พิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา


ที่อยู่:
พิพิธภัณฑ์ชาวบ้านโรงเรียนไผ่แก้ววิทยา เลขที่ 111 หมู่ 7 ตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา 24190
โทรศัพท์:
0-3858-9255
วันและเวลาทำการ:
วันเวลาราชการ 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
ของเด่น:
เกวียนและของใช้พื้นบ้าน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา

โรงเรียนไผ่แก้ววิทยาจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวบ้านแห่งนี้ขึ้นในฐานะที่เป็นกระบวนการหนึ่งของการสืบค้นภูมิปัญญาในท้องถิ่น สืบค้นวิถีชีวิตไทย เช่น การชักกระดานลากข้าว ซึ่งมีเฉพาะที่ฉะเชิงเทรา และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน ตลอดจนใช้ในขบวนการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ ของนักเรียนไผ่แก้ววิทยาและโรงเรียนใกล้เคียง การจัดแสดง แบ่งเป็น 4 หัวเรื่อง ได้แก่ (1) ประวัติท้องถิ่น (2) วิถีชีวิตในท้องถิ่นแปลงยาว จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในครัวเรือน (3) การละเล่นพื้นบ้านในแปลงยาว เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการละเล่นในพื้นถิ่นของอำเภอแปลงยาว เช่น การเล่นเพลงพื้นบ้าน การละเล่นของเด็กในอดีต (4) ความสัมพันธ์กับชุมชนใกล้เคียง เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชนแปลงยาวที่มีการติดต่อกับพื้นที่อื่นๆ โดยทางบกและทางน้ำ

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุสะสม สิ่งของได้รับการจัดทำทะเบียนและการแสดงแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของที่เป็นของท้องถิ่น และของที่ได้มาจากนอกชุมชน เช่น ได้มาจากอินโดนีเซีย กลุ่มวัตถุในท้องถิ่นเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ และพาหนะในสังคมเกษตรกรรม ทั้งเครื่องมือหาปลา เกษตรกรรม เกวียนควาย นอกจากนี้ โรงเรียนยังทำเอกสารเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัตถุจัดแสดงเหล่านั้น ในรูปของแผ่นพับ ทั้งลักษณะของสิ่งของ หน้าที่การใช้งาน และหน้าที่ทางสังคม 

ข้อมูลจาก:

1. การประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคตะวันออก) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 6 - 7 กันยายน พ.ศ. 2546 ณ โรงแรมพี.เอ็ม.วาย. บีช รีสอร์ท จังหวัดระยอง
2. เอกสารแนะนำ พิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา จังหวัดฉะเชิงเทรา
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา

เกวียนขนาดใหญ่เล่มสวยวางไว้อย่างโดดเด่นกลางห้องพิพิธภัณฑ์  กงล้อของเกวียนที่เคยบดไปกับพื้นดิน  ครั้งหนึ่งเคยเป็นพาหนะนำคน  ผลผลิตทางการเกษตร  บรรทุกไปยังที่ต่างๆ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป  ภาพเหล่านั้นได้ลบเลือนไปจากชีวิตประจำวันของเรา
       
พิพิธภัณฑ์ชาวบ้านโรงเรียนไผ่แก้ววิทยา  ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2538 โดยการริเริ่มของอาจารย์วิชัย ธรรมเมธาพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนไผ่แก้ววิทยาและอาจารย์หมวดวิชาสังคมศึกษา เพื่ออนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมท้องถิ่นในอำเภอแปลงยาว โดยขอรับบริจาคศิลปวัตถุพื้นบ้าน  สิ่งของเครื่องใช้  อันเป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้แก่สาธารณชนและนักเรียนโรงเรียนไผ่แก้ววิทยาและโรงเรียนใกล้เคียง
       
อาจารย์พัชรี มะลิวัลย์  หัวหน้าหมวดสังคมศึกษา พานำชม ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ ช่วงแรกกรมศิลปากรมาช่วยจัดทำพิพิธภัณฑ์  ทั้งจัดตกแต่งและทำป้ายอธิบายวัตถุชิ้นเด่นและประเพณีท้องถิ่น การจัดแสดงแบ่งเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่  1) ประวัติท้องถิ่น 2) วิถีชีวิตในท้องถิ่นแปลงยาว  จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในครัวเรือน 3) การละเล่นพื้นบ้านในแปลงยาว เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการละเล่นในพื้นถิ่นของอำเภอแปลงยาว เช่น การเล่นเพลงพื้นบ้าน การละเล่นของเด็กในอดีต  4) ความสัมพันธ์กับชุมชนใกล้เคียง  เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชนแปลงยาวที่มีการติดต่อกับพื้นที่อื่นๆ
       
