พิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ วิถีชีวิตชาวบ้านลุ่มน้ำบุ่งสระพัง ตั้งอยู่ภายในวัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง) เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองในอดีต โดยในชุมชนได้มีการขุดพบโบราณวัตถุท่สำคัญ เช่น พระพิฆเณศวร์หินทราย ศิลปะขอม ราวพุทธศตวรรษที่ 13 เครื่องปั้นดินเผา เสมาหินทราย พระพุทธรูปหินทราย ยุคทวารวดี เป็นต้น ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการรวบรวมจัดแสดงเครื่องมือในการประกอบอาชีพของชาวบ้าน เช่น เครื่องมือดักสัตว์ อาทิ คันหลุบ ด้วงดักหนู แร้ว เครื่องมือจับสัตว์น้ำ อาทิ ชนาง ลอบนอน เป็นต้น และเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนต่าง ๆ
ชื่อผู้แต่ง: ประสาท สายดวง | ปีที่พิมพ์: 16-08-2540
ที่มา: มติชนรายวัน
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ วิถีชีวิตชาวบ้านลุ่มน้ำบุ่งสระพัง
พิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ รวบรวมจัดแสดงเครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบอาชีพของชาวบ้านลุ่มน้ำบุ่งสระพังอย่างมากมาย เนื่องจากมีสายน้ำสายหนึ่งแยกตัวออกมาจากแม่น้ำมูล มีความยาวประมาณ 3กิโลเมตร ทอดตัวเข้ามาในบริเวณหมู่บ้าน เรียกว่า “บุ่งสระพัง” อุดมไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด ประชาชนในชุมชนใกล้เคียงได้อาศัยแม่น้ำมูลและบุ่งสระพัง ในการประกอบอาชีพมาตั้งแต่บรรพกาล
ต่อมาได้เกิดการย้ายหมู่บ้านออกจากบริเวณบุ่งสระพัง เนื่องจากน่าจะเกิดจากการที่น้ำท่วมบ่อย ทำให้ชาวบ้านไม่สะดวกที่จะตั้งหมู่บ้านอยู่อาศัยในบริเวณริมน้ำ จึงอพยพออกจากที่ลุ่มหนีน้ำขึ้นสู่ที่ดอน อันเป็นสถานที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน การย้ายหมู่บ้านจากบุ่งสระพังมาตั้งอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับย้ายค่ายบ้านมดแดงไปตั้งมั่นที่ห้วยแจระแม ก่อนจะย้ายหนีน้ำอีกครั้งไปสร้างเมืองขึ้นที่ดงอู่ผึ้ง
นักโบราณคดีเชื่อว่า บริเวณบุ่งสระพัง แหล่งชุมชนโบราณซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านปากน้ำแต่เดิมนั้น เป็นที่ชุมนุมการคมนาคมอีกแห่งหนึ่งของผู้คนในภูมิภาคนี้ และน่าจะเป็นแหล่งที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ที่โยกย้าย ถิ่นฐานเข้าอยู่อาศัย หมุนเวียนสลับกันไป มีความเจริญรุ่งเรืองสลับกับความถดถอย
หลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่บริเวณวัดป่าพิฆเณศวร์ ตลอดจนโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ สอดรับกับข้อมูลการสำรวจโบราณคดีตามโครงการเขื่อนปากมูล เมื่อปีพ.ศ. 2525 ซึ่งได้พบหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ตามแหล่งต่างๆ รวมทั้งวัดในพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่นตามลุ่มแม่น้ำมูล
หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลจนถึงโขงเจียม ได้แก่ ขวานหินขัดแบบมีบ่า คณะผู้วิจัยกำหนดอายุขวานหินขัดดังกล่าว ราว 3,500 ปี มาแล้วแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์บ้านก้านเหลือง อายุราว 500- 800 ปีก่อนค.ศ. แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์โนนเจ้าปู่บ้านบุ่งมะแลง อำเภอวารินชำราบ อายุ ราว 500-800 ปีก่อนค.ศ. เป็นต้น
