บูรพาจารย์เจดีย์ วัดป่าสาลวัน


ที่อยู่:
วัดป่าสาลวัน เลขที่ 111 หมู่ 1 ถ.ราชสีมา-ปักธงชัย ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000
โทรศัพท์:
044 -256173, 086 – 244 -8804
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน เวลา 06.00 – 19.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2543
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

อนุสรณ์สถานบูรพาจารย์เจดีย์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 2547

ที่มา: ที่ระลึกในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนินีนาถเสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอนุสรณืสถานบูรพาจารย์เจดีย์ และบรรจุอัฐธาตุพระราชสังวรญาณ(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของบูรพาจารย์เจดีย์ วัดป่าสาลวัน

สำหรับมนุษย์สิ่งที่มองเห็นมีทั้งรูปธรรมและนามธรรม  อนุสรณ์สถานบูรพาจารย์เจดีย์และโบสถ์สีสันสวยงามของวัดป่าสาลวัน  จังหวัดนครราชสีมา  คือรูปธรรมของผู้ที่ชื่นชอบและชื่นชมสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ในวัด  ลึกลงไปกว่ารูปธรรมอันงดงามคือ  จริยวัตรของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรม  หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย  พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี  มีความเชี่ยวชาญในการอบรมสั่งสอนการทำสมาธิและเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน
 
ตามประวัติของวัดป่าสาลวันมีอยู่ว่า  เดิมเป็นวัดประเภทอรัญญวาสี  ตามประวัติได้เริ่มสร้างเป็นสำนักสงฆ์เมื่อปี พ.ศ.2474  หลวงชาญนิคม(ทอง  จันทรศร)  เป็นผู้ถวายที่ดินเริ่มแรก  เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน  ติสโส)  ขณะดำรงสมณศักดิ์พระพรหมมุนี  เป็นผู้ตั้งนามให้ตามสถานที่ว่า “วัดป่าสาลวัน”  เนื่องจากเห็นว่าบริเวณที่สร้างวัดเป็นป่าไม้เต็งรัง  เพราะคำว่า  สาละ  แปลว่า  ต้นรัง  วนะ  แปลว่า  ป่า

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย  ได้เข้ามาปฏิบัติธรรมและจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดป่าสาลวันตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513  ระยะกว่า  30  ปีท่านได้พัฒนาวัดทั้งด้านสถานที่ได้แก่  การปฏิสังขรณ์โบสถ์  วิหาร  ศาลาการเปรียญ  รวมไปถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคให้มีความสะดวกสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่เข้ามาถวายตัวเป็นลูกศิษย์  หลวงพ่อพุธท่านได้อบรมสั่งสอนทั้งพระสงฆ์และฆารวาส    เป็นจำนวนมากนับแสนคน  ได้แก่  ครูอาจารย์  นักเรียนนักศึกษา  นักวิชาการ  พลเรือน  ตำรวจทหาร  เป็นต้น   

ในการให้ความสำคัญกับการฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน  หลวงพ่อพุธได้ร่วมกับญาติโยมสร้างและขยายศูนย์การฝึกทางวิปัสสนาไปหลายพื้นที่ได้แก่  ศูนย์ฝึกวิปัสสนาวัดป่าวะภูแก้ว  ตำบลมะเกลือใหม่  อำเภอสูงเนิน  จังหวัดนครราชสีมา  วัดป่าชินรังสี  ตำบลคลองนา  อำเภอเมือง  จังหวัดฉะเชิงเทรา  วัดหนองปลิง  ตำบลชัยมงคล  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา  เป็นต้น

การสร้างอนุสรณ์สถานบูรพาจารย์เจดีย์  มีวัตถุประสงฆ์เพื่อเป็นปูชนียสถานที่พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงคุณธรรม  คุณงามความดีของหลวงพ่อพุธ  ฐานิโยและบูรพาจารย์  โดยเจดีย์บูรพาจารย์ประกอบด้วย  พระบรมสารีริกธาตุ  อัฐิธาตุครูอาจารย์ของหลวงพ่อและอัฐิของหลวงพ่อพุธ  บูรพาจารย์เจดีย์เริ่มก่อสร้างเมื่อปี  พ.ศ. 2543  ณ  เมรุชั่วคราวที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อพุธ  ตกแต่งภายในและภายนอกแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม  พ.ศ. 2547

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย  มรณภาพเมื่อวันที่  15  พฤษภาคม  พ.ศ 2542  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่  31  พฤษภาคม  พ.ศ.2543  

