สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ทรงจุดประกายการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามเกาะต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยกองทัพเรือร่วมสนองพระราชดำริอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2541 ทั้งการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์และเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนเกาะแสมสารเพื่อเป็นสื่อในการสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกแก่เยาวชนตามแนวทางพระราชดำริ และจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย" ขึ้นบนฝั่งสัตหีบตรงข้ามเกาะแสมสาร โดยมีคณะนักวิชาการหลายสาขาและหลากหลายสถาบันร่วมทำงาน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างมีลักษณะเป็นอาคารไต่ระดับเขาถึงยอดเขารวม 5 อาคาร โดยจัดแสดงวัตถุธรรมชาติ ทั้งในด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ ทางทะเลเป็นแห่งแรกในประเทศไทย การนำเสนอภายในถูกออกแบบไว้อย่างน่าสนใจ มีการสร้างบรรยากาศเสมือนจริง เช่น การจำลองบรรยากาศโลกเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว มีสื่อและเทคโนโลยีทันสมัย ที่ผู้ชมจะสนุกพร้อมไปกับได้ความรู้ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังจัดโปรแกรมการเข้าค่ายเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติให้กับคณะนักเรียนที่สนใจด้วย นอกเหนือจากการชมตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยแล้ว สามารถนั่งเรือข้ามไปยังเกาะแสมสารซึ่งได้จัดไว้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติสวนพฤกษศาสตร์ บ่อศึกษาป่าชายเลย โดยมีเจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
ชื่อผู้แต่ง: รัฐพร คำหอม | ปีที่พิมพ์: 24 กันยายน 2007
ที่มา:
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: ระพีพร ตันตราภิรมย์ | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 29 ฉบับที่ 337 มีนาคม 2556;vol. 29 No.337 March 2013
ที่มา: นิตยสารสารคดี
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 06 พฤษภาคม 2558
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ตั้งอยู่บนเขาหมาจอ ประกอบด้วยอาคารจัดแสดง 5 หลัง ทางเดินขึ้นสะดวกร่มรื่น แต่ละระเบียงของอาคารมีจุดชมวิว มองเห็นหมู่เกาะแสมสารท่ามกลางน้ำทะเลสีคราม สวยงามราวกับภาพวาดจากความฝันตามเส้นทางรถยนต์ก่อนถึงพิพิธภัณฑ์ จะต้องผ่านหมู่บ้านชาวประมงช่องแสมสาร บ้านเรือนตั้งอยู่ริมทะเล มองเห็นปลาทะเลกับปลาหมึกตากแผ่ไว้เต็มไปหมด บางหลังเป็นรีสอร์ทที่พัก เมื่อผ่านซุ้มประตูขนาดใหญ่เขียนชื่อพิพิธภัณฑ์ ข้างกันมีป้ายเขียนว่า “หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ”ด้านในมีอาคารรับรองเป็นที่จำหน่ายตั๋ว การเข้าชมมี 2 แบบ คือ การซื้อตั๋วเรือไปเที่ยวเกาะแสมสารและตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์
