พิพิธภัณฑ์พุทธศิลปะ ก่อตั้งขึ้นโดย อาจารย์สมเกียรติ โล่ห์เพชรรัตน์ ซึ่งได้เล็งเห็นคุณค่าความงามในพุทธศิลปะแบบต่าง ๆ ที่ท่านได้รวบรวมและเก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมาก นับเป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายในเน้นเนื้อหาจัดแสดงศิลปะพระพุทธรูปไทยที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติไทย แบ่งเป็นห้อง ทั้งหมด 16 ห้อง ได้แก่ ห้องศิลปะเขมร พม่า ลาว สุโขทัย ล้านนา อยุธยา รัตนโกสินทร์ ศรีวิชัย ล้านช้าง บ้านเชียง ลพบุรี ทวาราวดี เมืองละโว้ ดองซอง ชนเผ่าเย้า คริสต์ ตำหนักเจ้าแม่กวนอิม และพระพิฆเนศวร เป็นต้น
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
ชื่อผู้แต่ง: jarunee taemsamran | ปีที่พิมพ์: 12/23/2547
ที่มา: Bangkok Post
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: บุญเลิศ ช้างใหญ่ | ปีที่พิมพ์: 25/4/2548
ที่มา: มติชนรายวัน
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์พุทธศิลปะ
ภายในอาคาร 2 ชั้นทรงสี่เหลี่ยมหน้าตาเหมือนตึกแถวทั่วไปแห่งนี้เป็นกรุสะสมพระพุทธรูปที่น่าทึ่ง คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่พิพิธภัณฑ์เอกชนจะรวบรวมและคัดสรรพระพุทธรูปรวมถึงโบราณวัตถุอื่นๆ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงรัตนโกสินทร์มาจัดแสดงจนครบทุกสมัย วัตถุจัดแสดงในอาคารหลักจุดเด่นอยู่ที่พระพุทธรูปและรูปเคารพแบบลอยตัวซึ่งเป็นรูปเคารพในศาสนาพุทธลัทธิเถรวาท ศาสนาพุทธลัทธิมหายาน และศาสนาพราหมณ์ การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งออกเป็นสองอาคาร อาคารหลักคือพิพิธภัณฑ์พุทธศิลปะ แบ่งย่อยออกเป็น 18 ห้องตามหัวข้อที่จัดแสดง ด้านล่างมีร้านค้าศิลปวัตถุ อีกอาคารหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เจ้าแม่กวนอิมการจัดแสดงชั้นบนของอาคารหลักมีทั้งศิลปวัตถุจากประเทศใกล้เคียงและศิลปะไทยส่วนใหญ่แบ่งตามยุคสมัย ประกอบด้วย ห้องนิทรรศการชั่วคราว, ศิลปะเขมรและศิลปะเขมรในประเทศไทย, ศิลปะพม่า เชียงรุ่ง เชียงตุง ไทลื้อ, ศิลปะสุโขทัย, ศิลปะอยุธยา, ศิลปะล้านนา, ศิลปะล้านช้าง, ศิลปะธนบุรีและรัตนโกสินทร์, ศิลปะดองซองและอันนัม, ศิลปะทวารวดีและศรีวิชัย, ศิลปะบ้านเชียง, ศิลปะทั่วไป, และจิตรกรรมศักดิ์สิทธิ์ชนเผ่าเย้า
การจัดแสดงชั้นล่างแบ่งหัวข้อออกเป็น ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน, วัตถุชิ้นสำคัญในประเทศไทย, ศิลปะศาสนาคริสต์,ประติมากรรมศิลา, ลูกปัดและหยก
แหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ถูกยกย่องให้เป็นมรดกโลก ภาชนะบ้านเชียงโดดเด่นด้วยรูปทรงที่หลากหลายและการออกแบบลวดลายบนผิวภาชนะ เป็นศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 4,500 – 1,800ปี ในยุคต้นส่วนใหญ่เป็นภาชนะสีดำ ตกแต่งด้วยลายเส้นคดโค้ง ลายเชือกทาบและลายขีด ต่อมาจึงเขียนหลายสีแดงบนพื้นสีนวล บางชิ้นมีการขัดผิวมัน ในห้องศิลปะบ้านเชียงมีตัวอย่างให้ชมหลายชิ้น ผนังด้านหนึ่งแสดงแหล่งที่พบภาชนะรูปแบบต่างๆ บนแผนที่ประเทศไทยมีเส้นเชื่อมโยงกับภาพประกอบด้านข้างทำให้ง่ายต่อการเข้าใจ นอกจากนั้นยังมีวัตถุโบราณอื่นที่ค้นพบในสมัยเดียวกันเช่น เครื่องสำริด กำไล ขวาน กระดิ่ง และภาชนะดินเผารูปวัว เป็นต้น ที่น่าสนใจในแง่ของการออกแบบคือโทนสีภายในห้อง ผนังห้องใช้สีตัดกันดำ แดง ขาว และเทา สไตล์สมัยใหม่ แต่กลับช่วยเน้นความงามของรูปร่างและลวดลายที่เป็นเส้นโค้งไปมาบนภาชนะโบราณเหล่านี้ได้อย่างน่าประหลาด
