พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ร.ร.ละหานทรายรัชดาภิเษก


ที่อยู่:
ร.ร.ละหานทรายรัชดาภิเษก เลขที่ 264 หมู่ 8 ตำบลละหานทราย อำเภอละหานทราย จ.บุรีรัมย์
โทรศัพท์:
044-649007
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์-วันศุกร์ 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ร.ร.ละหานทรายรัชดาภิเษก

นับวันวิถีชีวิตของชาวบ้านจะเปลี่ยนแปลงไป  คนทอผ้าเป็นมีจำนวนน้อยลง  สิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้านถูกแทนที่ด้วยของใช้สมัยใหม่  นั่นจึงเป็นที่มาของการรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้านในหมู่บ้าน  จากการรับบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียนและคนในหมู่บ้าน
 
โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษกมีจุดเด่นตรงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนป่าขนาดประมาณ  250 ไร่  อาคารเรียน  สนามเด็กเล่น  สนามกีฬา  ที่นั่งหย่อนใจ  ทุกส่วนดูร่มรื่นภายใต้แมกไม้  เวลาที่เราเห็นนักเรียนโรงเรียนนี้เดินไปตามอาคารเรียน  จะดูเหมือนนักเรียนเดินผ่านป่าที่สองข้างทางมีต้นไม้ใหญ่
 
ห้องที่ทำพิพิธภัณฑ์แต่เดิมอยู่กับส่วนของห้องสมุด  ส่วนจัดแสดงที่เดิมได้ทำเป็นห้องโสตฯ  ตอนนี้อยู่ในช่วงของการขนย้ายสิ่งของมาจัดแสดงในที่ใหม่ในอาคารกลางสระน้ำชื่อว่า  เรือนธรรม  พื้นที่จัดแสดงจะแบ่งครึ่งกับชมรมดนตรีไทย  โดยทางโรงเรียนถือว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเหมือนกัน  อาจารย์อาจารย์ปฤษณา  สาลี  หัวหน้าหมวดสังคมศึกษา  ได้มอบหมายให้อาจารย์อาจารย์สุกัญญา  หารโกทาเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำพิพิธภัณฑ์  
สิ่งของที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้พื้นบ้านได้แก่  อุปกรณ์ทอผ้า  อุปกรณ์ทำนา  ตะเกียง  ตะกร้า  นอกจากนี้ยังมีพวกกระปุก  เครื่องเคลือบ  เงินพดด้วง  เหรียญและธนบัตรสมัยก่อนและธนบัตรต่างประเทศ
 
ทั้งอาจารย์อาจารย์ปฤษณา  และอาจารย์สุกัญญา  เป็นคนท้องถิ่น   สิ่งของเหล่านี้อาจารย์สุกัญญาบอกว่ารู้สึกคุ้นเคยตั้งแต่สมัยตอนเป็นเด็ก  ยกตัวอย่างถังไม้  แต่เมื่อมีถังพลาสติกเข้ามาแทนที่  ถังไม้ก็หายไป  หรืออย่าง “จ่อ” ที่ให้ตัวไหมมาทำรัง  ที่มีอยู่ในนี้ถือว่าขนาดไม่ใหญ่  ปกติที่เขาใช้กันจะมีใหญ่กว่านี้อีก  ทุกวันนี้ไม่ค่อยได้เห็นกันแล้ว  เพราะคนที่ทอผ้าหรือเลี้ยงไหมน้อยลง   การทอผ้ามักจะเป็นการทอไว้ใช้เอง  จะมีจำหน่ายบ้างสำหรับบางหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ชายแดนกัมพูชา คนที่เลี้ยงไหมจะยังพอมีอยู่บ้าง  เป็นคนแก่อยู่บ้านมีเวลาว่าง  ส่วนใหญ่คนทอผ้าเขาจะไม่ได้เลี้ยงไหมเอง  เขาไปซื้อเส้นไหมที่มีคนทำเป็นธุรกิจ  ราคากิโลกรัมละหนึ่งพันสองร้อยบาท  ไหมแบบนี้เขาเรียกว่า ไหมเกษตร
 
การประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น คนรุ่นใหม่ในวัยประมาณสามสิบ  ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในเมือง  ไปทำงานรับจ้าง  การทอผ้าไหมจะต้องมีพื้นที่ปลูกหม่อนแล้วก็ต้องดูแล  ซึ่งรายได้ตรงนี้ไม่พอที่จะเลี้ยงครอบครัว  และสินค้ายังขายยาก  คนที่เคยทอผ้าจึงหันไปทำงานรับจ้างมีรายได้รายวัน  บางคนทำสวนยาง แต่ต้องเป็นคนมีที่ดิน  บางคนมีญาติพี่น้องที่มีฐานะดีมาจากทางภาคใต้  เขามาซื้อที่ดินเป็นพันไร่ปลูกยางพารา   จากพื้นที่เดิมที่เคยเป็นไร่มันสำปะหลัง  ไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ตอนนี้จะเห็นเป็นสวนยางเต็มไปหมด  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้ปลูกยาง  
 