เมื่อได้ตั๋วพิพิธภัณฑ์แล้ว ทางขึ้นสังเกตได้ง่าย ศาลหน้าปากทางคือศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่นี่ได้ออกกำลังกายไปพร้อมกัน อาคารที่ 1-4 อยู่ประมาณกลางเขาใช้ชื่อว่า เทิดพระเกียรติมหาราช ปองปราชญ์ร่วมรวมใจ ใฝ่เรียนรู้ผู้ฉลาด พิฆาตความไม่ดีที่ประจักษ์ ตัวอาคารเรียงลดหลั่นกันไปตามความสูง ส่วนอาคาร 5 แยกออก ให้มองไปยังยอดเขาที่ไกลลิบ ตัวอาคารบางส่วนจะโผล่พ้นยอดไม้ให้เห็น ชื่ออาคารว่า พิทักษ์ศักยภาพทะเลไทย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มมาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแนวทางการปฏิบัติแก่กองทัพเรือ ในปี พ.ศ.2541 ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องจากพระราชดำริฯ ที่เกาะแสมสาร การดำเนินงานให้มีลักษณะการจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึก มีการให้ความรู้ความเข้าใจด้านพันธุ์ไม้และระบบนิเวศรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิต
เดินผ่านร่มไม้ขึ้นมาถึงอาคารที่ 1 ทุกอาคารมีเจ้าหน้าที่นำชมคอยต้อนรับนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่คือคุณคุณจีราวรรณ วัญญรัตน์ อาคารนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โซนเอ “เดินตามรอยเท้าพ่อ”หมายถึง การเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงบุกป่าไปทุกที่ ครั้งเสด็จมาที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงนำเมล็ดยางนามาปลูกที่พระราชวังไกลกังวล โดยเห็นประโยชน์ของต้นยางนาที่ช่วยซับน้ำที่ไหลลงมาจากป่า นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
ต่อมามีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่ออนุรักษ์ไม้โบราณ ได้แก่ มณฑา ยี่หุบ สมอไทย เป็นต้น ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาช่วงนั้นก็ได้ทำการอนุรักษ์และขยายพันธุ์หวายชนิดต่างๆ ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มาถึงปี พ.ศ.2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงจัดตั้งธนาคารพืชพรรณ
การดำเนินงานอนุรักษ์ ได้มีนักวิชาการหลายท่านเข้าร่วมทำงาน การจัดแสดงส่วนนี้มีบอร์ดภาพและเรื่องราว การลงพื้นที่ของนักวิชาการมีการทำงานร่วมกับทหารเรือ นักวิชาการจะทำการสำรวจระบบนิเวศของเกาะ เก็บตัวอย่างพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตมาศึกษา ทหารเรือจะดูแลเรื่องความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง
ที่เกาะแสมสาร ได้เปิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบไปเช้าเย็นกลับ นักท่องเที่ยวสามารถดำน้ำดูปะการัง คนที่ดำน้ำไม่เป็นก็มีเรือท้องกระจกให้ชมแบบสบายๆ บนเกาะมีเส้นทางจักรยานให้ชมธรรมชาติ
จากระเบียงอาคารจัดแสดงสามารถมองเห็นหมู่เกาะ ผู้เข้าชมสามารถดูแผนที่ประกอบกันไปกับภาพจริงเบื้องหน้า หมู่เกาะประกอบด้วย เกาะแสมสาร เกาะแรด เกาะขาม เกาะจวง เกาะจาน เกาะฉางเกลือ เกาะโรงโขน เกาะโรงหนัง คุณจีราวรรณบอกว่าเกาะที่อนุญาตให้ท่องเที่ยวได้คือเกาะแสมสารกับเกาะขาม ใกล้กับบอร์ดแผนที่ทะเลไทยมีตัวอย่างสิ่งมีชีวิตมาจัดแสดง ได้แก่ นกชาปีไหน หอยมรกต หิงห้อยขนาดใหญ่ เป็นต้น สำหรับเด็กๆ ในนี้มีให้ส่วนให้ฝึกทักษะการใช้ประสาทสัมผัส มีโพรงให้ล้วงเข้าจับสิ่งที่อยู่ข้างในและที่นี่ยังมีบุคลากรจัดโปรแกรมการเข้าค่ายเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติให้กับนักเรียน ผลงานของนักเรียนบางชิ้นได้นำมาตั้งแสดงไว้ด้วย
