พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง ปัจจุบันสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แรกเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของ "สถาบันวิจัยชาวเขา" จัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือรวม 10 ชนเผ่า ได้แก่ ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลีซู ลาหู่ อาข่า ถิ่น ขมุ ลัวะ และมลาบรี โดยรวบรวมวัตถุสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ในกระบวนการประกอบอาชีพ วัตถุอันเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อหรือจักรวาลวิทยา เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องดนตรี และวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับการละเล่น นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงกลางแจ้งที่จำลองบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว และมีศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์จากกลุ่มชาติพันธุ์
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 25 กันยายน 2562
โดย:
วันที่: 25 กันยายน 2562
โดย:
วันที่: 25 กันยายน 2562
ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: ปีที่18ฉบับที่ 12 ต.ค. 2540
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 7/3/2547
ที่มา: ไทยรัฐ
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: พิพิธภัณฑ์ชาวเขา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ | ปีที่พิมพ์: -
ที่มา: เชียงใหม่: พิพิธภัณฑ์ชาวเขา
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
จากศูนย์วิจัยชาวเขาสู่พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง
พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง เป็นพิพิธภัณฑ์ของรัฐที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีความเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์หรือชาวเขา(ในกรณีนี้) แต่เดิมพิพิธภัณฑ์นี้ใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ชาวเขา” มีที่มาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2507 เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชาวเขา” ขึ้นที่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย “เพื่อทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับชาวเขาเผ่าต่างๆ แล้วนำผลมาใช้ในการวางนโยบาย แผนงาน โครงการ และการดำเนินงานพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล”
หากพิจารณาบริบทของรัฐบาลในขณะนั้นคือ ไทยกำลังเผชิญภัยการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในมุมมองของรัฐแล้วประเด็นชาวเขาเกี่ยวพันกับทั้งเรื่องทางการเมือง การปกครอง ชายแดน ความมั่นคง และการพัฒนา ต่อมา พ.ศ. 2527 ศูนย์วิจัยชาวเขาเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันวิจัยชาวเขา” พิพิธภัณฑ์ชาวเขาเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันฯ ที่เก็บรวบรวมวัตถุเกี่ยวกับวีถีชีวิตของชาวเขาที่ได้มาอันเนื่องจากการศึกษาวิจัย และเปิดให้คนทั่วไปในเยี่ยมชม
จนในปี พ.ศ. 2545 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือการปฏิรูประบบราชการจากเดิม 14 กระทรวงเป็น 20 กระทรวง กรมประชาสงเคราะห์ ถูกโยกมาสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำคัญคือกองสงเคราะห์ชาวเขาและสถาบันวิจัยชาวเขาถูกยุบเลิกไป เหลือไว้แต่เพียงผลงานต่างๆ ที่สถาบันได้ทำไว้ตลอดกว่าสี่ทศวรรษ และได้ย้ายพิพิธภัณฑ์ชาวเขาจากภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มายังอาคารกลางน้ำที่เรียกกันว่า “หอแดง” ในบริเวณสวนล้านนา ร.9 (แต่เดิมเป็นอาคารศูนย์พัฒนาและส่งเสริมอาชีพตามแนวทางศิลปาชีพ) สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
