พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร


ที่อยู่:
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต.ท่างาม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี 25000
โทรศัพท์:
037-216164, 037-211088 ต่อ 3104
โทรสาร:
037-211289
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.30-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
info@abhaibhubejhr.org
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
ของเด่น:
ร้านยาไทยโพธิ์เงิน-อภัยภูเบศร โอสถ มีดหมอของพระมหากษัตริย์ ตู้ยาของหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์)
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์การแพทย์ไทย ทวงถามคุณค่าหมอยาพื้นบ้าน

ชื่อผู้แต่ง: ศรัณย์ บุญประเสริฐ | ปีที่พิมพ์: 37, 3(ต.ค.39) หน้า35-37

ที่มา: อนุสาร อ.ส.ท.

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยกับการพลิกฝื้นตำรายาโบราณที่ “อภัยภูเบศร”

ชื่อผู้แต่ง: ภาณุพงษ์ ไชยคง | ปีที่พิมพ์:

ที่มา: จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 17 ตุลาคม 2556


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

สิ่งที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักของผู้คนของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ ตึกท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยภูเบศร)  ตึกสวยในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ก่อนที่จะมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย  และกลายเป็นฉากในละครย้อนยุคมากมาย  ช่วงสงครามอินโดจีนตึกนี้เคยเป็นโรงพยาบาล แล้วก็เป็นตึกโรงพยาบาลเรื่อยมาจนถึงปี 2512
               
ในแต่ละวันมีผู้มาเยือนมากมาย  คุณพรทิพย์ โชครุ่ง คือหนึ่งในพยาบาลของโรงพยาบาลที่เปลี่ยนเวรกันเข้ามาดูแลคณะผู้เข้าชม  ตามที่เคยมีการเก็บสถิติไว้  โดยเฉลี่ยจะมีผู้เข้าชมเดือนละ 7000-8000 คน  ตัวเลขนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มาเข้าชมแบบเป็นทางการหรือคณะทัวร์ต่างๆ ไม่ได้รวมญาติผู้ป่วยหรือคนที่แวะเข้ามาเที่ยว  ด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์มีการออกบู๊ทแนะนำสรรพคุณสมุนไพรต่างๆ  มีการสาธิตวิธีการทำน้ำสมุนไพรรางจืด
               
การนำชมคณะใหญ่  วิทยากรจะพาขึ้นไปที่ห้องประชุมชั้นบน  มีการบรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของตึกโรงพยาบาล  ความเป็นมาของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ทางเลือกหรือเภสัชกรจะมาบรรยายเรื่องสมุนไพรใกล้ตัว  จากนั้นจึงนำชมในแต่ละห้อง
               
คุณณรงค์  สุ่นปาน นักวิชาการสาธารณสุขระดับชำนาญการพิเศษ  ประธานประชาสัมพันธ์และการตลาด  คือ ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและความเป็นมาของตึกหลังนี้เป็นอย่างดี  คุณณรงค์ได้สรุปให้ฟังอย่างคร่าวๆว่า  ท่านเจ้าพระยาฯสร้างตึกหลังนี้ขึ้นมาก็เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เพื่อให้สมพระเกียรติเป็นที่ประทับแรมในครั้งต่อไป  หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จในครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2451  แต่แล้วในปี 2453  รัชกาลที่ 5 ทรงสวรรคตเสียก่อน  หลังจากนั้นมาตึกหลังนี้ได้รับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์  ตลอดระยะเวลาในชีวิตของท่านเจ้าพระยาฯ ท่านไม่เคยใช้ตึกหลังนี้เป็นที่พำนักส่วนตัว  จนท่านสิ้นอายุไขในปี 2465  มีการตั้งศพของท่านไว้ชั้นบนของตึก  ก่อนพระราชทานเพลิงศพในปีเดียวกัน 
               