โซนบีของอาคารที่ 1 เป็นการจัดแสดงเกี่ยวกับกำเนิดโลก กำเนิดสิ่งมีชีวิต เริ่มจากโมเดลส่วนประกอบของโลก ได้แก่ เปลือกโลก เนื้อโลกและแกนโลก มีคำอธิบายการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 ทวีป มีการเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของหิน ดิน และสิ่งมีชีวิต ที่โดดเด่นตรงนี้คือ โมเดลไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่โผล่หางมาจากโพรงถ้ำ มีเสียงร้องของไดโนเสาร์ สร้างบรรยากาศโลกเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว ชวนติดตามให้เดินขึ้นบันไดชั้นลอยไปยังส่วนหัวของไดโนเสาร์ แล้วจะทราบว่าเจ้าตัวนี้เป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ชื่อ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ผู้ค้นพบคือนายสุธรรม แย้มนิยม ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ลักษณะตัวใหญ่ หางยาว คอยาว ตั้งแต่หัวถึงหางประมาณ 15-20 เมตร คุณจีราวรรณให้สังเกตว่าไดโนเสาร์สี่เท้าจะกินพืชเป็นอาหาร ส่วนไดโนเสาร์เดินสองเท้าจะกินสัตว์
ต่อมาเป็นอาคารที่ 2 อยู่ติดกัน อาคารนี้จัดแสดงเกี่ยวกับป่าไม้ในประเทศไทยและระดับการย่อยสลายตามธรรมชาติ เจ้าหน้าที่นำชมคือคุณคุณกฤษณา แก้วยม ส่วนแรกคือป่าไม้ แบ่งออกเป็น ป่าไม้ผลัดใบและป่าไม้ไม่ผลัดใบ มีการศึกษาวิจัยหลายเรื่อง อาทิเช่น การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก การศึกษาป่าชายเลน ส่วนนี้มีปุ่มกดฟังเสียงบรรยายได้ในแต่ละเรื่อง การศึกษานั้นทำทั้งสองฝั่งคือฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน การนำเสนอที่สะดุดตาอันหนึ่งคือรอยเท้าสัตว์ ทำให้เรารู้จักสังเกตเวลาเข้าไปในป่าว่ารอยเท้าแบบนี้น่าจะเป็นตัวอะไร
เพื่อให้รู้ซึ้งถึงสภาพป่าประเภทต่างๆได้อย่างใกล้ชิด ได้มีการจำลองป่าให้ได้ชมกันที่นี่ เริ่มจากป่าชายเลน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ กุ้งหอยปูปลา ใกล้กับป่าจำลองมีกล่องสีขาวเปิดฝาได้ แล้วจะเห็นภาพของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดพร้อมคำอธิบาย ยกตัวอย่าง ปลาตีน ปลาชนิดนี้สามารถใช้ครีบเดินหรือขึ้นต้นไม้ได้ ต่อมาเป็นป่าชายหาด มีพืชสมุนไพรที่เรารู้จักคุ้นตา นั่นก็คือผักบุ้งทะเล สรรพคุณใช้บรรเทาพิษจากอาการปวดแสบปวดร้อนจากพิษแมงกะพรุน ด้วยการนำใบผักบุ้งทะเลมาขยี้แล้วพอก หรือจะนำไปใบไปต้มแล้วดื่มจะช่วยแก้อาการปวดท้องหรือเป็นตะคริวได้
ป่าพรุ เป็นป่าอีกประเภทที่มีลักษณะเด่น เติบโตในแอ่งที่มีน้ำแช่ขัง ดินเกิดมาจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์และอินทรียวัตถุต่างๆที่ยังไม่สลายตัว ป่านี้มีปรากฏการณ์ดินเปรี้ยวในหน้าแล้ง เกิดมาจากการทับถมของซากใบไม้ ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศทำให้ดินเปรี้ยว การเกิดไฟไหม้ในป่าพรุจะไม่เพียงไหม้บนผิวดินเท่านั้น จะมีการไหม้แบบไฟใต้น้ำด้วย ลักษณะเป็นอย่างไรมีภาพประกอบตรงส่วนนี้ ไฟไหม้ป่าประเภทนี้ดับได้ยากมากและเป็นอันตรายกับคนที่ไปดับไฟด้วย
ส่วนป่าที่ร่มรื่นมีโมเดลนกเงือกเกาะอยู่บนต้นไม้คือ ป่าดิบชื้น นกเงือกถือเป็นสัญลักษณ์ของป่าที่อุดมสมบูรณ์ บนพื้นดินมีดอกไม้หน้าตาโบราณสีส้ม ดอกบัวผุดหรือกระโถนฤาษี จัดเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นพืชกาฝากหรือพืชเบียน จะส่งกลิ่นเหม็นราวกับซากศพเพื่อล่อแมลง
ส่วนที่สอง สัตว์หน้าดินและสัตว์ในดิน ผู้เข้าชมเดินมาถึงตรงนี้ถือว่ามีโอกาสดีมาก เพราะสิ่งจัดแสดงคือภาพขยายของสิ่งมีชิวิตในระบบนิเวศน์ที่สำคัญยิ่ง แต่ความที่อยู่บนดินหรือใต้พื้นดิน หรือมีขนาดเล็กมาก ทำให้เราไม่ค่อยได้เจอตัวจริง ที่เห็นเป็นเครื่องมือเป็นกรวย อันนี้เป็นเครื่องมือสกัดสัตว์ออกจากดิน( Berlese Funnel)ได้แก่ จิ้งหรีด ตะขาบ ปลวก กิ้งกือ ตะขาบ แมลงสาบ ตัวกะปิ แมลงสองง่าม แมงมุม มดชนิดต่างๆ เป็นต้น ในระดับของการย่อยสลายยังมีพวกจุลินทรีย์ดินได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น
