พิพิธภัณฑ์วัดใหม่กรงทอง


ที่อยู่:
โรงเรียนวัดใหม่กรงทอง ซอยเทศบาล 10ต.ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี 25140
โทรศัพท์:
037-279097 ติดต่ออ.สาลี่
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2543
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

90 ปี หลวงพ่อพระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์(สวาสดิ์ กิตฺติมา) 47 ปี โรงเรียนมัธยมวัดใหม่กรงทอง

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 14 ธันวาคม 2545

ที่มา: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์(สวาสดิ์ กิตฺติมา ป.ธ.6)

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดใหม่กรงทอง

“อำเภอศรีมหาโพธิเป็นดินแดน ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่มาแต่โบราณกาล ปรากฏว่าได้มีการค้นพบเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกปัดจำนวนมาก” 
 
อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรีนั้นเป็นที่รู้จักกันมาเนิ่นนานจากนักล่าสมบัติ นักเรียนนักศึกษาด้านโบราณคดีประวัติศาสตร์ นักท่องเที่ยว นักแสวงบุญ   สันนิษฐานกันว่า เดิมอำเภอศรีมหาโพธิ เคยเป็น เมืองพระรถ มาก่อน ต่อมาเมื่อมีการขุดค้นที่เมืองโบราณแห่งนี้ได้พบคันฉ่องสำริดสมัยลพบุรีซึ่งมีจารึกความว่า “๑๑๑๕ ศกพระไทยธรรมของพระบาทกมรเต็งอัญศรีชัยวรม ทรงมอบให้แก่ อโรคยาศาลา ณ ศรีวัตสปุระ” เมืองโบราณแห่งนี้จึงน่าจะชื่อว่า เมืองศรีวัตสปุระ ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางคมนาคมและเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับเมืองอู่ทอง เพราะอยู่ในตำแหน่งที่ติดต่อกับต่างประเทศได้ทางทะเลและบรรดาเมืองโบราณอื่นๆ ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกเฉียงเหนือติดกับเมืองปักธงชัยและดินแดนที่ราบต่ำเขมรอำเภออรัญญประเทศ
 
เนื่องจากเดิมที่ตำบลโคกปีบ (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอศรีมโหสถ) ซึ่งขึ้นอยู่ในการปกครองอำเภอศรีมหาโพธิ มีต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์อยู่ต้นหนึ่ง มีขนาดใหญ่มาก สันนิษฐานว่าต้นโพธิ์ดังกล่าวได้นำพันธุ์มาจาก "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" พุทธคยา ประเทศอินเดีย ศาสนาพุทธได้เผยแผ่ดินแดนสุวรรณภูมิราวพุทธศักราช 300 และทวารวดีราวพุทธศักราช 500 ความเจริญของศาสนาพุทธในช่วงดังกล่าวได้พาให้บรรดาสมณะทูตทั้งหลายจะต้องนำเอา "พระศรีมหาโพธิ" พันธุ์พุทธ คยามาปลูกเป็นบริโภคเจดีย์สำหรับการกราบไหว้บูชา เพราะอาณาจักรทวารวดี นอกจากจะได้รับการแจกจ่าย "พระบรมสารีริกธาตุ" แล้วคงได้รับพันธุ์ "พระศรีมหาโพธิ" พุทธคยาจากสมณทูตมาเผยแผ่ศาสนาและนำมาปลูก แต่ว่าต้นเดิมอาจจะตายไป เพราะเป็นเวลานานถึง ๒, ๐๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว ต้นที่อยู่ในปัจจุบันนี้น่าจะเป็นหน่อที่เกิดขึ้นใหม่รอบๆ ต้นเดิม และตรงที่ปลูกอยู่นั้นอยู่ในที่สังฆาวาสแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอาณาเขตเข้าไปถึงเมืองโพธิสัตว์และเมืองตะโหนดในประเทศกัมพูชา ดังนั้นจึงเรียกว่า "ดงศรีมหาโพธิ"
 
เนื่องจากประชาชนในจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดใกล้เคียงถือกันว่าเนินต้นโพธิ์ที่ได้รับพันธุ์มาจากพุทธคยาประเทศอินเดีย อันเป็นบริโภคเจดีย์สำคัญแห่งหนึ่งของพุทธศาสนา และได้นับถือกราบไหว้บูชาระลึกถึงองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อมีการจัดตั้งอำเภอตามแนวการปกครองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นและในเขตพื้นที่ของอำเภอ ได้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้อยู่ด้วย จึงได้เรียกนามของอำเภอนี้ว่า "ศรีมหาโพธิ"
 
