พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Bio-Geo Path


พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Bio-Geo Path ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ด้วยตนเอง โดยจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ ตามไทม์ไลน์ สอดคล้องกับระยะเวลาตามช่วงหลายพันล้านปีการธรณีวิทยา บรรยากาศโลก และการกำเนิดโลก แหล่งเรียนรู้นี้เป็นที่รวบรวมวัตถุธรณีประเภทหิน แร่ ที่เป็นตัวอย่างมาตรฐานที่พบในประเทศไทย และภูมิภาคโดยการจัดแสดงหินแบบฉบับที่พบในหินยุคต่าง ๆ รวมถึงรูปจําลองซากดึกดําบรรพ์ของพืชและสัตว์นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงพันธุ์ไม้ที่ยังคงดํารงพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน

ที่อยู่:
คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท 272 ถนนพระราม 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์:
0-2201-5032
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น. หากมาเป็นหมู่คณะและต้องการเจ้าหน้าที่นำชม สามารถติดต่อล่วงหน้า(ประมาณ 1-2สัปดาห์)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
muarms@mahidol.ac.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2549
ของเด่น:
หุ่นจำลองช้างแมมมอธ พืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์ หุ่นจำลองมนุษย์ยุคโบราณ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

ท่องโลกดึกดำบรรพ์กลางมหานคร ที่ “พิพิธภัณฑ์ Bio-Geo Path”

ชื่อผู้แต่ง: หนุ่มลูกทุ่ง | ปีที่พิมพ์: 20 กันยายน 2554

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Bio-Geo Path

การได้เรียนรู้เรื่องวิวัฒนาการของธรรมชาติ  ช่วยขยายโลกทัศน์ของการมองโลกนี้ได้กว้างไกลขึ้น  โลกของเราถือกำเนิดพร้อมระบบสุริยจักรวาลเมื่อประมาณ 4600 ล้านปีที่แล้ว ผ่านมหายุคและยุคธรณีกาลต่างๆ  จนกระทั่งมาถึงยุคที่มนุษย์ครองโลกอย่างในปัจจุบัน  Bio-Geo Path มีชื่อภาษาไทยว่า เส้นทางชีว-ธรณี  เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งภายในสวนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท
       
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประกอบด้วยองค์ความรู้ด้านชีววิทยา ด้านธรณีวิทยา ด้านพฤกษศาสตร์ การจัดแสดงประกอบด้วยรูปจำลองซากดึกดำบรรพ์ของพืชและสัตว์  มีตัวอย่างหินแร่ก้อนโตๆที่สะสมแร่ธาตุมาในแต่ละยุค หินเหล่านี้นำมาจากหลายจังหวัดในประเทศไทย
       
เส้นทางชีวะ-ธรณี   เริ่มขึ้นในปี 2549 เกิดมาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความคิดที่จะให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชนและบุคคลทั่วไป   คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมโครงการถนนสายวิทยาศาสตร์  จัดทำเป็นเส้นทางศึกษาชีววิทยาและธรณีศาสตร์(Bio-Geo Path)การจัดแสดงแบ่งออกเป็นยุคต่างๆตามตำรา  เรียกว่ามาตราธรณีกาล(Geology Time Scale)โดยมี 4 มหายุค  แต่ละมหายุคก็จะแบ่งเป็นยุคย่อยๆ
       
ดร.ณัฐพล อ่อนปาน  อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา  เป็นผู้บรรยายและนำชม การบรรยายของอาจารย์ทำให้เห็นว่าเรื่องวิวัฒนาการของธรรมชาติเป็นเรื่องสนุก  ชวนติดตาม  รูปจำลองที่โดดเด่นของที่นี่คือช้างแมมมอธ  ซึ่งที่นี่ได้ออกแบบให้สร้างได้สมจริง ช้างแมมมอธต้องมีขนปกคลุมตัว รูปจำลองอื่นๆได้แก่ ไดโนเสาร์ กรามปลาฉลาม ม้าโบราณตัวเล็ก  ต้นไม้โบราณ  มนุษย์โบราณในแต่ละยุค 
       
จุดแรกคือ มหายุคพรีแคมเบรียน(Precambrian  Era) 542 ล้านปีที่แล้ว  รูปจำลองแสดงภูเขาและทะเล ใกล้กันมีก้อนหิน ด้านบนสามารถเลื่อนดูซากดึกดำบรรพ์ของเซลล์สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กขนาดขยายในยุคนั้น  อย่างพวกไซแอโนแบคทีเรีย  ตัวนี้สามารถสังเคราะห์แสงได้  ทำให้โลกมีปริมาณออกซิเจนเพิ่มขึ้น  นำไปสู่กำเนิดสิ่งมีชีวิตอื่นๆในเวลาต่อมา  หินที่พบในมหายุคนี้เป็นพวกหินแปร  มีตัวอย่างหินไนส์   หินประเภทนี้เป็นหินแปรที่เกิดมาจากหินแกรนิต
       
