ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้าน บ้านถ้ำ


ที่อยู่:
ทางหลวงหมายเลข 1251หลักกิโลเมตรที่ 14 ถนนดอกคำใต้ – เชียงม่วน หมู่ 6 ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา 56120
โทรศัพท์:
086-1958823 ติดต่ออ.อุทัย ไชยวุฒิ
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้าน บ้านถ้ำ

บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ. พะเยา เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีตามแนวที่ราบเชิงเขาและเพิงถ้ำ พบเครื่องมือ เครื่องใช้และเศษกระดูกสัตว์ที่กองไว้ในบริเวณ “ถ้ำดูก” และขุดค้นพบขวานหินขัดชนิดมีบ่า และไม่มีบ่า ตุ้มถ่วง กำไลหิน ตามแนวยาวจากเขตตำบลหนองหล่มไปทางทิศเหนือถึงจำไก่โดยพบมากที่สุดตามแนวเชิงเขาชุมชนบ้านถ้ำ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายชุมชนตามความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร เครื่องมือเครื่องใช้ที่พบคล้ายกันกับของที่ผลิตบนดอยภูซอง บ้านก้อด ตำบลนาซาว อ.เมือง จ.น่าน ตามแนวที่ราบเชิงเขานี้สันนิษฐานได้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในชุมชนบ้านถ้ำยุคแรก เป็นมนุษย์ยุคหินใหม่ ราว 3,000 กว่าปี 
 
ชุมชนบ้านถ้ำในยุคร่วมสมัยอาณาจักรพะเยา ในเขตอำเภอดอกคำใต้ มีโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เช่นพระธาตุแจ้โว้ พระธาตุน้อยจำไก่ มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์และพระพุทธรูปหินทรายที่หลงเหลือถึงปัจจุบัน เอกสารที่สำคัญคือ ตำนานพระธาตุจอมศีลและตำนานพระธาตุแจ้โว้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในเวลาต่อมาเมืองพะเยาได้ลดฐานะและความสำคัญลง ภายหลังเกิดการกวาดต้อนผู้คนในเมืองเชียงตุง เชียงราย พะเยา ดอกคำใต้ จนทำให้ชุมชนบ้านถ้ำได้ร้างไปด้วย
 
ต่อมาได้มีการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาใหม่โดยได้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนจากลำปาง ในปี พ.ศ.2400 ตรงกับเดือน 6 เหนือขึ้น 5 ค่ำ วันจันทร์ ปีสง้า(ปีมะเมีย) มีชาวบ้านจากนาแงะนางเหลียว อำเภอเกาะคา จำนวน 7 ครอบครัว อพยพพากันมาอาศัยอยู่บ้านถ้ำ และได้เลือกทำเลพื้นที่สร้างหอผีประจำหมู่บ้านได้ตั้งชื่อหอผีประจำหมู่บ้านว่า “หอเจ้าพ่อล้านจ๊าง” ถือได้ว่าเป็นเวลาของการฟื้นฟูบ้านเมืองและการอพยพของชนกลุ่มต่างๆเข้ามาอาศัย
 
ผ่านยุคสมัยผ่านวันและเวลา ชุมชนแห่งนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการทำการเกษตร การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ค่านิยม การอพยพเข้าไปทำงานยังต่างถิ่น ทำให้ อ.อุทัย ไชยวุฒิ ซึ่งเข้ามาเป็นครูในชุมชนแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2524 เล็งเห็นว่าควรจะมีการปลูกฝังให้เด็ก เยาวชนและคนในท้องถิ่น หวงแหนและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชุมชน โดยในปี พ.ศ.2535 อ.อุทัยได้ร่วมมือกับกลุ่มเพื่อนครูพัฒนาใน 4 ตำบลได้จัดทำโครงการช่วยเหลือนักเรียนและปลูกฝังให้กับเด็กและเยาวชนในนาม “เด็กรักถิ่น” มีการจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ศึกษาเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม ซอ จ๊อย และได้เรียนรู้ประวัติของชุมชนโดยการจัดตั้ง "ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านบ้านถ้ำ" เก็บรวบรวมเอกสาร โบราณวัตถุ เครื่องใช้พื้นบ้าน เป็นศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน ต่อมาจัดเป็นศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ในปี 2547 และมีพิธีเปิดเมื่อ วันที่ 4 มิถุนายน 2547
 
"ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านบ้านถ้ำ" มีเนื้อที่ทั้งหมด 9 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นอาคารใช้แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่พื้นบ้าน และพิพิธภัณฑ์ที่แสดงการก่อตั้งชุมชน เครื่องใช้ โบราณวัตถุที่พบในอำเภอดอกคำใต้ ตั้งแต่ยุคหินถึงปัจจุบัน ซึ่งใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในเขตพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านปิน ตำบลหนองหล่ม ตำบลคือเวียง และตำบลบ้านถ้ำ ทำหน้าที่เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ให้กับกลุ่มและองค์กรต่างๆที่เข้ามาเยี่ยมชม จัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออก เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมให้กับนักเรียน โดยมีการสนับสนุนด้านงบประมาณจากชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านถ้ำ และเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ ปัจจุบันทางศูนย์ฯเปิดให้เข้าชมโดยไม่คิดค่าเข้าชมแต่อย่างใด โดยกรุณาติดต่อล่วงหน้า
 
ข้อมูลจากอาจารย์อุทัย  ไชยวุฒิ
เรียบเรียงโดยสายทิพย์  ขุนอินทร์
ชื่อผู้แต่ง:
-

ประวัติและความเป็นมาของศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านบ้านถ้ำ

ในปี 2524 นายอุทัย ไชยวุฒิ ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูโรงเรียนบ้านปินเหนือ อำเภอดอกคำใต้ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นชุมชนชนบทแต่เป็นช่วงเวลาที่มีการนำเทคโนโลยี่เข้ามาใช้ในการทำการเกษตรโดยในนามควายเหล็ก หรือรถไถชนิดเดินตาม เริ่มเข้ามาทดแทนเครื่องใช้ทางการเกษตรที่มีมาแต่เดิมเช่นแอก ไถไม้ เผือและอุปกรณ์เครื่องใช้พื้นบ้าน จึงมีการนำมาแลกเครื่องใช้ที่ผลิตจากเทคโนโลยี่สมัยใหม่ โดยมีการนำเครื่องใช้พื้นบ้านไปแปรรูปเป็นของตกแต่ง ปัญหาของชุมชนในการทำการเกษตรได้ผลไม่คุ้มค่า ผลผลิตตกต่ำ
ชื่อผู้แต่ง:
-