พิพิธภัณฑ์กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางทหาร จัดแสดงเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น ห้องที่1 ประวัติศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ห้องที่2 โครงการพระราชดําริ ห้องที่3 จัดแสดงหน้ากากก๊าซพิษ ห้องที่4 จัดแสดงผลงานวิจัย และห้องที่5 ห้องอาวุธเพลิง สิ่งที่โดดเด่นในพิพิธภัณฑ์ คือ ห้องจัดแสดงหน้ากากป้องกันไอพิษที่ใช้ในสงครามโลกมาจากหลากหลายประเทศทั้งจากเยอรมัน อังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น และจากการผลิตได้เอง
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก
เวลาที่อ่านเรื่องราวของสมรภูมิรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 บางคนมักจะรู้สึกว่าประวัติศาสตร์เหล่านี้ค่อนข้างไกลตัว เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศคู่สงคราม แต่ใครจะรู้ว่าในประวัติศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกจะมีปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันชีวิตทหารและป้องกันประเทศในมหาสงครามครั้งนั้นอย่างเข้มข้น สิ่งที่เป็นประจักษ์พยานอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในการนำชมเล่าความเป็นมาช่วงแรก พ.ต.อิทธิพล บุนนาค เจ้าหน้าที่และหัวหน้าแผนกผลิตภัณฑ์ ได้สรุปคร่าวๆ ถึงประวัติความเป็นมาของกรมและสิ่งที่อยู่ในห้องประวัติวศ.ทบ. อันได้แก่ภาพเก่าของอาคารสถานที่ ภาพเก่าของนักเรียนที่ผ่านหลักสูตรการอบรมไอพิษ ภาพของท่านเจ้ากรมในอดีต ภารกิจต่างๆและการสร้างโรงงานผลิตสารเคมี โรงงานผลิตหน้ากากป้องกันไอพิษ รวมไปถึงการผลิตก๊าซออกซิเจนให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งโรงเรียนสารวิทยา เพื่อให้ลูกหลานของคนที่นี่เข้าเรียน จากนั้น พ.อ.หญิง กชพรรณ วิมุกตะลพ ได้นำชมต่อไปยังห้องถัดไปได้แก่ ห้องการดำเนินงานสร้างพระพุทธรูปที่อยู่ด้านหน้ากรม ห้องจัดแสดงหน้ากากป้องกันไอพิษของประเทศต่างๆ และห้องเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์
ห้องแรกของพิพิธภัณฑ์คือห้องประวัติวศ.ทบ. ห้องนี้มีภาพถ่ายเก่าของ “แผนกหอวิทยาศาสตร์” หน่วยงานนี้ถือเป็นหน่วยต้นกำเนิดของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก จัดตั้งในปี พ.ศ.2476 เนื่องจากขณะนั้นสถานการณ์รอบประเทศอยู่ในลักษณะไม่น่าวางใจ มีทั้งภัยคุกคามจากประเทศเจ้าอาณานิคมและจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลเข้ามา กองทัพบกจึงได้เตรียมการป้องกัน จากที่ผ่านมาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการใช้อาวุธเคมีในการรบ มีการทำลายล้างสูงมาก ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกหอวิทยาศาสตร์คนแรกคือ ดร.ประจวบ บุนนาค
เมื่อมีการตั้งหอวิทยาศาสตร์ขึ้นมา ทำให้ในปี พ.ศ. 2479 มีโรงงาน 4 โรงงานสร้างเสร็จ ได้แก่โรงงานผลิตสารเคมีและโรงงานผลิตก๊าซ โรงงานผลิตก๊าซได้แก่ โรงงานผลิตก๊าซอะเซทิลีน และโรงงานผลิตก๊าซออกซิเจน
สิ่งที่โดดเด่นและน่าสนใจมากในพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ตื่นเต้นเป็นพิเศษคือ ห้องจัดแสดงหน้ากากป้องกันไอพิษ ที่นี่มีหน้ากากป้องกันไอพิษในสมัยสงครามโลกมาจากหลากหลายประเทศทั้งจากเยอรมัน อังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น และจากการผลิตได้เอง ด้วยหน้าตาที่แปลกประหลาดของหน้ากาก บางชิ้นทำออกมาเหมือนมนุษย์ต่างดาว ส่วนประกอบสำคัญของหน้ากากคือหม้อกรอง เราจะเห็นพัฒนาการของหน้ากากรุ่นใหม่กว่าทำที่กรองติดกับหน้ากากแทนที่จะต้องต่อท่อแยกสะพายไป ใกล้กันที่อยู่ในตู้กระจกคือเสื้อผ้าที่ใช้แต่งกายร่วมกับหน้ากากป้องกันไอพิษ
สำหรับหน้ากากป้องกันไอพิษที่ผลิตขึ้นจากที่นี่ผลิตมากที่สุดในปี พ.ศ.2484 ในช่วงนั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐฯ ที่อ่าวเพิร์ล กองทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกบุกประเทศไทย กองทัพบกจัดตั้งกองทัพพายัพ เพื่อเปิดแนวรบด้านพม่า-จีนตอนใต้รุกเข้าไปยึดเชียงตุง มีการแจกจ่ายหน้ากากป้องกันไอพิษแบบ84 แก่หน่วยทหารในกองทัพพายัพ นอกจากหน้ากากป้องกันไอพิษ ยังได้ผลิตเครื่องทำลายพิษควบคู่กันไปด้วย และถือเป็นความฉลาดของคนสมัยนั้นที่ในการปฏิบัติการด้านป้องกันไอพิษจะมีฝ่ายดับเพลิงเข้าไปร่วมด้วย เพราะถึงอย่างไรน้ำก็ยังให้ประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยล้างพิษ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ญี่ปุ่นยอมจำนนวางอาวุธ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบกได้มีภารกิจใหม่ในการช่วยเหลือประเทศชาติด้วยการวิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องอุปโภค ได้แก่ เครื่องแก้วจำพวกขวดยา หลอดหนองฝี ผลิตภัณฑ์ยางจำพวกรองเท้า จุกและเปลือกหม้อแบตเตอรี่ และก๊าซออกซิเจนหายใจ