ส่วนการจัดสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน  แบ่งออกเป็นส่วนๆตามหมวดหมู่สิ่งของ  ได้แก่ ภาชนะเครื่องใช้พวกเครื่องลายคราม  เครื่องเบญจรงค์  พานทองเหลือง  ถ้วยลายเขียนสีพร้อมฝาแบบเครื่องถ้วยจีน ชามพิมพ์ลายและจานพิมพ์ลายแบบเครื่องถ้วยยุโรป  ส่วนนี้ทางวัดไผ่แก้วให้มาจัดแสดงพร้อมกับตู้จัดเก็บ  กลางห้องเป็นเกวียนขนาดใหญ่  ด้านหลังห้องเป็นเครื่องมือจับปลา ตุ้มดักปลา สุ่มครอบจับปลา เครื่องมือดักจับสัตว์จำพวกหน้าไม้  ปืน   ถัดมาเป็นอุปกรณ์ทำนา  มีเครื่องสีฝัด  ลูกทุบ ลูกถอง ใช้ตีหญ้าให้จมเวลาทำนา
       
ด้านซ้ายของห้องเป็นอุปกรณ์เครื่องครัวที่ใช้กันในสมัยก่อน มีกระต่ายขูดมะพร้าว  ที่กดลอดช่อง  ที่คั้นอ้อย  โม่หิน ถาดนวดแป้ง นอกจากนี้ก็จะมีพวกตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงน้ำมันก๊าด  ดาบจารึกภาษามอญ หีบ กรรไกรหนีบหมาก ไหเคลือบสีน้ำตาล  อ่างดินเผา ว่าว จานเสียง นาฬิกาตั้งพื้นแบบโบราณ
       
อาจารย์พัชรีบอกว่า ทางโรงเรียนไผ่แก้ววิทยาได้ให้ความสำคัญกับด้านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นเป็นอย่างมาก  มีการเข้าร่วมการจัดกิจกรรมงานประเพณีต่างๆ เช่น การแสดงเพลงชางชักของนักเรียน  ปัจจุบันยังคงมีชุมนุมชางชักที่มีอาจารย์ผู้สอนฝึกนักเรียนอยู่เป็นประจำ  เพลงชางชักเป็นเพลงพื้นบ้านของชาวหัวสำโรง จังหวัดฉะเชิงเทรา  เป็นเพลงที่ใช้ร้องโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาว เป็นการแสดงพื้นบ้านช่วงเวลาเก็บเกี่ยว  การจัดกิจกรรมขึ้นเขาเผาข้าวหลาม  นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการดาราศาสตร์ กล้องส่องดูดาว
 
ประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลามของชาวหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว มีที่มาจากคนลาวเวียงจันทน์ ได้อพยพมาในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3) มาอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม ได้มีการถวายข้าวหลามแด่พระภิกษุสงฆ์ จากการที่เดือน 3 เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว  ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา  จึงได้นำข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวครั้งแรก เรียกว่าข้าวใหม่ มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน นำมาทำอาหาร โดยใช้ไผ่สีสุกมาทำเป็นข้าวหลาม 
 
ต่อมีการผสมผสานกับประเพณีไทยคือการปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองที่วัดเขาดงยาว(วัดสุวรรณคีรี) ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม การเดินทางจะต้องผ่านบ้านหัวสำโรง ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว ซึ่งมีชาวไทยเชื้อสายเขมรตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นจำนวนมาก ประเพณีบุญข้าวหลามจึงแพร่หลายสู่บ้านหัวสำโรง และรับเป็นประเพณีของกลุ่มตน เป็นประเพณี “ขึ้นเขาเผาข้าวหลาม”ของชาวชุมชนหัวสำโรง
 
