พิพิธภัณฑ์สมุนไพร


พิพิธภัณฑ์สมุนไพรอำนวยการจัดตั้งโดยรองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงลัดดาวัลย์ บุญรัตนกรกิจ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2538  ในชื่อเดิมว่า “พิพิธภัณฑ์เครื่องยาไทยและประวัติเภสัชกรรมไทย” โดยมี Institute of Oriental Medicine Research, Toyama Medical and Pharmaceutical University ประเทศญี่ปุ่น เป็น sister institute ต่อมาได้มีการจัดสรรพื้นที่ชั้น 3 ของอาคารโอสถศาลา ให้ใช้เป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์สมุนไพรในปัจจุบัน และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544 มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงและศึกษาหาความรู้ของผู้เรียนและผู้ที่สนใจ ภายในได้รวบรวมและจัดแสดงตัวอย่างสมุนไพรของไทยและต่างประเทศ รูปเคารพ ตำรายา เครื่องมือในการผลิตยาสมัยโบราณ ข้อมูลวิวัฒนาการในการผลิตและการใช้ยาของไทย และเรื่องราวเกี่ยวกับยาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน 

ที่อยู่:
ชั้น 3 อาคารโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์:
0-2218-8441
วันและเวลาทำการ:
เปิดเฉพาะวันอังคารและวันพฤหัสบดี ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. เว้นวันหยุดราชการ (หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์)
ค่าเข้าชม:
คนละ 20 บาท
เว็บไซต์:
อีเมล:
pcogpbot@pharm.chula.ac.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
ของเด่น:
หินบดยา, รางบดยาโบราณ, สมุดข่อยตำรายา
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์สมุนไพร

ถ้าให้ยกตัวอย่างสมุนไพรมาสักสองสามชื่อ มะกรูด และอัญชัน คงเป็นหนึ่งในสมุนที่หลายคนนึกถึง อันเป็นส่วนผสมยอดนิยมในแชมพูที่ใช้กันมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด สาวน้อยสาวใหญ่อาจจะนึกถึง ขมิ้นชัน ที่ช่วยให้ผิวสวย หรือกวาวเครือ ที่ว่ากันว่าเสริมความอึ๋มของทรวงอก คนที่เจ็บคอบ่อยอาจนึกถึง มะขามป้อม มะแว้ง คนขี้ลืมคงนึกถึงใบแปะก๊วย คนมีอายุหน่อยอาจพกพิมเสนน้ำติดกระเป๋า แต่คงมีน้อยยิ่งกว่าน้อยคนที่จะนึกถึงเปลือกหอย

หลายคนคงแปลกใจว่าเปลือกหอยเอาไปทำยาสมุนไพรได้ด้วยหรือ ถ้าจะว่ากันตามตำรับยาไทยแล้วใช้เปลือกหอยถึงเก้าชนิด รวมกันเรียกว่า “เนาวหอย” ได้แก่ หอยขม หอยแครง หอยตาวัว หอยนางรม หอยกาบ หอยจุ๊บแจง หอยมุก หอยสังข์ และหอยพิมพการัง ผสมในสัดส่วนเท่ากัน ใครที่สนใจว่าหอยทั้งเก้าชนิดหน้าตาเป็นอย่างไรบ้างสามารถไปดูได้ที่ “พิพิธภัณฑ์สมุนไพร” คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม สวยงาม กลุ่มโต๊ะไม้เรียงเป็นระเบียบอยู่กลางห้อง โต๊ะเหล่านี้มีปลายขาโค้งเข้าเล็กน้อยแบบโต๊ะโบราณ สร้างบรรยากาศย้อนยุคนิดๆเข้ากับสิ่งที่จัดแสดง ด้านบนโต๊ะแต่ละตัวถูกแบ่งเป็นช่องๆ แยกสมุนไพรออกเป็นแต่ละชนิดมีแผ่นใสปิด ส่วนตู้ไม้สูงทั้งหมดเรียงอยู่ชิดผนังทำให้ห้องโปร่งโล่งสบายตา สมุนไพรที่วางเรียงรายอยู่ในตู้บรรจุในภาชนะใส มีป้ายชื่อติดเรียบร้อย 

สมุนไพรที่จัดแสดงมีประมาณสองร้อยชนิด แบ่งเป็น พืช สัตว์ เห็ดรา และแร่ธาตุ สมุนไพรจากพืชดูเหมือนมีมากที่สุด จัดแยกประเภทเป็นแต่ละส่วนของพืช เช่น ดอก ใบ ผล เมล็ด และราก เป็นต้น

หนึ่งในสมุนไพรยอดนิยมในหมู่ผู้หญิงที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑืนี้ด้วยคือ “กวาวเครือ” ซึ่งมีหลายชนิดที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่กวาวเครือขาว และกวาวเครือแดง ส่วนที่ใช้คือหัว ตัวอย่างสรรพคุณตามตำรายาไทย ได้แก่ ทำให้ผิวหนังเต่งตึง ช่วยเสริมอก (กวาวเครือขาว) ทำให้ผมหงอกกลับดำ บำรุงโลหิต เป็นต้น พิจารณาจากคุณสมบัติเหล่านี้แล้วทำให้ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมแม้แต่ญี่ปุ่นก็สนใจนำไปทดลอง อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังคือ กวาวเครือทุกชนิดมีพิษทำให้เบื่อเมา ไม่ควรรับประทานมาก 

