พิพิธภัณฑ์ศาลไทย


ที่อยู่:
ชั้น 5 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์:
0-2512-8413, 0-2541-2951
โทรสาร:
0-2512-8413
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9:00-16:30 น. เว้นวันหยุดราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ศาลไทย บันทึกจากสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 11/28/2545

ที่มา: เดลินิวส์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ยืดอกเดินขึ้นศาล ตามรอยตุลาการไทย

ชื่อผู้แต่ง: หนุ่มลูกทุ่ง | ปีที่พิมพ์: 23 ส.ค. 2554;23-08-2011

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 01 ธันวาคม 2557


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ศาลไทย

ในยุคที่สังคมเกิดความขัดแย้งทางความคิดในทางการเมืองอย่างชัดเจน ประชาชนส่วนหนึ่งเรียกร้องหาคุณธรรมจากผู้บริหารบ้านเมือง จะหวังพึ่งนักการเมืองหรือก็ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่จะมีจุดยืนอยู่บนความคลุมเครือ ฝ่ายไหนชนะก็เฮกันไปเข้าข้างนั้น แล้วใครกันเล่าจะเป็นผู้ทำความจริงให้กระจ่าง แยกดำออกจากขาวให้ประชาชนได้ประจักษ์

จากโพลล์สำรวจความคิดเห็นของบางสำนัก ประชาชนจำนวนไม่น้อยหันหน้าไปหาสถาบันที่เป็นเสาหลักแห่งหนึ่งของประเทศ นั่นคือสถาบันศาล ความคาดหวังที่มีต่อสถาบันนี้ในการใช้อำนาจตัดสินคดีความอย่างเที่ยงธรรมเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายปี

ปัจจุบันศาลยุติธรรมถูกแยกจากกระทรวงยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการสำรวจและแบ่งแยกทรัพย์สินออกจากกัน กระบวนการดังกล่าวทำให้พบวัตถุ ภาพถ่ายเก่าและเอกสารโบราณที่มีคุณค่าจำนวนไม่น้อย และเป็นที่มาของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศาลไทยขึ้นโดยสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่บนชั้น ๕ อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ถ.รัชดาภิเษก พื้นที่จัดแสดงกว้างขวางแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ

ในส่วนของพิพิธภัณฑ์แบ่งย่อยเป็น ๔ ห้อง ห้องแรกจัดแสดงประวัติศาสตร์ของศาลไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรีจนถึงรัตนโกสินทร์ ห้องต่อมาแสดงวัตถุและเอกสารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในศาล และภาพอาคารที่ทำการศาลและทั้งในกรุงเทพฯและตามจังหวัดสำคัญต่างๆ ห้องถัดมาเป็นห้องพิจารณาคดีสมัยโบราณที่จำลองขึ้น ด้านหลังของห้องนี้เป็นห้องทำงานของผู้พิพากษาในอดีตที่จำลองขึ้น

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือที่เรียกกันอย่างย่อว่า ”พระองค์เจ้ารพี” พระราชโอรสของรัชกาลที่๕ เป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ศาลไทย เนื่องจากทรงอุทิศพระองค์เพื่อปรับปรุงกฎหมายและการศาลไทยในช่วงเวลาที่ชาวตะวันตกกำลังมีอิทธิพลอย่างมากในภูมิภาคนี้ เพื่อให้ชาวต่างชาติเชื่อถือศาลไทยมากขึ้น ทรงจัดระเบียบวางระบบศาลทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหม่ และทรงตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก พระกรณียกิจของพระองค์ทำให้ได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย”