พระครูศริมหาโพธิคณารักษ์ (สวาสิ์ กิตติมา) เจ้าอาวาสวัดใหม่กรงทองตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 – 2545 เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัดใหม่กรงทองขึ้นในยุคแรก ด้วยความที่หลวงพ่อสนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์ – โบราณคดีมาตั้งแต่สมัยยังวัยรุ่น ทั้งด้านการค้นคว้าจากหนังสือและด้านการขุดค้นด้านโบราณคดี ณ แหล่งโบราณคดี “ดงศรีมหาโพธิ” ทำให้องค์หลวงพ่อเองเป็นผู้รู้ท่านหนึ่งเกี่ยวกับด้านโบราณคดีของดงศรีมหาโพธิ 
 
“เวลาว่างๆ หลวงพ่อท่านก็จะให้ผมตามท่านไปยังแหล่งโบราณคดีดงศรีมหาโพธิ หรือตามบ้านชาวบ้านที่ท่านรู้ว่าน่าจะมีของดี พวกของโบราณนะ เก็บไว้ ท่านก็จะไปคุยแล้วก็จะได้ของเก่าเหล่านี้กลับมา ตามแหล่งบางทีท่านก็ไปขุดพอเจอก็เอามาเก็บที่วัด” 
 
ตั้งแต่ช่วงเวลาที่หลวงพ่อฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดใหม่กรงทองนี้เองเป็นช่วงเวลาที่ท่านได้เก็บสะสมสิ่งของทั้งหมดทั้งมวล  และรวมทั้งความรู้มากมายเกี่ยวกับดงศรีมหาโพธิและแหล่งโบราณคดีแถบนี้ ทำให้ผลงานสะสมด้านศิลปะโบราณวัตถุต่างๆในเขตจังหวัดและนอกเขตตามแต่จากการแสวงหาได้รวบรวมจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นภายในวัดใหม่กรงทองโดยมีคหปตานีบ๊วย ไชยสมบูรณ์อุปถัมภ์ในการสร้างตึกทรงไทยสองชั้น ให้หลวงพ่อท่านได้จัดเก็บโบราณวัตถุต่างๆที่ท่านได้สะสมไว้อย่างดี 
 
แต่เมื่อหลวงพ่อท่านอาพาตลงในช่วงปี พ.ศ.2543 ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดคือ อาจารย์สาลี่  เฟื่องวิจารณ์ และลูกศิษย์ท่านอื่นๆ ก็ได้นิมนต์ให้หลวงพ่อมาพักรักษาตัวที่อาคารสร้างใหม่ของทางโรงเรียนวัดใหม่กรงทองที่หลวงพ่อให้การอุปถัมภ์อยู่ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา และได้ย้ายเอาโบราณวัตถุที่หลวงพ่อท่านได้สะสมไว้มาด้วยบางส่วน ทางโรงเรียนได้มีการทำตู้โชว์เพื่อให้หลวงพ่อท่านได้จัดวางของสะสมตามอัธยาศัย จนเมื่อปี พ.ศ.2545 หลวงพ่อพระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ได้มรณภาพลงในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2545 หลังจากงานพระราชทานเพลิงศพฯ แล้วนั้นทางคณะกรรมการวัดได้มาร่วมกันตัดสินใจว่าของสะสมของหลวงพ่อจะจัดการกันอย่างไรดี และได้ของตกลงร่วมกันว่า ส่วนหนึ่งจะยกให้กับพิพิธภัณฑ์จังหวัดปราจีนบุรีไป และส่วนที่เหลือตามปณิธานที่ตั้งไว้คือ จะจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ภายในเขตของโรงเรียนและนำของหลวงพ่อไปจัดแสดงไว้ที่นั่น แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถจัดสร้างได้ จึงยังคงไว้ที่ห้องเดิม โดยมีรองผู้อำนวยการโรงเรียน อาจารย์สาลี่เป็นผู้ดูแล
 