ห้องจัดแสดงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในห้องสุดท้าย ห้องนี้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อยู่เป็นจำนวนมาก เริ่มจากเครื่องทำควัน เครื่องอัดลม ที่ดูแปลกตาคืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์รุ่นเก่าที่หลายคนไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน เช่นเครื่องตรวจน้ำ กล้องจุลทรรศน์ เครื่องชั่งตวง เครื่องตรวจจับอากาศ เครื่องวัดการกระจายของแสง เครื่องวัดความกดอากาศ เครื่องตรวจไอพิษทางอากาศ
ความรู้เรื่องโรงงานผลิตก๊าซสามารถหาได้จากที่นี่ จากแบบจำลองของโรงงานผลิตก๊าซ 3 ชนิดได้แก่ โรงงานผลิตก๊าซอะเซทิลีน โรงงานผลิตก๊าซออกซิเจน โรงงานผลิตก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งผู้บรรยายคือผู้พันกชพรรณ สามารถให้ความรู้ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
หลังจากปีพ.ศ.2500 เป็นต้นมา ภารกิจที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว การผลิตหลายอย่างได้ยุติไป เพราะมีบริษัทเอกชนได้เข้ามาทำหน้าที่ผลิตแทน ในส่วนของงานวิจัยได้มีการทำอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ลูกระเบิดขว้างควันสี พลุส่องสว่างพื้นดิน การผลิตพลุ ทุกวันนี้ในโรงงานยังมีการผลิตพลุอยู่ในแผนกไพโรเทคนิค
ถ้าถามผู้พันว่าเวลาที่เด็กๆ เข้ามาเที่ยวชมที่นี่อะไรที่เขาสนใจที่สุด ผู้พันตอบว่า พวกหน้ากากป้องกันไอพิษ เด็กๆ เขาอยากเอามาสวม แล้วก็กระจกโค้งอันใหญ่ที่เรียกว่า กระจกโค้งไฟฉายส่องเครื่องบิน อันที่จัดแสดงเป็นของทหารญี่ปุ่น เด็กๆจะพากันไปส่องหาตัวเองกันอย่างสนุกสนาน
ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกมีภารกิจสำคัญอย่างยิ่งเพื่อพัฒนาสังคม นั่นคือการเข้าร่วมในโครงการพระราชดำริ ได้แก่ โครงการปฏิบัติการฝนหลวง โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก การอนุรักษ์และขยายพันธุ์ไผ่ตง โครงการศึกษาทดลองการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพบริเวณเขานางพันธุรัต(เขาเจ้าลายใหญ่)
เมื่อชมสิ่งของที่จัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์แล้ว ที่นี่ยังได้เก็บประวัติศาสตร์ไว้ได้อย่างมากมายและน่าสนใจในบริเวณด้านนอก ผู้พันได้พาเดินไปยังอาคารใกล้เคียงที่จะทำให้เราตกตะลึง โรงงานที่ครั้งหนึ่งได้เคยเปิดดำเนินการยังคงอยู่ในสภาพเดิมแม้ว่าโรงงานจะร้างไปแล้ว มีเครื่องอบไอน้ำขนาดใหญ่ เครื่องอบยาง เครื่องจักรเก่าสารพัดรูปแบบ ถังเก็บสารเคมีขนาดใหญ่ เครื่องทำลายพิษแบบลากจูง เครื่องเจาะน้ำบาดาล ในมุมมองด้านมูลค่าของสิ่งเหล่านี้ถือว่ามีมูลค่าน้อย ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อีก แต่สำหรับการนำมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่กรมวิทยาศาสตร์ทหารบกมีอยู่และเก็บรักษาไว้ถือเป็นขุมทรัพย์ของกองทัพบก ซึ่งพ.อ. หญิง กชพรรณ วิมุกตะลพ คือผู้หนึ่งที่มองเห็นคุณค่าและคาดหวังจะได้ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ในรูปโฉมใหม่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับสาธารณชนให้มากขึ้น
สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน/ ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก : สำรวจข้อมูลภาคสนาม 26 สิงหาคม 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เครื่องแบบ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุปกรณ์การแพทย์ หน้ากากป้องกัน การผลิตก๊าซ โรงงาน โครงการพระราชดำริ การทหาร
พิพิธภัณฑ์สวนสัตว์ดุสิต
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์สมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Bio-Geo Path
จ. กรุงเทพมหานคร