พิพิธภัณฑ์สัตววิทยา ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญเกี่ยวกับสัตว์ หัวข้อที่จัดแสดงได้แก่ ความหลากหลายของอาณาจักรสัตว์ ซึ่งมีสัตว์บางชนิดที่คนทั่วไปอาจไม่คุ้น เช่น จระเข้ปากกระทุงเหว ฟองน้ำ หอยงวงช้างกระดาษ หอยมุกน้ำจืด หนูผีจิ๋ว นกชนิดต่างๆ กะโหลก ฟัน และเขาสัตว์ โครงสร้างสัตว์ แมลงน้ำ ค้างคาวและการเกษตร โลกของจระเข้ รังและวัสดุในการสร้างบ้านของสัตว์ วิวัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง และวิวัฒนาการของมนุษย์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์สัตววิทยา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวข้อที่จัดแสดงได้แก่ ความหลากหลายของอาณาจักรสัตว์ นกชนิดต่างๆ กะโหลก ฟัน และเขาสัตว์ โครงสร้างสัตว์ แมลงน้ำ ค้างคาวและการเกษตร หอยมุกน้ำจืด โลกของจระเข้ รังและวัสดุในการสร้างบ้านของสัตว์ วิวัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง และวิวัฒนาการของมนุษย์สัตว์ที่ดูสะดุดตาที่สุดตัวหนึ่งที่จัดแสดงไว้คือตะโขง จระเข้ชนิดนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ลักษณะที่ แตกต่างจากจระเข้ชนิดอื่นอยู่ตรงที่ปากเรียวยาว จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจระเข้ปากกระทุงเหว เพราะมีผู้นำไปเปรียบเทียบกับปากของปลากระทุงเหว ถิ่นอาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบน้ำจืด แม่น้ำ และบึงที่มีพืชน้ำขึ้น พบในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยเคยพบที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง และนราธิวาส ปัจจุบันบางสำนักว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว แต่เมื่อปีที่แล้วรายงานข่าวกล่าวว่ามีผู้พบเห็นในจังหวัดชลบุรี จระเข้ชนิดนี้เป็นสัตว์คุ้มครองประเภทที่1 ห้ามล่า ห้ามซื้อขาย อย่างไรก็ดีข่าวจากกรมประมงรายงานว่าฟาร์มจระเข้สมุทรปราการสามารถการเพาะพันธุ์จระเข้ชนิดนี้ได้สำเร็จ
ในกลุ่มของนก ไก่ฟ้าพญาลอเป็นนกที่มีลักษณะโดดเด่น โดยเฉพาะตัวผู้ซึ่งมีสีสันสวยงามจึงได้รับการคัดเลือกเป็นนกประจำชาติไทย ไก่ฟ้าชนิดนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวด้านบนส่วนปีก คอ และอกมีสีเทา ส่วนหน้ามีหนังหน้ากากสีแดง แข้งสีแดง ที่หัวมีขนเป็นพู่สีดำ หางดำ ส่วนตัวเมียสีน้ำตาลแดง ปีกสีดำสลับขาว หน้าสีแดง อาศัยอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน บริเวณที่ราบป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา บางครั้งพบตามป่าโปร่ง อาหารคือหนอน แมลง เมล็ดหญ้า ขุยไผ่ และลูกไทร เป็นต้น ไก่ฟ้าพญาลอเป็นสัตว์คุ้มครองอีกชนิดหนึ่ง ส่วนตัวอย่างนกอื่นๆก็มีให้ชมอีกหลายชนิด เช่น นกปากช้อนขาว นกกระแตแต้แว้ด นกกระเต็นลาย ฯลฯ และยังมีตัวอย่างนกในท่านอนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้จัดแสดงแต่เก็บไว้เพื่อศึกษาเชิงวิชาการ
