พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือประจำประเทศไทย บ้านสันติคีรี


หมู่บ้านสันติคีรี หรือ "ดอยแม่สลอง" หรือ "เหมย เซอ เล่อ" เดิมเป็นหมู่บ้านของอดีตทหารจีนคณะชาติ(ก๊กมินตั๋ง) กองพล 93 อดีตกำลังพลของนายพลเจียงไคเช็ค ที่อพยพเข้ามายังบริเวณดอยแม่สลองเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว  เนื่องจากในปี พ.ศ. 2493 เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในจีน ฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายทหารจีนคณะชาติ ในระหว่างปี พ.ศ. 2513-2524 ช่วงที่ไทยกำลังต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยได้ใช้กองกำลังของอดีตทหารจีนคณะชาติเข้าช่วยสู้รบกับคอมมิวนิสต์ อดีตทหารจีนคณะชาติบาดเจ็บล้มตายและทุพพลภาพเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระเมตตาให้อดีตทหารจีนคณะชาติ ได้อาศัยอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของอดีตทหารจีนคณะชาติในการช่วยรักษาผืนแผ่นดินไทย พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวดอยแม่สลอง ทางชุมชนจึงเห็นพ้องในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเล พ่อค้า ประชาชน สมาคมและผู้มีจิตศรัทธาบริจาค พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือประจำประเทศไทย ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 2 ส่วน คือ ส่วนพิพิธภัณฑ์และส่วนร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ในส่วนแรกประกอบด้วย 3 อาคารหลัก สถาปัตยกรรมแบบจีน 1) อาคาร "พิพิธภัณฑ์ห้องที่ 1" เล่าเรื่องการต่อสู่ของทหารจีนคณะชาติ 2) อนุสรณ์สถานทหารจีนคณะชาติ ภาคเหนือประจำประเทศไทย เป็นสถานที่ตั้งของ "ป้ายวิญญาณ" ของผู้ที่ล่วงลับในเหตุการณ์สู้รบ และ3) อาคาร "พิพิธภัณฑ์ห้องที่ 2 และ 3" แสดงให้เห็นถึงการสงเคราะห์ต่างๆ ของสมาคมจีนเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ทั้งการสงเคราะห์ในรูปแบบของสิ่งของ ทุนการศึกษา 

ที่อยู่:
บ้านสันติคีรี หมู่ที่ 1 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
โทรศัพท์:
08-1288-6691 ติดต่อกำนันบุญช่วย สุดยอดสำราญ, 053-765180
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 9.00 - 17.00 น.
ค่าเข้าชม:
คนละ 30 บาท
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือประจำประเทศไทย บ้านสันติคีรี

หมู่บ้านสันติคีรี หรือ "ดอยแม่สลอง" หรือ "เหมย เซอ เล่อ" หมายถึง ดินแดนแห่งความสงบสุข เดิมเป็นหมู่บ้านของอดีตทหารจีนคณะชาติ(ก๊กมินตั๋ง) กองพล 93 อดีตกำลังพลของนายพลเจียงไคเช็ค อดีตผู้นำจีนที่ถูกพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเหมาเจ๋อตุง ตีแตกพ่ายและอพยพเข้ามายังบริเวณดอยแม่สลองเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว  เนื่องจากในปี พ.ศ. 2493 เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในจีน ฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายทหารจีนคณะชาติ ทำให้ทหารจีนคณะชาติต้องถอยรุ่นและอพยพหนีไปเกาะไต้หวัน และกองกำลังส่วนหนึ่งคือ กองพล 193 และกองพล 93 กำลังพลประมาณ 20,000 คน ซึ่งมีฐานกำลังอยู่ที่ยูนนานได้ถอนตัวเข้าสู่ประเทศพม่า 
 
จนถึงปี พ.ศ. 2497 สหประชาชาติได้ขอให้ประเทศไทยและสหรัฐอเมริการ่วมดำเนินการอพยพกองกำลังดังกล่าวไปไต้หวันส่วนหนึ่ง ส่วนกองกำลังที่เหลือถูกทหารพม่ากวาดล้างได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย โดยมีนายพลหลี่เหวินฮ่วน(ชัย ศิริ) เป็นผู้นำอยู่ที่บ้านผาง๊อบ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และนายพลต้วน ซี เหวิน (ชีวิน คำลือ) เป็นผู้นำมาอยู่ที่บ้านแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
 