เดินต่อมาจะเป็นมหายุคพาเลโอโซอิก(Paleozoic Era) 542-251 ล้านปีที่แล้ว เป็นยุคกำเนิดสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนและหลากหลาย  การแบ่งย่อยมี 6 ยุค ได้แก่ แคมเบรียน  ออร์โดวิเชียน ไซลูเรียน เดโวเนียน คาร์บอนิเฟอรัสและเพอร์เมียน  มีตัวอย่างของฟอสซิลไทรโลไบต์(Trilobite) มีรูปจำลองของแมงป่องน้ำยักษ์  ช่วงเวลานี้เป็นยุคของปลา  ยุคของสัตว์มีกระดูกสันหลังเกิดขึ้นมาครอบครองทะเล  พวกพืชจะมีพวกหวายทะนอย  มีตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์พลับพลึงทะเล  ยุคคาร์บอนิเฟอรัส  พวกเฟิร์นเริ่มมีใบขนาดใหญ่  รูปจำลองต้นไม้คือ เลปิโดเดนดรอน ที่เห็นเป็นรอยริ้วๆทั้งลำต้น คือรอยของใบที่หลุดร่วงไป  การจำลองได้ทำตามแบบที่ค้นพบ ซึ่งซากดึกดำบรรพ์ต้นไม้ชนิดนี้ของจริงมีขนาดใหญ่โตมาก คาดว่าสูงกว่า 40 เมตร  อันต่อมาที่เด็กชอบมายืนถ่ายรูปมากคือกรามฉลาม  ชิ้นนี้จำลองมาเท่าของจริง  อาจารย์อธิบายว่า มีการสันนิษฐานว่าพวกไทรโบไลต์สูญพันธุ์ไปก็เพราะถูกฉลามซึ่งเป็นผู้ล่ากินหมด  ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส ยุคของเฟิร์นนี้ ยังสามารถโยงเข้ากับการเกิดถ่านหินน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แหล่งพลังงานเหล่านี้เกิดมาจากพืชปริมาณมหาศาลทับถมกัน
       
ต่อมาเป็นยุคกลางคือ มหายุคมีโซโซอิก ช่วง 250-65 ล้านปีที่แล้ว  แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ไตรแอสสิก จูแรสสิกและครีเตเชียส  เป็นยุคที่เริ่มมีสัตว์เลื้อยคลาน มีไดโนเสาร์  ซากดึกดำบรรพ์ปะการัง  ไม้กลายเป็นหิน กระดูกไดโนเสาร์  ในยุคนี้เมื่อผู้เข้าชมมองขึ้นไปบนยอดไม้จะเห็นไดโนเสาร์บินพวกอาร์คีออปเทอริกซ์  ซึ่งสังเกตว่ามีกรงเล็บตรงส่วนที่เป็นปีก  โครงสร้างโดยทั่วไปมีลักษณะของสัตว์เลื้อยคลานอย่างไดโนเสาร์มากกว่านก 
 
ยุคครีเตเชียสเป็นยุคสุดท้ายของยุคกลาง  ปลายยุคนี้เมื่อประมาณ 65 ล้านปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีอุกาบาตรลูกใหญ่มากหล่นลงมาที่อ่าวแม็กซิโก  ทำให้เกิดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายครอบคลุมไปทั่วทั้งบรรยากาศโลก  ส่งผลให้ไปลดปริมาณแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมา  ทำให้ต้นไม้สังเคราะห์แสงไม่ได้ตายลง  ไดโนเสาร์กินพืชไม่มีอะไรกินจึงตาย  พวกไดโนเสาร์กินเนื้อก็ตายตามกัน  การที่ไดโนเสาร์ตายง่ายๆ เพราะตัวใหญ่  ต้องการอาหารมาก  นั่นจึงทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์  ต่อมาพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจึงยึดครองโลกแทน 
 
ในเส้นทางนี้มีรอยเท้า  มีรูปจำลองไดโนเสาร์  โดยได้อธิบายให้เห็นว่าเมื่อไดโนเสาร์ตายลง  แล้วถูกทับถมโดยตะกอนเกิดการเน่าเปื่อยผุพัง  พวกกระดูกถูกแทนที่ด้วยสารเคมีพวกแคลเซียม พวกซิลิกา  ทำให้แข็งกลายเป็นหิน
 