ตามที่เกริ่นแต่ต้น นโยบายเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของรัฐไทยไม่ได้มีความคงเส้นคงวา หากแปรไปตามบริบทสังคมและความสนใจของแต่ละรัฐบาล ทำให้หน่วยงานต้นสังกัด โครงสร้างการบริหารงาน และอำนาจหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ชาวเขาเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเสมอ กระทั่งโครงสร้างภายในกระทรวงฯ เอง
ปี พ.ศ. 2550 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดตั้ง “สำนักพัฒนาสังคม” เป็นการรวมงานด้านการพัฒนาสังคมของกรม เป็นงานในอดีตของกองนิคมสร้างตนเองและงานด้านการพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเข้าไปด้วยกัน ต่อมาปี พ.ศ. 2551 มีการจัดตั้งสำนักกิจการชาติพันธุ์
ปี พ.ศ. 2558 กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ปรับโครงสร้างใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดตั้งกองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา โดยมีหน่วยงานนิยมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขาทั่วประเทศจำนวน 46 จังหวัด และศูนย์พัฒนาชาวเขาจำนวน 16 ศูนย์ 20 จังหวัด คล้ายกับว่ารัฐได้ฟื้นฟูงานพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงขึ้นอีกครั้งหลังจากทิ้งไปราว 15 ปี และมีคำสั่งแต่งตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงใหม่” อีกนัยหนึ่งคือ พิพิธภัณฑ์ชาวเขาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การกำกับดูแลของกองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา
และล่าสุดในปี พ.ศ. 2559 ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง” ภายใต้การกำกับดูแลของกองพัฒนาสังคมกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ คนปัจจุบันคือ นางสาวปิยา เบญศิวกร ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า
“ท้ายที่สุดทำไมจึงเปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง เนื่องจากว่าราษฎรบนพื้นที่สูงที่เป็นชนเผ่า เขาได้รับใบเหมือนมีบัตรประชาชนเป็นคนไทยแล้ว เขาคิดว่าเขาก็เป็นราษฎรเพียงแต่อยู่บนพื้นที่สูงเท่านั้นเอง แต่เราจะไม่เรียกเขาว่าเป็นชาวเขา เขาก็เหมือนเป็นประชาชน”
บทบาทและภารกิจที่พิพิธภัณฑ์ฯ ตามตัวอักษรคือ
1. เป็นแหล่งรวบรวมผลงานวิชาการ และหลักฐานที่แสดงเอกลัษณ์ทางวัฒนธรรมของราษฎรบนพื้นที่สูง
2. เป็นศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ของราษฎรบนพื้นที่สูง
3. เป็นแหล่งรวบรวมผลงานวิชาการ และหลักฐานที่แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของราษฎรบนพื้นที่สูง
การจัดแสดงและนำเสนอ
พิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ การจัดแสดงภายในอาคารหอแดง และส่วนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่เป็นบ้านจำลอง
กลุ่มชาติพันธุ์หรือชาวเขาที่นำเสนอมีทั้งสิ้น 10 กลุ่ม ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลีซู ลาหู่ อาข่า ถิ่น ขมุ ลัวะ และมลาบรี เหตุที่เลือกนำเสนอสิบกลุ่มดังกล่าว มาจากกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาของกรมประชาสงเคราะห์ คือ กะเหรี่ยง ม้ง ลาหู่ เมี่ยน อาข่า ถิ่น ลีซู ลัวะ ขมุ และ มลาบรี
1. การจัดแสดงภายในอาคารหอแดง มีทั้งหมด 4 ชั้น
ชั้นที่หนึ่ง เป็นห้องฉายวิดีทัศน์ ให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสิบกลุ่ม ความยาวประมาณ 20 นาที มีทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ความน่าสนใจคือวิดีทัศน์ดังกล่าวทำโดยนักวิจัยและผู้ร่วมงานของสถาบันวิจัยชาวเขา ที่ได้บันทึกภาพและวิถีชีวิต ประเพณีสำคัญของแต่ละกลุ่ม ที่ปัจจุบันหาชมไม่ได้อีกแล้ว เรียกว่าเป็น จดหมายเหตุ archive ที่ดีของกลุ่มชาติพันธุ์