เดินต่อมาจะเป็นอาณาจักรเห็ดรา มีโมเดลจำลองเห็ดชนิดต่างๆ เกาะอยู่บนขอนไม้ มีคำอธิบายส่วนต่างๆของเห็ด ในการดูว่าเห็ดชนิดไหนเป็นเห็ดมีพิษรับประทานไม่ได้ คุณกฤษณาอธิบายว่า เห็ดกินได้สีจะไม่ฉูดฉาด ให้สังเกตว่ามีแมลงแทะ เห็ดพิษจะมีสีสัน ก้านดอกยาว มีวงแหวนรอบๆ เวลาใช้มีดกรีดจะมียางออกมาตรงก้านดอก
แล้วเราก็ได้เดินเข้าไปในรังปลวกดิน มีเสียงปลวกกำลังทำงานกันอย่างสามัคคีเป็นระบบ ตรงนี้เราได้เห็นโมเดลปลวกในทุกวรรณะ ได้แก่ วรรณะกรรมกร วรรณะทหาร วรรณะสืบพันธุ์ ปลวกกรรมกรมีหน้าที่หาอาหารซ่อมแซมรังเลี้ยงตัวอ่อน ปลวกทหารทำหน้าที่ปกป้องรังจากศตรู ส่วนปลวกตัวใหญ่อวบอ้อนคือปลวกนางพญา ออกไข่อย่างเดียว ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกรบกวนปลวกนางพญาจะอายุยืนได้ 40-50 ปี ปลวกวรรณะอื่นๆจะอยู่ได้เพียง 5-6 เดือน
อาคารที่อยู่ใกล้กันเดินขึ้นไปเป็นอาคารที่ 3 และ 4 ช่วงเวลานี้ปิดปรับปรุงอยู่ คาดว่าอีกประมาณนึ่งปีจึงจะเปิดให้เข้าชมได้ ต่อไปเป็นอาคารที่ 5 ระยะทางวนขึ้นเขาไปเหนื่อยพอดู แต่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ผู้สูงอายุสามารถเดินขึ้นมาเที่ยวได้ แต่อาจต้องใช้เวลาพักเป็นระยะนานสักหน่อย เมื่อขึ้นมาถึงอาคารที่ 5 แล้วจะรู้สึกว่าคุ้มค่ามาก ด้านหน้ามีระเบียงกว้างชมวิวเกาะและทะเลไทยได้สวยงามเต็มตา พร้อมทั้งติดตั้งกล้องส่องทางไกลให้ชมภาพเบื้องล่างได้ชัดขึ้น ที่นี่มีตู้แช่เครื่องดื่มเย็นๆจำหน่าย ข้างในมีโซฟานิ่มๆกับแอร์เย็นฉ่ำไว้ต้อนรับ
อาคารที่ 5 มีคุณสุนิชฌาย์ บำรุงสุข เป็นเจ้าหน้าที่นำชม จัดแสดงเรื่องราว “พิทักษ์ศักยภาพทะเลไทย”ภารกิจของกองทัพเรือในการรักษาอธิปไตยของชาติทางทะเล การสนับสนุนการพัฒนาประเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล การช่วยเหลือประชาชนและการเข้าร่วมอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ด้านหน้าทางเข้ามีรูปปั้นของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย การจัดแสดงมีการจำลองพื้นที่สะพานเดินเรือ จัดฉายวีดีทัศน์บทบาทหน้าที่ของทหารเรือไทย มีโมเดลเรือรบหลวงแม่กลอง ที่มีความเก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของโลก ตอนนี้ปลดประจำการแล้ว ได้นำไปจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ โมเดลอีกอันเป็นแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทางทะเลของไทย
ในส่วนนี้กลางห้องสะดุดตากับหุ่นนักประดาน้ำในฉากจำลองการดำน้ำลึกอยู่กลางหมู่แนวปะการัง ปัญหาในตอนนี้คือ ปะการังเสื่อมโทรม เกิดมาจากการทิ้งน้ำเสียลงทะเล และการที่อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ในการชมปะการังของนักท่องเที่ยวที่เกาะแสมสาร ได้มีการใช้ทุ่นสีขาวให้ผูกเชือกแทนการทิ้งสมอเรือ ใกล้กันมีโมเดลเต่าทะเล สวยงามดูเหมือนจริงมาก อยู่ในโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยมีการนำไข่เต่าจากเกาะครามมาขยายพันธุ์ นำมาฟักเป็นตัวอ่อนแล้วเลี้ยงไว้ประมาณหนึ่งปี เมื่อกระดองแข็งแรงจึงนำเต่าทะเลปล่อยคืนสู่ทะเล นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดสร้างและวางแนวปะการังเทียม
