พิพิธภัณฑ์บุญญาภิรัติ (หลวงปู่ทิม อิสริโก)


ที่อยู่:
ซอยทางเข้าสนามยิงปืนเมืองพัทยา ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20150
โทรศัพท์:
08-5650-6705
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2554
ของเด่น:
พระเครื่องและเครื่องรางของขลังหลวงปู่ทิม
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

พัทยาเปิดพิพิธภัณฑ์บุญญาภิรัติ หวังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 16 มิถุนายน 2554

ที่มา: เนชั่น

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์บุญญาภิรัติ (หลวงปู่ทิม อิสริโก)

พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคลต่างๆ เป็นสิ่งใกล้ตัวของคนไทยที่เราคุ้นเคย  สิ่งนี้อยู่คู่กับความมีชื่อเสียงของพระเกจิอาจารย์ผู้สืบทอดวิชาโบราณ แต่เชื่อว่ามีเพียงไม่กี่คนที่จะได้มีโอกาสได้เห็นพระเครื่องชุดใหญ่มูลค่าสูงของพระครูภาวนาภิรัติ (หลวงปู่ทิม อิสริโก) วัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พร้อมกับเรื่องราวทุกสิ่งทุกอย่างจากการเก็บรายละเอียดและเก็บรักษาสิ่งของเป็นอย่างดี  อันจากความเคารพรักศรัทธาของคุณเพียรวิทย์ จารุสถิติ ลูกศิษย์เอกของท่าน
       
เนื่องจากว่าวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ล้วนเป็นของหายาก มีจำนวนมากมายน่าทึ่ง เมื่อได้ทราบว่าส่วนใหญ่เป็นของรักของบูชาของคุณเพียรวิทย์  จารุสถิติ เพียงท่านเดียว จึงขอกล่าวถึงประวัติคร่าวๆ แต่เดิมมาคุณเพียรวิทย์เป็นผู้สนใจเกี่ยวกับไสยศาสตร์และวิชาอาคมเป็นอย่างมาก ได้รับการครอบครูจากหลวงปู่ทิม อิสริโก และหลวงปู่แก้ว เกสาโร ท่านได้มีโอกาสรับใช้ดูแลหลวงปู่ทิมอย่างใกล้ชิดเป็นเวลายาวนาน  จนกระทั่งหลวงปู่ทิมมรณภาพเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2514 หลังจากนั้นท่านได้ไปดูแลรับใช้หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา หลวงพ่อคล้อย วัดถ้ำเขาเงิน จังหวัดชุมพร หลวงพ่อชื่น วัดตาอี จังหวัดบุรีรัมย์ จนหลวงพ่อทั้งสามรักเอ็นดู  จึงรับท่านเป็นบุตรบุญธรรม
 
ต่อมาคุณเพียรวิทย์ ได้มาพบว่า ได้เกิดกรณีคนมีพระเครื่องหลวงปู่ทิมอยู่ในครอบครอง หลังจากเสียชีวิต ญาติพี่น้องแก่งแย่งกัน  จึงได้มาคิดว่าอยากทำพิพิธภัณฑ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม  อยากให้คนมาเข้าชม ไม่อยากให้สิ่งของหลวงปู่ทิมสูญหายไป  และไม่อยากให้เป็นพุทธพานิชย์  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเกิดขึ้นมา  พร้อมกับความร่วมมือของคุณพิพัฒน์ ศุภกิจวัฒนา  ผู้เป็นทั้งเพื่อนและพี่น้องที่นับถือกัน จึงได้ต่อเติมอาคารออกมาจากตัวบ้านของคุณพิพัฒน์ มาทำเป็นพิพิธภัณฑ์
 
ภายหลังมีคนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ทำให้ดูคับแคบ จึงได้ปรึกษากันว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์หลังใหม่โดยแยกออกมาจากตัวบ้าน  มาถึงวันนี้ได้ย้ายมาจัดแสดงที่อาคารใหม่หลังใหญ่โอ่อ่าสง่างาม  ภายหลังได้มีผู้ร่วมก่อตั้งอีกหนึ่งคนคือ พ.จ.อ.ปราโมทย์ ลักษณบัณฑิตย์    ก่อนหน้านี้คุณเพียรวิทย์ไม่ได้คิดว่าจะใหญ่โตขนาดนี้  เปรยว่าจะไปหาของที่ไหนมาจัดแสดง พอทำไปทำมากลับไม่พอ คุณเพียรวิทย์พูดถึงอย่างอารมณ์ดี
 
