พิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำบ้านบ่อทอง


ที่อยู่:
ที่ทำการอบต.บ่อทอง ต.บ่อทอง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 25240
โทรศัพท์:
037-460037 (อบต.บ่อทอง), 037-298-005
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันและเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2548
ของเด่น:
ตู้จัดแสดงฉากจำลองขั้นตอนการทำเหมืองแร่ทองคำ
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำ อนุสรณ์ขุมทรัพย์ที่ 'บ่อทอง'

ชื่อผู้แต่ง: มานิตย์ สนับบุญ | ปีที่พิมพ์: วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549

ที่มา: มติชนรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

เหมืองทองคำกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

ชื่อผู้แต่ง: นายสถาพร ขวัญยืน และภัทรพงษ์ เก่าเงิน | ปีที่พิมพ์: 2549

ที่มา: สำนักพิมพ์สมาพันธ์

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 01 สิงหาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำบ้านบ่อทอง

สมัยรัชกาลที่ 5 ที่บ้านบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี  จังหวัดปราจีนบุรี  เคยทำเหมืองทองคำมาก่อน  พิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำบ้านบ่อทอง  มีอาคารจัดแสดงตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยทำเหมือง  ผู้ก่อตั้งคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  แล้วส่งมอบให้จังหวัดปราจีนบุรีในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2548  โดยมีอบต.บ่อทองเป็นเจ้าของพื้นที่ในปัจจุบัน
               
การจัดแสดงในอาคารบอกเล่าถึงวิธีการทำเหมืองทองคำ  มีการจำลองฉากขั้นตอนการทำเหมือง  ในตู้กระจกมีการจัดแสดงแร่ชนิดต่างๆ  อุปกรณ์ในการทำเหมืองแร่  มีก้อนแร่ทองคำที่แทรกอยู่ในเนื้อหิน  โดยมีแว่นขยายส่องให้ดู  ส่วนด้านนอกมีหลักฐานทางโบราณคดี  ได้แก่ เตาหลอมใหญ่  เตาหลอมเล็ก  บ่อหมาก บ่อกว้าน
               
ประวัติของการทำเหมืองทองคำมีอยู่ว่า  เมื่อพ.ศ.2416  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระปรีชากลการ(สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งจบการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์จากสก็อตแลนด์  ประเทศอังกฤษ  ไปทำบ่อทองที่เหมืองกบินทร์บุรี  และสร้างโรงเครื่องจักรที่เมืองปราจีนบุรี   พระปรีชากลการทำเหมืองแร่ด้วยการขุดหลุมตามสายแร่ไปตามความลึกและความยาว  และขยายขนาดขึ้นตามสายแร่เดิม  เรียกว่า  การทำเหมืองแร่แบบเปิด (open cut) 
               
พระปรีชากลการ  ทำเหมืองทองอยู่ได้ไม่นานก็เกิดคดีความฟ้องร้องขึ้น  ในที่สุดเมื่อวันที่  28 มีนาคม พ.ศ.2421 พระปรีชากลการ(สำอาง  อมาตยกุล) เจ้าเมืองปราจีนบุรีและผู้ดูแลบ่อทองของรัฐบาลที่เมืองกบินทร์บุรีถูกจับกุม  และถูกประหารชีวิต  ต่อมามีบริษัท The Kabin Syndicate of Siam และบริษัท Societedes Mine de Kabin ได้เข้ามาดำเนินการต่อ  โดยทำเหมืองอุโมงค์  มีการเจาะปล่องลงไปใต้ดินเพื่อหาสายแร่  ปล่องเหล่านี้มีชื่อต่างๆกันไป  เช่น  บ่อมะเดื่อ  บ่อขี้เหล็ก  บ่อพอก  เป็นต้น  แต่ภายหลังได้หยุดไปโดยไม่ทราบสาเหตุ 
               
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดำเนินกิจการตั้งแต่ พ.ศ.2493 เช่น กรมโลหกิจ(กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในสมัยต่อมา) และกรมทรัพยากรธรณี  เป็นต้น
               
คุณธัญรัตน์ หวังดีกลาง  เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน  อบต.บ่อทอง  ได้นำชมพิพิธภัณฑ์  เริ่มจากในอาคารจัดแสดง  ในการอธิบายเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการทำเหมืองทองคำ คุณธัญรัตน์บอกว่าถ้ามาเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากร  จะช่วยติดต่อประสานงานคนในหมู่บ้านที่มีความรู้เรื่องนี้   การก่อสร้างอาคารและการจัดแสดงอย่างที่เห็น  ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เป็นผู้จัดทำทั้งหมด  แล้วจึงได้มอบให้ทางอบต.ดูแลดำเนินงานต่อ  ซึ่งทางอบต.ในช่วงนี้มีปัญหาเรื่องงบประมาณ  เพราะต้องใช้งบประมาณไปกับภัยแล้ง ต้องจัดหาน้ำให้กับหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก  ต้องใช้รถบรรทุกน้ำไปเติมให้กับประปาหมู่บ้าน  และยังต้องดูแลเรื่องการทำถนนให้ชาวบ้าน  จึงไม่มีงบประมาณมาปรับปรุงดูแลพิพิธภัณฑ์
               