อีกส่วนหนึ่งของอาคารนี้เป็นเรื่องราวเทิดพระเกียรติศักดิ์ราชนาวีไทย ที่ได้วางรากฐานให้กับกองทัพเรือ โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงได้ออกรบทางเรือ จึงเปรียบท่านเป็นทหารเรือยุคแรก ในส่วนของเทิดไท้มหาราชาภูมิพล ได้นำเสนอโครงการเฉลิมพระเกียรติที่ทางกองทัพเรือจัดทำเพื่อน้อมเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งโครงการสนองพระราชดำริ เนื่องในวาระสำคัญต่างๆ
การเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถ้าให้ครบถ้วนผู้เข้าชมควรใช้เวลาอย่างเต็มที่ เราจะได้รู้จักประเทศของเรา รู้สึกหวงแหนอยากอนุรักษ์ความงดงามของเกาะและทะเลไทย มากกว่านั้นคือความสุขจากการท่องเที่ยวตั้งแต่การยืนมองทิวทัศน์บนยอดเขาไปจรดกับผืนน้ำสีคราม ด่ำดิ่งลงไปยังแนวปะการังอันสวยงาม
สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม วันที่ 23 มีนาคม 2556
-----------------------------------------------
อ้างอิง : ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2556
แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย.(2555).ค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2556,
จาก http://m.touronthai.com/placeview.php?place_id=41000017
สำนักงาน....พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย.(2550).ค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2556,จาก http://www.tis-museum.org/exhibitions.html
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
จากแนวคิด " Natural History Museum" จึงเป็นที่มาของ "Thai Island and Sea Natural History Museum" หรือ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ซึ่งกองทัพเรือได้ก่อตั้งขึ้นสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยประมวลพระราชดำริที่พระราชทานไว้แก่กองทัพเรือหลายครั้งหลายครา ด้วยกันมาเป็นกรอบการดำเนินงาน ตั้งอยู่ ณ เขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีชีวภาพและกายภาพทางทะเลที่จัดแสดงได้รวบรวมจากกิจกรรมสำรวจทางทะเลของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กองทัพเรือ ที่ดำเนินมาเกือบ 10 ปี บนเกาะต่างๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2551 โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารเรือและนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันปฏิบัติงานร่วมกันในนาม "คณะปฏิบัติงานวิทยาการ" โดยแบ่งเป็นสาขาต่างๆ ทั้งชีวภาพบนบก ชีวภาพทางทะเล สภาพอุตุนิยมวิทยา อุทกศาสตร์ ธรณีวิทยา ซึ่งผลสำรวจได้ "มหัศจรรย์แห่งการค้นพบ" ได้แก่ ซากฟอสซิลต่างๆ ชีวภาพพันธุ์ไม้ที่เป็นสิ่งแรกในโลกที่เรียกว่า " New Record Species " และหลายต่อหลายสิ่ง เช่น หอยทากจิ๋ว รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่เริ่มจะหายากและหายไปจากที่อยู่อาศัยเดิมๆ เช่น กิ้งก่าบิน ตุ๊กแกบิน นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกด้วยว่า การสำรวจของคณะปฏิบัติงานวิทยาการในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมา จากพระราชดำริฯ กองทัพเรือครั้งนี้ นับเป็นการสำรวจกายภาพและชีวภาพทางทะเล โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ไทยครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากที่ได้มีการสำรวจพันธุ์ไม้ทางทะเลครั้งแรกของคณะนักพฤกษศาสตร์ ชาวเดนมาร์ค ภายใต้การนำของ ดร.ชมิตต์ ที่เกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อ 100 ปีมาแล้ว