สำหรับหลักฐานที่แสดงว่าบ้านปากน้ำเป็นชุมชนโบราณบุ่งสระพัง เนื่องจากบริเวณวัดป่าพิฆเณศวร์ บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีรายการขุดพบพระพิฆเณศวร์ประติมากรรมหินทราย ศิลปะขอม ราวพุทธศตวรรษที่ 13 อายุประมาณ 1,300 ปี เครื่องปั้นดินเผา เสมาหินทราย พระพุทธรูปหินทราย ยุคทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12 อายุประมาณ 1,200 ปี เป็นต้น
จากหลักฐานข้างต้น นักโบราณคดีเชื่อว่า บริเวณดังกล่าวเป็นที่ชุมนุมการคนมาคมอีกแห่งหนึ่ง เป็นผลทำให้ศิลปวัฒนธรรมสมัยก่อนเมืองพระนคร และสมัยเริ่มแรกของเมืองพระนคร ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมาจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 15 แพร่กระจายออกไปในภูมิภาคนี้ การอพยพผู้คนเข้ามาตั้งชุมชนอีสาน โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มน้ำมูล นักโบราณคดีเชื่อว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานขวานหินขัดแบบมีบ่า ซึ่งเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมยุคอาณาจักรเจนละ (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12) ซึ่งเขมรสมัยก่อนเมืองยุคเมืองพระนคร กษัตริย์เขมรแยกตัวออกมาจากอาณาจักรฟูนัน สร้างเมืองขึ้น ซึ่งต่อมากษัตริย์เจนละก็สามารถยึดครองฟูนันได้ราวพุทธศตวรรษที่ 12 อิทธิพลของพราหมณ์ยุควัฒนธรรมเจนละนี้ เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นปกครอง แต่ไม่เป็นที่นิยมของหมู่ชนพื้นเมือง
ในช่วงกษัตริย์ยุคเจนละมีอิทธิพลในอีสานที่สำคัญ คือ ศิลาจารึกสองหลักพบที่บริเวณบ้านคันเทวดา อำเภอโขงเจียม อุบลราชธานี ศิลาจารึกที่ปากโดมน้อย ศิลาจารึกที่ถ้ำภูหมาไน และศิลาจารึกที่วัดสุปัฏนาราม ระบุว่าจารึกขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นของเจ้าชายจิตเสนกุมาร กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรเจนละ พรรณนาถึงการปราบปรามหัวเมืองน้อยใหญ่ และเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่เหนือดินแดนปากน้ำมูล ต่อมา อาณาจักรเจนละแตกออกเป็น 2 สาขา คือ เจนละบกทางเหนือ และเจนละน้ำทางใต้ ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 อิทธิพลของเจนละในอีสานจึงอ่อนกำลังลง และสิ้นอำนาจลงในที่สุด
ยุควัฒนธรรมทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-15) ภายหลังอาณาจักรเจนละเสื่อมอำนาจลงวัฒนธรรมทวารวดีมีพื้นฐานพุทธศาสนาจาก อินเดีย ซึ่งศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่ภาคกลางของไทย เริ่มเข้ามามีอิทธิพล และได้รับความนิยมแพร่หลายเกือบทั่วทั้งอีสานอย่างรวดเร็ว สำหรับบริเวณวัด ป่าพิฆเณศวร์มีการพบเสมาหินทราย อันเป็นศิลปะยุคทวารวดี และพบพระพุทธรูปหินทรายนาคปรก ศิลปะยุคทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12 อายุประมาณ 1,200 ปี ภายหลังอาณาจักรเจนละเสื่อมอำนาจลง พระพุทธศาสนายุคทวารวดีก็เข้ามา รุ่งเรืองแทนที่วัฒนธรรมเขมรยุคเมืองพระนคร (ราว พุทธศตวรรษที่ 15-18) หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงรวบรวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14 แล้ว กษัตริย์เขมรอีกองค์หนึ่งได้สร้างเมืองพระนครขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 15 และตั้งแต่นั้นมาอำนาจเขมรเมืองพระนครก็ได้แผ่ปกคลุมไปทั่วอีสานอีกครั้ง
