พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ


พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ อยู่ภายในอาคารสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ (รัชมังคลากีฬาสถาน)  เป็นสถานที่อนุรักษ์มรดกทางการกีฬาของประเทศ  รวมทั้งเพื่อจัดตั้งเป็นหอเกียรติยศของอดีตนักกีฬาทีมชาติไทย ภายในแบ่งห้องจัดแสดง ประกอบด้วย ห้องวิวัฒนาการกีฬาสากลของไทย ห้ององค์กรกีฬา หอเกียรติยศนักกีฬา ห้องสมาคมกีฬาและกีฬาพื้นบ้านไทย ห้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการกีฬา เป็นต้น นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ ยังได้จัดให้บริการสืบค้นข้อมูลทางทางอินเตอร์เน็ตแก่ผู้มาใช้บริการ

ที่อยู่:
งานพิพิธภัณฑ์กีฬา ศูนย์สารสนเทศการกีฬา ราชมังคลากีฬาสถาน โซน W4,5 การกีฬาแห่งประเทศไทย 286 ถ.รามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์:
0-2318-0940 ต่อ 1485, 02-718- 5913-14
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-เสาร์ 8.30-16.30 น. (ปิดวันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
museum@sat.or.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2544
จัดการโดย:
เนื้อหา:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

"พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ" หอเกียรติยศของนักกีฬา

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 10/13/2547

ที่มา: ผู้จัดการรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาีรี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ 30 พฤษภาคม 2544

ชื่อผู้แต่ง: การกีฬาแห่งประเทศไทย | ปีที่พิมพ์: 2544

ที่มา: กรุงเทพฯ:การกีฬาแห่งประเทศไทย

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

วารสารพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: มกราคม-ธันวาคม 2547

ที่มา: กรุงเทพฯ:การกีฬาแห่งประเทศไทย

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ

เมื่อกลางปี พ.ศ. 2551 แทมมารีน ธนสุกาญจน์ ทำให้คนในวงการเทนนิสโลกและแฟนกีฬาชาวไทยทั้งประหลาดใจและยินดีกับความสำเร็จของเธอที่เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายในระดับแกรนด์สแลม ในการแข่งขันเทนนิส วิมเบิลดัน ประเทศสหราชอาณาจักร ด้วยอายุ 31 ปีซึ่งเป็นวัยที่นักเทนนิสหญิงบางคนถอดใจเลิกเล่นไปแล้ว แต่แทมมารีนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเธอยังสามารถพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นได้ ยิ่งกว่านั้นเธอตั้งเป้าหมายว่าจะไต่อันดับเข้าไปอยู่ใน 20 อันดับนักเทนนิสหญิงของโลกอีกครั้ง ความมุ่งมั่นของเธอน่าจะเป็นแรงบันดาลใจแก่นักกีฬารุ่นน้องไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนให้พยายามพัฒนาตนเองเข้าสู่การแข่งขันระดับสากล

ในอดีตนักกีฬาไทยที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันในการแข่งขันกีฬาระดับโลกส่วนใหญ่อยู่ในวงการหมัดมวย ต่างจากปัจจุบันเรามีนักกีฬาทั้งระดับเยาวชนและมืออาชีพจากหลายประเภทกีฬาที่กำลังพัฒนาฝีมือเข้าสู่การแข่งขันระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น กอล์ฟ เทนนิส เทควันโด ฟุตบอล เป็นต้น การเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ความสามารถของนักกีฬาไทยถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งและเป็นวัตถุประสงค์ข้อแรกของพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ใต้อัฒจันทร์ของราชมังคลากีฬาสถาน มีพื้นที่จัดแสดงกว้างขวางรูปแบบทันสมัย เมื่อเปิดประตูเข้าไปจะเห็นโถงกว้าง ผนังด้านหน้าประดับตราพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ด้านซ้ายมีที่นั่งชมวีดิทัศน์ และบริการอินเตอร์เน็ต ถ้าเริ่มการชมโดยเดินไปทางซ้าย ห้องแรกจัดแสดงวิวัฒนาการกีฬาสากลของไทย ตรงกลางห้องคือโมเดลสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ด้านข้างแสดงภาพสนามศุภชลาศัย ภาพอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก และภาพสนามกีฬาสมโภชเมืองเชียงใหม่ 700 ปี มีบอร์ดเล่าประวัติความเป็นมาของกีฬาสากลชนิดต่างๆ และ เอกสารต้นฉบับเพลงกราวกีฬา ประพันธ์โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

ห้องต่อมาเป็นห้ององค์กรกีฬา แสดงความเป็นมาของการกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา

