อุทยานผีเสื้อและแมลง กรุงเทพฯ


อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในสวนวชิรเบญจทัศ เปิดมาตั้งแต่ปี 2548 จากการริเริ่มของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการให้มีศูนย์การศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติอยู่กลางเมืองใหญ่ บริเวณอุทยานประกอบด้วย 4 ส่วน ส่วนที่1 แนะนำเกี่ยวกับอุทยานผีเสื้อและแมลงด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบสัมผัส ส่วนที่ 2 ห้องมินิเธียเตอร์ จัดฉายวิดีทัศน์เรื่องแมลงกับระบบนิเวศ ส่วนที่ 3 บริเวณนิทรรศการ และห้องเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของผีเสื้อและแมลง โดยนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับผีเสื้อและแมลง เกล็ดความรู้ต่างๆ มากมายของผีเสื้อ เช่นชนิด สายพันธุ์ผีเสื้อทั่วโลก วงจรชีวิตของผีเสื้อ การกินอาหารของผีเสื้อ และลักษณะของปีกผีเสื้อ ส่วนที่ 4 อาคารโดมขนาดใหญ่ จัดแสดงผีเสื้อ 20 ชนิด มากกว่า 500 ตัว เมื่อก้าวเข้าสู่โดม ผีเสื้อน้อยใหญ่ก็จะบินโฉบไปมาอวดโฉมให้เราได้ชมความสวยงาม

ที่อยู่:
สวนวชิรเบญทัศ(สวนรถไฟ) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์:
02-2460037,0-2272-4359-60, 0-2272-4680
วันและเวลาทำการ:
เปิดอังคาร-อาทิตย์ 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2548
ของเด่น:
นิทรรศการเกี่ยวกับผีเสื้อในมิติต่างๆ, ผีเสื้อจริงหลากหลายสายพันธุ์

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของอุทยานผีเสื้อและแมลง กรุงเทพฯ

ท่ามกลางความวุ่นวายและสภาพอากาศที่ร้อนแรงเต็มไปด้วยมลพิษของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่สีเขียวที่เรียกว่า สวนสาธารณะ ซ่อนตัวอยู่มากมายหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือสวนรถไฟ อยู่ติดกับตลาดนัดสวนจตุจักร ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้จะชวนไปเที่ยวเดินเล่นกินลมชมวิว แต่จะขอแนะนำอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะแห่งนี้

เมื่อเข้าไปในสวนรถไฟแล้วจะพบกับความร่มรื่นจนลืมไปเลยว่าเรากำลังอยู่ในกรุงเทพฯวิธีมองหาอุทยานผีเสื้อและแมลงไม่ยาก เพราะจะมีป้ายรูปผีเสื้อ และลูกศรชี้บอกทางเป็นระยะๆ แต่ขอแนะนำว่าควรเช่าจักรยานด้านหน้าแล้วปั่นเข้ามาดีกว่า เพราะระยะทางค่อนข้างไกลถ้าเดินไปจะเหนื่อยมากแต่ถ้าใครอยากออกกำลังกายก็ไม่ว่ากัน

เมื่อถึงอุทยานผีเสื้อและแมลง สิ่งแรกที่ดึงดูดให้คนเข้าชมก็คือดอกไม้แสนสวยที่ประดับประดาอยู่รอบๆ ใครเห็นก็คงอดใจไม่ไหวที่จะขอเข้ามาเชยชมดอกไม้สวยๆ เหมือนตัวเองเป็นผีเสื้อไปด้วยเลยทีเดียว อุทยานผีเสื้อและแมลงเปิดมาตั้งแต่ปี 2548 จากการริเริ่มของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการให้มีศูนย์การศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติอยู่กลางเมืองใหญ่ ปัจจุบันที่นี่มีผู้เข้าชมมากกว่าหนึ่งแสนสี่หมื่นคนต่อปีส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กๆ นักเรียน และครอบครัวที่ต้องการสอนให้ลูกหลานรู้จักกับธรรมชาติ 

เมื่อเข้าไปด้านในส่วนจัดแสดงส่วนแรกจะมีนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับผีเสื้อและแมลง เกล็ดความรู้ต่างๆ มากมายของผีเสื้อ เช่นชนิด สายพันธุ์ผีเสื้อทั่วโลก วงจรชีวิตของผีเสื้อ การกินอาหารของผีเสื้อ และลักษณะของปีกผีเสื้อที่จริงๆ แล้วเราเห็นเป็นสีสวยงาม นั่นคือเกล็ดสีที่เรียงตัวกันอัดแน่นนั่นเอง หากใครยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับผีเสื้อและแมลง นิทรรศการเหล่านี้จะเป็นการให้ความรู้เบื้องต้นได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับผีเสื้อและแมลงมากมายจึงเหมาะจะเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติของเด็กนักเรียนหรือลูกหลานตัวเล็กๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติมากนักมาทำความรู้จักกับแมลงต่างๆ ได้ที่นี่