หลังจากการอสัญกรรม   ตึกหลังนี้ก็ตกเป็นของตระกูลอภัยวงศ์  โดยพระเจ้าอภัยวรเศรษฐ(ช่วง) เป็นผู้จัดการมรดก  ต่อมาในปี 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอภิเษกสมรสกับหลานสาวคนหนึ่งของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คือ นางสาวติ๋ว อภัยวงศ์ ธิดาของพระอภัยพิทักษ์(เลื่อม อภัยวงศ์)  ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา  พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาอภัยวรเศรษฐ (ช่วง) พี่ชายของพระอภัยพิทักษ์จึงได้ถวายกรรมสิทธิ์ในตึกหลังนี้ตลอดจนที่ดินบริเวณนั้นให้กับพระนางเจ้าสุวัทนา  พระวรราชเทวี และพระนางเจ้าฯก็ได้น้อมเกล้าฯถวายตึกและที่ดินผืนนี้แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
               
ครั้นเมื่อพระนางเจ้าฯจะโดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ไปประทับที่ประเทศอังกฤษ  ในปี 2480 จึงประทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดแก่มณฑลทหารบกที่ 2 จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อใช้เป็นสถานพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ในวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และได้เปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร   ในวันที่ 24 มิถุนายน 2509    ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ใช้งานเป็นโรงพยาบาลจนถึงปี 2512  หลังจากที่ตึกอำนวยการในปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จ  โดยใช้ตึกเจ้าพระยาฯในการประชุมสัมมนาเป็นบางครั้ง  พอมาถึงปี 2533 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถานของชาติ  โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533  
               
ในปี 2537 ได้งบประมาณ 3 ล้านบาทมาจากทางจังหวัดมาบูรณะ  ทำให้ทราบว่าช่วงที่ทำเป็นโรงพยาบาล  น่าจะมีการดัดแปลงซ่อมแซมหลายส่วน  บานหน้าต่างเดิมเป็นบานกรอบไม้ติดกระจกทำลวดลายด้วยกระจกสี  ในเนื้อเป็นลวดลายแจกันและดอกไม้  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบานเกล็ด  และมีการทาสีทับภาพปูนเปียกบนเพดานตึกทุกห้อง  คุณณรงค์บอกว่า  ถือเป็นเรื่องโชคดีที่ช่วงก่อนการบูรณะ  ทางโรงพยาบาลพบส่วนของลายปูนเปียกที่สวยงามมาก    ทางกรมศิลปากรจึงได้มาซ่อมแซมลายปูนเปียกบนเพดานให้ปรากฏออกมาสวยงามอย่างที่เห็นทุกวันนี้   ต่อมาทางโรงพยาบาลได้ทำโครงการการแพทย์แผนไทย  มีวัตถุประสงค์ให้ที่นี่เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า  รวบรวมการอนุรักษ์ตำรายาไทย  การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี  รวมทั้งให้มีการเผยแพร่ความรู้  ในการนี้ทางโรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนจาก นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์  อดีตรมต.ว่าการกระทรวงสาธารณสุข  อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ให้มีการจัดตั้งมูลนิธิหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์)   ซึ่งหมื่นชำนาญแพทย์ฯ คือคุณตาของนพ. ไพโรจน์  พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยเปิดเป็นทางการในวันที่ 24 มิ.ย.2539  ในการบูรณะใหญ่ได้ทำอีกครั้งในปี 2549  โดยใช้งบประมาณจากผู้ว่าซีอีโอประมาณ 5 ล้านบาท
               
ในการบริหารจัดการ  คุณณรงค์อธิบายทำให้เห็นว่า  การที่โรงพยาบาลพระยาอภัยภูเบศรประสบความสำเร็จในด้านการแพทย์แผนไทย  เกิดมาจากการทำงานประสานกันทุกฝ่าย  โรงพยาบาลมีพิพิธภัณฑ์ที่สวยงามดึงดูดผู้คน  ด้านในมีเนื้อหาบอกเล่าความเป็นมา  มีร้านยาไทยโพธิเงิน-อภัยภูเบศร โอสถ ที่เปิดทำการทุกวัน  โดยมีนิสิตจากคณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ระดับปริญญาตรี  มหาวิทยาลัยบูรพา และจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี  มาให้คำปรึกษาและจัดยาต้มให้กับคนไข้  ที่ชั้นล่างของตึกโรงพยาบาลมีร้านขายยาการแพทย์แผนไทย  ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการวิจัยและมีการควบคุมคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพปราศจากสารตกค้าง  คุณณรงค์ได้เอ่ยถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนกลุ่มเกษตรกร “ดงบัง”หนึ่งในสี่สิบกลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับความไว้วางใจให้ปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์  ส่งขายให้กับทางโรงพยาบาล  ทุกวันนี้ชาวบ้านที่เปลี่ยนจากการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ  มาปลูกพืชสมุนไพรมีรายได้มากกว่าเดิมมาก โดยเฉลี่ยรายได้ครอบครัวละ 10000-40000 บาท/เดือน   ส่วนพืชสมุนไพรที่ดงบังไม่สามารถปลูกได้  มีการนำมาจากหลายแหล่ง  มะขามป้อม ได้มาจากภาคเหนือ  บัวบก เพกา ได้มาจากทางอีสานทางจังหวัดมหาสารคาม  ขมิ้นชันมาจากภาคใต้  เปลือกมังคุดมาจากจันทบุรี
               