ศิลปะโบราณวัตถุก่อนที่จะได้มีการบริจาคให้กับทางพิพิธภัณฑ์จังหวัดปราจีนบุรีไปนั้น หลวงพ่อท่านได้เก็บสะสมไว้หลายรูปแบบและหลายสมัย จากคำบอกเล่าของอาจารย์สาลี่นั้น หลวงพ่อท่านมีลูกปัดที่ได้จากดงศรีมหาโพธิอยู่หลายกะละมัง อาจารย์สาลี่เล่าว่าเมื่อก่อนนั้นที่ดงศรีมหาโพธิเวลาฝนตกนั้นลูกปัดก็ไหลมาตามธารน้ำฝน หรือแค่ไปเกลี่ยๆตามหน้าดินก็พบลูกปัดมากมาย  ในปัจจุบันนั้นแม้ว่าจะมีลูกปัดน้อยลงแต่ก็ยังสามารถหาได้ บางวันชาวบ้านก็ยังเดินเข้าดงศรีมหาโพธิเพื่อไปหาลูกปัดกันอยู่   ในเวลาปัจจุบันของที่จัดแสดงอยู่ในห้องรองผู้อำนวยการโรงเรียน
ตู้กระจกด้านขวามือจากประตูห้องด้านในสุดนั้น หน้าตู้ที่วางไว้คู่กับรูปของหลวงพ่อและหิ้งพระเล็กๆเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามพยาธิสมัยทวาราวดี พระกรทั้งสองข้างหัก ถัดจากรูปของหลวงพ่อ ก็จะมีกระดานชนวนแผ่นหนึ่ง ที่อาจารย์สาลี่บอกเล่าว่า หลวงพ่อท่านเป็นนักโหราศาสตร์เรียนรู้จากตำรับตำรามากมาย ท่านจึงสามารถที่จะดูดวงโชคชะตาราศีได้  จึงมีญาติโยมศรัทธาส่วนหนึ่งที่มาเยี่ยมเยียนนมัสการหลวงพ่อด้วยเรื่องทุกข์ทางใจอยู่บ่อยครั้ง  อาจารย์สาลี่เล่าว่าหลวงพ่อท่านเก็บสะสมไว้ แต่ท่านไม่ได้เล่าให้ฟังว่าของชิ้นไหนสมัยไหน เก่าแค่ไหน มีค่ามากเพียงใด แต่อาจารย์สาลี่เองเชื่อว่าคุณค่าที่ท่านไม่บอกแล้วทำให้ข้าวของเล่านั้นยังสามารถอยู่ได้จนทุกวันนี้โดยไม่สูญหายน่าจะดีกว่า เพราะยิ่งมีคนรู้มากว่าท่านมีของโบราณวัตถุมีค่ามากเพียงใดก็อันตรายทั้งคนทั้งของ ภายในตู้ด้านหลังนั้นจากการสันนิษฐานของผู้สำรวจแล้ว หม้อ ไหต่างๆ น่าจะเก่าแก่ถึงสมัยทวาราวดีก็ได้ บางตู้ก็มีเทวรูปโบราณที่มีรูปร่างแปลกตาที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนัก   
 
ผู้สำรวจพบไหปากจู๋ที่มีลักษณะสมบูรณ์มาก แต่ก็ไม่ทราบว่ามาจากสมัยใด จากหนังสือประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองศรีมโหสถ,2535 ได้กล่าวว่า “ภาชนะแบบไหปากจู๋ เป็นภาชนะมีลักษณะเป็นหม้อทรงกลม ก้นแบนมีเชิงเตี๊ยะๆ” นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนของหินแกะสลักเป็นรูปเทวดา ศิลปะแบบขอม    หอยสังข์ที่ทำจากหิน หินแกะสลักเป็นรูปพระอาทิตย์ ชิ้นส่วนหักๆของหินที่มีการแกะสลัก หรือขึ้นรูปเป็นเครื่องมือต่างๆ โถกระเบื้องเคลือบมีฝาปิดหลายใบ เศษกระเบื้องแตกที่มีลวดลายดอกไม้ เครื่องมือเหล็กที่ผุพังหลายชิ้น กำไลสำริด ตรีสูรย์  
 
ทางด้านซ้ายเมื่อเดินเข้าประตูมา ติดผนังทางเดินจะเป็นตู้เก็บหนังสือเก่าที่หลวงพ่อสะสมไว้ในการค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์รวมทั้งผลงานเขียนของหลวงพ่อที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารและนิตยสารด้วย  คัมภีร์ใบลานภาษาบาลี
 
ตู้ทางด้านซ้ายจะเป็นตู้เก็บพระพุทธรูปองค์เล็กๆปางต่างๆ เศียรพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีที่หลวงพ่อสะสมไว้ และบางส่วนก็มีไหสองหูใบใหญ่  พระพุทธรูปปางประทับยืนทรงเครื่องที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
 