ประเภทสัตว์น้ำ หลายคนคงทราบดีว่าฟองน้ำเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล แต่ทราบหรือไม่ว่าในแหล่งน้ำจืดก็มีฟองน้ำอาศัยอยู่ด้วย ในเว็บไซต์ของภาควิชาสัตววิทยาโดย รศ.นันทพร จารุพันธุ์ ให้ข้อมูลว่าฟองน้ำเป็นสัตว์ที่มีรูพรุนทั้งตัว ฟองน้ำน้ำจืดจะอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนสูง โดยเกาะอยู่ตามกิ่งก้านของพืชน้ำหรือชิ้นไม้ในน้ำ จากป้ายนิทรรศการกล่าวถึงคุณสมบัติของฟองน้ำน้ำจืดไว้ว่าสามารถสามารถสังเคราะห์สารปฏิชีวนะเพื่อทำความสะอาดตัวเองได้เป็นเวลากว่า 500 ล้านปีมาแล้ว นอกจากฟองน้ำหลายชนิดที่เก็บไว้ในรูปตัวอย่างแห้งและตัวอย่างดองในแอลกอฮอล์ ทางพิพิธภัณฑ์ยังเก็บตัวอย่างสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลอีกหลายชนิด เช่น ปะการังออแกนไพพ์ที่นิยมนำไปทำเครื่องประดับ และ ลูกไม้ถักทะเล เป็นต้น
ในบรรดาเปลือกหอยที่จัดแสดง มีหอยชนิดหนึ่งที่ถูกยกขึ้นแท่นดาวเด่นแม้ว่ารูปร่างหน้าตาจะแสนธรรมดา นั่นคือหอยกาบน้ำจืด หอยสองฝาชนิดนี้แอบซ่อนความงามไว้ภายในเพราะสามารถนำไปผลิตมุกน้ำจืดได้ ส่วนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาจากงานวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดอย่างยั่งยืนของรศ. ดร.อุทัยวรรณ โกวิทวที ภาควิชาสัตววิทยา ประโยชน์ของหอยกาบน้ำจืดคือช่วยกรองตะกอนทำให้น้ำใส สำหรับไข่มุกน้ำจืดนอกจากจะนำมาทำเครื่องประดับแล้ว ยังใช้ทำยาและเครื่องสำอาง ส่วนเปลือกหอยนำไปทำเครื่องประดับ และเครื่องเรือนประดับมุกได้อีกด้วย
ตู้กระจกด้านหน้ามีวัตถุสีขาวบอบบางขดม้วนเป็นวงเหมือนทำจากกระดาษ อ่านจากป้ายระบุว่าเป็นหอยงวงช้างกระดาษ ที่น่าแปลกใจคือสัตว์ที่เรียกว่าหอยชนิดนี้ความจริงเป็นหมึกซึ่งอยู่ในกลุ่มหมึกยักษ์ มีหนวด 8 เส้น สามารถว่ายน้ำได้ เมื่ออ่านต่อมาก็ต้องแปลกใจอีกครั้งเพราะเปลือกสีขาวที่จัดแสดงเป็นเปลือกหุ้มไข่ซึ่งหมึกตัวเมียสร้างขึ้นเฉพาะช่วงมีไข่เท่านั้น ไม่ใช่เปลือกนอก
ในพิพิธภัณฑ์มีโปสเตอร์ที่น่าสนใจแผ่นหนึ่งว่าด้วยเรื่องนิเวศวิทยาแหล่งน้ำไหลซึ่งกล่าวถึงแมลงหลายชนิดที่เราคุ้นเคยและที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่นแมลงชีปะขาว แมลงสโตนฟลาย แมลงหนอนปลอกน้ำ และจิงโจ้น้ำ จากเอกสารของดร.เสฐียร บุญสูง ให้ข้อมูลว่าตัวอ่อนของแมลงชีปะขาวซึ่งเป็นสัตว์หน้าดิน อาศัยอยู่ในน้ำ อาหารคือเศษซากสารอินทรีย์และสาหร่าย แมลงชนิดนี้มีความไวต่อมลภาวะ จึงเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำดีได้ แมลงที่มีความสามารถน่าทึ่งอีกชนิดหนึ่งคือจิงโจ้น้ำ สามารถเคลื่อนที่บนผิวน้ำได้ เพราะส่วนปลายขาของมันมีขนละเอียดอัดแน่นจำนวนมากทำให้ไม่เปียกน้ำ จิงโจ้น้ำเป็นแมลงที่อยู่กันเป็นกลุ่ม มีชีวิตราว 1 เดือน
ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมากใกล้เคียงกับค้างคาวคุณกิตติที่หลายสำนักยกให้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก สัตว์ดังกล่าวคือหนูผีจิ๋วซึ่งมีความยาวจากปลายจมูกถึงโคนหางราว 60 มิลลิเมตร ตัวอย่างที่ดองในขวดมีน้ำหนักเพียง 1.7 กรัม หนูผีจิ๋วเป็นสัตว์โบราณ กินแมลงตามพื้นดินเป็นอาหาร พบได้ทุกภาคในประเทศไทยยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สัตว์ที่ตัวโตขึ้นมาอีกระดับหนึ่งก็มีให้ชมหลายชนิด เช่น อีเห็นข้างลาย มีขนสีน้ำตาลอ่อนหรือเทาอ่อน ด้านข้างมีลายจุด ด้านหลังมีแนวจุดขนสีดำสามแนว ใบหน้ามีแถบสีดำคาดตาคล้ายแรคคูน เล็บเป็นตะขอปลายแหลม พบได้ในป่าหลายประเภท เช่น ป่ารุ่น สวนป่า ออกหากินตอนกลางคืน อาหารได้แก่ผลไม้ ใบไม้ แมลง หนอน สิ่งที่ควรระวังคือมันเป็นพาหะของเชื้อไวรัส SARS นอกจากนั้นที่นี่ยังจัดแสดงโครงกระดูกและเขาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แพะ แกะ เก้ง กวาง จิงโจ้แคระ และลิงลม เป็นต้น