สำหรับวัตถุสำคัญที่จัดแสดงได้แก่ หิรัญบัตร เป็นแผ่นเงินที่แสดงถึงพระราชปรารภของรัชกาลที่๕ในการสร้างอาคารศาลสถิตต์ยุติธรรม*และทรงวางศิลาก่อพระฤกษ์ ที่อาคารศาลสถิตต์ยุติธรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๕ กฎหมายตราสามดวงฉบับศาลหลวง เป็นกฎหมายที่รัชกาลที่๑โปรดเกล้าฯให้มีการชำระปรับปรุงกฎหมายที่ใช้กันมาในสมัยอยุธยาขึ้นใหม่ ประทับตรา ๓ ดวง คือ ราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้ว ทั้งหมดมีสามชุด อีกสองชุดเก็บไว้ที่ห้องเครื่อง และหอหลวง ราชกิจจานุเบกษาของไทย จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่๕ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้รับทราบ

ห้องต่อมาแสดงภาพถ่ายล้ำค่าที่หาดูได้ยากของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและรัชกาลที่ ๘ ออกนั่งบัลลังก์ศาลด้วยกัน และภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเหยียบศาลหลายแห่ง เช่น กระทรวงยุติธรรม ศาลแพ่งและอาญา พ.ศ. ๒๔๙๕ และศาลจังหวัดปัตตานี พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้น

ตามผนังห้องติดภาพถ่ายเก่าอาคารศาลทั้งในกรุงเทพฯและเมืองสำคัญหลายภาพ ถือว่าเป็นบันทึกรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี อาคารศาลบางแห่งผ่านการออกแบบอย่างงดงาม สะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือและความน่าเลื่อมใสของศาล อาคารหลายแห่งแสดงถึงอิทธิพลทางรูปแบบของชาติตะวันตก และอิทธิพลของศิลปะจีนไว้อย่างชัดเจน 

นอกจากนั้นห้องนี้ยังจัดแสดงเอกสารสำคัญหลายฉบับ เช่น เอกสารลายพระหัตถ์ตัวจริงของรัชกาลที่๕ เอกสารพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษที่ถูกขังมานานของรัชกาลที่ ๖ เอกสารเกี่ยวกับศาลทรัพย์เชลย ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่๑ รัฐบาลไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิคร รัชกาลที่๖โปรดเกล้าฯให้ออกกฎหมาย (พระธรรมนูญศาลทรัพย์เชลย พ.ศ.๒๔๖๐) เพื่อยึดเรือและสินค้าในเรือของชาติศัตรู นับเป็นศาลในประเทศศาลเดียวในขณะนั้นที่ใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการพิจารณาคดี

พิพิธภัณฑ์นี้เก็บรักษาของใช้ในงานประจำวันของผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ในสมัยก่อนไว้ได้หลายอย่าง ที่น่าสนใจ เช่น ตราประทับที่ทำด้วยงาช้าง ตราประจำวันสำหรับประทับวันที่ทำจากทองเหลือง มีชิ้นส่วนของตัวเลขและเดือนแยกต่างหากเพื่อให้เปลี่ยนได้ ฉลากงา คือป้ายบอกชื่อกฏหมายใช้เสียบไว้กับสมุดไทยซึ่งใช้บันทึกกฎหมาย และแสตมป์ฤชากร ที่ใช้ในการชำระค่าธรรมเนียมศาลในสมัยก่อน เป็นต้น

ส่วนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผู้เขียนคือห้องพิจารณาคดีสมัยโบราณสมัยรัชกาลที่๕ วัตถุจัดแสดงในห้องนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบัลลังก์ที่ผู้พิพากษาขึ้นนั่งพิจารณาคดีอยู่บนยกพื้นสูง ที่นั่งของฝ่ายโจทย์และฝ่ายจำเลยที่อยู่คนละด้าน หน้าบัลลังก์ตรงกลางเป็นคอกพยานสำหรับยืนให้การลักษณะเป็นแท่นรูปโค้ง และโต๊ะบันทึกคำให้การของเจ้าหน้าที่ศาล ล้วนเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี มีลวดลายประดับงดงาม ช่วยสร้างบรรยากาศการขึ้นโรงขึ้นศาลในอดีตได้อย่างน่าประทับใจและน่าชมเชยเจ้าของความคิด ผนังด้านหลังห้องติดภาพถ่ายเก่าเกี่ยวกับการพิจารณาคดี เช่นศาลต่างประเทศที่มีผู้พิพากษาฝรั่งนั่งบัลลังก์ด้วย และภาพการลงโทษประหารชีวิตหลายภาพเป็นลำดับต่อเนื่องกัน มีแม้กระทั่งภาพศีรษะนักโทษที่ถูกตัดเสียบประจาน