เดินเลี้ยวไปทางซ้ายเป็นหอเกียรติยศนักกีฬา บริเวณท้ายห้องทำเป็นมุมหนึ่งของเวทีมวย มีหุ่นของนักมวยยืนยกกำปั้นอยู่ นักมวยผู้นี้คือโผน กิ่งเพชร แชมเปี้ยนโลกมวยสากลอาชีพรุ่นฟลายเวทคนแรกของไทย ชกชนะปาสคาล เปเรซ (Pascual Pérez) ชาวอาร์เจนตินาเมื่อ พ.ศ.2503 โผนมีชื่อจริงว่ามานะ สีดอกบวบ เป็นชาวอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

การจัดแสดงข้อมูลของนักกีฬาแต่ละคนปรากฏอยู่บนแผ่นบอร์ดขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายบานประตู ผู้ชมสามารถพลิกแผ่นเหล่านี้เพื่อหานักกีฬาที่ตนสนใจได้ มีหลายชื่อที่ยังอยู่ในความทรงจำ เช่น ปรีดา จุลละมณฑล ชาวจังหวัดจันทบุรี นักจักรยานเจ้าของฉายา”นักปั่นน่องเหล็ก” เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ปีพ.ศ. 2510, อาณัติ รัตนพล เจ้าของฉายา”นักวิ่งลมกรด” พิชิต 2 เหรียญทองจากประเภทวิ่ง 200 เมตรชาย และวิ่งผลัด 4x100 เมตรในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 6 และกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 7ได้มาอีก 3 เหรียญทอง ส่วนตัวอย่างนักกีฬาฝ่ายหญิงได้แก่ รัชนีวรรณ บูลกุล นักว่ายน้ำหญิงไทยคนแรกที่ได้เหรียญทองจากกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 8 สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 28 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ นักยกน้ำหนักสาวไทย ปวีณา ทองสุก และอุดมพร พลศักดิ์ ได้เหรียญทองคนละเหรียญ ส่วนเยาวภา บุรพลชัย ขวัญใจวัยรุ่นได้เหรียญทองแดงจากกีฬาเทควันโด

ความพิการทางร่างกายไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับคนกลุ่มนี้ สกุล คำตัน นักกีฬาพุ่งแหลนเป็นนักกีฬาคนพิการคนไทยคนแรกที่ได้เหรียญเงินจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกคนพิการ ส่วนสายสุนีย์ จ๊ะนะ ซึ่งพิการโดยอุบัติเหตุรถชน เป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกคนพิการที่ประเทศกรีซจากกีฬาฟันดาบ นอกจากการจัดแสดงประวัติอย่างย่อและผลงานของนักกีฬาที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว ภายในห้องนี้ยังจัดแสดงเหรียญรางวัลที่นักกีฬาได้รับจากการแข่งขันอีกด้วย เช่น เหรียญเงินในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 23 ที่นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2527 จากทวี อัมพรมหา นักกีฬามวยสากล 

ห้องสมาคมกีฬาและกีฬาพื้นบ้านไทยอยู่ด้านหลังสุดของพิพิธภัณฑ์ ผนังสองด้านเล่าประวัติสมาคมกีฬา 50 สมาคม เช่น กรีฑา กอล์ฟ แบดมินตัน ยูโด กีฬาคนพิการ ยิงธนู ว่ายน้ำ และเปตอง ฯลฯ พื้นที่ส่วนหนึ่งจัดแสดงกีฬาพื้นบ้านไทยโดยทำเป็นโมเดลหุ่นขนาดเล็กกำลังแสดงท่าเล่นกีฬา เช่น กระบี่กระบอง ตะกร้อ ว่าวไทย มวยไทย แข่งเรือ และหมากรุกไทย เป็นต้น บริเวณกลางห้องเป็นตู้กระจกยาวขนานไปกับความยาวของห้อง ส่วนหน้าจัดแสดงคบเพลิงหลายอัน เช่นคบเพลิงโอลิมปิกครั้งที่ 16 ประเทศออสเตรเลีย, ครั้งที่ 18 ประเทศญี่ปุ่น และครั้งที่ 19 ประเทศเม็กซิโก ต่อมาเป็นเหรียญที่ระลึกจากการแข่งขันกีฬาและเสื้อเบลเซอร์ของนักกีฬาไทยในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 6 เป็นต้น

