อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง


อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือที่ยรู้จักในชื่อ “ไร่แม่ฟ้าหลวง” เดิมเป็นสถานที่ทำการของมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อหาตลาดให้งานหัตถกรรมที่เป็นศิลปะของชาวไทยภูเขา และเคยทำหน้าที่เสมือน “บ้าน” สำหรับผู้นำเยาวชนชาวเขาจากหมู่บ้านห่างไกล ที่ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนได้ฝึกวิชาชีวิตจากการอยู่ร่วมกัน ก่อนจะเติบโตแยกย้ายกันไปพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง ต่อมาโครงการนี้ได้สิ้นสุดลง ไร่แม่ฟ้าหลวงจึงเปลี่ยนเป็น “อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง” เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาของไทย ปัจจุบันอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคเหนือ เปิดให้นักท่องเที่ยวชมงานพุทธศิลป์เก่าแก่ โบราณวัตถุอายุนับศตวรรษ ศิลปวัตถุรังสรรค์จากไม้สัก มีอาคารสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามท่ามกลางความเขียวชอุ่ม ร่มรื่นของพรรณไม้ท้องถิ่นบนพื้นที่ 150 ไร่ จุดเด่นคือ "หอคำ" สถาปัตยกรรมล้านนาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัดปงสนุก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และ "หอแก้ว" อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับไม้สัก รวมไปถึงงานศิลปะอันวิจิตรต่างๆ ที่นำมาใช้ในการพระศาสนา เริ่มจากตัวอาคารของวัดวาอาราม เครื่องตกแต่ง และเครื่องใช้ในพิธีกรรมต่างๆ จนถึงองค์พระพุทธรูป

ชื่อเรียกอื่น:
ไร่แม่ฟ้าหลวง
ที่อยู่:
313 หมู่7 บ้านป่างิ้ว ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย 50000
โทรศัพท์:
0-5371-1968
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา10.00–18.00 น.
ค่าเข้าชม:
คนไทย 150 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท
เว็บไซต์:
อีเมล:
rmfl@doitung.org
ปีที่ก่อตั้ง:
2529

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

จิตรกรรมเวียงต้า

ชื่อผู้แต่ง: วิถี พานิชพันธ์ | ปีที่พิมพ์: 2532

ที่มา: กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ซึมซับวัฒนธรรมล้านนาที่ "ไร่แม่ฟ้าหลวง"

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 29/12/2551

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

จาก “บ้านดำ” ถึง “วัดร่องขุ่น” ยลงานศิลป์ ถิ่นเชียงราย หลายอารมณ์ศิลปิน

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 12 ธ.ค. 2555;12-12-2012

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 27 มีนาคม 2558


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของไร่แม่ฟ้าหลวง

ไร่แม่ฟ้าหลวงตั้งอยู่ ณ บ้านป่างิ้ว ห่างจากตัวเมืองเชียงรายราว 5 กิโลเมตร จัดตั้งขึ้นจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ซื้อที่ดิน เพื่อเป็นสถานอบรมเยาวชนจากถิ่นทุรกันดารในความดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง พื้นที่กว่า 140 ไร่ ปัจจุบันไร่แม่ฟ้าหลวงทำหน้าที่เสมือนอุทยาน-พิพิธภัณฑ์ เนื่องจากการปรับสถานที่ให้เป็นอาคารที่อนุรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรมล้านนาที่ได้มาจากทั้งการบริจาคและการซื้อ โดยมีการสร้างอาคารที่สำคัญทั้งสิ้น 3 หลังคือ หอคำ หอคำน้อย และหอแก้ว ทั้งนี้ เมื่อผู้ชมมาถึงไร่แม่ฟ้าหลวงแล้วก็จะต้องเสียค่าเข้าชมท่านละ 20 บาท (โดยได้รับอนุญาตให้ชมเฉพาะสวนโดยรอบและบริเวณภายนอกอาคาร หากต้องการที่จะเข้าชมหอคำ และหอแก้วจะต้องเสียค่าเข้าชมในแต่ละส่วนการแสดง)     บริเวณโดยรอบมีการจัดภูมิทัศน์เป็นสวนที่ร่มครึ้มด้วยหมู่พันธุ์ไม้พื้นเมืองและพันธุ์ไม้หอมนานาชนิด มีสระน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบอาคาร ซึ่งแต่ละหลังที่ยังคงรักษาลักษณะล้านนาที่โดดเด่นไว้เปรียบเหมือนขุมความรู้ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและการใช้วัสดุ ได้แก่ ศาลาสี่หน้า ศาลาคำ ศาลาพักต่าง ๆ อาคารแต่ละหลังมีประวัติและการจัดแสดงภายในดังนี้
หอคำ  
             