ส่วนจัดแสดงที่เด่น  คือการจำลองฉากขั้นตอนการทำเหมืองทองคำแบบเหมืองปิด  เราจะเห็นว่ามีการขุดอุโมงค์ลงใต้พื้นดิน  จากนั้นขนสินแร่ขึ้นมาข้างบน  ขั้นตอนต่อไปจะมีการแยกแร่  ใกล้กันมีตู้จัดแสดงแร่ชนิดต่างๆ เป็นการให้ความรู้กับผู้เข้าชมว่าแร่แต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไรบ้าง แล้วยังมีอุปกรณ์ขุดเจาะทำเหมืองแบบสมัยใหม่  และอุปกรณ์ร่อนแร่ของชาวบ้านที่เรียกว่า “เลียง”  ทุกวันนี้ในพื้นที่ใกล้กับสายแร่ทองคำ  ยังมีชาวบ้านใช้เลียงในการร่อนแร่จากแม่น้ำกันอยู่  การหาทองคำจากตะกอนดินทรายในแหล่งน้ำ  เรียกว่า แหล่งแร่ทองคำทุติยภูมิ  
               
การที่ทองคำเป็นแร่ธาตุที่มีค่า  เกิดมาจากคุณสมบัติโดดเด่นที่ไม่ทำปฏิกิริยากับอากาศหรือกรดเกือบทุกชนิด ยกเว้นกรดกัดทอง  ทองคำเป็นโลหะที่มีความอ่อนตัวสูงมีความเหนียว  เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  มีปริมาณน้อยหายาก  ในหินหนักหนึ่งล้านกิโลกรัมจะมีแร่ทองคำปนอยู่เพียงสี่กรัม  ลักษณะทองคำที่พบทั่วไปจะเป็นเกล็ด  หรือเป็นเม็ดกลมๆหรือเป็นก้อนใหญ่  มักเกิดผสมกับแร่เงิน ทองแดง เหล็กและเทลลูเรียม  การจะได้ทองคำต้องนำก้อนโลหะเหล่านั้นมาถลุงเพื่อแยกทองคำแท้ออกมา

อีกส่วนหนึ่งที่น่าศึกษา  คือแผนผังบริเวณการปรับปรุงพื้นที่เหมืองทองคำ  การศึกษาในส่วนนี้เกี่ยวเนื่องกับการไปเดินชมส่วนจัดแสดงด้านนอก  ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของอบต.บ่อทองและบริเวณใกล้เคียง  โดยหลักฐานที่คงเหลืออยู่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ  พื้นที่เหมืองทองคำสมัยแรก (พ.ศ.2415) ในส่วนนี้จะมีชื่อเรียกว่า “บ่อสำอาง” เรียกตามชื่อพระปรีชากลการมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก  บ่อนี้อยู่ด้านตะวันตกของสวนสาธารณะ  ปัจจุบันไม่มีสภาพเดิม  เพราะมีการขยายพื้นที่เดิมเป็นบ่อน้ำเพื่อการชลประทาน   อีกพื้นที่ทำเหมืองทองโดยกลุ่มชาวต่างชาติ  ร่องรอยหลักฐานส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณอบต.บ่อทอง  สันนิษฐานว่าเป็นการทำเหมืองแร่โดยการขุดเจาะบ่อหมากและบ่อกว้านแล้วนำแร่ไปแยกที่โรงตำ  แล้วนำทองคำอมัลกัมมาแยกที่โรงหลอม 
               
การเดินชมด้านนอก  บรรยากาศจะคล้ายกับเดินชมโบราณสถานที่ครั้งหนึ่งเคยมีเรื่องราว  ส่วนร่องรอยหลักฐานเป็นอิฐเก่าๆ จะช่วยปะติดปะต่อภาพจินตนาการ  ในการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ทำไว้   ได้ทำทางเดินปูอิฐเป็นแนวเชื่อมถึงกัน  บางช่วงปลูกต้นตาลไว้สองข้าง  ช่วยสร้างบรรยากาศ   
               