มาถึงมหายุคใหม่คือ มหายุคซีโนโซอิก  65 ล้านปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน มหายุคนี้แบ่งเป็น 2 ยุค คือ เทอร์เชียรีและควอเทอร์นารี  ยุคนี้พืชที่ครองโลกคือไม้ดอกที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะสอดคล้องกับความหลากหลายของแมลง  พวกแมลงกับพืชดอกมีวิวัฒนาการมาด้วยกัน  ปัจจุบันมีแมลงเป็นล้านชนิด ส่วนพืชดอกประมาณสองแสนเจ็ดหมื่นชนิด  ยุคควอเทอร์นารี(2.5 ล้านปีที่แล้ว-ปัจจุบัน)เป็นยุคที่มนุษย์กำเนิดขึ้นมา  การจัดแสดงมีรูปจำลองแมมมอธ  เสือเขี้ยวดาบ  ใกล้กันทำเป็นฉากจำลองผนังถ้ำ เป็นวิวัฒนาการของมนุษย์  มีการค้นพบ “ป้าลูซี่”ซึ่งเป็นชื่อเรียกของโครงกระดูกมนุษย์ที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในสปีชีส์ออสตราโลพิเธคัส อะฟาเรนซิส(Australopithecus afarensis)  ส่วนมนุษย์ปัจจุบันอยู่ในสปีชีส์ โฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens)
 
เนื่องจากการจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ได้เริ่มมีความเสียหายจากน้ำซึมเข้าไปในป้ายแสดงข้อมูลที่มีก้อนหินจำลองและติดกระจก ทำให้ตัวหนังสือข้างในจางและพร่าเลือน  ส่วนรูปจำลองที่ซ่อมแซมเป็นประจำคือช้างแมมมอธ  การทำได้สมจริงได้เกิดปัญหาอยู่บ้าง  ตรงที่มีบรรดานกมาดึงขนแมมมอธไปทำรังบนต้นไม้  และการที่อยู่กลางแจ้งตากแดดตากฝนก็ทำให้สีขนจาง  ต้องมีการพ่นสีใหม่  งาของแมมมอธก็เคยหักลงมาเนื่องจากมีคนไปนั่งถ่ายรูป การซ่อมแซมใหญ่ทั้งหมดให้สวยเหมือนเดิม ทางพิพิธภัณฑ์ได้ให้ช่างมาประเมินปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก  จึงยังไม่ได้ดำเนินการ
 
ดร.ณัฐพลได้แนะนำว่าหลังจากเดินชมเส้นทาง Geo-Bio Path แล้ว  ถ้าอยากเห็นไดโนเสาร์ตัวโตให้ไปชมที่พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี  อยู่ฝั่งตรงข้าม  จะทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์และด้านธรณีวิทยาอย่างครบถ้วน
       
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
สำรวจภาคสนาม วันที่  27  กรกฎาคม 2555

----------------------------------------------------
การเดินทาง : Bio-Geo Path เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งในสวนด้านหน้าของตึกคณะวิทยาศาสตร์ มหาลัยมหิดล ติดกับถนนพระราม 6 โดยจะเลียบไปตามแนวรั้วของประตู 3 ของมหาวิทยาลัย  ประตูด้านนี้มีร้านหนังสือนายอินทร์เป็นจุดมองเห็นได้ชัด 
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่  27  เดือนกรกฎาคม  พ.ศ. 2555
               เส้นทางชีวะ-ธรณี(Bio-Geo Path).(2549) ค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2555.จาก  http://www.sc.mahidol.ac.th/CSR/?p=40
               ASTV ผู้จัดการออนไลน์.(2554).รู้ไหมว่า “ป้าลูซี่”จัดอยู่ในสปีชีส์อะไร.ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2555,จาก http://board.palungit.com/f2/
               Bio-Geo Path(Blog.Aj.Joe).(2550).ค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2555,จากhttp://nuttpo.wordpress.com/2011/08/12/bio-geo-path 


 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

ท่องโลกดึกดำบรรพ์กลางมหานคร ที่ “พิพิธภัณฑ์ Bio-Geo Path”

ยังจำได้ว่า ตอนเด็กฉันเคยสงสัยว่าโลกเป็นมาอย่างไร และมนุษย์เราเกิดมาจากอะไร แต่เมื่อเข้าเรียนก็พอจะได้เรียนเรื่องเหล่านี้มาบ้าง แต่พูดตามตรงก็คือฉันแทบจะลืมไปหมดแล้ว เพราะมันเป็นการเรียนที่ผ่านการท่องจำเป็นหลัก จนมาวันนี้ หลังจากที่ฉันได้นั่งรถผ่านเส้นทางถนนพระราม 6 ช่วงถนนสายวิทยาศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เห็นว่าที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท มีสวนไม้ใหญ่เหมือนสวนป่าน่าเดินเล่นเป็นอย่างมาก เมื่อมีโอกาสได้มาต่อรถ ฉันจึงเดินเข้าไปชมอย่างที่เคยตั้งใจไว้
ชื่อผู้แต่ง:
-