อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์


ที่อยู่:
บ้านน้ำรีพัฒนา ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน 55130
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2548
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

อนุสรร์สถาน

ชื่อผู้แต่ง: ศิลา โคมฉาย | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 26 ฉบับ 1326(13-19 ม.ค.49)

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์

"เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน"
อาเวตีก อีสากยัน(Awetik Issaakjan) กวีประชาชนแห่งอาร์มาเนียเป็นผู้แต่ง 
จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้นามปากกา "ศรีนาคร" แปล
 
11 ธันวาคม 2548 วาระเปิดอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ณ บ้านน้ำรีพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน จากตัวเมืองน่านใช้เวลาเดินทางกว่า 4 ชั่วโมง  บนถนนที่คดเคี้ยวผ่านขุนเขาน้อยใหญ่ คงไม่ใช่อุปสรรค์ของสหายและพลพรรคผู้เคยร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และบรรดาผู้ร่วมก่อตั้งอนุสรณ์สถานฯ ในการเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในวาระสำคัญดังกล่าว อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ สร้างสำเร็จได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากบุคคลหลายฝ่าย ทั้งกลุ่มประชาชนชาวลัวะ ม้งในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลขุนน่าน หน่วยงานราชการในจังหวัดน่าน และสหายที่เคยเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดน่านมาก่อน 
 
วัตถุประสงค์หลักของผู้ร่วมก่อตั้งคือ เป็นการยกย่องเชิดชูคุณงามความดีของผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่จากไปเพื่อประโยชน์สุขของผองชนโดยส่วนรวม เป็นการเปิดพื้นที่ยืนในทางประวัติศาสตร์ให้กับบุคคลผู้เสียสละเหล่านั้น และมองไปข้างหน้าว่า แม้ในอดีต ทางราชการและฝ่ายพลพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จะเคยมีความขัดแย้งต่อกัน แต่อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์จะเป็นประจักษ์พยานแห่งความสมานฉันท์ปรองดอง ความร่วมไม้ร่วมมือกันระหว่างประชาชนในพื้นที่ กับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในการที่จะช่วยกันพัฒนา และสร้างสรรค์พื้นที่ชายขอบประเทศแห่งนี้ให้มีความสุขสงบ และก้าวหน้าต่อไป
 
  อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเล็ก ๆ ในหมู่บ้านน้ำรีพัฒนา ท่ามกลางภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน อยู่ใกล้กับนาขั้นบันไดของสำนัก 708 หรือที่ตั้งของศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต อีกทั้งยังไม่ไกลจากสำนัก 61 หรืออดีตที่ตั้งของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยมากนัก อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ประกอบด้วยอาคารจัดแสดง 2 หลัง 
 
อาคารประวัติศาสตร์ประชาชน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว พื้นที่ตรงกลางด้านในออกแบบเป็นแท่งคอนกรีตทรงกระบอก ผนังภายมีชั้นวางอัฐิของสหายผู้เสียสละชีพ ส่วนผนังด้านนอกจารึกรายชื่อสหายผู้เสียสละ พื้นที่ว่างโดยรอบ เป็นป้ายนิทรรศการที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมาของฐานที่มั่นจังหวัดน่าน ผู้บุกเบิกสร้างฐานที่มั่น แสดงรูปภาพของพันโทโพยม จุลลานนท์(ลุงคำตัน) ลุงมิ่ง อดีตสส. ภาคใต้ที่เข้าป่าจังหวัดน่าน และส.บุญชัย ผู้บุกเบิกน่าน  ระบบภาษีภูดอยที่ไม่เป็นธรรมอันกลายเป็นสาเหตุจูงใจที่ทำให้ชาวเขาทั้งม้ง ลัวะ เข้าร่วมกับพลพรรคคอมมิวนิสต์ กบฎผีบุญบ้านห้วยชนิน แผนที่แสดงภูมิประเทศและเขตงานในฐานที่มั่น การปกครองในฐานที่มั่น และการสิ้นสุดของฐานที่มั่นจังหวัดน่าน การนำเสนอในนิทรรศการนี้มีทั้งภาพถ่ายเก่าของบรรดาสหาย และภาพถ่ายลูกหลานของผู้เข้าร่วมที่ยังมีชีวิตและบอกเล่าเรื่องราวของบุพการี เรื่องราวทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ในพื้นที่เหล่านี้ ผู้ก่อตั้งต้องการเล่าข้อเท็จจริงเพื่อสรุปบทเรียนในอดีต และถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์แบบราชการที่หลาย ๆ คนเคยทราบ
 
อาคารพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ม้ง-ลัวะ เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงประวัติศาสตร์ ชีวิตวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ม้ง-ลัวะ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกแสดงข้าวของ เครื่องมือเครื่องใช้ ที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบในพื้นที่ อาทิ เสื้อผ้า ภาพถ่ายเก่า เครื่องมือแพทย์สนาม หม้อ ช้อนที่ทำจากปีกเฮลิคอปเตอร์ กาน้ำ ขวดน้ำ หม้อสนาม เป้ พิมพ์ดีด วิทยุ ลูกระเบิด เป็นต้น  ส่วนที่สอง จำลองบ้านของชาวม้ง และชาวลัวะ พร้อมหุ่นจำลองมาจัดแสดงไว้ ภายในบ้านจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว ทั้งของใช้ในครัว อุปกรณ์ทำมาหากิน เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจวิถีวัฒนธรรมชาวม้งและชาวลัวะยิ่งขึ้น มีป้ายคำอธิบายพร้อมภาพประกอบเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา การตั้งถิ่นฐาน วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรมของชนเผ่านั้น ๆ  ข้าวของส่วนใหญ่ได้รับการบริจาคมาจากสหายในเขตงานน่าน และบรรดาพี่น้องชนเผ่าม้งและลัวะในจังหวัดน่าน ส่วนชั้นบน จำลองห้องประชุมการประชุมสภาประชาชนในอดีต โดยทางคณะผู้ก่อตั้งมีความตั้งใจจะให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากห้องประชุมนี้ได้ด้วย ทั้งเป็นที่ฝึกอบรมอาชีพ ฝึกอบรมเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องต่อยอดกันต่อไป
 
ข้อมูลจาก: 
การสำรวจโดยศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2548
เอกสารพิมพ์ในวาระเปิดอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ วันที่ 11 ธันวาคม 2548
ชื่อผู้แต่ง:
-