ในระหว่างปี พ.ศ. 2513-2524 ช่วงที่ไทยกำลังต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยได้ใช้กองกำลังของอดีตทหารจีนคณะชาติเข้าช่วยสู้รบกับคอมมิวนิสต์ อดีตทหารจีนคณะชาติบาดเจ็บล้มตายและทุพพลภาพเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระเมตตาให้อดีตทหารจีนคณะชาติ ได้อาศัยอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของอดีตทหารจีนคณะชาติในการช่วยรักษาผืนแผ่นดินไทย พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวดอยแม่สลอง ทางชุมชนจึงเห็นพ้องในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเล พ่อค้า ประชาชน สมาคมและผู้มีจิตศรัทธาบริจาค ส่วนที่ดินได้รับความอนุเคราะห์จากกองบัญชาการทหารสูงสุดบนเนื้อที่ 11,536.50 ตร.ม. ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 11,532,297 บาท จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2546 และทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
 
พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือประจำประเทศไทย ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 2 ส่วน คือ ส่วนพิพิธภัณฑ์และส่วนร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ในส่วนแรกประกอบด้วย 3อาคารหลัก สถาปัตยกรรมแบบจีน อาคารทางซ้ายมือเป็นอาคาร "พิพิธภัณฑ์ห้องที่ 1" อาคารตรงหน้าผู้ชมเป็น "อนุสรณ์สถานทหารจีนคณะชาติ ภาคเหนือประจำประเทศไทย" และอาคารทางขวามือเป็น "พิพิธภัณฑ์ห้องที่ 2 และ 3" 
 
ภายในอาคารหลังที่ 1 เล่าเรื่องการต่อสู่ของทหารจีนคณะชาติ โดยเรียงลำดับตามเหตุการณ์
() ความเป็นมาของกองกำลังจีนคณะชาติ พ.ศ.2492 (หลูฮั่น ผู้ว่าฯ ยูนนาน ปฏิวัติเมื่อ 8 ธ.ค. 2492)
() การรบที่เมืองโก ท่าขี้เหล็ก 2493
() การรบที่เมืองสาดและโจมตียูนนาน 2494
() การรบที่ลุ่มแม่น้ำสาละวินและการถอนกำลังสู่ไต้หวันครั้งแรก (2494)
() การรวมตัวที่เมืองเจียงลาและการอพยพสู่ไต้หวันครั้งที่ 2 (2505 - 2503)
() การรบทางภาคเหนือของไทย
 
เนื้อหาของนิทรรศการเน้นการลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทหารจีนคณะชาติเข้าไปเกี่ยวกับข้อง โดยอาศัยวันเวลาในการรบเป็นสำคัญ การจัดแสดงส่วนใหญ่อาศัยภาพถ่ายพื้นที่รบและเหตุการณ์ รวมถึงการสร้างโมเดลจำลองพื้นที่รบที่แสดงให้เห็นเส้นทางการเดินทัพและการสู้รบ อย่างไรก็ตาม จะมีเครื่องใช้ของทหารให้เห็นอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก นอกจากนี้ คำให้การของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยังไม่ได้มีการบันทึกหรือศึกษาไว้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย เพราะผู้ที่ร่วมในเหตุการณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่เหลือไม่มากแล้วในปัจจุบัน 
 
ส่วนอาคารกลางที่เป็นอนุสรณ์สถานเป็นสถานที่ตั้งของ "ป้ายวิญญาณ" ของผู้ที่ล่วงลับในเหตุการณ์ ตั้งไปตามผนังด้านในของอาคารเป็นชั้นๆ ในแต่ละปีจะมีการจัดพิธีรำลึกถึงผู้วายชนม์ นอกจากนี้ เนื้อหานิทรรศการในอาคาร 2 ยังแสดงให้เห็นถึงการสงเคราะห์ต่างๆ ของสมาคมจีนเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ความช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวคิด "ธารน้ำใจจากไต้หวัน" (Love of Motherland and the Benevolence of Taiwan) ทั้งการสงเคราะห์ในรูปแบบของสิ่งของ ทุนการศึกษา 
 
ข้อมูลจาก: 
สำรวจภาคสนามวันที่ 7 เมษายน 2550
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ฟ้าหลวง. พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือ ประเทศไทย หมู่บ้านท่องเที่ยว OVC: OTOP VILLAGE CHAMPION บ้านสันติคีรี หมู่ที่ 1 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย. (เอกสารอัดสำเนา)
ชื่อผู้แต่ง:
-