พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยา


พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยา ตั้งอยู่ในส่วนหน่วยงานพยาธิ กายวิภาควิทยาลัย ห้องตรวจซาก อาคารโรงพยาบาลสัตว์คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดแสดงภาพวัตถุชิ้นเนื้อดองด้วยสารฟอร์มาลีนของโรคและพยาธิสภาพของสัตว์และปศุสัตว์ เช่น โรคมะเร็ง โรคกระดูก โรคติดเชื้อต่าง ๆ

ที่อยู่:
ภาคอาคารโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์:
0-2579-0058
วันและเวลาทำการ:
เปิดให้เข้าชมในวันและเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยา

ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก เสมือนหนึ่งพวกเขาเป็นสมาชิกในครอบครัว ต้องให้อาหาร อาบน้ำแต่งตัว ในยามเจ็บไข้ต้องพาไปหาหมอ ด้วยข้อจำกัดทางการสื่อสาร หลายครั้งที่เจ้าของต้องคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าสุนัขตัวโปรดหรือแมวจอมซน เจ็บป่วยด้วยโรคอะไร

สำหรับคนที่นั่งรถผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แถวบางเขนเป็นประจำ จะสังเกตเห็นตึกโรงพยาบาลสัตว์ สถานที่นี้เองได้รวมพิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอาไว้ด้วยกัน ถ้าเดินเข้าไปด้านหน้าเราจะเห็นคนมากมายนำสัตว์เลี้ยงมานั่งรอตรวจ สุนัขหลายตัวดูหมดแรง บางตัวมีผ้าพันแผล บางตัวนอนอยู่บนเตียงเข็น ขณะที่บางตัวนั่งหงอยหมอบอยู่ใกล้เจ้าของ ถ้าเป็นแมวมักจะอยู่ในกรง 

ชิ้นส่วนอวัยวะสัตว์ป่วยที่เก็บรวบรวมของพิพิธภัณฑ์ จัดทำโดยภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ตัวอย่างเหล่านี้ (Specimens) ถือว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติความเป็นมาของภาควิชา และต่อการศึกษาอุบัติการณ์ของภาวะโรคในสัตว์ที่มีในประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในห้องชันสูตรซาก อาคารโรงพยาบาลสัตว์ สิ่งที่จัดแสดงมี 3 ส่วนคือ ชิ้นส่วนอวัยวะจากสัตว์ป่วยชนิดต่างๆ เช่น สุนัข แมว สุกร เป็นต้น โดยบรรจุในพลาสติกปิดสนิทและดองด้วยน้ำยาป้องกันการเสื่อมสลาย (fixative) กระดูกสัตว์ วัตถุแปลกปลอมเก็บจากตัวสัตว์

ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาในวันนี้คือ ผศ.น.สพ.ดร. ไชยยันต์ เกษรดอกบัว พยาธิสัตวแพทย์ อาจารย์ได้บอกว่าแต่เดิมชั้นล่างจะเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์ แต่โรงพยาบาลจำเป็นต้องขยายหน่วยฉุกเฉิน ส่วนของพิพิธภัณฑ์จึงเล็กลง ในส่วนของตู้เก็บชิ้นส่วนอวัยวะสัตว์ป่วยที่บรรจุในพลาสติกใสปิดสนิทและดองด้วยน้ำยา ซึ่งมีเป็นร้อยตัวอย่าง จะไปตั้งอยู่ชั้นบน การจัดแสดงของที่นี่แตกต่างกับพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ที่อยู่อีกตึกหนึ่งใกล้เคียงกัน ที่นี่เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับโรค การเปลี่ยนแปลงที่เกิดมาจากโรคและทำให้เกิดพยาธิสภาพ ในส่วนของกายวิภาคฯ เป็นโครงกระดูกสัตว์ ตัวอย่างอวัยวะที่ปกติ และสื่อการสอนหุ่นจำลองยางพารา

สิ่งที่อยู่ในตู้กระจกชั้นล่างมีพวกก้อนนิ่วลักษณะต่างๆ อาจารย์อธิบายว่า นิ่วพบมากตรงทางเดินปัสสาวะ เป็นปัญหาหลักอย่างหนึ่งของสุนัข มีหลายประเภทแบ่งตามลักษณะของสารเคมี อาจเป็นแมกนีเซียม ฟอสเฟต แคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งจะทำให้มีลักษณะของนิ่วที่แตกต่างกัน อาจมีผิวกลมเกลี้ยง หรือผิวขรุขระแตกง่าย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอยู่กับทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีการขับเลือดและสิ่งคัดหลั่งออกมา ในขณะเดียวกันในปัสสาวะของคนหรือสัตว์จะมีเกลือแร่พวกนี้อยู่แล้ว พอมีตัวให้เกาะในสภาพความเป็นกรดด่างที่เหมาะสม จะทำให้เกลือเหล่านี้ตกตะกอนจับเป็นก้อนใหญ่ขึ้นๆ สัตว์ป่วยเริ่มแรกจะมีอาการปัสสาวะขัด ถ้าเป็นมากจะเกิดการอักเสบรุนแรงติดเชื้อ จะมีปัสสาวะเป็นเลือด ถ้าเป็นนิ่วก้อนใหญ่แล้วไปอุดท่อทางเดินปัสสาวะ กรณีรุนแรงมาก สุนัขจะไม่ปัสสาวะเลย ท้องจะโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะเป่ง ถึงขั้นนี้อาจทำให้เกิดไตวายได้ นิ่วสามารถเกิดขึ้นได้ในกรวยไต ในกระเพาะปัสสาวะ ในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ

ถัดจากก้อนนิ่วลักษณะต่างๆ เป็นกระดูกของสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่เป็นโรคข้อเสื่อม พออายุมากส่วนของหัวกระดูกซึ่งเป็นกระดูกอ่อนจะเสื่อม ส่วนนี้เป็นส่วนป้องกันไม่ให้มีการเสียดสีของเนื้อกระดูก หากตรงนี้เสื่อม กระดูกแท้จะสัมผัสกัน เมื่อสุนัขเคลื่อนไหวมากๆ จะเกิดการเสียดสี ทำให้เกิดการอักเสบ สิ่งที่ตามมาจากการอักเสบ เนื้อกระดูกรอบนอกจะเกิดการตอบสนองด้วยการเกิดกระดูกงอก เกิดปมตามข้อ เบ้ากระดูกตีบและขรุขระ สุนัขจะเจ็บปวดมาก โรคนี้จะเกิดขึ้นตามวัย

หลังจากดูก้อนนิ่วและกระดูกสัตว์เป็นโรคข้อเสื่อมแล้ว อาจารย์ไชยยันต์ได้พาเดินเข้าไปดูภายในห้องชันสูตรซากสัตว์ ห้องนี้ใช้สำหรับการเรียนการสอนนิสิตด้วย ภายในห้องจะมีตัวอย่างอวัยวะของสัตว์ป่วยแช่อยู่ในฟอร์มาลีนเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเหล่านี้เก็บไว้ให้นิสิตมาศึกษาด้วยตนเอง ห้องนี้เป็นหน่วยชันสูตรโรคกรณีที่สัตว์ตาย จะมีอุปกรณ์และโต๊ะผ่าซาก เมื่อมีซากสัตว์ส่งเข้ามา อาจารย์จะเป็นผู้ผ่าซากหาสาเหตุการตายว่าสัตว์ตัวนี้ตายด้วยโรคอะไร ที่นี่จะชันสูตรและวินิจฉัยให้ ถ้าได้รอยโรคจะเก็บอวัยวะส่วนนั้นเก็บไว้สอน

โรคอื่นๆ ที่เกิดกับสัตว์ได้อย่างเช่น ไตอักเสบเรื้อรัง ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เลือดออกในไต ไตบวมน้ำ ตับแข็ง ลูกตาโตเนื่องจากเนื้องอก พยาธิหัวใจ เป็นต้น

ในส่วนของพิพิธภัณฑ์คนที่นำสัตว์เลี้ยงมาหาหมอสามารถเดินเข้ามาศึกษาได้ ที่ผ่านมาคนได้ให้ความสนใจกันมาก เพราะอยากรู้ว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง ในจำนวนซากสัตว์ที่ส่งเข้ามาชันสูตรส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมว เพราะอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ก็มีสัตว์เลี้ยงพิเศษอย่างเช่น งู นก เต่า หนูแฮมสเตอร์ 

นอกจากนี้ที่นี่ยังรับนกธรรมชาติที่ป่วยมาฟื้นฟู จากนั้นก็จะนำไปปล่อยคืน ที่มีอยู่ตอนนี้คือนกแสกถูกกับดักหนู ชาวบ้านสงสารจึงเอามาส่งให้ที่นี่ บางทีก็เป็นอีแร้งที่เป็นข่าวว่าบินมาตกที่ภาคใต้ หรือเป็นนกอินทรีตัวใหญ่ ถ้าเป็นนกตัวเล็ก ที่นี่มีกรงขนาดเล็ก ถ้าเป็นนกตัวใหญ่จะมีกรงฝึกบินขนาด 24 เมตร อยู่ที่วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม จะส่งไปที่นั่นเพื่อฝึกบิน พอฟื้นฟูแล้วแน่ใจว่านกสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองแล้ว จะขออนุญาตจากกรมอุทยานฯ เพื่อปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ถ้าเป็นนกแสกจะนำกลับไปตรงทุ่งนาถิ่นเดิมที่ชาวบ้านพบและนำมาส่ง เพราะอาศัยอยู่ที่นั่นมาก่อน

สำหรับคนทั่วไปหรือนักเรียนนักศึกษา ถ้าสงสัยใคร่รู้ว่าสัตว์เลี้ยงของเราเป็นโรคอะไรได้บ้าง สามารถหาคำตอบได้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จากนั้นไม่ควรพลาดไปชมพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ในบริเวณใกล้เคียงกัน จะได้รู้จักและทราบข้อมูลของสัตว์เลี้ยงของเราได้มากขึ้น

สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน/ ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามวันที่ 5 มิถุนายน 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-