หลักฐานโบราณวัตถุ บริเวณวัดป่าพระพิฆเณศวร์ เชื่อว่าน่าจะเป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรเจนละมาก่อน เพราะมีการขุดพบพระพิฆเณศวร์หินทราย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 ในบริเวณดังกล่าวด้วย นอกจากนั้น ยังพบบ่อน้ำผุดอยู่ในดงเจ้าปู่ ห่างจากบริเวณวัดป่าพระพิฆเณศวร์ ไปราว 1.5 กิโลเมตร ซึ่งตรงกับหลักฐานการสร้างเทวสถานตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ว่าเป็นบ่อ น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น ที่ปราสาทวัดภูในประเทศลาว
ภายหลังสิ้นสุดเขมรยุคเมืองพระนคร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 เป็นต้นมา ได้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของประชาชนเข้าสู่บริเวณลุ่มน้ำมูลอีกครั้ง การอพยพครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2231 เมื่อเวียงจันทน์เกิดจลาจล ท่านพระครูโพนสะเม็กผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาว ลาวได้อพยพผู้คนราว 3,000 คนพร้อมเจ้าหน่อกษัตริย์และพระมารดาผู้เป็นมเหสีของเจ้าเวียงจันทน์ ที่ถึงแก่พิราลัยกลางจลาจลครั้งนั้น หนีภัยไปอยู่ในเขตเขมร ต่อมาย้ายมาที่จำปาศักดิ์และตั้งเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นเป็นเจ้าปกครอง มีเขตแดนตามลำน้ำมูลเชื่อมระหว่างอุบลราชธานีถึงศรีสะเกษ
การอพยพครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2313–2319 เมื่อประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง สืบเชื้อสายจากนครเชียงรุ้ง แสนหวีฟ้า ภายใต้การนำของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ ได้อพยพมาตั้งรกรากในเขตบ้านดอนมดแดง และตั้งเมืองอุบลราชธานีขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2320 การอพยพใหญ่ทั้งสองครั้ง ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างชนชาติในดินแดนอีสาน รวมไปถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ศิลปวรรณคดีตามลุ่มแม่น้ำมูล
บริเวณบ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จึงเป็นแหล่งชุมชนแหล่งหนึ่งที่ประชาชนเข้ามาพักอาศัยตั้งแต่บรรพกาล เนื่องจากเป็นสถานที่เหมาะแก่การเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย ต่อมา ได้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาคนี้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็น ที่ราบลุ่มลงสู่แม่น้ำมูลจนถึงหาดทราย น้ำไม่ลึก เหมาะสำหรับลงสู่แม่น้ำได้สะดวก มีการคมนาคมเชื่อมต่อได้หลายด้าน ในขณะเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งของแม่น้ำก็มีแหล่งน้ำ แยกตัวออกจากแม่น้ำมูล ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด เหมาะสำหรับทำการเกษตร
พิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ จึงเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนเมื่ออดีตกาลที่สำคัญ อันแสดงให้เห็นถึง ร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมมนุษย์ในอดีต
ข้อมูลจาก: http://watpaknamubon.com/content_633_7736_TH.html3 [accessed 2008-12-26]
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญา ลุ่มน้ำบุ่งสระพัง วัดปากน้ำ
พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดภูถ้ำพระศิลาทอง
จ. อุบลราชธานี
พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภัทโท)
จ. อุบลราชธานี
พิพิธภัณฑ์พื้นเมืองวัดท่าไห
จ. อุบลราชธานี