ฮือฮา มิวเซียมคางคก "พญาคันคาก" ที่ยโสธร

ชาวเน็ตกำลังฮือฮา กับ แลนมาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นอาคารรูปพญาคักคาก หรือ คางคก สูงเท่าตึก 5 ชั้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทวน จนบางคนพูดทีเล่นทีจริงว่า สามารถสู้กับเมอร์ไลอ้อน ได้สบาย!!!
 
โดยภายในอาคารพญาคักคาก มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติ ความสำคัญ ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนอีสาน เช่น ตำนานบั้งไฟ
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2ก.พ. 2557นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รอง ผอ. รักษาการแทน ผอ. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวมติชนรายวัน ถึงโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก (คางคก) ที่ จ. ยโสธร ซึ่งเป็นโครงการจัดทำศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการท่องเที่ยวและการค้าการลงทุน
 
โดยมีอาคารพญาคักคาก ออกแบบเป็นรูปคางคก และอาคารพญานาค ออกแบบเป็นรูปพญานาคเลื้อย บริเวณริมฝั่งลำน้ำทวน ที่ต่อเชื่อมกับสวนสาธารณะพญาแถน
 
"คางคกเป็นสัตว์ที่คนส่วนใหญ่เกลียด เป็นอุบายของคนโบราณที่จะแต่งเรื่องนี้ให้คนหันมาอนุรักษ์คางคก ไม่ฆ่าคางคก เพราะคางคกเป็นสัตว์กินแมลง - คางคกในประเทศไทยมี 32พันธุ์ จะเอามาโชว์ให้หมดเลย สุดท้ายคือ ของดีเมืองยโสธร ซึ่งมี ข้าวหอมมะลิ แตงโมหวาน แล้วก็มีปลาส้ม คือนอกจากให้ความรู้ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจการขายสินค้า" นายสาครกล่าวถึงแนวคิดในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานพญาคันคาก ซึ่งสามารถรบเอาชนะพญาแถน เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ ทั้งยังเกี่ยวพันกับกำเนิดพิธีกรรมการยิงบั้งไฟ และเสริมว่า
 
"การยิงบั้งไฟไม่ได้มีแค่ไทย เขมรก็มี ลาวก็มี เราต้องช่วงชิง เพราะต่อไปจะไร้พรมแดน ประเทศไทยจะต้องช่วงชิงมาก่อน เหมือนกับมวยไทย ที่พม่าก็มี มาเลย์ก็มี เมื่อก่อนเรียก ‘คิก บ็อกซิ่ง’ แต่ตอนนี้เรียก ‘มวยไทย’"
 
ซึ่งนายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านศิลปวัฒนธรรมชื่อดัง ได้เขียนบทความเผยแพร่ในมติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า ไทยคุ้นเคยและถูกครอบงำด้วยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะที่เต็มไปด้วยเศียรพระ แขนพระ ขาพระ เหมือนโบสถ์ วิหาร การเปรียญ จึงอาจรู้สึกขัดๆ ข้องๆ ต่อมิวเซียมคางคกและพญานาคซึ่งจะมีขึ้นที่ยโสธร
 
แต่แท้จริงนี่คือมิวเซียมที่ไทยควรมีนานแล้ว ขนานไปกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ แล้วควรมีมิวเซียมหลากหลายแบบอื่นๆ อีกอย่างไร้ขีดจำกัด โดยไม่ทิ้งวิชาการ
 
นี่อาจเป็นแนวทางมิวเซียมในอนาคตของไทยที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่ วธ. ต้องทบทวนตัวเอง
 
ขณะที่เมื่อวันที่ 19พฤษภาคม 2558ที่ผ่านมา เว็บไซต์นิตยสารทางอีสาน ได้เผยแพร่บทความ รู้จัก “พิพิธภัณฑ์พญาคางคก” ยโสธร  จากแฟนเพจเฟซบุ๊กคน-ยโสธร ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า
 
ทางจังหวัดยโสธรมีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีที่โดดเด่นของจ.ยโสธร แต่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ และได้ปรึกษากับ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะนั้น (ซึ่งต่อมา เสียชีวิตเมื่อ 30เม.ย. 57) ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมอบหมายให้ อพวช. เข้าไปดูแลและจัดทำนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์
 
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์พญาคันคากเป็นพิพิธภัณฑ์แรกใน 3พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีบุญบั้งไฟที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างก่อน โดยพิพิธภัณฑ์ที่เหลือคือ พิพิธภัณฑ์พญาแถน และพิพิธภัณฑ์พญานาค ซึ่งตามตำนานนั้นพญาคันคากเป็นโอรสของกษัตริย์ แต่มีผิวพรรณเหมือนคางคก ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า "คันคาก" แต่ด้วยมีบุญญาการมากจึงได้รับการช่วยเหลือจากพระอินทร์และเป็นที่นับถือของชาวบ้าน จนลืมเซ่นสรวงบูชาพญาแถน ทำให้พญาแถนไม่ปล่อยฝนลงมาบนโลก
 
"ตามตำนานชาวอีสาน เชื่อว่าโลกมีโลกมนุษย์และโลกเทวดา โดยโลกมนุษย์อยู่ใต้โลกเทวดา และเรียกเทวดาว่า ′แถน′ ส่วนฟ้าฝนหรือลมนั้นเป็นอิทธิพลของแถน การที่พญาแถนไม่ปล่อยฝนให้ตกลงบนโลกมนุษย์ ทำให้พญาคันคาก อาสานำสัตว์ต่างๆ อาทิ ช้าง ม้า วัว ควาย ปลวก ผึ้ง ต่อแตน ขึ้นไปรบกับพญาแถนจนชนะ และปล่อยให้ฝนตกตามเดิม แต่มีข้อแม้ว่าต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบอกกล่าว จึงเป็นที่มาของประเพณีบั้งไฟ" นายสาคร รักษาการผอ.อพวช. กล่าวและว่า
 
พิพิธภัณฑ์พญาคันคากจะก่อสร้างเป็นรูปคางคก และนิทรรศการภายในจะบอกเรื่องเกี่ยวกับที่มาของบั้งไฟ โดยจัดฉายเป็นภาพยนตร์ 4 มิติ และนิทรรศการเกี่ยวกับคางคกชนิดต่างๆ ที่พบได้ในเมืองไทย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ อพวช. ร่วมศึกษากับมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่อาจเพิ่มไปถึงคางคกชนิดต่างๆ ที่พบได้ทั่วโลกซึ่งมีกว่า 500 ชนิด รวมทั้งรวบรวมของดีทางด้านเกษตรกรรมของเมืองยโสธรไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย อาทิ จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดที่เกิดขึ้นก่อนจังหวัดอื่นๆ ในอีสานใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีชื่อว่า "ยศโสธร" ก่อนย่อเป็นยโสธร หรือเป็นจังหวัดที่มีข้าวหอมมะลิอร่อยที่สุดในประเทศไทย
 
นายสาครเปิดเผยด้วยว่า ตัวพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก จะแล้วเสร็จในปี 2559-2560 ส่วนพิพิธภัณฑ์พญาแถนและพญานาค ต้องรออนุมัติงบประมาณต่อไป
 
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 20 พฤษภาคม 2558
 

เผยแพร่เมื่อ: 21 พฤษภาคม 2558