พิพิธภัณฑ์ปั้นทรายโลก


ที่อยู่:
บริษัท สวนวรรณคดีไทย จำกัด 28/92 ถนนศรีโสธรตัดใหม่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000
โทรศัพท์:
083-515120
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 09.00-18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก 40 บาท
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
ของเด่น:
งานประติมากรรมปั้นทราย
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 16 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 16 พฤศจิกายน 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ปั้นทรายโลก

จากทรายเม็ดละเอียด  กลายเป็นงานประติมากรรมชิ้นเอก  เริ่มจากการคัดเลือกทรายที่มีคุณสมบัติในการปั้น  ด้วยแรงกายแรงใจของคุณวุฒิชัย  เสมทรัพย์  ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์  งานประติมากรรมปั้นทรายที่มีผลงานสุดอลังการ  จึงได้เกิดขึ้นมาให้ผู้เข้าชมได้ซึมซับประทับใจกับงานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีให้ชมไม่กี่แห่งในโลก
 
พิพิธภัณฑ์ปั้นทรายก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ได้จัดงานมหกรรมปั้นทรายโลก เพื่อฉลองปีมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีนักปั้นทรายทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมสร้างผลงาน ส่วนของไทยมีงานปั้นทรายรูปกังหันชัยพัฒนา  มีกำแพงวัดพระแก้ว การจำลองฝนเทียม  ดนตรีแซค  และเรื่องราวพระราชกรณียกิจของในหลวง  มาถึงปี พ.ศ. 2555  พิพิธภัณฑ์ปั้นทรายยังสร้างผลงานใหม่ๆอยู่ตลอดระยะเวลา  
 
เมื่อก้าวเข้าไปในห้องโถงขนาดใหญ่  ภาพแรกผู้เข้าชมจะตื่นตาตื่นใจกับการก่อร่างของทราย  เป็นผลงานสวยงามน่าอัศจรรย์  ในห้องมีเสียงบรรยายการสร้างผลงาน ผลงานจัดแสดงแบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 งานจัดแสดงประกอบด้วย เทพประจำวันเกิด  กำเนิด 12 นักษัตร  มีงานประติกรรมประจำในแต่ละราศี  ต่อมาเป็นกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค  ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ  ใกล้กับแต่ละผลงานมีป้ายอธิบายให้ความรู้  งานจัดแสดงในห้องนี้มีอีกมากมาย  อย่างเช่นงานปั้นทรายพระพุทธไสยาสน์(พระนอนวัดโพธิ์)กรุงเทพฯ พระราม(วรรณคดีไทย เรื่อง รามเกียรติ์)
 
คุณวุฒิชัย  ได้บอกว่า งานประติมากรรมต้องมีการรักษาอุณหภูมิความชื้น  ดังนั้นจึงต้องสร้างเต็นท์จัดแสดงที่ควบคุมได้  ทรายที่ใช้ในการปั้นเป็นทรายเนื้อแป้ง เรียกว่าทรายแป้ง ทรายบกหรือทรายน้ำจืด ความละเอียดคล้ายกับแป้งฝุ่น มีสีน้ำตาลอ่อน  เมื่อก่อนนี้นำทรายมาจากสิงห์บุรี ชลบุรี แต่ในปัจจุบันได้ทรายมาจากฉะเชิงเทรานี้เอง 
 
โซนที่ 2  งานที่สร้างสรรค์มีการใช้แสงไฟสร้างบรรยากาศมลังเมลืองให้กับผลงาน  นำเสนอเรื่องราวของอารยธรรมในยุคสมัยต่างๆ  เป็นงานเกี่ยวกับศาสนา  คุณวุฒิชัยเรียกส่วนนี้ว่าเต็นท์มืด  การเดินชมส่วนนี้ผู้เข้าชมจะละลานตาไปกับการปั้นทรายเป็นพระพุทธรูปและรูปเคารพต่างๆ สถูปวัดวาอาราม ปราสาทหิน  มีวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร  รูปปั้นเศียรหนุมาน ตัวละครเอกอย่างพระอภัยมณี  สุดสาคร ในวรรณคดีของสุนทรภู่
 
โซนที่ 3 เป็นสถานที่สำคัญในประเทศต่างๆ ทั้งยุโรปและเอเชีย  อาทิเช่น สนามกีฬาโคลอสเซียม กรุงโรม อิตาลี หอนาฬิกาบิ๊กเบน ประเทศอังกฤษ  อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ประเทศสหรัฐอเมริกา รองเท้าไม้ กังหันลมและภาพวาดที่เนเธอร์แลนด์  โรงละครโอเปร่า ประเทศออสเตรเลีย  กำแพงเมืองจีน  งานประติมากรรมรูปปั้นทรายนักรบโบราณของกรีก  บ้านโบราณกับเด็กที่เบลเยี่ยม รูปปั้นนักรบโบราณที่ซีอาน  ก่อนหน้านี้ได้เชิญนักปั้นจากต่างประเทศให้มาร่วมงานกับทีมช่างศิลป์ชาวไทย อาทิเช่น เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ อเมริกา หนึ่งในนั้นคือ Mr.Dave Brain Willis ชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้ที่เคยปั้นทรายสูงที่สุดในโลก เคยบันทึกลงในกินเนสบุ๊ค มาแล้ว
 