ในวิถีชีวิตของชาวบ้านเรื่องงานประเพณี  คนที่นี่ให้ความสำคัญกับงานแซนโดนตาเป็นอย่างมาก  เทศกาลงานบุญประเพณีแซนโดนตา หรือประเพณีเซ่นผีปู่ตาในเดือนสิบ หรือถ้าเรียกกันแบบเต็มๆ ตามชื่อเรียกของชาวไทยเขมรว่า แซนโดนตาแคเบ็น หมายถึง การเซ่นผีปู่ตาเดือนสิบหรืองานบุญสารทเดือนสิบนั่นเอง ซึ่งชาวไทยเขมรทุกที่ไม่ว่าในไทยหรือฝั่งกัมพูชาจะต้องจัดเตรียมงานประเพณีพิธีกรรมงานบุญนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วเป็นประจำทุกปี บางจังหวัดก็ใช้ขึ้น15 ค่ำ เดือน 10 เซ่นไหว้  และห่อสารทไปวัด ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  บางจังหวัดก็ใช้แรม15 ค่ำ เดือน 10 เซ่นไหว้   และห่อสารทไปวัด ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10
 
เครื่องเซ่นโดนตาประกอบด้วยอาหารขาวหวานต่างๆมากมาย  งานแซนโดนตานั้นเป็นกิจกรรมหลัก ในวันสารทเขมรโดยสารทเขมรแบ่งออกเป็นสองช่วงคือ วันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันเบ็นธม(สารทใหญ่) อันเป็นวันที่ชาวบ้านต้องมีการแซนโดนตาโดยก่อนจะถึงวันนี้ ชาวบ้านจะมีการตระเตรียมข้าวของต่างๆมากมายที่จำเป็นต้องใช้ในการเซ่น ไม่ว่าจะเป็น กล้วย ข้าวต้มหมัดที่ห่อจากใบตองที่ชาวเขมรเรี่ยกว่า อันซอมเจ๊ก และที่ห่อจากใบมะพร้าวเรี่ยกว่า อันซอมโดง ไก่ย่าง ปลาย่าง หมูย่าง เนื้อวัวย่าง ผัก ผลไม้ อาหารแห้ง หมากพลู และของที่จำเป็นต่างๆ อีกมากมาย
               
บรรยากาศในท้องตลาดสี่ถึงห้าวันก่อนวันแซนโดนตาไม่ว่าจะเป็นในตัวอำเภอ หรือจังหวัดที่มีชุมชนคนไทยเขมรอาศัยอยู่อย่างเช่น ที่สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ถ้าท่านผ่านไปในชุมชนหรืออำเภอ ในช่วงดังกล่าวจะมีความจอแจเออัด เต็มไปด้วยกลุ่มคนเชื้อสายเขมรมาจับจ่ายข้าวของเตรียมงานกันอย่างหนาตา โดยเฉพาะตลาดกล้วยที่มาจากแหล่งต่างๆ ต่างขนมาเป็นนับร้อยๆ คันรถ มาขายในที่ที่เป็นชุมชนชาวเขมร ซึ่งกล้วยนับเป็นผลไม้มงคลที่จำเป็นที่สุดในการนำไปประกอบเครื่องเซ่นในพิธีดังกล่าว
 
อีกงานหนึ่งที่กำลังจะจัดให้มีขึ้นในช่วงวันแม่คือ  การแข่งขันร้องเพลงกล่อมเด็ก  ผู้แข่งขันจะมาจากหมู่บ้านต่างๆ  อีกพิธีกรรมหนึ่งที่เกี่ยวกับชาวนา  เมื่อก่อนนี้มักทำกันคือ บุญคุณลาน ตอนนี้จะไม่มีคนทำแล้วเพราะใช้เครื่องสีข้าว  
ในการให้ความสำคัญกับการทำพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียน  ในตอนนี้ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก  โดยทางโรงเรียนและหน่วยงานท้องถิ่นจะให้ความสนใจกับการจัดกิจกรรมงานประเพณีอื่นๆ ในด้านพุทธศาสนาและงานกีฬามากกว่า
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  27   เดือนกรกฎาคม  พ.ศ.2553
ชื่อผู้แต่ง:
-