‘หอคำแม่ฟ้าหลวง’ เป็นที่เก็บรักษาเครื่องไหว้สาแม่ฟ้าหลวงในวโรกาสที่พระองค์ท่านทรงเจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530   โดยสถาปนิก 4 ท่าน คือ คุณทรงศักดิ์ ทวีเจริญ คุณครองศักดิ์ จุฬามรกต คุณเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี และคุณธีรพล นิยม และมีคุณมนัส รัตนสัจธรรมและคุณจรูญ กมลรัตน์ เป็นวิศวกร นายช่างชลประทานเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ส่วนช่างก่อสร้างนั้นใช้ช่างไม้พื้นบ้านจากจังหวัดเชียงรายและจังหวัดแพร่ 
             
หอคำมีโครงสร้างและวัสดุที่ใช้อย่างล้านนาไทย กล่าวคือ แบบหลังคาได้แรงบันดาลใจจากวัดในจังหวัดลำปาง ตัวอาคารสอบเข้าเหมือนลักษณะเรือนล้านนาอย่างโบราณ ลวดลายประดับได้จากจังหวัดอุตรดิตถ์ วัสดุใช้ไม้ทั้งหลังที่มูลนิธิ ฯ ซื้อไม้เก่าจากเขตจังหวัดเชียงรายและพะเยาจำนวน 32 หลังด้วยกัน ไม้เสาใหญ่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้( อ.อ.ป.) หลังคาเป็นหลังคาเก่าของบ้านในชนบท เป็นแผ่นไม้สักกว้างประมาณ 4 นิ้ว ซ้อนกัน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ‘แป้นเก็ด’
               
กลางหอคำมีปราสาทประดิษฐาน ‘พระพร้าโต้’ พระพุทธรูปไม้สักจากอำเภอลอง จังหวัดแพร่ที่สลักขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2336 โดยฝีมือช่างพื้นบ้าน
               
สาเหตุของการเริ่มต้นงานสะสมและการอนุรักษ์ของไร่แม่ฟ้าหลวง เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2529 - 2530 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ในภาคเหนือของประเทศไทย มีการปรับปรุงเรื่องการไฟฟ้าและการคมนาคม ชาวบ้านมีฐานะดีขึ้นโดยเฉพาะในหมู่บ้านที่มีการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ วัดวาอารามเก่าแก่หลายแห่งถูกรื้อลง เพื่อสร้างขึ้นใหม่ตามแบบสมัยนิยม สัตตภัณฑ์ หรือแท่นเชิงเทียนถูกยักย้ายถ่ายเทไปตามที่ต่าง ๆ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเห็นว่าควรจะถนอมรักษาศิลปะวัตถุที่งดงามนี้ไว้ จึงได้ซื้อเครื่องสัตตภัณฑ์เหล่านี้มารวบรวมดูแลรักษาไว้ และในขณะเดียวกันมีผู้บริจาคสมทบเป็นจำนวนมาก สัตตภัณฑ์เป็นสิ่งหนึ่งที่มีประโยชน์ใช้สอย ช่วยให้เกิดความสว่าง ความสงบ ความสวยงาม และความหวังมาหลายชั่วอายุคนในล้านนาไทย หวังว่าการแสดงสัตตภัณฑ์จะช่วยให้ท่านผู้ชมได้เกิดความรู้สึกที่ดีงามดังกล่าวข้างต้นแล้ว
               