ยาแพทย์แผนไทยของที่นี่จำหน่ายในนามของมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม  คือ กลุ่มแรก ยาแผนโบราณพวกแคปซูล ยาน้ำ  กลุ่มที่สอง ชาชงต่างๆ เช่น ชาชงดอกคำฝอย ชาชงหญ้าหนวดแมว ชาชงรางจืด  กลุ่มที่ 3 เครื่องสำอางค์ เช่น แชมพู สบู่ ผงสมุนไพรขัดหน้า ครีมบำรุงผิว ยาสีฟัน  กลุ่มที่ 4 กลุ่มน้ำดื่มสมุนไพร  ในการตรวจรักษาคนไข้ของโรงพยาบาลแห่งนี้  ได้นำยาสมุนไพรมาจัดให้กับคนไข้ควบคู่ไปกับยาแผนปัจจุบัน  และการรักษาโรคบางอย่างยังสามารถใช้ยาสมุนไพรทดแทนกันได้  บุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่คุณณรงค์กล่าวถึงคือ ดร.สุภาภรณ์  ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม  โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ท่านผู้นี้ได้รวบรวมและค้นหาตำราแพทย์แผนไทยมาศึกษาค้นคว้า  ไม่เพียงแต่ในประเทศยังค้นหาไปไกลถึงในต่างประเทศ
               
การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มีทั้งสองชั้น ชั้นล่างแบ่งเป็น 7 ห้อง  ได้แก่  ห้องแนะนำพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร  ห้องประวัติศาสตร์  ห้องท้องพระโรง  ร้านขายยาไทย โพธิ์เงิน-อภัยภูเบศร โอสถ  คลินิกการแพทย์แผนไทยเพื่อการวิจัย  ห้องยาไทย  ห้องสำนักงาน  ชั้นบนแบ่งเป็น 6 ห้อง  ได้แก่  ห้องตำรายา ตำราโบราณและมุมจัดแสดงของโรงงานผลิตยาบุณยะรัตเวช  ห้องประวัติการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศร ห้องโถงกลาง  ห้องประชุม  ห้องเอนกประสงค์
               
คุณณรงค์พาชมพิพิธภัณฑ์  เริ่มตั้งแต่ห้องประวัติศาสตร์  ห้องนี้มีภาพและประวัติท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  มีโมเดลจำลองเหตุการณ์การเดินทางด้วยขบวนเกวียนขนทรัพย์สินและบริวารมาจากเมืองพระตะบอง  ในครั้งนั้นคาดว่ามี 500-600 เล่มเกวียนพร้อมทั้งบริวารนับหมื่นคน  เนื่องมาจากในปี 2447-2449  มีเรื่องทางการเมืองระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส  ฝรั่งเศสขอมลฑลบูรพาคืนจากไทย  รัชกาลที่ 5 ทรงยอมคืนให้โดยแลกกับเมืองตราด  ในปี 2450  เจ้าพระยาอภัยภูเบศรขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองแห่งกรุงกัมพูชา  ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต  อพยพเข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกรุงเทพฯ เนื่องจากท่านตระหนักว่าต้นตระกูลของท่านได้เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทมาหลายชั่วคน  จึงมิปรารถนาที่จะไปเป็นข้ากัมพูชา 
               