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำที่จัดแสดงได้แก่ โลมาหัวบาตรหลังเรียบ ข้อมูลจากป้ายอธิบายว่าโลมาชนิดนี้รูปร่างคล้ายโลมาอิรวดีแต่ตัวเล็กกว่า ส่วนหลังสีน้ำเงินเทา ท้องขาว ไม่มีครีบหลัง แต่มีตุ่มเป็นแนวสองแนวบริเวณกลางหลัง หัวทู่เพราะไม่มีจงอยปาก มีฟัน 26-44 คู่ ตัวโตเต็มวัยยาวราว1.9 เมตร หากินตามชายฝั่งน้ำตื้นหรือแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีทางเชื่อมลงสู่ทะเล พบในอ่าวไทยและทะเลเขตอินโดแปซิฟิก อาหารคือปลาขนาดเล็ก กุ้ง หมึก มักอยู่ตัวเดียวหรือรวมกันเป็นฝูงเล็กประมาณ 10 ตัว
เมื่อสิ่งที่มนุษย์เรียกว่าความเจริญคืบคลานไปเบียดเบียนที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากินของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกป่า การถมแหล่งน้ำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่น ตลอดจนการทำให้โลกร้อน การศึกษาสัตว์เชิงอนุรักษ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ผศ. ดร.สุรพล อาจสูงเนิน ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ให้สัมภาษณ์ว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลต่อพื้นที่หากินและพัฒนาการโครงสร้างสัตว์ ยกตัวอย่างที่หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าการก่อสร้างถนนลาดยางมะตอยเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติหรือการทำทางเข้าไปในหมู่บ้านจะก่อปัญหาแก่สัตว์ เพราะในขณะที่ยางมะตอยยังไม่แห้งสนิท สัตว์เลื้อยคลานจำพวกงู กิ้งก่า ตะกวดที่เดินทางผ่านก็จะมียางมะตอยติดผิวไป ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกและมีผลต่อการติดต่อสื่อสารกับสัตว์พวกเดียวกัน หรือในยุคโลกร้อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทำให้พื้นที่หากินของนกอพยพลดลง นกที่มีปากสั้นอาศัยอยู่ตามชายเลนก็อาจต้องย้ายไปหากินที่อื่น เช่น นาเกลือหรือนาข้าว เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมและซ่อมแซมตัวอย่างจึงยังไม่เปิดเป็นทางการ แต่ผู้สนใจสามารถเข้าไปเดินชมได้ เมื่อพิจารณาจากจำนวนและความหลากหลายของตัวอย่างคาดว่าที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับสัตว์อีกแห่งหนึ่ง
เรื่อง/ภาพ: เกสรา จาติกวนิช
ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม: 19 มิถุนายน 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ธรรมชาติวิทยา โครงกระดูก ปะการัง หอย นิเวศวิทยา โลมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
จ. กรุงเทพมหานคร
ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช (มหามณฑปหลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตรวิทยาราม)
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์
จ. กรุงเทพมหานคร