อย่างที่ทราบไปแล้วว่า สถาปัตยกรรมเป็นงานสร้างสรรค์ใหม่ที่พยายามสอดผสานความเป็นพื้นถิ่นหรือความเป็นล้านนาไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์เป็นอาคารจัดเก็บและจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตเบื้องต้นของการใช้พื้นที่เมื่อผู้ชมเข้ามาถึงอาคารในครั้งแรก จะสังเกตเห็นว่า 
               
(1) บริเวณรอบอาคารภายนอกจัดแสดงวัตถุไม้สลักรูปต่าง ๆ กระต่าย พญานาค หงส์ กลองสะบัดชัย 
               
(2) วัสดุไม้เป็นองค์ประกอบหลักที่ใช้ในการสร้างอาคารและปรากฏในวัตถุสะสม ด้วยเหตุนี้ ผู้ชมย่อมสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่สัมพันธ์กับการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ในพื้นที่ ในที่นี้คือ ทรัพยากรไม้ และที่สำคัญมีป้ายที่เขียนถึงการนำไม้มาใช้ในการสร้างอาคารว่า ท้ายที่สุดสถานที่แห่งนี้จะแสดงให้เห็นความสมบูรณ์ของพื้นที่ภาคเหนือ แม้จะรู้สึกว่าเป็นการ "ทำลาย" แต่อาคารจะกลายเป็นเช่นสถานที่แห่งการเรียนรู้สำหรับผู้คน และ 
               
(3) บริเวณใต้ถุนอาคาร มีการจัด "พื้นที่แสดง" บางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับ "พระพร้าโต้" ที่อยู่ใจกลางอาคารด้านใน โดยมีการใช้ไม้ลำต้นใหญ่ปักห่างกันประมาณหนึ่งฟุต บนพื้นที่ปูด้วยทราย ผู้นำชมอธิบายว่า ทรายเป็นตัวแทนของมหาสมุทร พระพุทธอยู่ศูนย์กลางของจักรวาล จะเห็นได้ว่า การสร้างสรรค์ทางศิลปะใหม่นี้พยายามอ้างอิงกับโลกทัศน์ทางพุทธศาสนาเดิม แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การบรรยายถึงความสำคัญของ Installation ชุดนี้ไม่ได้รายละเอียดมากนักจากการบรรยายของผู้นำชม
               
จากนั้น ผู้ชมจะต้องถอดรองเท้าก่อนที่จะเดินขึ้นบันไดเข้าไปที่ยังอาคารด้านใน ผู้นำชมเริ่มต้นด้วยการอธิบายไม้สลักที่ติดตั้งอยู่เหนือประตูทางเข้าอาคาร เสมือนหน้าบันที่เป็นรูปหนู ซึ่งตรงกับราศีของปีพระราชสมภพในสมเด็จพระศรีนครินทราฯ บรมราชชนนี และรูปกระต่าย ซึ่งตรงราศีของปีพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังมีหน้าบันไม้สลักแขวนอยู่ที่ผนังทางเข้าซ้ายขวาของอาคาร ผู้นำชมอธิบายเพิ่มเติมว่า หน้าบันดังกล่าวเคยเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์ในวัด แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดเพิ่มเติมได้ว่ามาจากวัดใด 
               
แสงสว่างภายในอาคารใช้แสงธรรมชาติเป็นหลัก   ผู้ชมจะรู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่ และความ "ขรึมขลัง" ของสถาปัตยกรรม การจัดวางวัตถุที่จัดแสดงบนพื้นไม้ที่ยกระดับสูงขึ้นมาจากเส้นทางการเดินชม ทำให้ผู้ชมย่อมรับรู้ถึงความเป็น "พื้นถิ่น" ที่สะท้อนมาในรูปแบบการจัดแสดงที่เรียบง่าย วัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่คือ สัตตภัณฑ์ พระไม้ และไม้แกะสลักต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีวัตถุที่เป็นเครื่องใช้พื้นบ้านในชีวิตประจำวันจัดแสดงไว้มุมหนึ่ง
หอคำน้อย 
               
