พิพิธภัณฑ์เสรีไทย


ที่อยู่:
โรงแรมภราดร ถนนยันตรกิจโกศล อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ 54000
โทรศัพท์:
08-6188-9768
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
ของเด่น:
นิทรรศการเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยในจังหวัดแพร่
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์เสรีไทย จ.แพร่ อุดมการณ์ที่ยังไม่ตาย

ชื่อผู้แต่ง: อภิญญา สุขแสงศรี | ปีที่พิมพ์: 21-08-2550

ที่มา: มติชนรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เสรีไทย

ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ในปี 2484-2488 กองทัพญี่ปุ่นที่เรืองอำนาจได้เข้ามายึดครองประเทศไทย และดินแดนส่วนใหญ่ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ 
 
รัฐบาลไทยสมัยนั้นจำต้องให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการลงนามกติกาสัญญาเป็นพันธมิตร แต่คนไทยกลุ่มหนึ่งทั้งในและต่างประเทศ ได้รวมพลังก่อเกิด "เสรีไทย" ขึ้นโดยเชื่อมั่นว่า การรบในระยะยาว กำลังของฝ่ายพันธมิตรจะเติบโตและสามารถเอาชนะสงครามได้
 
จังหวัดแพร่ เป็นส่วนสำคัญของสงครามมหาเอเชียบูรพาอย่างไร เกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทยอย่างไร จึงก่อเกิดพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ที่จังหวัดแพร่ 
 
สืบเนื่องจากว่า หลังจัดตั้งเสรีไทย เพื่อต่อต้านการรุกรานของศัตรู เป็นกองอาสาสมัครไทย Free Thai Movement โดยประกอบไปด้วยเสรีไทยสายอังกฤษ สายอเมริกา และเสรีไทยสายในประเทศ โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำการเคลื่อนไหว ประสานงานกับเสรีไทยในต่างประเทศ ได้มีการคัดเลือกบุคคลใกล้ชิด และไว้วางใจให้ร่วมงาน คือ นายทอง กันทาธรรม (ถึงแก่กรรม) นายอ้วน ลือวัฒนานนท์ (ถึงแก่กรรม) นายทวีศักดิ์ สินธุวงศ์ (ยังมีชีวิตอยู่) เป็นแกนนำในพื้นที่จังหวัดแพร่ ร่วมกับชาวบ้านในสมัยนั้น ทั้งครูประชาบาล โดยใช้หมู่บ้านหนองม่วงไข่ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่อำเภอหนองม่วงไข่ เป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติการกู้ชาติ 
นับเป็นเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่ชาวจังหวัดแพร่ได้มีส่วนร่วมให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตการณ์ นายภุชงค์ กันทาธรรม ทายาทของนายทอง กันทาธรรม เปิดเผยว่า เพื่อสนองเจตนารมณ์ของพ่อ ซึ่งอดีตเป็นเสรีไทยในจังหวัดแพร่ โดยรวบรวมประวัติศาสตร์ คุณงามความดี ความเสียสละ ความสามัคคีของผู้กล้าเสรีไทย สายเหนือ ในจังหวัดแพร่ เพื่อเป็นอนุสรณ์และแหล่งศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจ จึงร่วมกับทายาทเสรีไทยจังหวัดแพร่ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์เสรีไทยขึ้น ในบริเวณโรงแรมภราดร ถนนยันตรกิจโกศล อำเภอเมืองแพร่ ในอดีตคือบ้านของคุณพ่อทอง กันทาธรรม
นายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การเปิดพิพิธภัณฑ์เสรีไทย โดยเหล่าทายาทของเสรีไทยในจังหวัดแพร่ ถือเป็นอีกบทบาทสำคัญหนึ่งของภาคเอกชนที่ร่วมมือการผลักดันอย่างจริงจังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เผยแพร่ความรู้เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดแพร่ การศึกษา การปลูกฝังเยาวชนเป็นแนวทางหลัก และประวัติศาสตร์ก็จะเป็นการปลูกฝังให้คนแพร่รักเมืองแพร่อีกด้วย
 
ด้านนายรณยุทธ์ บุตรราช คณะทำงานเสรีไทยในจังหวัดแพร่ เห็นว่า ความร่วมมือของคณะทำงาน ลูกหลาน ทายาทเสรีไทยในจังหวัดแพร่ ที่ยังมีชีวิตอยู่ รวบรวมประวัติศาสตร์ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างดีเกี่ยวกับบทบาทสำคัญอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองแพร่
สำหรับภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประกอบไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อาวุธต่างๆที่ยังเหลืออยู่ การจำลองเครื่องแต่งกายของผู้ปฏิบัติหน้าที่เสรีไทยในสมัยนั้น ประวัติความเป็นมา รูปภาพเก่าแก่ ที่บอกเล่าเรื่องราวของเสรีไทยให้ผู้สนใจได้เข้าไปชมและศึกษาประวัติศาสตร์ 
 