กลุ่มที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนอื่นที่มาดูงาน  เมื่อก่อนนี้มาบ่อย  แต่ช่วงหลังนานๆครั้ง  ปัจจุบันได้เริ่มปรับปรุงห้องจัดแสดงด้วยการทำพื้นห้องและทาสีใหม่ ในการทำความสะอาดได้เคยมีความเสียหาย  โดยตู้จัดแสดงเครื่องลายครามที่ทางวัดไผ่แก้วให้มา ได้ล้มลงทำให้ภาชนะแตก 
 
อาจารย์พัชรีได้ตั้งข้อสังเกตว่า  ช่วงนี้โรงเรียนอื่นๆได้มีความตื่นตัวในเรื่องการจัดทำพิพิธภัณฑ์  แต่สิ่งของจัดแสดงเริ่มหายากแล้ว  โรงเรียนไผ่แก้ววิทยาคือโรงเรียนแรกๆที่ได้ริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียน  ซึ่งเด็กนักเรียนจะได้ซึมซับความเป็นท้องถิ่น และยังต่อเนื่องไปถึงการพานักเรียนไปเรียนรู้ในหมู่บ้าน  ที่เคยไปก็มีบ้านที่ทำเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง ระนาด ซอ 
 
ในเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน  อาจารย์พัชรีได้เอ่ยถึงคุณวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์แห่งท้องถิ่นบ้านตลาดบางบ่อ อำเภอแปลงยาว  บุคคลที่เป็นผู้รู้และมีชื่อเสียงด้านดาราศาสตร์ไทย เขาจบเพียงประถมศึกษาปีที่ 7 แต่ด้วยความสนใจต่อท้องฟ้าและตำแหน่งดวงดาวและการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ทำให้เขาหาซื้อตำรามาศึกษาเอง  อีกทั้งยังสามารถประดิษฐ์กล้องดูดาวขึ้นมาเองด้วยงบประมาณต่ำแต่คุณภาพสูงได้สำเร็จ   คุณวรวิทย์นี้เองที่ได้เข้ามาในโรงเรียน มาเป็นผู้แนะนำให้นักเรียนรู้จักดูดาวบนท้องฟ้า  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักเรียนชื่นชอบมาก  และยังเคยได้ถวายงานแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี  ในการทอดพระเนตรปรากฏการณ์สำคัญต่างๆทางดาราศาสตร์หลายครั้ง
 
ในการปรับปรุงห้องจัดแสดง  อาจารย์พัชรีคิดว่าลำดับต่อไปอยากจะจัดทำป้ายคำบรรยายใหม่  เนื่องจากที่มีอยู่เดิมค่อยลางเลือน  หลังจากจัดทำมาเป็นสิบปีแล้ว
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
สำรวจภาคสนาม วันที่ 9  กรกฏาคม 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง :

จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 75 กิโลเมตร

จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข34 (บางนา-ตราด) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข314 (บางปะกง–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง90กม.

จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ระยะทาง100  กิโลเมตร

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แล้วมาเลี้ยวซ้ายออก ฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 314

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง อ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา เส้นทางตรงอย่างเดียว พอพ้นจากถนนลาดกระบังจะเข้าสู่ ทางหลวงชนบท หมายเลข 3001 (ถนนสาย เทพราช-อ่อนนุช) หลังจากนั้นขับตรงมาเรื่อยๆ จะไปเจอกับทางหลวงหมายเลข 314 ใช้เส้นนี้วิ่งเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทรา

        โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา อยู่ที่อำเภอแปลงยาว ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 35 กม.
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9  เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555
                จากความรู้ป.7 สู่นักดาราศาสตร์แห่งเมืองแปดริ้ว.(2550).ค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2555,จาก  http://www.oknation.net/blog/print.php?id=113365
                สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.(2554).พิพิธภัณฑ์ชาวบ้านโรงเรียนไผ่แก้ว วิทยา.ค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2555,จาก http://www.culture.go.th/culturemap/
                     index.php?action=listdistrict&pid=24&did=24190&pnum=1 
                ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.(2554). พิพิธภัณฑ์ชาวบ้านโรงเรียนไผ่แก้ววิทยา.ค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2555,จาก http://work.m-cuture.in.th/album/29104

ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ:
-
ไม่มีข้อมูล
คำสำคัญ:
-