พิพิธภัณฑ์กรมการทหารสื่อสาร


พิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร ตั้งอยู่บนชั้นที่ 2 ภายในกรมการทหารสื่อสาร จัดแสดงนิทรรศการและอุปกรณ์ที่ใช่ในการสื่อสารของทหารประเภทต่าง ๆ ประวัติและผลงานของพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ก่อตั้งกรมการทหารสื่อสาร ไฮไลท์เด่นที่จัดแสดงคือเสียงของพระองค์ท่านในสมัยที่ท่านเดินทางไปเรียนที่ประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. 2467 และได้ทดลองสื่อสารจากเยอรมนีมาประเทศไทย ความยาวราวสองนาที นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการว่าด้วยเครื่องมือการสื่อสารในยุคต่างๆ

ที่อยู่:
กรมการทหารสื่อสาร ถ.พระราม 5 สะพานแดง เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์:
0-2297-6237, 0-2297-6011
วันและเวลาทำการ:
ต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

60 ปี ทหารสื่อสาร

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 2527

ที่มา: กรุงเทพฯ: กรมการทหารสื่อสาร

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์กรมการทหารสื่อสาร


พิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร อยู่บนชั้นที่ 2 ของอาคาร 2 ชั้น ภายในกรมการทหารสื่อสาร ถ้าไม่ได้ถามทางไปก่อนอาจจะหลงได้ เพราะยังไม่มีป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์แต่อย่างใด ซึ่ง พ.ต.ชาญณรงค์ สุวรรณรัตน์ หัวหน้าห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ บอกกับเราว่าอาจเป็นเพราะทางพิพิธภัณฑ์ยังไม่ได้เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชม จะเปิดให้ชมเฉพาะผู้ที่อยู่ในสายงานทางการสื่อสาร หรือผู้ที่เข้าเรียนในโรงเรียนทหารสื่อสาร และนายทหารระดับผู้ใหญ่ หรือแขกผู้ใหญ่ได้เข้าชมเท่านั้น 

ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นการจัดแสดงแบบเปิดโล่ง 1 ห้องใหญ่ มีพระรูปของพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระโอรสองค์ที่ 35 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งกรมการทหารสื่อสาร และเมื่อสมัยก่อนส่วนสื่อสารยังรวมเป็นหน่วยเดียวกันกับเหล่าทหารช่าง พระองค์ได้แยกหน่วยทหารสื่อสารออกมาเป็นกรมการทหารสื่อสาร พระองค์ท่านจึงเป็น พระบิดาทางด้านการสื่อสาร อีกด้วย 

ทางพิพิธภัณฑ์มีเสียงของพระองค์ท่านในสมัยที่ท่านเดินทางไปเรียนที่ประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. 2467 ได้ทดลองสื่อสารจากเยอรมนีมาประเทศไทย ประมาณ 2 นาที ถือว่าเป็นการสื่อสารครั้งแรกจากซีกโลกหนึ่ง ไปอีกซีกโลกหนึ่ง 

“......ข้าพเจ้าได้มีความพอใจที่ได้ครานี้ ที่ได้จัดการติดต่อทางวิทยุโทรเลข และโทรศัพท์สำเร็จในระหว่างกรุงเทพ กับเบอร์ลิน พูดกัน รู้สึกคล้ายกับจากโลกหนึ่งถึงอีกโลกหนึ่ง แต่ว่าการที่ทำไปสำเร็จนี้ดีมากจนกระทั่งจำเสียงกันได้ อันนี้เป็นความหวังมุ่งหมายต่อไปว่า การติดต่อของประเทศสยาม ไทยกับต่างประเทศนั้น จะเจริญรวดเร็วขึ้น ......”