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย แยกเนื้อหาไว้แต่ละอาคารดังนี้ อาคารหลังที่ 1 หรือ "อาคารเทิดพระเกียรติมหาราช" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก (โซน A) เป็นการนำเสนอวัตถุประสงค์ ความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบทอดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามพระราชปณิธาน “เดินตามรอยเท้าพ่อ" จนถึงพระราชดำริเพิ่มเติม ในการเรียนรู้ทรัพยากร การใช้ประโยชน์และการสร้างจิตสำนึก โดยมุ่งเทิดพระเกียรติในลักษณะ "เจ้าฟ้านักอนุรักษ์"
ส่วนที่ 2 (โซน B) ของอาคารการจัดการแสดงมุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างหิน ดิน และชีวิต อาทิ กระบวนการเกิดดิน อนุภาคของดินที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบนิเวศ งานอุทกศาสตร์ทางทะเล รูปแบบ ชนิดของหินดินแร่ ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอันก่อให้เกิดสภาพภูมิศาสตร์ปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องราวของฟอสซิล หรืvซากดึกดำบรรพ์ที่คณะสำรวจของโครงการฯ ค้นพบบนเกาะบอน จังหวัดพังงาและร่องรอยอีกมากมายของฟอสซิลภายใต้ท้องทะเล สิ่งที่จัดแสดงเหล่านี้จะทำให้ผู้เข้าชม เข้าใจถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลง และหลักฐานที่ใช้สนับสนุนกระบวนการทางวิวัฒนาการ (Evolution) ของสิ่งมีชีวิตและเน้นประจักษ์พยานของทฤษฎีวัฒนาการนี้ด้วย
อาคารหลังที่ 2 หรือ "อาคารปวงปราชญ์ร่วมแรงใจ" แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก (โซน A) มุ่งเสนอนิเวศของป่า พรรณพืช และสัตว์ มีสาระเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ สังคมพืชป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ พืชที่พบจากเกาะต่างๆ และการค้นพบพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทย พันธุ์ไม้ที่เป็น new record species หลายชนิด รวมทั้งความหลากหลายของสมุนไพร
ส่วนที่ 2 (โซน B) ที่อยู่ถัดไปของอาคารปวงปราชญ์ร่วมแรงใจ มุ่งเสนอในหัวข้อผู้ย่อยสลายในธรรมชาติได้แก่ ปลวก จุลินทรีย์ดิน เห็ดรา สัตว์หน้าดินในดิน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหารอันเป็นกระบวนการหมุนเวียนพลังงานที่ก่อให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ รวมทั้งงานวิจัยที่พบว่าเชื้อราบางชนิดสามารถสร้างสารเคมีต่อต้านเชื้อมะเร็ง และเชื้อ HIV ได้
อาคาร 3 “ใฝ่เรียนรู้ผู้ฉลาด” ประกอบด้วย ส่วนแรก มุ่งเสนอในหัวข้อระบบนิเวศสังคมพืช พืชฝั่งทะเลโดยเน้นระบบนิเวศบนพื้นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ในหมู่เกาะแสมสาร รวมทั้งงานวิจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องหอยทากบางชนิด และการเกิดหอยชนิด ใหม่ ที่มีผลจากการแยกตัวของประชากรทางสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งมีการค้นพบหอยทากชนิดใหม่จากการสำรวจของคณะทหารเรือและนักวิทยาศาสตร์ในโครงการฯ ถึง 3 ชนิด ได้แก่ หอยทากจิ๋วปากแตร หอยมรกต และหอยทากสยาม และการพบสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิด ที่เริ่มจะหายากในปัจจุบัน ที่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่สามารถพบเห็นได้ง่าย เช่น ตุ๊กแกบิน กิ้งก่าบินและ ตะกอง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย รวมทั้งนกหายากอีกหลายชนิด