"ที่ผ่านมาคณะทำงานพยายามรวบรวมสิ่งที่เหลืออยู่ของเหล่าเสรีไทยของผู้กล้าในอดีต สืบค้นหาแหล่งพำนักของผู้มีชีวิต รวมถึงสถานที่เกิดเหตุ แต่น่าเสียดายที่บางรายเสียชีวิตไปแล้ว และสถานที่บางแห่งไม่สามารถกอบกู้เอาสิ่งต่างๆที่หลงเหลืออยู่ขึ้นมาได้ เช่น ม่อนเครื่องบินตก ที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำยม บ้านแก่งหลวง อำเภอลอง ที่มีซากเครื่องบินจมอยู่ในแม่น้ำยม บางส่วนโผล่เหนือน้ำยามน้ำลด ก็ถูกพวกซื้อของเก่านำอุปกรณ์ไปตัดเอาเหล็กมาชั่งกิโลขาย" เสียงบอกเล่าของทายาทเสรีไทย
 
พร้อมทั้งบอกเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้ประสานไปยัง ม.พัน 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์ เด่นชัย นำเครื่องตรวจโลหะ ไปสำรวจพื้นที่และกอบกู้ซากแห่งอดีตขึ้นมาเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา เพราะจังหวัดแพร่เป็นหนึ่งเดียวในจังหวัดภาคเหนือที่ขบวนการเสรีไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแพร่
 
ในอดีตที่ผ่านมา พื้นที่ จ.แพร่แห่งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ นายทอง กันทาธรรม เป็นหัวแรงหลักในการปฏิบัติการครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2487 เรียกว่า "ปฏิบัติการฮอทฟูท" โดย ร.ท.บุญมาก เทศบุตร และ ร.ต.วิมล วิริยะวิทย์ เป็นผู้ปฏิบัติภารกิจกระโดดร่มลงที่ จ.แพร่ พร้อมสัมภาระ มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่บ้านหนองม่วงไข่ ได้รับการสนับสนุนทางอากาศ
 
การกระโดดร่มครั้งต่อไปอีก 3 ครั้ง ซึ่งเป็นระยะที่ได้ตั้งศูนย์ไซเรนขึ้นที่กรุงเทพฯ มีการนัดหมายชัดเจนระหว่างทางอากาศและภาคพื้นดิน เรียกปฏิบัติการทั้ง 3 ครั้งนี้ว่า ปฏิบัติการนิวเมอรัล 
 
ปฏิบัติการแต่ละครั้ง เป็นการขนถ่ายสรรพาวุธ เสบียง และยารักษาโรค เพื่อเป็นเครื่องช่วยในการปฏิบัติงาน ตลอดจนนำครูฝึกทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยมายังเมืองแพร่ ภารกิจของแกนนำเสรีไทยในเมืองแพร่ เป็นการหาข่าวที่ตั้งของทหารญี่ปุ่น การรับส่งข่าว การเก็บอาวุธอเมริกัน และการรบแบบจรยุทธ์ โดยมีบุคคลสำคัญร่วมในประวัติศาสตร์นี้เช่น คุณชโรช โล่ห์สุวรรณ (ลอส) ร.ท.คูสมัค ส.ค.แกรนด์ ส.อ.ชีสโก้ ชาวอเมริกัน ร.ต.แปลง คำเมือง ซึ่งมาโดยการโดดร่ม และร.อ.บุญเรือง พิมสาร ทหารเสนารักษ์ที่มาประจำการที่จังหวัดแพร่ เป็นต้น
 
หลังสงครามเสร็จสิ้น ฝ่ายสัมพันธมิตรได้แจ้งให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ว่า สัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ไม่ต้องถูกยึดครอง และให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับนานาชาติกลับคืนสู่สถานภาพเหมือนก่อนสงคราม ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 
 
ถึงวันนี้ พิพิธภัณฑ์เสรีไทย ในจังหวัดแพร่มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นวัน "สันติภาพไทย" ครบ 62 ปี ของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาหรือเข้าชมพิพิธภัณฑ์เสรีไทยเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ในเวลา 08.00-17.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือสอบถามได้ที่ผู้ประสานงานคณะทำงานเสรีไทยในจังหวัดแพร่ โทร.08-6188-9768 
 
ชาวแพร่ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการกู้ชาติ เพราะจังหวัดแพร่เป็นจังหวัดเดียวใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
 
ข้อมูลจาก : อภิญญา สุขแสงศรี. “พิพิธภัณฑ์เสรีไทย จ.แพร่ อุดมการณ์ที่ยังไม่ตาย” มติชนรายวัน 21-08-2550 หน้า 34
ชื่อผู้แต่ง:
-