จากนั้นมาท่านเจ้าพระยาได้สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติมากมาย  ท่านได้ใช้เงินส่วนตัวซื้อเครื่องบินถวาย ร.6  มอบให้กองทัพอากาศ 8 ลำ  ท่านสร้างวัดชื่อ วัดแก้ววิจิตร  วัดนี้มีศิลปะ 4 ชาติ  ไทย จีน เขมร ยุโรป  กำแพงเป็นศิลปะเขมร  เสาแบบโรมัน  จั่วแบบไทย  บันไดหน้าต่างแบบจีน  ในโบสถ์มีพระประธานที่เป็นปางเดียวในโลกคือ  ปางประทานอภัย  ซึ่ง ร.5 ท่านตั้งชื่อไว้  ในห้องนี้มีสมบัติส่วนตัวของท่านคือ ไม้เท้ากัลปังหา  ขอสับช้าง  คุณณรงค์อธิบายว่า  ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่  แล้วท่านยังมีความสามารถในการเป็นควานช้างด้วย  ท่านได้เคยเป็นควานช้างนำเสด็จ ร.5 ในช่วงที่เสด็จเยือนหัวเมือง
               
มาถึงห้องพระโรง  ห้องนี้มีลายปูนปั้นเทพเจ้าแห่งความรัก  เมื่อก่อนนี้เคยใช้จัดงานมงคลสมรสเจ้าหน้าที่ในวันวาเลนไทน์  แต่ตอนนี้ไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว  ถึงอย่างนั้นคาดว่าเป็นความนิยมขณะเข้าชมมีคู่บ่าวสาวสวมชุดแต่งงานมาถ่ายภาพ  จากนั้นเข้ามายังห้องร้านขายยาโพธิ์เงิน-อภัยภูเบศร  โอสถ  ห้องนี้มีการจัดยารักษาโรคให้กับผู้ป่วย คนไข้ที่มาปรึกษาให้จัดยาให้ส่วนใหญ่จะเป็นโรคสะเก็ดเงินกับโรคสตรี เช่น ปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ  ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์  ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับร้านขายยาตามแบบสมัยโบราณ  มีตาชั่ง มียาสมุนไพรที่เก็บไว้ในลิ้นชักเล็กเรียงรายกัน  ยาบางตัวดองอยู่ในขวดโหลมีผ้าแดงปิดฝา  การดองยาจะมีการดองกับแอลกอฮอล์  การดองด้วยน้ำธรรมดา การดองด้วยน้ำผึ้ง  การที่ใช้ผ้าแดงปิดฝาก็เนื่องจากสมัยก่อนเวลาทำศึกสงครามจะใช้ผ้าแดงเขียนยันต์  ทำให้เกิดความขลัง  อีกประการคือผ้าแดงเปื้อนยากกว่าผ้าขาว 
               
ในห้องนี้ยังจัดแสดงตู้ยาของหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) ตู้ยาของท่านใบนี้คือยาแก้พิษยาเบื่อยาสั่ง  เป็นยาแก้พิษเบื่อเมา  โดยตัวยาสมุนไพรจะฝนกับหินพร้อมกระดูกสัตว์ เขาสัตว์ นอแรด กะโหลกสัตว์ ก้ามปู งาช้าง ม้าน้ำ  และในตู้กระจกอื่นๆ ยังมีตัวยาที่ทำมาจากพืชและชิ้นส่วนต่างๆของสัตว์  ปัจจุบันหาดูได้ยาก  แล้วยังมีอุปกรณ์ทำยาอย่างเช่น หินบดยา  มีดหั่นยา มีดสับยา โกร่งบดยา รางหั่นยา
               
สิ่งจัดแสดงที่สำคัญของห้องนี้คือ  มีดหมอ  โดยเฉพาะมีดหมอของพระมหากษัตริย์  ถือว่าเป็นของสูง  ด้ามเป็นรูปพระปิดตา  เป็นรูปเขาสัตว์  มีอักขระจารึก  ใช้กับคนที่มีวิญญาณภูตผีเข้าร่าง  จะมีการร่ายคาถาแล้วสะกดวิญญาณให้ออก  ซึ่งจะต่างกับมีดหมอของพระ  ซึ่งจะใช้สะกดวิญญาณไม่ให้ออกมาหลอกหลอน  ตามความเชื่อโบราณนั้น  ตำรายาต่างๆ เชื่อกันว่ามาจากสรวงสวรรค์  ผู้ที่รับตำราคือองค์พระฤาษีดาบสต่างๆ  ดังนั้นในการจะถ่ายทอดหรือทำการรักษาจะต้องมีการไหว้ครู
               
