พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา


ที่อยู่:
โรงเรียนวัดภาษี 33/4 ซ.เอกมัย 23 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์:
0-2381-6694
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2548

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

คู่มือท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา

ชื่อผู้แต่ง: กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร | ปีที่พิมพ์: มปป.

ที่มา: กรุงเทพฯ:กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา

ความแตกต่างของเขตวัฒนากับเขตอื่นๆ ของกรุงเทพมหานครอยู่ที่การมีแหล่งความรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ การเป็นสถานที่ตั้งของสถานทูตและกงสุลของประเทศต่างๆ ถึง 13 แห่ง มีประชากรที่เป็นมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเรื่องราวอันน่าพรั่นพรึงกับการใช้พื้นที่ในอดีตของการเป็นลานประหารนักโทษ ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณวัดภาษีและโรงเรียนวัดภาษี สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

“เขตวัฒนา” เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์คุณชัพวิชญ์ บุญเมืองและคุณบุญโรจน์ ถิรศรันย์วิต ได้บอกว่าชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตนี้มีความหลากหลายทางศาสนาที่มีมากที่สุดถึง 80 % คือประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นเป็นคนที่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ 

ภาพภายในพิพิธภัณฑ์ได้แสดงให้เห็นงานประเพณีสำคัญทางศาสนา ได้แก่ประเพณีถือศีลอดเดือนรอมฎอน พิธีสุหนัตของศาสนาอิสลาม งานแต่งงานและงานคริสต์มาสของศาสนาคริสต์ งานประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทงของศาสนาพุทธ

วัดที่อยู่ในเขตนี้จะมีเพียง 2 วัดคือวัดภาษีและวัดธาตุทอง ความเป็นมาของวัดภาษีมีอยู่ว่าในสมัยก่อนการค้าขายจะต้องเสียภาษีตามจุดต่างๆ วัดภาษีเป็นจุดหนึ่งที่มีด่านภาษี ทำให้มีเงินเหลือมาก จึงได้มีการนำเงินมาสร้างวัดในปี พ.ศ. 2390 และให้ชื่อว่าวัดภาษี บริเวณนี้ได้เคยใช้เป็นแดนประหารนักโทษมาก่อน นักโทษในคดีฆาตกรรมที่ยังเป็นที่รู้จักกันจนถึงปัจจุบันคือ บุญเพ็ง ซึ่งชาวบ้านรู้จักในฉายาบุญเพ็งหีบเหล็ก ชื่อนี้มาจากการที่เขาฆ่าผู้หญิงคนหนึ่งแล้วนำไปใส่ไว้ในหีบเหล็ก 

ปัจจุบันมีการตั้งศาลบุญเพ็งอยู่ในวัดซึ่งประวัติและภาพเก่าของการประหารนักโทษผู้นี้ปรากฏอยู่ที่ศาล ภาพหนึ่งเขียนว่า “พ.ศ. 2461 เกิดคดีดังสุดสยองขวัญ ฆ่าหั่นศพใส่หีบเหล็ก” อีกภาพหนึ่งเขียนว่า “19 สิงหาคม พ.ศ. 2462 เป็นวันประหารชีวิตนักโทษอุกฉกรรจ์คือ นายบุญเพ็งหีบเหล็ก ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการกุดหัว ณ วัดภาษีเอกมัย เป็นคนสุดท้ายก่อนเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475”

ในส่วนของวัดธาตุทอง แต่เดิมเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่แขวงคลองเตย แต่ได้ถูกเวนคืนเพื่อทำท่าเรือกรุงเทพฯ จึงได้ย้ายมาสร้างในสถานที่ปัจจุบัน พระอุโบสถของวัดนี้โดดเด่นที่ภายในเขียนรูปต้นโพธิ์ 9 ต้น มีกำแพงแก้วล้อมรอบกุฏิสงฆ์

ความเป็นไทยที่เห็นสะดุดตาภายในพิพิธภัณฑ์นี้คือ หุ่นของบ้านช่างไทย โดยอาจารย์กฤดากร สดประเสริฐ ผู้อนุรักษ์หุ่น บ้านช่างไทยเป็นสถานที่เปิดสอนการทำหุ่นกระบอกไทย เขียนลายรดน้ำ ออกแบบลายไทย จิตรกรรมไทย สีน้ำและสีฝุ่น นอกจากนี้ยังเปิดสอนวิชาศิลปะการป้องกันตัวของไทยแท้ คือมวยไทยโบราณคาดเชือกตามตำรับมวยไทยของท่านปรมาจารย์เขตต์ ศรียาภัย ใกล้กันนั้นมีภาพของศิลปินอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งมีความสวยงามอ่อนช้อยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ 

ในเขตนี้มีแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งความรู้ทางวัฒนธรรมหลายแห่ง ในการมาเยือนพิพิธภัณฑ์จะทำให้เราจะได้ทราบว่ามีอะไรบ้าง ที่โดดเด่นคือสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ อาคารสร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ก่อตั้งมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่5 ในปี พ.ศ. 2447 มีห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือต้นฉบับเอกสารทางมานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา สิ่งแวดล้อม ชีววิทยา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง 

สถานที่น่าสนใจต่อมาคือเรือนคำเที่ยง เป็นเรือนเครื่องสับแบบล้านนาไทยดั้งเดิม เรียกกันทั่วไปว่า “เรือนกาแล” เรือนคำเที่ยงมีพื้นที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมอยู่ 5 ส่วนคือโสตทัศน์และวีดิทัศน์ที่แสดงเพลงเกี้ยวพาราสีหรือแอ่วสาว การร่ายรำเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องวิญญาณภูติผี การทำอาหารพื้นเมืองล้านนาแบบดั้งเดิม การทำขวัญแม่โพสพ และการ์ตูนสามมิติสำหรับเด็กๆ ชุด “การผจญภัยของต๊กโต” ซึ่งตัวละครเอกเป็นตุ๊กแก สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตแบบล้านนา

สถานที่สำคัญต่อมาคือสถาบันปรีดี พนมยงค์ สถานที่แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีแนวทางสืบทอดความคิดของท่าน มุ่งเน้นพัฒนาสังคมด้านต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ การเมือง ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ให้ความช่วยเหลือบริการด้านกฎหมายแก่ประชาชน เป็นสถานที่จัดนิทรรศการ ปาฐกถา อภิปราย ตลอดจนการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม ดนตรีและละคร

เขตวัฒนาถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ จากการที่มีสถานที่เก็บตำราอันมีค่าที่อยู่ในห้องสมุดสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ การได้เห็นภาพเรือนและวิถีชีวิตแบบล้านนาไทยที่เรือนคำเที่ยง การมีสถานที่จัดนิทรรศการที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ สิ่งที่รวบรวมอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์นี้ถือเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าชมได้เดินต่อไปยังคลังความรู้ที่เปิดรอให้ทุกคนเข้าไปหา 

สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม 9 กรกฎาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-