เมื่อถามถึงสภาพหมู่บ้านในปัจจุบันว่ามีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่  คุณธัญรัตน์มองว่า  การทำการเกษตรของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป  ได้ปรากฏว่ามีการปลูกต้นยูคาลิปตัสเป็นจำนวนมาก  นอกจากนี้ก็เป็นการปลูกมันสำปะหลัง  อ้อย  ข้าว  และที่สังเกตว่าในละแวกนี้มีหอพัก  คุณธัญรัตน์บอกว่าไม่ไกลจากนี้มีโรงงานกระดาษ  โรงงานเฟอร์นิเจอร์  โรงงานฟอกย้อม  โรงงานเหล่านี้จะอยู่แถวริมแม่น้ำ  ทำให้ที่นี่มีประชากรแฝงเข้ามาอยู่ในชุมชน  มาเป็นแรงงานให้กับโรงงานอีกจำนวนหนึ่ง  ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีปัญหาหลายประการตามมา  โดยเฉพาะภาระหนักของอบต.กับปัญหาการขาดแคลนน้ำของชาวบ้านบางหมู่บ้าน

----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  9  เดือนเมษายน  พ.ศ. 2555

----------------------------------------------------
การเดินทาง : การเดินทางไปจังหวัดปราจีนบุรี
     1.รถยนต์ ใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง คือ 
         1.1  กรุงเทพฯ แยกรังสิตตามทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต ผ่าน อ. องครักษ์  จ.นครนายก เข้าทางหลวงหมายเลข 33 แยกขวาที่สามแยกหนองชะอมตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทาง 132 กม. หรือวิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 33 เลี้ยวขวาที่สี่แยกเนินหอม ระยะทาง 136 กม. 
                  1.2 กรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 1 เลี้ยวขวาที่หินกองไปตามทางหลวงหมายเลข 33 ผ่าน  จ. นครนายก แยกขวาที่สามแยกหนองชะอม ตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทาง 164 กม.
                  1.3 กรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 304 ผ่าน จ. ฉะเชิงเทรา พนมสารคาม เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 319 ผ่านอ.ศรีมหาโพธิ์  ระยะทาง 158 กม.
        2. รถโดยสารประจำทาง 
        มีรถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต) ทุกวันวันละ หลายเที่ยว มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ คือ 
            2.1 เส้นทางกรุงเทพฯ -หินกอง-นครนายก-ปราจีนบุรี รถโดยสารปรับอากาศ ชั้นหนึ่ง (กรุงเทพฯ-นครนายก-ปราจีนบุรี) เที่ยวแรกเวลา 05.00 น. เที่ยวต่อไปออกทุกๆ 30 นาที เที่ยวสุดท้ายเวลา 21.00 น. รถโดยสารธรรมดา (กรุงเทพฯ-นครนายก-ปราจีนบุรี)เที่ยวแรกเวลา 04.45 น. เที่ยวต่อไปออกทุกๆ 30 นาที เที่ยวสุดท้าย 19.30 น. ติคต่อ สอบถามรายละเอียดได้สถานีขนส่งสายเหนือ โทร. 272-5160, (รถธรรมดา) และโทร. 272-5299 (รถปรับอากาศ) 
        3. รถไฟ 
             ขบวนรถไฟโดยสารกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรีออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน 
ติดต่อสอบถามที่หน่วยบริการเดินทางสถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 223-7010, 223-7020
 
การเดินทางไปพิพิธภัณฑ์  สถานที่ตั้งเดียวกับที่ทำการอบต.บ่อทอง  จากศาลพระนเรศวรมหาราช  มาตามถนนสุวรรณศร 40 กม. จะถึงสี่แยกสามทหาร  เดินทางอีก 7 กม.ถึงป้อมตำรวจหนองสังข์-วังตะเคียน  แล้วแยกขวาอีก 2 กม.ถึงที่ทำการอบต.บ่อทอง

-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่  9  เดือนเมษายน พ.ศ. 2555
               เหมืองทองคำกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, 2549.
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำบ้านบ่อทอง

จากประวัติความเป็นมาที่ยาวนานกว่าร้อยปีของการทำเหมืองทองคำที่บ้านบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันยังพบซากปรักหักพังปรากฏอยู่ในหลายบริเวณโดยรอบพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่ทองคำ ระหว่างปี พ.ศ.2416-2521 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยพระปรีชากลการเจ้าเมืองปราจีนบุรีเป็น ผู้ดำเนินการทำเหมืองด้วยวิธี การขุดบ่อซึ่งยังมีหลักฐานของโรงตำแร่ เตาหลอม และบ่อเหมืองทองคำ ซึ่งตอนนี้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงร่วมกับจังหวัดปราจีนบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง ได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ ที่ผ่านการทำเหมืองแร่ในบริเวณนี้ขึ้น โดยจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ทองคำและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ

เพื่อให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมเป็นที่รวบรวมวัสดุสิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ และเป็นอนุสรณ์ ตลอดจนแหล่งความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทำเหมืองแร่ทองคำที่สำคัญของไทยรวมถึงเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญภายในจังหวัดปราจีนบุรีอีกแห่งหนึ่งต่อไป 

ข้อมูลจาก

http://www.tat.or.th/travelplacedet.asp?prov_id=25&id=3410[access20070226]

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพฤหัสบดี ที่23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549

ชื่อผู้แต่ง:
-