ก่อนจะขึ้นไปยังชั้นบน  คุณณรงค์อธิบายว่าบันไดทางขึ้นลงตึกมี 2 ทาง  คือบันไดเจ้านายกับบันไดบ่าว  ชั้นบนมีห้องจัดแสดงตำรายาโบราณ ที่ส่วนใหญ่ได้รับมาจากมูลนิธิหมื่นชำนาญแพทยา (พลอยแพทยานนท์) และบางส่วนมาจากการบริจาคจากประชาชนทั่วไป ตำรายาโบราณดังกล่าวส่วนใหญ่จะเขียนด้วยลายมือเป็นภาษาบาลี สันสกฤตและไทย จำนวนทั้งหมด 233 เล่ม 
ประกอบด้วย หนังสือใบลาน 16 ผูก สมุดข่อย 130 เล่ม และหนังสือหายาก 87 เล่ม ในปัจจุบันทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศรได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการหลายสาขาวิชาชีพเพื่อสังคายนาตำรายาโบราณ  พร้อมทั้งจัดหมวดหมู่และแปลตำราเผยแพร่ให้นำไปสู่การใช้ประโยชน์  นอกจากนี้ส่วนของชั้นบนยังมีพวกอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆในการทำยาของบริษัทบุณยะรัตเวช  ที่เป็นโรงงานผลิตยาหอมสุคนธโอสถ  ยาอุทัย ยาสตรี  ยาประสะระย่อม(ทำให้หลับสบาย  คลายเครียด)  อันที่เป็นภาชนะขนาดใหญ่คือหม้อต้มยา
         
ในการสืบทอดการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ได้เป็นไปตามที่ก่อนหน้านี้  ร.5 ได้ทรงเตือนไว้เป็นพระราชหัตถเลขา เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2433 ให้ช่วยกันรักษายาไทยไว้  “ขอเตือนว่าหมอฝรั่งนั้นดีจริง  แต่ควรให้ยาไทยสูญหฤาไม่  หมอยาไทยควรให้มีต่อไปภายน่า  หฤาควรจะมีไว้บ้าง...” 
               
สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ไปจังหวัดปราจีนบุรี  ตึกท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  คือสถานที่น่าเข้าไปเยี่ยมเยือนยิ่งนัก
               