ก่อนหน้านี้อันเนื่องมาจากการบำเพ็ญบารมีของหลวงพ่อพุธ  ฐานิโย  ดังกล่าว  ความได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้น  สามัญ  พระชินวาศาจารย์  ในปี พ.ศ.2511  และพระภาวนาพิศาลเถระ  ในวันที่  5  ธันวาคม  2535  เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพมหานคร  เมื่อ  1  เมษายน  2524  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรมชั่วคราวที่ค่ายสุรนารี  จังหวัดนครราชสีมา  ทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์  ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ  และสนทนาธรรมกับหลวงพ่อฯ ที่วัดป่าสาลวันในตอนบ่ายวันที่  2  เมษายน  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแก่หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย  และวัดป่าสาลวัน  ทำให้เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วสารทิศมากยิ่งขึ้น  นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ความสวยงามของบูรพาจารย์เจดีย์แห่งนี้สวยงามทั้งการมองจากระยะไกลและระยะใกล้    เจดีย์จตุรมุขนี้มีผู้ออกแบบคืออาจารย์วิชิต  คงประกายวุฒิ  อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล  การออกแบบเป็นการนำเอาลักษณะที่ดีที่สุดจากงานจำนวน  6  แบบที่ส่งเข้าประกวดมาออกแบบใหม่    งานชิ้นนี้มีผศ.ดร.สงวน  วงษ์ชวลิตกุล  เป็นวิศวกรที่ปรึกษา  อาจารย์สุชาติ  ปัตถา  เป็นวิศวกรก่อสร้าง    มีฐานกว้าง  41.16  เมตร  สูง  25.43  เมตร

โดยรอบเจดีย์มีภาพแกะสลักภาพนูนต่ำบนหินทรายเป็นรูปหลวงพ่อพุธ   บูรพาจารย์  และเรื่องราวทางพุทธศาสนา  ประตูแต่ละด้านเป็นไม้แกะสลักด้วยลวดลายวิจิตรเป็นรูปเทวดา    วัสดุที่ปูพื้นและผนังดูสวยงาม  มีทั้งหินทราย  หินแกรนิตและหินอ่อน   ความสวยงามทางสถาปัตยกรรมโดยรวมเห็นได้จากภาพถ่ายมุมสูง   รอบนอกทำเป็นกรอบวงกลม  ถัดเข้ามาเป็นบันไดทางขึ้นสี่ด้านเป็นสองระดับ   ระเบียงชั้นนอกกับระเบียงชั้นในเป็นรูปแปดเหลี่ยมเหมือนกับตัวเจดีย์   บริเวณชั้นล่างของเจดีย์ทำเป็นห้องโถง   ผนังทำด้วยกระจก

ด้วยความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อหลวงพ่อพุธ   ในแต่ละวันเราจะเห็นผู้คนเข้ามากราบไหว้ไม่ขาดสาย   บริเวณด้านในของเจดีย์สิ่งที่โดดเด่นคือพระพุทธรูปองค์ประธาน    ใกล้กันมีรูปปั้นของหลวงพ่อพุธ  ฐานิโย   และบูรพาจารย์อันได้แก่  หลวงปู่สิงห์  ขันตยาคโม  หลวงปู่เสาร์  กันตสีโล  หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต   พระอาจารย์พร  สุมโน     

บริเวณผนังสองด้านภายในเจดีย์มีข้าวของเครื่องใช้และสิ่งที่บอกเล่าเกี่ยวกับหลวงพ่อพุธ   ได้แก่  บาตร   ตาลปัตร    ภาพถ่ายสำคัญ   หนังสือ   ของใช้ส่วนตัวต่างๆ 

ถึงวันนี้แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมานับสิบปี  หลังจากการมรณภาพของหลวงพ่อพุธ  ฐานิโย   กับสิ่งหนึ่งที่จะยังคงอยู่ตลอดไปคือ  เส้นทางความดีที่ท่านได้อบรมสั่งสอนผู้คน  ให้พบกับทางสว่างของชีวิต   หนึ่งในคำสอนของท่าน  “ละชั่ว  ทำดี  ทำจิตใจให้บริสุทธิ์  เป็นคำสอนผู้รู้ทั้งหลาย”  

ข้อมูลจาก :  
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่   26   เดือนมกราคม   พ.ศ. 2552
หนังสืออ้างอิง :  อนุสรณสถานบูรพาจารย์เจดีย์และบรรจุอัฐิธาตุพระราชสังวรญาณ     (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  . บริษัทเอ็น.เจ.โปรโมชั่น  จำกัด , 2542.
 
สาวิตรี   ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ
ชื่อผู้แต่ง:
-