วัตถุเด่นในห้องศิลปะดองซอนและอันนัมคือ กลองมโหระทึก ทำด้วยสำริดมีดาวหลายแฉกตรงกลางของหน้ากลอง อายุราวคริสตศวรรษที่ 7 - 10 กล่าวกันว่ากลองมโหระทึกเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ เนื่องจากแหล่งที่พบไล่มาตั้งแต่มณฑลยูนนาน กวางสีในประเทศจีน เวียดนาม และในประเทศไทย เช่น จังหวัดอุบลราชธานี มุกดาหาร ราชบุรี และนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าใช้ในพิธีกรรม ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีขอฝน นอกจากนั้นก็มีเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยโลหะในตู้กระจก เช่น ง้าว ขวาน มีด กริช และกำไล
ศิลปะเขมรโบราณคงเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตกมากกว่าศิลปะอื่นในภูมิภาคนี้ ช่างชาวเขมรมีฝีมือในการแกะสลักหินได้อย่างน่าประทับใจและมีเอกลักษณ์ ประติมากรรมหินที่ตั้งเด่นอยู่กลางห้องศิลปะเขมรรูปหนึ่งคือพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ ทรงสวมกระบังหน้า ตุ้มหู(กุณฑล) เครื่องประดับที่พระอุระ(กรองศอ) และกำไลต้นแขน(พาหุรัด) พระพุทธรูปนาคปรกมีที่มาจากพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 35 วัน ขณะที่ประทับทำสมาธิอยู่ใต้ต้นมุจลินท์ เกิดฝนตกลงมา พระยานาคจึงขึ้นมาจากน้ำและขดกายรอบพระพุทธองค์เพื่อบังฝนให้อยู่๗วัน ประติมากรรมอีกชิ้นหนึ่งคือนางปรัชญาปารมิตาประทับนั่งคุกเข่า พระนางเป็นเทพีแห่งความเฉลียวฉลาด เป็นรูปเคารพในศาสนาพุทธลัทธิมหายานที่นิยมมากในประเทศกัมพูชา มีรูปพระธยานิพุทธที่มวยผมและพระหัตถ์ถือคัมภีร์เป็นสัญลักษณ์ ลักษณะใบหน้าโดยรวมของประติมากรรมเขมรค่อนข้างกว้าง ไหล่กว้าง ลำตัวค่อนข้างบึกบึนแฝงด้วยพลังและความหนักแน่น ส่วนประติมากรรมสำริดจัดแสดงในตู้กระจกติดผนัง ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องใช้ในพิธีกรรม ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ลวดลายละเอียดประณีต ด้านล่างมีป้ายบอกอายุและยุคสมัยชัดเจน
ห้องศิลปะพม่าเป็นอีกห้องหนึ่งที่ไม่ควรข้ามไป เพราะมีพระพุทธรูปที่ประดับประดาอย่างสวยงามหลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง บางองค์ทำด้วยไม้ นิยมการลงรักปิดทองและประดับกระจกสี บางองค์อยู่ในซุ้มขนาดใหญ่สลักลวดลายวิจิตรตระการตา บางองค์ทำด้วยหินมีค่า ส่วนบางองค์ดูไม่ออกเลยว่าวัสดุที่ใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษ(paper mache)
กลางห้องศิลปะสุโขทัยคือพระพุทธรูปลีลาสีทองอร่าม อาจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวถึงความงามของพระพุทธรูปสุโขทัยอยู่ที่ทรวดทรงเส้นขอบรอบนอกของพระพุทธรูป เส้นโค้งที่นำสายตาอย่างนุ่มนวลก่อให้เกิดความชื่นชมและต่อเนื่องเป็นความศรัทธาเลื่อมใส ความประสานกลมกลืนของเส้นปรากฏในพระพุทธรูปปางมารวิชัยด้วยเช่นกัน
พระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของศิลปะอยุธยาและคงความนิยมสืบเนื่องไปถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เรียกว่าทรงเครื่องเพราะสวมเครื่องประดับมากน้อยต่างกันไป เช่นมีกระบังหน้าหรือมงกุฏบนพระเศียร บ้างมีตุ้มหู สร้อยคอ ทับทรวง กำไล บางองค์มีลวดลายและการประดับประดาอย่างอลังการจนดูเผินๆอาจเข้าใจว่าเป็นเทวดา พระพุทธรูปที่จัดแสดงอยู่ที่นี่มีทั้งพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยและทรงเครื่องใหญ่ และที่ไม่ทรงเครื่อง ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของยุคนี้คือ การทำฐานสูงและการประดับ ซึ่งสืบทอดไปถึงสมัยต่อมา
พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ความหลากหลายยิ่งกว่ายุคก่อนหน้า ในการสร้างมีทั้งทำตามแบบที่เคยทำมาเช่นการจำลองพระพุทธรูปแบบสุโขทัย และแบบที่รับแนวคิดสมจริงของตะวันตก เช่น พระพุทธรูปที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์จริง เช่นองค์หนึ่งเป็นรูปเจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกรกิริยาจนร่างกายผ่ายผอมเห็นกระดูก มีอีกหลายองค์ที่มีการตกแต่งรายละเอียดไว้อย่างน่าชม เช่น พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยประทับบนฐานสูง 2 องค์ ส่วนฐานทำเป็นพระพุทธรูปเล็กๆ ล้อมรอบฐานซ้อนขึ้นไปเป็นชั้น อาจหมายถึงพระอดีตพุทธเจ้า องค์หนึ่งมีพระสาวกล้อมรอบด้วย
การจัดแสดงชั้นล่างห้องแรกเป็นห้องศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประกอบด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น อุปกรณ์การเกษตร เครื่องดนตรีไทย เชี่ยนหมาก ตุ่ม ไห เกวียน กรงนก ศาลพระภูมิ เป็นต้น ส่วนมุมหนึ่งจัดวางรูปฤาษีไว้หลายตน ส่วนห้องอื่นๆขอกล่าวถึงโดยสังเขป ห้องวัตถุล้ำค่ามีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางอุ้มบาตร ห้องปฎิมากรรมศิลามีรูปเคารพในศาสนาพุทธนิกายมหายานและศาสนาพราหมณ์ ห้องลูกปัดและหยก มีลูกปัดโบราณหลายชนิดทำจากแก้ว เทอร์ควอยซ์ อาเกต หยกประดับหลายรูปแบบ ต่างหูทำจากเปลือกหอยสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และกำไลสำริด
อาคารด้านข้างจัดแสดงรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แบ่งออกเป็นสองห้อง ห้องแรกประดิษฐานประติมากรรมพระโพธิสัตว์กวนอิมขนาดใหญ่ทำจากไม้หอมลงรักปิดทอง มีแท่นบูชาด้านหน้าสำหรับผู้มีศรัทธาได้สักการะ ห้องด้านในจัดแสดงประติมากรรมพระโพธิสัตว์กวนอิมไว้หลายขนาดหลายรูปแบบศิลปะ เช่นแบบจีน จาม เวียดนาม เป็นต้น
พระโพธิสัตว์กวนอิมมีหน้าที่คอยดูแลสัตว์โลกในยุคนี้ จึงเป็นที่รู้จักและเคารพบูชามากกว่าพระโพธิสัตว์องค์อื่นๆ คุณธรรมพิเศษคือความเมตตากรุณา ทรงปฏิเสธที่จะนิพพานเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลก บางครั้งจะพบว่ามีพระหัตถ์มากมายเพื่อช่วยสัตว์โลกที่ตกทุกข์ได้ยากที่มีเป็นจำนวนมากนั่นเอง
คุณสมปราชญ์ ภูมิพันธ์ ให้สัมภาษณ์ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ดำเนินงานโดยมูลนิธิส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะไทย ม.ร.ว.พีรเดช จักรพันธุ์เป็นประธาน วัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของสะสมของอาจารย์สมเกียรติ โล่ห์เพชรัตน์ ส่วนที่เหลือเป็นของบริจาคเพื่อจัดแสดงจากนักสะสมท่านอื่นๆ วัตถุบางชิ้นทำขึ้นใหม่เลียนแบบของเก่าเพื่อการศึกษา ส่วนการจัดนิทรรศการหมุนเวียนจะเปลี่ยนประมาณปีละครั้ง
ผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติทั้งจากยุโรปและเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจากสถานฑูต ส่วนชาวไทยมีทั้งนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมขึ้นไป นักศึกษาจากหลายสถาบัน รวมทั้งโรงเรียนนานาชาติ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐ ถ้ามาเป็นกลุ่มใหญ่สามารถทำเรื่องขอให้มีการบรรยายได้ หรือถ้าต้องการเรียนรู้เองก็มีคู่มือนำชมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นทางพิพิธภัณฑ์มีแบบทดสอบแจกเพื่อให้ผู้เข้าชมได้ความรู้ติดสมองกลับไปด้วย เป็นความคิดที่พิพิธภัณฑ์อื่นๆน่านำไปพิจารณาเป็นตัวอย่าง
เรื่อง/ภาพ เกสรา จาติกวนิช
สำรวจ : 28 กุมภาพันธ์ 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี พระพุทธรูป ศิลปะและการแสดง บ้านเชียง เครื่องปั้นดินเผา
พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ศิริราช
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางเขน
จ. กรุงเทพมหานคร