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  15  เดือนมีนาคม  พ.ศ. 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง :  การเดินทางไปจังหวัดปราจีนบุรี
       1.รถยนต์ ใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง คือ 
            1.1  กรุงเทพฯ แยกรังสิตตามทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต ผ่าน อ. องครักษ์  จ.นครนายก เข้าทางหลวงหมายเลข 33 แยกขวาที่สามแยกหนองชะอมตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทาง 132 กม. หรือวิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 33 เลี้ยวขวาที่สี่แยกเนินหอม ระยะทาง 136 กม. 
                  1.2 กรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 1 เลี้ยวขวาที่หินกองไปตามทางหลวงหมายเลข 33 ผ่าน  จ. นครนายก แยกขวาที่สามแยกหนองชะอม ตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทาง 164 กม.
                  1.3 กรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 304 ผ่าน จ. ฉะเชิงเทรา พนมสารคาม เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 319 ผ่านอ.ศรีมหาโพธิ์  ระยะทาง 158 กม.
        2. รถโดยสารประจำทาง 
        มีรถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต) ทุกวันวันละ หลายเที่ยว มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ คือ 
            2.1 เส้นทางกรุงเทพฯ -หินกอง-นครนายก-ปราจีนบุรี รถโดยสารปรับอากาศ ชั้นหนึ่ง (กรุงเทพฯ-นครนายก-ปราจีนบุรี) เที่ยวแรกเวลา 05.00 น. เที่ยวต่อไปออกทุกๆ 30 นาที เที่ยวสุดท้ายเวลา 21.00 น. รถโดยสารธรรมดา (กรุงเทพฯ-นครนายก-ปราจีนบุรี)เที่ยวแรกเวลา 04.45 น. เที่ยวต่อไปออกทุกๆ 30 นาที เที่ยวสุดท้าย 19.30 น. ติคต่อ สอบถามรายละเอียดได้สถานีขนส่งสายเหนือ โทร. 272-5160, (รถธรรมดา) และโทร. 272-5299 (รถปรับอากาศ) 
        3. รถไฟ 
             ขบวนรถไฟโดยสารกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรีออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน 
ติดต่อสอบถามที่หน่วยบริการเดินทางสถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 223-7010, 223-7020
                อาคารพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร  อยู่ใกล้กับตึกทำการของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ตัวอาคารสีเหลืองโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม  ด้านหน้าโรงพยาบาลเป็นถนนเลียบริมแม่น้ำปราจีนบุรี
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  
ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15   เดือนมีนาคม  พ.ศ.2555
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร. http://www.tat8.com/thai/pj/p_jaoprayaapai.htm [Accessed  24/5/2555]
แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ภาณุพงษ์ ไชยคง.พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยกับการ พลิก ฟื้นตำรายาโบราณที่ “อภัยภูเบศร”.http://www.lek-prapai.org/watch.php?id =366 [Accessed 24/5/2555]
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งโรงพยาบาลปราจีนบุรีได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทยนั้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สถาปัตยกรรมวิคตอเรียน (Victorian) โดยมีการผสมผสานขององค์ประกอบหลากหลายยุคสมัย ผนังทาสีเหลืองอ่อนตัดด้วยลวดบัวสีขาว ด้านหน้าอาคารมีมุขยื่นหลังคามุขเป็นโดม หน้าต่างประตูเป็นซุ้มโค้ง ผนังภายนอกตกแต่งด้วยปูนปั้นลายพรรณพฤกษา ภายในตกแต่งเพดานด้วยจิตรกรรมปูนเปียก (fresco) แต่เคยถูกทาทับไป ซึ่งส่วนใหญ่สามารถลอกสีที่ทาทับออกและซ่อมแซมกลับคืนมาได้ยกเว้นห้องโถงกลางชั้นบน ที่ลวดลายได้สูญหายไปหมดเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง

ในปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี หลังจากนั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้ว่าจ้างบริษัท โฮวาร์ด เออร์สกิน จำกัด สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2452 เพื่อเป็นที่รับเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรีอีก อย่างไรก็ตามอาคารนี้มิได้เคยรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะเสด็จสวรรคตเสียก่อน แต่ก็ได้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2455 และเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ในเวลาต่อมา

หลังจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศรถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2465 บ้านก็ได้เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงพระนางเจ้าสุวัทนา พระราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ประทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้แก่มณฑลทหารบกที่ 2 ปราจีนบุรี ในปี 2480 เพื่อให้จัดการ ปรับปรุงเป็นสถานพยาบาลของทหารและประชาชน ต่อมา กระทรวงมหาดไทยได้ขอโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากกระทรวงกลาโหมเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลปราจีนบุรี ตึกนี้ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ และจารึกนามที่หน้าตึกว่า "ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร" ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทย โดยเป็นศูนย์รวบรวม อนุรักษ์ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับตำรายาไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี 

ข้อมูลจาก : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์. 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับบลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), 2547.

ชื่อผู้แต่ง:
-

พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยกับการพลิกฝื้นตำรายาโบราณที่ “อภัยภูเบศร”

หากกกล่าวถึง “อภัยภูเบศร” หลายท่านคงนึกถึงผลิตภัณฑ์และยาจากสมุนไพรของไทย รวมถึงชื่อโรงพยาบาลขึ้นชื่อจนเป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาชนที่ต้องการทางเลือกในการรักษาสุขภาพ โดยเห็นได้จากยาสนไพรที่โรงพยาบาลผลิตออกสู่ท้องตลาด กลายเป็นสินค้าในตลาดยาสมุนไพรที่มีคุณภาพสุง เนื่องจากมีกรรมวิธีในการแปรรูปยาสมุนไพรที่รับประทานยากมาบรรจุในแคปซูลที่ทันสมัย ง่ายต่อการบริโภค
ชื่อผู้แต่ง:
-