ส่วนร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ในการเป็นตัวกลางในการขายสินค้าของชุมชน ที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพจากศูนย์พัฒนาชาวเขาจำนวน 16 ศูนย์ 20 จังหวัด เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยที่พิพิธภัณฑ์ไม่ได้หักค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ชั้นที่สอง เป็นส่วนจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรม จำพวกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย งานหัตถกรรม หรือที่พิพิธภัณฑ์นี้เรียกว่า “วัตถุศิลป์” เพื่อนำเสนอวิถีชีวิต ประเพณี ความเชื่อดั้งเดิมของทั้งสิบกลุ่มชาติพันธุ์ มีป้ายคำอธิบายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เนื้อหายึดจากหนังสือและงานวิจัยของสถาบันฯ ส่วนวัตถุข้าวของมีที่มาจากหลายทาง อาทิ จากเมื่อครั้งนักวิจัยลงเก็บข้อมูลภาคสนามสมัยที่ยังเป็นสถาบันวิจัยชาวเขา สิ่งของที่ชาวบ้านบริจาคหรือมอบให้ หรือได้มาจากนักวิชาการ หรือนักสะสมที่มอบให้ รวมถึงมีการซื้อเข้ามาเพิ่มเติมบางส่วน
การจัดแสดงดั้งเดิมมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 มีการปรับเปลี่ยนอยู่บ้าง เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เกิดไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2554 และได้ปรับเปลี่ยนการแสดงครั้งล่าสุดเมื่อราวปี พ.ศ. 2559 เมื่อครั้งเปลี่ยนชื่อพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากพิธีกรรมหรือประเพณีบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ดังนั้นเพื่อให้ข้อมูลที่นำเสนอถูกต้องเหมาะสมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วิธีหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ทำคือ ให้ตัวแทนเจ้าของวัฒนธรรมจากศูนย์พัฒนาชาวเขาจำนวน 16 ศูนย์ มาช่วยตรวจสอบข้อมูล ภาษา และการจัดวางวัตถุว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
การจัดแสดงชั้นสองคือไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ อาคารถูกทำให้ปิดทึบ เน้นใช้แสงไฟในการขับเน้นวัตถุ แบ่งการเล่าเรื่องไปตามกลุ่มชาติพันธุ์จนครบทั้ง 10 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะเปิดด้วยป้ายคำอธิบายประวัติความเป็นมาในเชิงประวัติศาสตร์ การอพยพ ภาษา จำนวนประชากร ลักษณะทางสังคม ระบบครอบครัว ระบบความเชื่อ ฯลฯ จัดแสดงหุ่นเท่าตัวคนทั้งชายหญิงที่สวมเสื้อผ้าประจำเผ่า กำลังทำกิจกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม เช่น กิจกรรมการทอผ้ากี่เองของชาวกะเหรี่ยง การนั่งล้อมวงกินข้าวและการนอนสูบฝิ่นของชาวม้ง และจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในวิถีชีวิต การหาอยู่หากิน เครื่องมือทำการเกษตร เครื่องจักสาน เครื่องดนตรี เสื้อผ้า เครื่องประดับ มีป้ายอธิบายวัตถุว่าชื่ออะไรแต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียด
ไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นวัตถุต่างๆ ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่นำเสนอ หลายชิ้นเป็นของเก่าและหาชมได้ยาก เช่น เครื่องมือล่าดักจับสัตว์ เสื้อผ้าเครื่องประดับ ที่น่าสนใจคือ “เกียเซ็นป๊อง”หรือหนังสือเดินทางข้ามเขตภูเขาของชาวเมี่ยนฉบับเก่าแก่ ที่นำติดตัวครั้งอพยพจากจีนเข้ามาสู่เมืองไทย เป็นป้ายผ้าขนาดยาวหลายเมตรที่เขียนอักษรจีนไว้เต็มผืนผ้า บอกเล่าเกี่ยวกับประวัติของเผ่า ข้อความอนุญาตให้โยกย้ายที่ทำกินได้จากจักรพรรดิจีน ฯลฯ
ชั้นที่สาม นิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นิทรรศการความรู้เกี่ยวกับชาวเขา อาทิ ความหมายของคำว่าชาวเขาและการจำแนกชาวเขาตามตระกูลภาษา แผนที่การอพยพของชาวเขาเข้ามาประเทศไทย ปัญหาต่างๆ ที่ชาวเขาเผชิญทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีส่วนหนึ่งที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของจำพวกอุปกรณ์ของนักวิจัยที่ใช้เก็บข้อมูลและอุปกรณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ เครื่องฉายภาพยนตร์แบบฟิล์ม เครื่องกรอฟิล์ม เครื่องบันทึกเสียงแถบแม่เหล็ก
