แหล่งเตาเผาโบราณบ้านจ่ามนัส และพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น


ที่อยู่:
เลขที่ 8 หมู่ 10 ต.สวก อ.เมือง จ.น่าน 55000
โทรศัพท์:
0-9853-3185
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 08.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2544
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

โบราณคดีชุมชน: การจัดการอดีตของชาวบ้านกับการพัฒนาชุมชน

ชื่อผู้แต่ง: สายันต์ ไพรชาญจิตร์ | ปีที่พิมพ์: 2546;2003

ที่มา: กรุงเทพฯ:คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

การฟื้นฟูพลังชุมชนด้วยการจัดการทรัพยากรทางโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์: แนวคิด วิธีการ และประสบการณ์จากจังหวัดน่าน

ชื่อผู้แต่ง: สายันต์ ไพรชาญจิตร์ | ปีที่พิมพ์: พ.ศ. 2547

ที่มา: กรุงเทพฯ: โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ดอยภูซาง ย่านอุตสาหกรรมสองยุค มรดกชาวน่าน

ชื่อผู้แต่ง: ศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน | ปีที่พิมพ์: 2546

ที่มา: ศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน พิมพ์เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ วันที่ 2 เม.ย. 2547

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของแหล่งเตาเผาโบราณบ้านจ่ามนัส และพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น

เตาโบราณบ้านบ่อสวก เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญในอดีตของเมืองน่าน การค้นพบเตาโบราณ ภายในบ้านของจ่าสิบตรีมนัส  ติคำ เป็นปฐมบทของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น เมื่ออาจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาช่วยขุดค้นและได้นำนักศึกษาเข้ามาทำงานในชุมชนภายใต้โครงการโบราณคดีชุมชน ก่อให้เกิดพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่นขึ้น พร้อมกับความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านบ่อสวกในการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น
 
ภายในบริเวณบ้านของจ่าสิบตรีมนัสเป็นที่ตั้งของเตาเผาโบราณ 2 เตา ได้แก่ เตาสุนัน และเตาจ่าสิบตรีมนัส ติคำ ซึ่งเป็นเตาเผาโบราณ ลักษณะเป็นเตาดินก่อ ระบายความร้อนแนวเฉียง (Cross-draft Kiln with clay-slab structure) จากการขุดค้นเมื่อปี พ.ศ.2542 โดยโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) พบว่า เป็นเตาเผาภาชนะร่วมสมัยกับแหล่งเตาสังคโลกในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เตาสุนัน มีอายุประมาณ พ.ศ.2043 - 2103 ส่วนเตาจ่าสิบตรีมนัส อายุประมาณ พ.ศ.1772-1892 ด้วยความสำคัญของแหล่งโบราณคดีดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความคิดอนุรักษ์แหล่งเตานี้ ด้วยการจัดสร้างหลังคาคลุมเตาเมื่อ พ.ศ.2543 พร้อมทั้งให้ข้อมูลทางวิชาการในแง่มุมต่างๆ โดยเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2544
 
นอกเหนือจากเตาเผาโบราณแล้ว ในส่วนของพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น เป็นเรือนไม้พื้นถิ่นใต้ถุนสูงเรือนเปิดโล่ง แสดงลักษณะการใช้พื้นที่ของอาคารในสภาพจริง ชั้นบนแบ่งเป็น ชานรับแขก ห้องนอน ห้องครัวไฟและห้องน้ำ มีตู้จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้และตัวอย่างภาชนะดินเผาที่ได้จากการขุดค้นที่แหล่งเตาสุนัน และเตาจ่าสิบตรีมนัส ติคำ พร้อมนิทรรศการว่าด้วยเตาโบราณและเครื่องปั้นดินเผาโบราณบ้านบ่อสวก ผนังด้านข้างนอกชานจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ภายในครัวเรือน เครื่องมือการเกษตรให้ได้ชมกัน อาทิ ฮางฝนยา ก๊อบแก๊บ บอกเมี่ยง แมวขูดมะพร้าว ตาชั่ง หน้าไม้ ตะเกียง ขันโตก นอกจากนี้ยังมีกี่ทอผ้าพร้อมผ้าที่ทอไว้เพื่อไว้ขายแก่ผู้สนใจของ อุ้ยชื่น สมาชิกอาวุโสในครอบครัวจ่ามนัส แม้จะสูงด้วยวัยแล้ว แต่อุ้ยชื่นยังกระฉับกระเฉง เป็นผู้นำชมที่สามารถอธิบายความรู้ด้านโบราณคดีเบื้องต้นและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยได้อย่างน่าสนุก 
 
ข้อมูลจาก:
1. สำรวจภาคสนาม 26 ธันวาคม 2548
2. สายันต์  ไพรชาญจิตร์. กระบวนการโบราณคดีชุมชน การวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมในจังหวัดน่าน. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543
3. กรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย ภาคเหนือ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546. หน้า 201.
ชื่อผู้แต่ง:
-