ส่วนที่ 2 นำเสนอสาระในหัวข้อประโยชน์จากระบบนิเวศป่าชายเลน โดยพาไปรู้จัก "ป่าสามน้ำ" "ป่าพระจันทร์สร้าง" รวมทั้งป่าชายเลนในฐานะ "ต้นทุนชีวิต" ซึ่งได้สื่อถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตของชุมชนประมง กับทรัพยากรทางทะเล ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวผ่านชีวิต เฒ่าทะเลแห่งชุมชน ซึ่งสะท้อนถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านในการเดินเรือ ด้วยการสังเกตน้ำขึ้นน้ำลง สภาพดินฟ้าอากาศ ลักษณะลม ตำแหน่งดวงดาวบนฟ้า ร่องน้ำ พฤติกรรมของสัตว์น้ำในทะเล เช่น กุ้ง ปลา การใช้เครื่องมือประมง รวมทั้งความเคารพธรรมชาติ โดยจะทำพิธีบูชาแม่ย่านางเรือก่อนออกเดินทะเล เพื่อให้แคล้วคลาดจากภยันตรายต่างๆ รวมทั้งประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนชาวประมง
อาคาร 4 “พิฆาตความไม่ดีที่ประจักษ์” การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 นำเสนอสาระ ระบบนิเวศตามแนวปะการังในท้องทะเลไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน กลุ่มปะการังชนิดต่างๆ และสิ่งมีชีวิต ที่พบตามแนวปะการัง ความสัมพันธ์ในรูปแบบของห่วงโซ่อาหาร สายใยอาหาร งานสำรวจวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับท้องทะเลไทย ในงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ส่วนที่ 2 นำเสนอสาระ ปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นในท้องทะเลไทย ได้แก่ ภาวะโลกร้อน ภาวะเรือนกระจก มลภาวะในประเทศไทย รวมทั้งดัชนีบ่งชี้ผลที่ปรากฏ เช่น ปริมาณปลาลดน้อยลง ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสาหร่ายบางชนิด ในการจัดแสดงส่วนนี้มุ่งให้ตระหนักถึงสาเหตุของ ปัญหา และมลภาวะที่เกิดขึ้นในท้องทะเลไทย
ส่วนที่ 3 นำเสนอสาระการปลูกจิตสำนึกฟื้นฟูธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ ในการจัดแสดงส่วนนี้มุ่งให้ตระหนักถึงความสำคัญ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
อาคารหลังที่ 5 หรือ "อาคารพิทักษ์ศักยภาพทะเลไทย” การจัดแสดงได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ภายใน และภายนอกอาคาร ภายนอกอาคารประกอบด้วย ลานพิทักษ์ศักยภาพทะเลไทย จำลองเป็นส่วนหัวเรือ ทำหน้าที่เป็นส่วนต้อนรับ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้พักผ่อนชื่นชมกับทิวทัศน์จากจุดสูงสุดของยอดเขาและเป็นจุดนำสายตาที่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล บริเวณลานได้ติดตั้งกล้องส่องทางไกลเพื่อชมทิวทัศน์ของสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏเบื้องหน้า เช่น เกาะแสมสาร หมู่บ้านประมงช่องแสมสาร เกาะแรด และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง
ภายในอาคาร แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้ ส่วนที่1 “ดอกประดู่คู่ชาติไทย” บริเวณนี้นำเสนอบทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือในการรักษาอธิปไตยของชาติเป็นหลัก สะพานเดินเรือ จำลองพื้นที่ของ “สะพานเดินเรือ” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการเดินเรือ และการปฏิบัติงานต่างๆ ภายในเรือ เพื่อจัดทำเป็น ส่วนบรรยายสรุป อาทิ การจัดฉายวีดิทัศน์ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของทหารเรือไทย การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิ การปฏิบัติหน้าที่ของเรือลาดตระเวน เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล แผนที่อาณาเขตทางทะเล ผืนน้ำ และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ความสำคัญของทะเลไทยในโลกไร้พรมแดน นำเสนอสถิติต่างๆ ของประเทศที่เกี่ยวกับท้องทะเล เป็นต้น
ส่วนที่ 2 นักรบ-นักอนุรักษ์ ยามศึกเรารบ ยามสงบเรารักษ์ แสดงถึงภารกิจกองทัพเรือ การดำเนินการและสนับสนุน “การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล” โดยโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลของกองทัพเรือ เช่น งานภายใต้โครงการ อพ.สธ.–ทร.ในพื้นที่เกาะแสมสารและพื้นที่อื่น การอนุรักษ์ป่าชายเลน การสำรวจทางสมุทรศาสตร์และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล โครงการจัดสร้างและวางแนวปะการังเทียม เป็นต้น
ส่วนที่ 3 เทิดพระเกียรติศักดิ์แห่งราชนาวีไทย เป็นพื้นที่จัดแสดงเทิดพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ไทย และ พระบรมวงศานุวงศ์ 8 พระองค์ ที่ทรงสร้างคุณูปการให้แก่กองทัพเรือและประเทศชาติให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศหลายยุคหลายสมัย โดยการวางรากฐานที่แข็งแกร่งและพัฒนากองทัพเรือไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ และยิ่งใหญ่เกรียงไกรได้เช่นทุกวันนี้
ส่วนที่ 4 เทิดไท้มหาราชาภูมิพล เป็นพื้นที่นำเสนอโครงการเฉลิมพระเกียรติต่างๆที่กองทัพเรือได้จัดทำเพื่อน้อมเกล้าฯถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งโครงการ สนองพระราชดำริ เนื่องในวาระสำคัญต่างๆ
ส่วนที่ 5 เปิดปูมกองทัพเรือ นำเสนอแสนยานุภาพของกองทัพเรือไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย – กรุงรัตนโกสินทร์ที่กองทัพเรือได้เข้าร่วมในสมรภูมิรบหลายครั้งสามารถดำรงเอกราชและอธิปไตยของชาติได้อย่างสมภาคภูมิ พื้นที่ส่วนที่นำเสนอ วิดีทัศน์กรณีพิพาทระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 จำลองเหตุการณ์ ยุทธนาวีเกาะช้าง ด้วยเทคนิค Diorama เกมส์ยุทธนาวีเกาะช้าง จำลองเหตุการณ์วีรกรรมของกองทัพเรือไทย บทบาทภาระหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานของกองทัพเรือ
ส่วนที่ 6 เที่ยวถิ่นทหารเรือ นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสำคัญในพื้นที่ของหน่วยงานกองทัพเรือ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในอำเภอสัตหีบและบริเวณใกล้เคียง เช่น ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เรือหลวงจักรีนฤเบศร สวนกรมหลวงชุมพร หาดเตยงาม เป็นต้น
เรียบเรียงจาก: http://www.tis-museum.org/ [accessed 20081106]
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
สมุนไพร ทรัพยากรธรรมชาติ ธรรมชาติวิทยา ซากดึกดำบรรพ์ ระบบนิเวศ ป่าชายเลน กองทัพเรือ ภัยธรรมชาติ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อุทกศาสตร์
พิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน
จ. ชลบุรี
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี โรงเรียนชลกันยานุกูล
จ. ชลบุรี
พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาหมี
จ. ชลบุรี