สมุนไพรอีกอย่างที่มีชื่อเสียงมานานจนชื่อกลายเป็นฉายาของประเทศคือ “โสม” ส่วนที่ใช้คือส่วนราก ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มีทั้ง โสมขาว โสมแดง และโสมอเมริกัน โสมขาวนิยมนำไปชงดื่ม เพื่อปรับสมดุลในร่างกาย ส่วนโสมแดง อยู่ในตำรับยา ใช้รักษาโรค นอกจากนี้ยังมีโสมคนให้ดูด้วย ทั้งชนิดที่เก็บจากธรรมชาติและจากการปลูก รศ. ธาตรี ผดุงเจริญ ผู้นำชมกรุณาชี้ให้เห็นถึงวิธีสังเกตว่า โสมคนจากธรรมชาติมีลักษณะแกร่งกว่าเมื่อเทียบกับโสมปลูกซึ่งดูบวมกว่า ตัวอย่างสมุนไพรหายาก ราคาสูงชนิดอื่น เช่น มหาสดำ เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง ลำต้นมีลวดลายสวยงาม ตามตำราว่าใช้แก้ไข้ ดับพิษ 

สำหรับวิธีการเก็บรักษาสมุนไพรที่เป็นพืชส่วนใหญ่จะต้องเข้าตู้อบก่อนนำมาจัดแสดงเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงที่ติดมา แต่บางครั้งความร้อนก็กำจัดแมลงบางชนิดหรือไข่ของมันไม่ได้ ต้องเอาไปเข้าตู้แช่แข็งอีกรอบ

สำหรับสมุนไพรจากสัตว์มีหลายอย่าง คุณผู้ชายอาจสงสัยว่าแมลงวันสเปนต่างจากแมลงวันที่บินวนอยู่ที่บ้านอย่างไร ที่นี่มีให้ชม แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็มี เช่น กลุ่มก้อนสีเหลืองลักษณะเหมือนไขมันที่จับตัวกันลอยอยู่ในขวดแก้วใบหนึ่ง ป้ายชื่อระบุว่าเป็น “อำพันทอง” อาจารย์ธาตรี อธิบายว่าสิ่งนี้มาจากวาฬชนิดหนึ่ง เป็นสารตรึงกลิ่น ทำให้ติดทน ใช้ผสมกับน้ำหอม ราคาแพงมาก ของแปลกและราคาแพงอีกอย่าง คือ “โคโรค” เป็นก้อนที่อยู่ในถุงน้ำดีหรือตับของวัว คาดว่าคงเป็นก้อนนิ่วบางครั้งวัวที่เป็นโรคไอ ก้อนนี้จะหลุดออกมา ใช้รักษาอาการน้ำลายเสมหะและเหนียว หรือรักษาตาเจ็บ นอกจากสมุนไพรแล้ว ที่นี่ยังจัดแสดงของใช้อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรด้วย เช่น เครื่องมือผลิตยาสมัยโบราณ รางบดยาจากประเทศจีน หินบดยา ตำรายาที่เขียนบนใบลาน เฉลวที่ใช้ปักในหม้อยา และที่สะดุดตาคือ “กระบองสีแดงสด”ซึ่งเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เก็บสมุนไพรสมัยก่อนจะนำไปด้วย ไม่ใช่เพื่อไล่สุนัขหรือสู้กับโจร แต่เพื่อแสดงตนว่าเป็นคนของหลวงสามารถเข้าไปเก็บสมุนไพรที่ปลูกไว้ตามบ้านได้ นอกจากนั้นยังมีรูปเคารพ เช่น พระไภสัชยคุรุ 

ในการบริหารจัดการ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีปัญหาอยู่บ้างด้านบุคลากรในการนำชมและการจัดการข้อมูล ปัจจุบันผู้ที่ดูแลคืออาจารย์ของคณะเภสัชฯ ซึ่งมีภาระงานสอนและงานวิจัยอยู่ ทำให้เวลาที่จะทุ่มเทให้กับพิพิธภัณฑ์มีจำกัด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เปิดให้เข้าชมได้เพียงสองวันต่อสัปดาห์ ผลต่อเนื่องคือจำนวนผู้เข้าชมมีไม่มากนัก ผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่จะสอบใบประกอบโรคศิลป์ สาขาแพทย์และเภสัชแผนไทย นิสิตนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และชาวต่างชาติที่เป็นแขกของอาจารย์ในคณะฯ และที่มาร่วมงานประชุมสัมมนา

ผู้เขียน: เกสรา จาติกวณิช

ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนามวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550

ชื่อผู้แต่ง:
-