ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านปากมูน


ที่อยู่:
บ้านน้ำสร้าง หมู่ 7 ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี 34110
โทรศัพท์:
089-7177031 ติดต่อคุณสมภาร คืนดี
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อนัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
somparn_kd@hotmail.com
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านปากมูน

แม่น้ำมูนเป็นแม่น้ำสายสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีต้นน้ำอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ไหลไปรวมกับแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เรียกอาณาบริเวณปากแม่น้ำนี้ว่า “ปากมูน” ซึ่งมีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านและชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ชาวชุมชนปากมูนมีอาชีพทำประมงเป็นหลัก  การสร้างเขื่อนปากมูนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ  ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ในที่สุดก็นำไปสู่การรวมกลุ่มประท้วงเพื่อต่อต้านการก่อสร้างเขื่อนและการปิดประตูระบายน้ำ 
 
พิพิธภัณฑ์ปากมูน ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่บันทึกความทรงจำการต่อสู้ของชาวปากมูน รวมถึงทำหน้าที่บันทึกเรื่องราววิถีชีวิตของชาวปากมูนดั้งเดิมก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อน และบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงหลังจากมีเขื่อน โดยเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2542 เปิดให้เข้าชมได้เมื่อปี พ.ศ. 2546 
 
สิ่งของที่นำมาจัดแสดงได้มาจากการบริจาค หรือขอเรี่ยไรจากชาวบ้าน ส่วนหนึ่งนำมาจากการเคลื่อนไหวชุมนุมการคัดค้านเขื่อน เช่น จากโครงการธรรมชาติยาตราเพื่อแม่น้ำมูน หรือย้ายการจัดแสดงนิทรรศการมาจากบริเวณด่านแม่มูนมั่นยืน เป็นต้น การทำพิพิธภัณฑ์และการจัดเตรียมเนื้อหาการจัดแสดงได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรเอ็นจีโอ นักกิจกรรม นักวิชาการ 
 
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยเรื่องราววิถีชีวิตของชาวปากมูน ข้อมูลทางภูมิศาสตร์  เครื่องมือจับสัตว์น้ำพื้นบ้านทำจากไม้ไผ่  ตลอดจนนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวระบบนิเวศของแม่น้ำมูน ผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน ตัวอย่างพันธุ์ปลา พันธุ์พืช ที่พบและสูญหายไปก่อนและหลังสร้างเขื่อน เรื่องผลกระทบจากการปิดประตูระบายน้ำ รวมทั้งเรื่องราวการต่อสู้ครั้งต่างๆของชาวปากมูน เช่นการรวมตัวกันหน้าทำเนียบ หรือการชุมนุมบริเวณด่านแม่มูนมั่นยืน
 
พื้นที่ใช้สอยของพิพิธภัณฑ์ในส่วนอื่นมีการจัดสรรพื้นที่ทำบ้านดิน รวมถึงศูนย์ประชุมที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดอบรมสัมมนาหรือการมาทำกิจกรรมของกลุ่มต่างๆ 
 
  ผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทางสังคม กลุ่มชาวบ้าน ตลอดจนนักวิจัย ที่มาเก็บเกี่ยวเรียนรู้ประสบการณ์การต่อสู้ของชาวปากมูน พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยต้องติดต่อล่วงหน้า
 
ข้อมูลจาก : การสำรวจภาคสนาม 21 กันยายน 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-