไทยเป็นอักษรเบล อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการนำ QR code มาให้บริการแปลภาษามือสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินอีกด้วย   อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า ได้เริ่มกิจกรรมดังกล่าวที่มูลนิธิคอลฟีลด์เพื่อคนตาบอดในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะสัญจรไปยังสถานศึกษาผู้บกพร่องทางสายตาและผู้พิการอื่นๆ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2558 ได้แก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ (ศูนย์ฝึกวิชาชีพคนตาบอด แม่โจ้) โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา ในพระราชูปถัมภ์ โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ร้อยเอ็ด โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ขอนแก่น โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนพิการซ้ำซ้อนลพบุรี และโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี   นายบวรเวท กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้การจัดกิจกรรมแบ่งเป็น 4 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 เรียนรู้ศาสนา ความเชื่อ โบราณวัตถุจำลองที่ใช้ในการเรียนรู้ ได้แก่ ตะเกียงโรมัน อรรธนารีศวร ธรรมจักรศิลา เป็นต้น ฐานที่ 2 เรียนรู้วัฒนธรรมไทย วิถีไทย โบราณวัตถุจำลองที่ใช้ได้แก่ หม้อ 3 ขา ภาชนะดินเผา เลียนแบบสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง ไหสี่หู ดินเผา เลียนแบบศิลปะอยุธยา เตาเชิงกราน ดินเผา เลียนแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ ฐานที่ 3 เรียนรู้เรื่อง “ช้างต้น” และ “สุพรรณหงส์” ให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้ผ่านการรับฟังวีดิทัศน์การ์ตูนอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “ช้างต้น” และ “สุพรรณหงส์” ความมหัศจรรย์ของการย้อนเวลากลับไปสู่โลกอดีต และร่วมสนุกด้วยการตอบคำถาม และฐานที่ 4 จินตนาการและการสร้างสรรค์งานศิลป์ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากการเรียนรู้ผ่านจินตนาการและการสร้างสรรค์งานปั้นดินน้ำมัน   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 2 พฤษภาคม 2558