ลักษณะของห้องกิตติคุณ คล้ายห้องรับรองแขกคนสำคัญ บนผนังห้องติดภาพบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์แก่วงการกีฬาไทย เริ่มจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์อุปถัมภ์กิจกรรมกีฬาของชาติ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้ประพันธ์เพลงกราวกีฬา นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่าสนามศุภชลาศัย หลวงสุขุมนัยประดิษฐ ผู้ก่อตั้งอ.ส.ก.ท. ซึ่งต่อมาเป็นการกีฬาแห่งประเทศไทยและริเริ่มการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ และบุคคลสำคัญอื่นๆอีกหลายท่าน 

ห้องต่อมามีรถแข่งแบบโบราณสีฟ้าและหุ่นบุคคลยืนอยู่ข้างๆในชุดนักแข่งรถ เป็นหุ่นจำลองพระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดชนักแข่งรถชื่อดังในสมัยนั้น ส่วนรถแข่งจำลองจากรถคู่พระทัย ชื่อว่ารอมิวลุส (Romulus)รุ่นปีพ.ศ. 2478 รถคันนี้เป็นรถแข่งอังกฤษผลงานการออกแบบของฮัมฟรีย์ คุก และ เรย์มอนด์ เมย์ ผลิตออกมาเพียง19 คัน สีฟ้าสดของรถสั่งทำพิเศษซึ่งต่อมาเรียกกันว่าสีฟ้าพีระ พระองค์เจ้าพีระทรงชนะเลิศการแข่งรถกรังปรีซ์ในยุโรปหลายครั้งจนได้รางวัลดาราทองจากกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร 3 ปีซ้อน

รูปบุคคลที่ประทับเด่นอยู่ในห้องพระบรมวงศานุวงศ์กับการกีฬาคือพระรูปจำลองสมเด็จย่าในฉลองพระองค์สีแดงกำลังทรงกีฬาเปตอง ภายในห้อง จัดแสดงฉลองพระองค์ที่ทรงใช้ในการเล่นกีฬา เช่น ฉลองพระองค์ทรงเรือใบและพระมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนผนังเป็นบอร์ดแสดงพระราชจริยวัตรด้านกีฬาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์

ห้องสุดท้ายคือห้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการกีฬา จุดเด่นอยู่ที่เรือใบ 3 ลำที่ทรงต่อด้วยพระองค์เอง ลำแรกที่อยู่ด้านหน้าคือเรือซูเปอร์มด 3 ข้อมูลจากป้ายอธิบายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบและทรงต่อขึ้นในปีพ.ศ.2500 เป็นเรือต้นแบบของเรือประเภทมดที่ใช้ในการแข่งขันกีฬานานาชาติ ใช้ครั้งแรกในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทย ปีพ.ศ.2500 เรือลำที่อยู่ตรงกลางเป็นเรือประเภทเอ็นเตอร์ไพรซ์ ชื่อเอ.จี. ทรงต่อขึ้นตามแบบสากล ใช้ในการแข่งขันหลายครั้งทั้งในและนอกประเทศ ส่วนเรือลำเล็กสุดคือเรือไมโครมด 3 ทรงออกแบบและต่อขึ้นด้วยไม้อัดแผ่นเดียว วิธีการสร้างง่าย ประหยัด ใช้เครื่องมือช่างไม้ธรรมดา ส่วนผนังสองข้างเป็นบอร์ดแสดงพระราชประวัติและพระราชจริยวัตรด้านกีฬาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาพที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งคือภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเหรียญรางวัลจากการชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4

ผู้เข้าชมของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้แก่นักเรียน นักศึกษาภาควิชาพละศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทหารที่มาทดสอบสมรรถภาพ และประชาชนทั่วไปที่มาออกกำลังกาย นอกจากนั้นพิพิธภัณฑ์มีการจัดกิจกรรมวันเด็กทุกปี

ทางพิพิธภัณฑ์มีแผนจะปรับปรุงข้อมูลที่จัดแสดงรวมถึงข้อมูลในเว็บไซด์ให้ทันสมัย มีข้อสังเกตว่าในส่วนประวัติของนักกีฬาในหอเกียรติยศในปัจจุบันดูเหมือนว่าให้ความสำคัญกับผลงานและเหรียญรางวัล ถ้าเพิ่มข้อมูลของนักกีฬาให้มีความเป็นตัวตนชัดเจนขึ้น เช่น อะไรเป็นแรงบันดาลใจ เคล็ดลับการฝึก หรือประสบการณ์ที่ประทับใจในการเข้าแข่งขัน ก็น่าจะทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจและเข้าถึงนักกีฬาที่เขาชื่นชอบมากขึ้น ซึ่งน่าจะมีผลต่อความรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นแรงเชียร์นักกีฬาไทยมากขึ้นด้วย 

เรื่อง/ภาพ :เกสรา จาติกวนิช

ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม : 7 กรกฎาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-