การจัดวางข้าวของภายในนั้นเก็บเข้าตู้เป็นระเบียบไม่เกะกะสายตาแต่อย่างใด แต่มิได้จัดเป็นหมวดหมู่ว่าของชิ้นใดมาจากสมัยได้ และยังไม่มีการทำการลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ มีแต่เพียงว่า จดจำนวนเอาไว้เท่านั้น  เนื่องจากว่าสิ่งของเหล่านี้ตั้งวางไว้ในห้องทำงานของรองผู้อำนวยการเพื่อความสะดวกในการดุแล จึงไม่ได้เปิดให้เข้าชมโดยทั่วไป และในปัจจุบันบางคนอาจจะไม่รู้ว่ามีการจัดเก็บข้าวของไว้ที่นี่เพราะอาจจะนึกว่าของสะสมของหลวงพ่อที่เคยจัดแสดงอยู่ในอาคารพิพิธภัณฑ์เดิมที่ตัววัดใหม่กรงทองนั้นยกไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจังหวัดปราจีนบุรีหมดแล้ว  กลุ่มผู้เข้าชมส่วนใหญ่คือ คนที่รู้จักกับหลวงพ่อและทราบรายละเอียดในส่วนนี้หรือว่าผู้ที่ต้องการทราบข้อมูลหรือค้นหาหนังสือเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีดงศรีมหาโพธิ ก็จะเข้ามาขอยืมหนังสือเพื่อเอาไปค้นคว้า ในบางครั้งยืมไปก็ไม่ได้นำมาคืน จึงไม่เป็นที่เปิดเผยนักกับพิพิธภัณฑ์หรือห้องเก็บของสะสมของหลวงพ่อห้องนี้
 
ตามปณิธานของอาจารย์สาลีนั้น อยากจะจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เพื่อแสดงประวัติของหลวงพ่อและนำเอาของสะสมของหลวงพ่อมาจัดแสดงให้ประชาชนและนักเรียนในโรงเรียนของหลวงพ่อหมายถึงโรงเรียนวัดใหม่กรงทองที่หลวงพ่อ  อาจารย์สาลี เฟื่องวิจารณ์ท่านเองก็เสียดายว่า ในช่วงที่หลวงพ่อยังไม่มรณภาพอาจารย์ไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องโบราณคดีจากหลวงพ่อเอาไว้เลย เนื่องจากตัวอาจารย์เองเป็นอาจารย์ทางด้านวิทยาศาสตร์และสนใจด้านวิทยาศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร   การจะจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นในอนาคตให้เป็นรูปร่างอาจจะต้องขอความร่วมมือจากกรมศิลปากรหรือผู้รู้ทางด้านโบราณคดีเพิ่มเติมอีกมาก
 
หลังจากที่สัมภาษณ์และเก็บข้อมูลในส่วนนี้เสร็จแล้ว  อาจารย์แนะนำให้ไปชมวังมัจฉาและเที่ยววัดใหม่กรงทอง ท่ามกลางอากาศร้อนในคราวแรกว่าจะไม่ไปเสียแล้วแต่ก็ด้วยความเสียดายเวลาหากเราจะออกมาเสียเลยก็เหมือนกับไม่ได้ชมเมืองแห่งนี้ ที่วัดใหม่กรงทองนั้นเป็นวัดที่สร้างขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ 5-6 เพราะมีสิ่งปลูกสร้างคือ อาคารพระอุโบสถที่สร้างในพ.ศ.2463 แล้วหน้าบันของโบสถ์ก็ประดับด้วยเครื่องถ้วยกระเบื้องจีน มีศาลาท่าน้ำให้ลงไปให้อาหารปลา และที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งภายในวัดคือ อาคารเรียนเก่าของโรงเรียนวัดใหม่กรงทองเป็นเรือนขนมปังขิงหน้ามุกและบันไดขึ้นสองทาง มีไม้แกะสลักลวดลายวิจิตรตามขอบหลังคาและช่องระบายลมทาสีเหลืองอมส้มกับแดงทั้งหลัง ประตูและหน้าต่างทาสีฟ้าอย่างสวยงามตัดกันที่ก่อนหน้านั้นก็น่าจะเคยเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมมาก่อนก็เป็นได้  หน้าหน้าอาคารเยื้องกับศาลาการเปรียญมีศาลานั่งพักสร้างด้วยไม่ทาสีแดงเขียนป้ายวัดใหม่กรงทอง คาดว่าในหน้าน้ำที่น้ำในแม่น้ำบางปะกงหน้าวัดจะไหลเอ่อขึ้นมาจนบางครั้งก็ล้นตลิ่งอาจจะมีการสัญจรทางเรือและใช้ท่าน้ำแห่งนี้ก็เป็นได้
 
เมธินีย์  ชอุ่มผล เขียน
มัณฑนา ชอุ่มผล ภาพ 
สำรวจวันที่ 19 เมษายน 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-