ชั้นที่สี่ นิทรรศการว่าด้วยพระบารมีนำทางสู่การพัฒนาบนพื้นที่สูงและภาพแสดงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบนพื้นที่สูง
2. พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จัดแสดงบ้านชาวเขาจำลอง
บ้านจำลองก่อสร้างพร้อมกับการย้ายที่ตั้งพิพิธภัณฑ์มาที่สวนล้านนา ร.9 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยได้จำลองบ้านดั้งเดิมของทั้ง 10 กลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเท่าของจริง จำนวน 10 หลัง ในพื้นที่ 15 ไร่ บริเวณโดยรอบมีสภาพร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ บ้านแต่ละหลังจะมีป้ายคำอธิบายไทย-อังกฤษว่ากลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวคือใคร พื้นที่อาศัยอยู่ที่ใด มีระบบความเชื่อ เศรษฐกิจ และการปกครองเป็นอย่างไร
พื้นที่ส่วนของบ้านจำลองและลานกิจกรรม ยังถูกใช้จัดกิจกรรมโดยพิพิธภัณฑ์เองและมีบางกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาขอใช้สถานที่ในการจัดงานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มชาวม้งที่ในทุกปีเครือข่ายม้งที่อาศัยในเชียงใหม่และใกล้เคียง รวมถึงคนม้งจากต่างประเทศ จะมาร่วมตัวกันเพื่อจัดงานปีใหม่ม้ง ณ พื้นที่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง คุณเฉลิมลาภ ศิริวรรณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาและส่งเสริมสวัสดิการสังคม ให้ข้อมูลเพิ่มว่า
“คือพื้นที่ตรงนี้มันง่ายต่อการเข้าถึง ทั้งสนามบิน ระบบขนส่ง งานมี 3 วัน วันหนึ่งคนมา 2,000 คนได้...มีการทำกิจกรรมปีใหม่ม้ง ตามประเพณีดั้งเดิมของเขาเลย และคนกะเหรี่ยงก็เคยมาจัดงานพิธีรำลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2561”
ทั้งนี้จำนวนผู้เยี่ยมชมในแต่ละปี มีข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 - กรกฎาคม 2562 มีตัวเลขว่าผู้ชมจะอยู่ระหว่าง 3,000 – 5,000 คนต่อปี ผู้ชมส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์คือชาวต่างประเทศ ที่ทราบว่ามีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับชาติพันธุ์จากไกด์บุ๊ก เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ที่บอกต่อกัน อย่างไรก็ดีการบริหารจัดการภายในก็ประสบปัญหา
“เราไม่ได้มีโครงสร้างถูกต้องชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น เป็นหน่วยที่ต้องคอยอาศัยคอยฝากคอยจัดเก็บ เหมือนงบประมาณจะเขียนแฝงไว้กับศูนย์พัฒนาชาวเขา ซึ่งงบประมาณที่ได้มา บางทีไม่ตรงกับความต้องการของเราบ้างก็มี สมมติเราอยากจะทำประชาสัมพันธ์หนักๆ เลย เราก็ทำไม่ได้ มันขัดกับตัวเนื้อหาโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ ทำให้การขับเคลื่อนบางส่วนค่อนข้างจะยากในบางกรณี เช่น ถ้าลงไปชมจะเห็นว่าบ้านจำลองทรุดโทรม แต่เราไม่สามารถที่จะจัดเก็บรายได้เองได้ เพราะว่าจะไปติดข้อระเบียบหลายๆ ส่วน ทำให้การบริหารจัดการในตัวพิพิธภัณฑ์ไม่ทันต่อเหตุการณ์เท่าที่จำกัด หากบ้านเกิดผุผัง ต้องรองบประมาณตามรอบปี ถึงจะซ่อมแซมได้ทีเดียว”
ปัญหาที่พิพิธภัณฑ์ประสบคล้ายกับหน่วยงานราชการหลายแห่งคือ ระบบการบริหารแบบราชการที่ไม่คล่องตัว ติดขัดเรื่องงบประมาณและอัตรากำลังบุคลากรที่ค่อนข้างจำกัดและคุณสมบัติไม่ตรงกับลักษณะงาน ระบบการปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการ การพัฒนาทักษะบุคลากร การปรับปรุงนิทรรศการทำได้อย่างค่อนข้างจำกัด แม้จะประสบปัญหาแต่คนทำงานและบุคลากรยังทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ต้อนรับผู้เข้ามาเยี่ยมชมอย่างเต็มใจและยินดีให้ข้อมูลความรู้.
ข้อมูลจาก:
สำรวจภาคสนามวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562
สัมภาษณ์นางสาวปิยา เบญจศิวกร ผอ.พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง วันที่ 14 สิงหาคม 2562.
สัมภาษณ์นายเฉลิมลาภ ศิริวรรณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาและส่งเสริมสวัสดิการสังคม วันที่ 14 สิงหาคม 2562.