ห้องนี้มีการแสดงแสง สี เสียง จำลองเหตุการณ์ใน”คดีพระยอดเมืองขวาง” ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดในสมัยรัชกาลที่๕ เนื้อหาโดยสรุปคือในช่วงล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองคำมวนอยู่ทางชายแดนสยามด้านตะวันออก “พระยอดเมืองขวาง”ซึ่งเป็นข้าหลวงอยู่ไม่ได้ต่อสู้ แต่ก็เกิดเหตุชุลมุนในการจับกุมทำให้ชาวฝรั่งเศสตาย๑คน รัฐบาลฝรั่งเศสให้ลงโทษพระยอดเมืองขวาง แต่ศาลไทยตัดสินยกฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้อง ทำให้ทางฝรั่งเศสไม่พอใจ จึงต้องตั้งศาลขึ้นใหม่โดยมีคณะผู้พิพากษาเป็นชาวฝรั่งเศส๒คน ชาวสยาม๒คน และมีอธิบดีผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศส๑คน ผลก็คือ พระยอดเมืองขวางต้องโทษจำคุก ๒๐ ปี เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด”วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒”

คุณกัญญา ภู่ตระกูล หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์กล่าวว่ามีโครงการที่จะปรับปรุงการแสดงแสง สี และอาจจัดพื้นที่ใหม่เพื่อเพิ่มหัวข้ออื่นๆเช่น พระมหากษัตริย์ไทยกับการศาล บรรพตุลาการ และนักกฎหมายดีเด่น เป็นต้น ส่วนจำนวนผู้เข้าชมมีราวสองพันคนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการศาล เช่น ผู้พิพากษา ทนาย ตำรวจ นักศึกษาด้านกฎหมายจากหลายสถาบัน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด คณะนักเรียนมัธยมที่โรงเรียนพามา บุคคลทั่วไปและชาวต่างชาติบ้าง นอกจากนั้นเคยมีรายการโทรทัศน์มาขอถ่ายทำด้วย

เว็บไซด์ของพิพิธภัณฑ์มีข้อมูลน่าอ่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านกฎหมายและการศาลอยู่ไม่น้อย เช่น บุคคลสำคัญด้านการศาล มีการอธิบายคำศัพท์หรือวลีโบราณ และมีการปรับปรุงข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ได้ปรึกษากับทางกรมศิลปากร ทำให้มีการทำทะเบียนวัตถุเป็นหลักฐาน เอกสารสำคัญได้รับการอนุรักษ์ตามวิธีการที่ถูกต้อง

หมายเหตุ “ศาลสถิตต์ยุติธรรม” คำว่าสถิตต์ใช้ตามทางพิพิธภัณฑ์ เข้าใจว่าเป็นภาษาที่ใช้สมัยร.๕

เรื่อง/ภาพ เกสรา จาติกวนิช

สำรวจ : 16 มกราคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-

ยืดอกเดินขึ้นศาล ตามรอยตุลาการไทย

วันนี้ฉันจะไปขึ้นศาล!แต่ไม่ได้ไปแบบคนต้องคดีความแต่อย่างใด เพราะศาลที่ฉันจะไปนั้นเป็น “พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ” ที่ตั้งอยู่ที่ศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก พิพิธภัณฑ์ศาลไทยฯแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2545 ในโอกาสที่ศาลยุติธรรมครบรอบ120 ปี โดยเหมาครอบคลุมทั้งชั้นที่ 5 ของอาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ เมื่อฉันไปถึงก็มีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมเป็นอย่างดี พร้อมทั้งพาฉันเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์ ที่แบ่งส่วนจัดแสดงใหญ่ๆออกเป็น 2 ส่วน
ชื่อผู้แต่ง:
-