สิ่งที่คุณเพียรวิทย์ภาคภูมิใจ ไม่ใช่เพียงวัตถุมงคลราคาแพงเท่านั้น สิ่งของเล็กๆน้อยๆของหลวงปู่ทิม คุณเพียรวิทย์เก็บมาทั้งหมด อย่างตู้ไม้เก่าๆ แต่เดิมเขาจะทิ้ง เป็นตู้ไม้อายุสามสิบกว่าปีมาแล้ว เป็นตู้ใส่ยาของหลวงปู่  ตู้นามบัตรที่หล่นมาแตก คุณเพียรวิทย์ก็เก็บไว้  หรือเวลาไปวัดไหน เกศาของพระอาจารย์คุณเพียรวิทย์ก็ใช้ความพยายามที่จะนำมาเก็บไว้บูชา อย่างตำรายาต่างๆ พอเจ้าอาวาสมรณภาพ ไม่มีใครอ่านได้ เขาจะทิ้งกันหมด  สมัยก่อนพระอาจารย์จะใช้ปากกาคอแร้งจุ่มหมึกแล้วเขียน
 
การจัดแสดงพระเครื่องชุดใหญ่ของหลวงปู่ทิม  ได้จัดชั้นวางไว้อย่างสวยงาม มีเฉพาะวันเสาร์ การนำมาให้ชมแต่ละครั้งจะนำมาจากตู้เซฟธนาคาร เนื่องจากมูลค่าสูงมาก   ในห้องเล็กติดกันมีพระพุทธรูป ผ้ายันต์ ภาพและเอกสารสำคัญ  มีรอยเท้าของหลวงปู่ทิมใส่กรอบไว้  
 
การจัดสิ่งของในแต่ละตู้กระจก คุณเพียรวิทย์ได้พยายามจัดไว้เป็นหมวดหมู่  นอกจากพระเครื่อง  เครื่องรางของขลัง ของใช้ของหลวงปู่ทิมแล้ว ยังมีพระเกจิอาจารย์ของประเทศไทยท่านอื่นๆด้วย  ในตู้กระจกด้านหนึ่งมีเกศาของครูบาอาจารย์ใส่ไว้ในผอบ  แต่ละอันมีภาพและนามของแต่ละท่าน
 
ในบรรดาเครื่องรางของขลัง ของปลุกเสก ที่น่าสนใจมากได้จัดแสดงไว้ ได้แก่ มีดหมอ ลูกอมผงพราย ลูกประคำผงพรายกุมาร ตะกรุดสาลิกา(เป็นตะกรุดฝังหลังพระขุนแผนพิมพ์ใหญ่) สีผึ้ง “ผีหุง” ลูกอม เป็นต้น
 
เรื่องราวของขลังแต่ละประเภท แต่ละเรื่องราวเมื่อทราบล้วนแต่น่าสนใจ ยกตัวอย่าง  สีผึ้ง “ผีหุง”เป็นวิชาไสยศาสตร์โบราณที่ได้ถ่ายทอดกันมา วิธีการต้องมีการผสมน้ำมันของคนตายในวันเสาร์ เผาวันอังคาร หลวงตาพูนอดีตสัปเหร่อศิษย์คนหนึ่งของปู่ทิม ได้เคยทดลองทำ ด้วยการนำสีผึ้งไปปิดปากผี ไปหุงที่ทางสามแพร่งในป่าช้า โดยนำเครื่องเซ่นนายป่าช้าไปทำพิธี แล้วนำสีผึ้งที่เตรียมไว้ใส่ในขัน เตรียมฟืนสามท่อนมาวางไว้ เตรียมเครื่องเซ่นสังเวยอีกชุดหนึ่งมีปลาพร่าปลายำและเรียกผีผู้ตายมากินเครื่องเซ่น  จากนั้นเอาขันใส่สีผึ้งวางบนฟืน และกล่าวว่า เมื่อเอ็งกินอิ่มแล้วช่วยหุงสีผึ้งนี้ด้วย พรุ่งนี้ข้าจะมาเอา แล้วให้รีบเดินออกมาห้ามหันหลังเหลียวมอง เมื่อหลวงตาพูนทำแล้ว หลวงปู่ทิมได้นำไปปลุกเสกอีกครั้ง  การนำของขลังนี้ไปใช้มีข้อกำหนดให้ใช้ในทางที่ดี ใช้ในการทำมาหากินให้รุ่งเรือง
 
อีกอันที่โดดเด่นคือ “ลูกอม”มีมาแต่โบราณ ลักษณะเป็นลูกกลมๆ ใช้อมเป็นเครื่องรางของขลัง เพื่อคุ้มครองป้องกันภัยอันตราย  วัสดุมีส่วนผสมอาถรรพ์ต่างๆ สมัยโบราณใช้อมจริงๆ แต่พอยุคต่อมา จากที่ได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ ผู้เข้าชมจะเห็นว่าเป็นก้อนกลมๆ มีขนาดใหญ่มาก ในสมัยที่มีการสร้างพระเครื่อง จะมีการนำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดมาผสมรวมกันแล้วกดพิมพ์ออกมาเป็นองค์พระ เมื่อได้จำนวนที่ต้องการแล้ว มวลสารเหลือ จะมีการนำมาปั้นเป็นลูกกลมๆแล้วนำมาปลุกเสกเป็นการเฉพาะให้มีพลังอำนาจตามที่ต้องการ
 