ตั้งห่างจากหอคำประมาณ 500 เมตร "หอคำน้อย" เป็นสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหย่อมสวน เป็นอาคารที่มีส่วนประกอบของศิลาแลงและไม้ ปิดทึบโดยรอบ มีเพียงช่องระบายลมที่เป็นช่องว่างระหว่างส่วนบนของผนังกับเพดาน โดยมีซี่กรงไม้กั้นพื้นที่ระหว่างภายในและภายนอกอาคาร แผ่นพับ ไร่แม่ฟ้าหลวงให้รายละเอียดเกี่ยวกับหอคำน้อยไว้ว่า
               
"เป็นสถานที่เก็บรักษาภาพจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่นจากวัดเวียงต้า อ.สอง จ.แพร่ ที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ร.3 - ร.4) แม้ภายนอกอาคารจะปิดอย่างมิดชิด แต่ยังคงความวิจิตรของสถาปัตยกรรมล้านนาที่ออกแบบเฉพาะ เพื่อรักษาสภาพโบราณภายในมิให้เสื่อมสลายไปกับกาลเวลา"
               
ในหนังสือจิตรกรรมเวียงต้า วิถี พานิชพันธ์ ระบุว่า ภาพชุดดังกล่าวได้รับการผาติกรรมมาไว้ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2531 ส่วนหอคำน้อยจัดงานเฉลิมฉลอง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2535 เจ้าหน้าที่ประจำร้านขายของที่ระลึกเล่าว่า ไร่แม่ฟ้าหลวงกำลังดำเนินการจัดสภาพให้หอคำน้อยพร้อมที่จะเปิดให้บริการต่อสาธารณชน เพื่อเข้าไปชมงานจิตรกรรมที่ผาติกรรมมาจากจังหวัดแพร่ 
                 
หนังสือของ วิถี พานิชพันธ์ ระบุความเป็นมาเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมชุดดังกล่าวจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านเพิ่มเติมว่า "ภาพเหล่านี้เดิมติดอยู่ไว้บนอาคารไม้ยกพื้นสูงเป็นทรงมณฑปหรือทรงพญาธาตุแบบของชาวไทยใหญ่ เพราะเดิมทีมีชาวไทยใหญ่มาความคุมกิจการทำไม้ในเวียงต้า จึงมีจิตศรัทธาสร้างวัดไว้ ทำบุญ ทำกุศล กาลเวลาผ่านไป อาคารดังกล่าวทรุดโทรมลง ชาวบ้านจึงช่วยกันรื้อถอน แล้วเห็นว่าภาพเขียนนี้ยังดีอยู่ เลยนำมาตีปะเป็นฝาของวิหารหลังใหม่ เป็นการประหยัดงานตกแต่งอาคารหลังใหม่ ทำให้รูปเหล่านี้ไม่ได้แยกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหรือเป็นเศษไม่ทำฟืนไป"
หอแก้ว 
             
หอแก้วจัดแสดงศิลปวัตถุทางวัฒนธรรม มีทั้งนิทรรศการถาวรและหมุนเวียนที่จัดแสดงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเป็นมา และประเพณีวัฒนธรรมของล้านนา อันเป็นความภูมิใจที่ของมีค่าเหล่านี้ได้ถูกรวบรวมไว้ และรอคอยให้อนุชนได้ศึกษาประวัติความเป็นมาสืบไป
                 
ผู้ชมจะต้องเสียค่าเข้าชมเพิ่มเติมในส่วนนี้ 50 บาท และจะมีเจ้าหน้าที่แนะนำ หน้าที่โดยรวมของพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่การจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมของล้านนา ที่ไม่ได้มีการสร้างเนื้อหาเรื่อง หากแต่ยังคงเป็นการจัดแสดงวัตถุแยกเป็นชิ้น ๆ เช่น ยันต์ครูบาศรีวิชัย ตุงกระด้าง เป็นต้น
                 