สัมภาษณ์นางสาวปิติพร โนจนานฤดม นักสังคมสงเคราะห์ วันที่ 14 สิงหาคม 2562.
http://highlandmuseum.or.th/
http://chiangmaitribalmuseum.blogspot.com/2014/09/blog-post_26.html
http://htwd2009.blogspot.com/2009/08/40-5.html
https://cabinet.soc.go.th/soc/Program2-1.jsp?menu=1
ผู้เขียน: ปณิตา สระวาสี
พิพิธภัณฑ์ชาวเขา
ในส่วนการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ ทางพิพิธภัณฑ์ชาวเขา ได้รวบรวมวัตถุสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ในกระบวนการประกอบอาชีพ วัตถุอันเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อหรือจักรวาลวิทยา เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องดนตรี และวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับการละเล่นของชาวเขา วัตถุศิลป์ทางด้านภาษาที่ปรากฏในรูปของตัวอักษร และภาพถ่ายต่าง ๆ ที่ปรากฎเป็นวิถีชีวิตในสังคมวัฒนธรรมของชาวเขารวม 9 เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เย้า อาข่า ลีซอ มูเซอ ถิ่น ขมุ และ ลัวะ เมื่อก้าวเข้าสู่บริเวณพิพิธภัณฑ์ชาวเขา ซึ่งเป็นอาคารสูง4 ชั้น จะได้พบกับนานาศิลปวัตถุตลอดจนภาพถ่ายที่ถ่ายทอดเรื่องราว จารีต วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ในเมืองไทยทั้ง 9 เผ่า ภาพบางภาพหรือวัตถุบางชิ้น สามารถชมได้จากพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ไม่สามารถหาดูจากชีวิตจริงได้อีกแล้ว บรรดาข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์มีมากกว่า 1,000 ชิ้น ราว 60 % ถูกนำออกมาจัดแสดงได้ชมกัน ซึ่งข้าวของเหล่านี้ได้มาจากการเก็บสะสมของนักวิจัยจากสถาบันวิจัยชาวเขาเมื่อครั้งที่เดินทางไปศึกษาชนเผ่าต่าง ๆ ยังสถานที่จริงมานานกว่า 30 ปี นอกจากนี้ยังได้รับบริจาคจากนักสะสมอีกจำนวนหนึ่ง โดยการจัดแสดงในอาคารแบ่งได้ดังนี้
บริเวณชั้นหนึ่ง จัดแสดงศิลปวัตถุตามวิถีชีวิตในสังคมวัฒนธรรมชาวเขา ตั้งแต่งานหัตถกรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องจักสาน เครื่องเงิน เครื่องแต่งกายสีสันสดใส หรือข้าวของที่เกี่ยวกับประเพณีความเชื่อ การทำมาหากิน เครื่องมือทำนาทำสวน เครื่องดนตรี อาวุธต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งวัตถุทุกชั้นจะมีภาพลักษณะการใช้งานประกอบ พร้อมคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
บริเวณชั้นที่สอง จัดแสดงนิทรรศการภาพ แสดงประวัติความเป็นมาของการดำเนินงานพัฒนาชาวเขาในประเทศไทยโดยกรมประชาสงเคราะห์
ส่วนชั้นที่สาม เป็นนิทรรศการภาพแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวเขา
นอกจากนี้บริเวณชั้นใต้ดิน ได้จัดเป็นส่วนของร้านขายของที่ระลึก โดยของแต่ละชิ้นทำจากฝีมือและความชำนาญของชาวเขาเผ่าต่างๆ อาทิ เครื่องประดับ เสื้อ ย่าม ถุงผ้า ตุ๊กตา ฯลฯ
ข้อมูลจาก:
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
เรียนรู้ "พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฏรบนพื้นที่สูง"
อาทิตย์นี้ "พี่ม้ามังกร" ขอพาน้องๆ แอ่วเหนือไปเรียนรู้ "พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสวนล้านนา ร.9 ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แต่เดิมชื่อ พิพิธภัณฑ์ชาวเขา เป็นหน่วยงานหนึ่งของสถาบันวิจัยชาวเขาสังกัดกรมประชาสงเคราะหืในอดีตแนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ชาติพันธุ์ ชาวเขา
พิพิธภัณฑ์วัดท่ากาน
จ. เชียงใหม่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
จ. เชียงใหม่
หอธรรมโฆษณ์ วัดอุโมงค์
จ. เชียงใหม่