สำหรับที่นี่ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2554 เป็นวันสำคัญของเปิดพิพิธภัณฑ์  จึงกำหนดให้วันที่ 16 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันไหว้ครู ลูกศิษย์และผู้ศรัทธาเคารพหลวงปู่ทิมจะได้มาทำบุญร่วมกัน โดยเงินทำบุญทั้งหมด  ได้นำไปบริจาคให้การกุศล
 
ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุมงคลมูลค่าสูง  คุณเพียรวิทย์ทราบดีว่ามีความเสี่ยง ซึ่งต้องมีการจ้างรปภ.มาดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่  แต่ที่ทำเช่นนี้ด้วยเหตุผลว่า อยากประกาศเกียรติคุณของหลวงปู่ทิม พระอริยสงฆ์ชื่อดังของภาคตะวันออก
 
----------------------------------------------------
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 23 มีนาคม 2556

 
----------------------------------------------------
 
การเดินทาง : การเดินทางไปพิพิธภัณฑ์บุญญาภิรัติ สามารถใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ- ชลบุรี(สายใหม่) ให้เลี้ยวซ้ายไปทางสัตหีบอีก 9.7 กม. ขับมาเรื่อยๆ ต้องวิ่งคู่ขนานมากับทางรถไฟ  หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 (พนมสารคาม-สัตหีบ) ให้ขับรถตรงมาเรื่อยๆตามป้ายสัตหีบ  จนกระทั่งเห็นสนามกอล์ฟพัทยาคันทรีคลับ  ซึ่งจะอยู่ทางซ้ายมือ ขับตรงไปอีก 1 กม. จะเจอทางเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36(กระทิงลาย-ปลวกเกตุ) หรือถนนบายพาสพัทยา-ระยอง  จุดสังเกตก่อนถึงทางเข้าพิพิธภัณฑ์จะเห็นโรงงานปูนทีพีไอ
 
-----------------------------------------------
อ้างอิง 

ข้อมูลการสัมภาษณ์ วันที่ 23 มีนาคม 2556

สีผึ้ง “ผีหุง”หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่.(2556). ค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2556,จากhttp://www.timpirus.com/forums/index.php?topic=268.0

อิทธิปาฏิหาริย์พระเครื่อง.(2556). ค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2556 , จาก
http://www.itti- patihan.com/
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์บุญญาภิรัติ (หลวงปู่ทิม อิสริโก)

พิพิธภัณฑ์บุญญาภิรัติ(หลวงปู่ทิม อิสริโก) เป็นพิธิภัณฑ์แสดงวัตถุมงคลและสืบทอดคำสอนของหลวงปู่ทิม อิสริโก เกจิดังจากวัดละหารไร่ จังหวัดระยอง ซึ่งก่อตั้งโดย นายเพียรวิทย์ จารุสถิติ และนายพิพัฒน์ ศุภกิจวัฒนา 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์บุญญาภิรัติ (หลวงปู่ทิม อิสริโก) ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 4 ไร่ ภายในซอยทางเข้าสนามยิงปืนเมืองพัทยา เขตพื้นที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ภายในอาคารจะเป็น 2 ชั้น ได้จัดแสดงวัตถุมงคล เครื่องราง ของขลัง ตลอดจนประวัติของหลวงปู่ทิม ให้ผู้ที่ศรัทธาได้เข้ามาเยี่ยมและศึกษา ส่วนชั้นล่างจะเป็นพื้นที่ให้เช่าบูชาวัตถุมงคลตามแรงศรัทธาของผู้ที่ เลื่อมใสในคำสอนของหลวงปู่ทิม

ด้านนายอัครวิชย์ กล่าวด้วยว่า หลวงปู่ทิม เป็นเกจิอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหารวมไม่น้อยว่า 20-30 ล้านคนทั่วโลก โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือได้ว่ามีการรวบรวมสะสมวัตถุมงคลของหลวงปู่ทิมมากที่ สุดจากศิษย์ก้นกุฎิของท่านโดยตรง 

“ หลวงปู่ทิม อิสริโก" หรือ “ พระครูภาวนาภิรัติ ” ถือเป็นพระอริยสงฆ์ที่เพรียบพร้อมด้วยศีลจริยาวัตรอันงดงาม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่ติดยึดในรูป เสียง กลิ่น รส ฉันเจตลอดชีวิต แม้กระทั่งน้ำปลาก็ไม่ฉันและฉันภัตราหารเพียงมื้อเดียว และด้วยความดีงามของหลวงปู่ทิมทำให้มีบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศไทยให้ ความเคารพบูชาอย่างสูงยิ่งโดยแท้จริง ถือเป็นอริยสงฆ์ชื่อดังของภาคตะวันออก 

สรุปความจาก เนชั่นออนไลน์ วันที่ 16 มิถุนายน 2554

ชื่อผู้แต่ง:
-