มาถึงโซนที่ 4 เป็นงานปั้นทรายรูปเคารพในศาสนา  ในโซนนี้มีช่างกลุ่มหนึ่งกำลังนำทรายเข้ามาสร้างงานชิ้นหนึ่ง  คุณวุฒิชัยบอกว่า  ผลงานแต่ละชิ้นใช้ทรายเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างงานชิ้นหนึ่งที่เขาชอบมาก คือ งานปั้นทรายพระโพธิ์สัตว์เจ้าแม่กวนอิม ใช้ทรายถึง 100 กว่าตัน  บางชิ้นที่ใหญ่กว่าใช้ทรายมากถึง 320 ตัน  ในโซนนี้ยังมีงานปั้นทรายพระพิฆเนศ  พระศิวะ  งานปั้นทราย หลวงปู่ทวด หลวงปู่มั่น  หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ  มีงานปั้นพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธโสธรและวัดโสธรวรารามวรวิหาร  นอกจากนี้ยังมีงานปั้นทรายตามจินตนาการอื่นๆ
 
งานปั้นทรายแต่ละชิ้น คุณวุฒิชัยบอกว่าจะเริ่มจากโมเดลเล็กๆ ใช้ดินน้ำมันปั้น  แล้วมาประชุมกันว่าจะแก้ไขตรงไหนบ้าง  ชิ้นงานควรมีขนาดเท่าไหร่  คำนวณปริมาณทรายที่จะใช้และค่าใช้จ่าย  ในการสร้างงานช่างแต่ละคนจะมีความถนัดไม่เหมือนกัน  บางคนถนัดงานตัวบุคคล  บางคนทำตัวอาคารสถานที่เก็บรายละเอียดได้ประณีต  การปั้นทรายจะไม่ใช้โครงสร้างด้านใน  ใช้เพียงทรายกับน้ำเท่านั้น  เป็นการอัดทรายแล้วใช้จินตนาการสร้างสรรค์จินตนาการตกแต่งเก็บรายละเอียด 
 
จากการที่มีคนเข้าชมหลากหลาย  บางทีมาเป็นกลุ่มใหญ่  มีความเสียหายเกิดขึ้นบ้าง จากความซุกซนหรือความอยากลองสัมผัสจับต้อง  แต่ความเสียหายก็สามารถซ่อมแซมได้เนื่องจากเป็นทราย  ตั้งแต่เข้ามารับดูแลและสร้างงานประติมากรรมปั้นทราย หลังจากที่มีมาแต่เดิมแล้ว 2 เดือน ถึงวันนี้ก็เกือบ 5 ปี  คุณวุฒิชัยไม่เคยหยุดสร้างงานเลย ผลงานบางชิ้นคุณวุฒิชัยมีส่วนร่วมในการปั้นด้วย แม้จะเหนื่อยและบางครั้งจะพบกับอุปสรรคจากการไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ เท่าที่ควร  ถึงอย่างไรคุณวุฒิชัยก็ยืนยันที่จะยืนหยัดสร้างผลงานต่อไป  เขายังกระตือรือร้นอยากจะสร้างงานปั้นทรายเป็นป่าหิมพานต์และอยากจะสร้างงานที่สูงส่งทางศิลปกรรมอย่างพระเมรุ 
 
ด้านตัวเลขการลงทุนในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท  จำนวนผู้เข้าชมถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย   คุณวุฒิชัยไม่อยากให้ภาครัฐมองว่าที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ของเอกชน  อยากให้มองว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประชาชนที่มาแล้วได้ความรู้  มาชื่นชมความงามทางศิลปะ อันเกิดมาจากจินตนาการและจิตวิญญาณของศิลปิน
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 22 พฤษภาคม 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง :
    *จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 75 กิโลเมตร
    *จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข34 (บางนา-ตราด) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข314 (บางปะกง–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง90กม.
    *จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ระยะทาง100  กิโลเมตร
    *จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แล้วมาเลี้ยวซ้ายออก ฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 314
    *จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง อ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา เส้นทางตรงอย่างเดียว พอพ้นจากถนนลาดกระบังจะเข้าสู่ ทางหลวงชนบท หมายเลข 3001 (ถนนสาย เทพราช-อ่อนนุช) หลังจากนั้นขับตรงมาเรื่อยๆ จะไปเจอกับทางหลวงหมายเลข 314 ใช้เส้นนี้วิ่งเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทราได้
พิพิธภัณฑ์ปั้นทรายตั้งอยู่ บริเวณถนนศรีโสธรตัดใหม่ ห่างจากวัดหลวงพ่อโสธรประมาณ 800 เมตร ติดกับห้างบิ๊กซี อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่  22 พฤษภาคม 2555
  พิพิธภัณฑ์ปั้นทราย.(2554).ค้นเมื่อ 5 กันยายน 2555.จาก http://www.holidaythai.com/
           Thailand-Attractions-1340.htm
  พิพิธภัณฑ์ปั้นทราย.(2553).ค้นเมื่อ 7 สิงหาคม  2555. http://www.thailandsandcity.com 
 
 
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-