พ.ต.ชาญณรงค์ ได้อธิบายถึงยุคต่างๆ ของเครื่องมือสื่อสารในสมัยก่อน ในยุคต้นๆเป็นสัญญาณมือ และสัญญาณเสียง สัญญาณมือเรียกว่า ทัศนสัญญาณ เช่นการใช้การโบกธง การจุดพลุ การจุดไฟ การใช้โคมสัญญาณ ต่อมาเสียงสัญญาณ ใช้การตะโกน การตี ฆ้อง ร้องป่าว แต่ในการรบ การใช้สัญญาณแบบนี้ ข้าศึกอาจจะรู้ความลับของเราไปด้วย จึงมีการพัฒนา เป็นระบบโทรศัพท์ โทรพิมพ์ โทรเลข หรือที่คนไทยเรียกว่า ตะแล็บแก๊บ

“ดา ดา ดิ๊ด ... ดา ดิ ดา ดิ๊ด” เป็นสัญญาณที่เรียกว่า รหัสมอส ซึ่งผู้ส่งสารจะต้องรู้ทุกตัวอักษรเพื่อส่งไปตามสาย และแน่นอนว่าผู้รับสารก็ต้องเข้าใจที่เหมือนๆ กัน ซึ่ง พ.ต.ชาญณรงค์ บอกว่า ดา ดา ดิ๊ด หมายถึง กอ ไก่ และ ดา ดิ ดา ดิ๊ด หมายถึง ขอ ไข่ คิดดูว่ากว่าจะได้เพียงแค่ 1 ประโยค จะต้อง เคาะรหัส มากมายขนาดไหน

ต่อมาพัฒนามาเป็นติดต่อแบบไร้สาย ก็คือ วิทยุ ผู้ริเริ่มคือ มาร์โคนี่ เป็นนักวิทยาศาสตร์จากประเทศอังกฤษ คิดค้นสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และพัฒนาต่อยอดมาเป็นคลื่นความถี่วิทยุ ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของกรมที่มี เครื่อง-รับส่งวิทยุ มาร์โคนี่ มาใช้ตั้งแต่ผลิตในชุดแรก ซึ่งมีที่นี่ที่เดียวในประเทศไทย นอกจากเครื่องส่งวิทยุแล้ว ยังมีเครื่องผลิตไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายพลังงานไปยังเครื่องส่งวิทยุ แบบปั่นด้วยเท้าเหมือนปั่นจักรยาน และหมุนด้วยมืออีกด้วย 

ถัดไปเป็นวิทยุแบบ “Walky Talky” แปลตรงตัวก็คือ เดินไป-คุยไป ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงวิทยุแบบ Walky Talky รุ่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยใช้ หลายคนคงคุ้นชินภาพข่าวของพระองค์ทางโทรทัศน์ เวลาพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมประชาชน พระองค์จะถือวิทยุรับส่ง หรืออีกมือจะถือแผนที่ หรือกล้องถ่ายภาพอยู่กับพระองค์ตลอดเวลา วิทยุรุ่นนี้แหละ ซึ่งมีอายุมากกว่า 25 ปี 

นอกจากนี้ยังมีตู้จัดแสดงเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ อาทิ กล้องโทรทัศน์สมัยที่ผู้บังคับบัญชาของกรมสื่อสาร กับกองทัพบกช่อง 5 เป็นคน ๆเดียวกัน ตู้จัดแสดงเครื่องหมายเหล่าทหาร เช่น เครื่องหมายยศนายพัน ผ้าพันหมวก นายทหารสื่อสาร สายรัดประคด ตู้จัดแสดงเครื่องรับวิทยุที่มียี่ห้อว่า RTA ย่อมาจาก Royal Thai Army ซึ่งทางอุตสาหกรรมทหารผลิตวิทยุ และเครื่องรับวิทยุขึ้น และจำหน่ายให้กับบุคลากรในกองทัพและในราคามิตรภาพ

ในอนาคตจะมีการปรับปรุงทั้งภายใน ภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพราะยังมีเครื่องมือเกี่ยวกับการสื่อสารอีกหลายชิ้นที่ยังไม่ได้นำมาจัดแสดง อาทิ ดาวเทียม ตู้ที่ติดตั้งในยานยนต์ หรือเครื่องบินด้านสื่อสาร 

ถึงแม้จะมีสิ่งสำคัญให้ชมและน่าศึกษามากมาย แต่เสียดายที่ว่ายังไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม แต่สำหรับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถทำหนังสือติดต่อล่วงหน้าเพื่อขอเข้าชมได้

เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ

สำรวจ : 20 กุมภาพันธ์ 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-