หลังจากที่ทำความเข้าใจชีวิตของผีเสื้อจากนิทรรศการแล้ว ส่วนจัดแสดงส่วนที่สองเป็นจุดที่น่าตื่นเต้นที่สุด นั่นก็คือโดมผีเสื้อขนาด 1,168 ตารางเมตร เมื่อก้าวเข้าสู่โดมขนาดใหญ่ ผีเสื้อน้อยใหญ่ก็จะบินโฉบไปมาอวดโฉมให้เราได้ชมความสวยงาม ผีเสื้อหลักๆ ที่เราจะได้เห็นก็คือ ผีเสื้อถุงทอง ผีเสื้อหางติ่ง ผีเสื้อใบไม้ที่เมื่อหุบปีกจะมีสีเหมือนใบไม้แห้งแต่พอกางปีกบินจะมีสีม่วงปนน้ำเงินสวยงาม บางชนิดก็บินเล่นไปมา หรือเกาะอยู่ตามอาหารที่เจ้าหน้าที่นำมาวางไว้ให้ เช่นกล้วยสุก หรือดอกไม้ที่เด็ดมาวางในถาดให้ผีเสื้อกินน้ำหวาน ในช่วงที่ดอกไม้ในโดมออกดอกไม่ทัน 

ผีเสื้อเป็นสัตว์ที่บอบบางมาก คุณไพรัตน์ ไพธรรมโชติวัฒน์หัวหน้าอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ บอกกับเราว่าการเลี้ยงผีเสื้อเป็นสิ่งที่ยากมากเพราะผีเสื้อ มีสัมผัสต่อมลพิษและสารเคมีที่ไวกว่ามนุษย์หลายร้อยเท่า บางครั้งดอกไม้ที่นำมาเป็นอาหารมีสารเคมีปนมาเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ผีเสื้อตายได้ในเวลาไม่ถึงนาที หรือถ้าอุณหภูมิในกรุงเทพเปลี่ยนแปลงเช่นร้อนจัดหรือหนาวขึ้นมากระทันหัน โดยธรรมชาติผีเสื้อก็จะบินหนีอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย แต่เมื่อมาอยู่ในโดมก็ไม่สามารถจะหนีไปไหนได้ สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำได้ก็คือต้องดูแลด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นฉีดน้ำในโดมให้ชุ่มชื้น และสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ก็ส่งผลให้ผีเสื้อหายากขึ้นทุกทีด้วย 

พันธุ์ผีเสื้อส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากฟาร์มเลี้ยงผีเสื้อ นำมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นหนอน เจ้าหน้าที่ช่วยกันเพาะเลี้ยงอยู่ในห้องด้านใน หรือบางครั้งถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นเจ้าหน้าที่เดินด้อมๆ มองๆ พลิกใบไม้อยู่ด้านนอกอาคารนั่นคือเจ้าหน้าที่กำลังหาไข่ของหนอนผีเสื้อ เพื่อนำมาเพาะเลี้ยงให้เป็นผีเสื้อต่อไป

ส่วนสุดท้ายที่ไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้าชม จะเข้าชมได้ก็เฉพาะกลุ่มผู้ที่มาศักษาอย่างจริงจังเท่านั้น ก็คือส่วนเพาะเลี้ยง เพราะในยุคแรกๆ ที่อุทยานฯ เพิ่งเปิด เจ้าหน้าที่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปดูห้องเพาะเลี้ยงหนอนผีเสื้อได้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการทำให้หนอนตายเป็นร้อยๆ ตัวเพราะติดเชื้อโรคจากคน ต่อมาจึงเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าไปในส่วนเพาะเลี้ยง หรือแม้แต่ตัวเจ้าหน้าที่เองวันไหนถ้าเป็นหวัดก็จะไม่เข้าไปในส่วนนี้เช่นกัน

ข้อแนะนำสำหรับการเข้าชมอุทยานผีเสื้อและแมลงก็คือ ไม่ควรสัมผัสกับผีเสื้ออย่างที่บอกในข้างต้นแล้วว่าผีเสื้อเป็นสัตว์ที่บอบบางมาก ผีเสื้ออาจจะได้รับเชื้อโรคบางชนิดจากเราแล้วตายได้ หรือเด็กๆ บางคนอาจจะจับผีเสื้อมาดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น ทำให้ผีเสื้อตายหรือปีกเสียหาย คนที่จะเข้าชมควรทำความเข้าใจผีเสื้อจากนิทรรศการด้านหน้าก่อน

คุณไพรัตน์ ยังฝากมาบอกแก่ผู้สนใจว่าประมาณเดือนมกราคมของทุกปีทางอุทยานฯจะจัดอบรมการดูผีเสื้อ และดูนกในสวนรถไฟ ถ้าใครสนใจหรืออยากให้ลูกหลานสัมผัสกับธรรมชาติโดยไม่ต้องดั้นด้นขึ้นไปบนป่าเขาก็ติดต่อมาได้ที่อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯแห่งนี้

มัณฑนา ชอุ่มผล/ ผู้เขียน
วิรวรรณ คำดาวเรือง /ถ่ายภาพ


ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนามวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550

ชื่อผู้แต่ง:
-