อย่างไรก็ดีในส่วนถัดไป ประเด็นในการถ่ายถอดความรู้มีอยู่ด้วยกัน 2 จุดใหญ่ คือ ความรู้เกี่ยวกับไม้สัก การจัดแสดงเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าประเภทของไม้สัก อันได้แก่ สักทอง สักขี้ควาย สักหยวก สักหิน และสักไฟ จากนั้น เป็นการกล่าวถึงการขยายพันธุ์ไม้สักด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการเพาะด้วยเมล็ด เนื้อเยื่อ กล้า และปักชำ 
               
จากจุดนั้น เป็นการแสดงวัตถุที่ทำจากวัสดุไม้ อาทิ เสลี่ยง เครื่องดนตรี โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ทำด้วยไม้ อาทิ หลังคา ป้านลม ธรรมาสน์ และวัตถุที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ กัวะข้าวหรือกัวะเข้า ฮีดฝ้าย หลุกหรือระหัดวิดน้ำ สิ่งของที่จัดแสดงส่วนใหญ่มีการอธิบายชื่อเรียกของวัตถุเป็นหลัก บางชิ้นมีการกล่าวถึงหน้าที่การใช้งาน 
               
ส่วนที่น่าสนใจอีกแห่งในหอแก้วคือ ห้องจัดแสดงพระพุทธรูป เพราะมีการสร้างสถาปัตยกรรมให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงตำแหน่งการจัดวางพระพุทธรูปในโบสถ์หรือวิหาร แต่ผู้ชมกลับไม่สามารถเข้าไปชมด้านในได้ ด้วยมีการติดตั้งลูกกรง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลเรื่องความปลอดภัย 
               
โดยภาพรวมแล้ว การจัดแสดงคงเน้นในการแบ่งประเภทวัตถุที่ยังไม่สามารถสื่อถึงหน้าที่การใช้งานเดิม การจัดแสดงเป็นลักษณะของศิลปะวัตถุ นอกจากการจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมในอดีตแล้ว ยังปรากฏส่วนนิทรรศการที่จัดแสดงศิลปะวัตถุที่เป็นการสร้างสรรค์ใหม่ เช่น งานแกะสลักไม้ และห้องนิทรรศการชั่วคราวที่อยู่ในระหว่างเตรียมการจัดนิทรรศการ

ข้อมูลจาก: 
1. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 28 ตุลาคม 2547  
2. วิถี  พานิชพันธ์. จิตรกรรมเวียงต้า. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง, ม.ป.ป.
3. แผ่นพับประชาสัมพันธ์ไร่แม่ฟ้าหลวง อุทยานศิลปะและวัฒนธรรมล้านนา
4. เอกสารอัดสำเนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง, ม.ป.ป.
5. เอกสารอัดสำเนา หอคำแม่ฟ้าหลวง, ม.ป.ป.
ชื่อผู้แต่ง:
-

จาก “บ้านดำ” ถึง “วัดร่องขุ่น” ยลงานศิลป์ ถิ่นเชียงราย หลายอารมณ์ศิลปิน

หลังดื่มด่ำงานศิลป์ที่บ้านดำแล้ว เราก็ออกเดินทางไปชมความคลาสสิคของงานศิลปะโบราณแห่งล้านนากันที่ “ไร่แม่ฟ้าหลวง” หรือ “อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง” (ต.รอบเวียง อ.เมือง) การมาเที่ยวที่ไร่แม่ฟ้าหลวงเหมือนว่าได้มาซึมซับศิลปะของล้านนา ด้วยพื้นที่ 150 ไร่ภายในไร่แม่ฟ้าหลวง มีความร่มรื่นให้เดินเที่ยวชมสถานที่เก็บงานศิลปะอันทรงคุณค่ามากมาย
ชื่อผู้แต่ง:
-