บ้านตุ๊กตาบางกอกดอลล์


บ้านตุ๊กตาบางกอกดอลล์ ก่อตั้งขึ้นโดยคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล โดยแรกเริ่มคือการเป็นสถานที่ผลิตตุ๊กตา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ต่อมาจึงเริ่มทำเป็นพิพิธภัณฑ์โดยจัดแสดงตุ๊กตานานาชาติที่มาจากทั่วทุกมุมโลกของคุณหญิงและสมาชิกของครอบครัว ตุ๊กตาบางกอกดอลล์ของคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล เป็นตุ๊กตาผ้าที่การผลิตแต่ละขั้นตอนล้วนทำด้วยมือทั้งสิ้นและยังได้รับรางวัลมากมาย ตุ๊กตาที่เป็นที่รู้จักคือ ตุ๊กตาโขนรามเกียรติ์ ละครรำ ชีวิตชาวไทยในชนบท และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ รวมถึงการผลิดขึ้นตามวาระพิเศษ การจัดแสดงตุ๊กตาของพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น2 ส่วน ส่วนแรกเป็นของสะสมของคุณหญิงทองก้อนและครอบครัว ตุ๊กตารุ่นแรกๆ ของบางกอกดอลล์ ตุ๊กตาที่จัดทำขึ้นในโอกาสพิเศษ เช่น ตุ๊กตานางงามจักรวาล ตุ๊กตารูปสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอลที่ 2 เป็นต้น อีกส่วนด้านในเป็นคอลเล็กชั่นของตุ๊กตาบางกอกดอลล์ที่มีจำหน่าย

ที่อยู่:
เลขที่ 85 ซ.รัชฏภัณฑ์(ซอยหมอเหล็ง)ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์:
0-2235-3008, 02-245-3088
วันและเวลาทำการ:
8.00-17.00 น.วันจันทร์–วันเสาร์ เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ของเด่น:
ตุ๊กตาผ้าชุดรามเกียรติ ตุ๊กตานานาชาติ
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

"บางกอกดอลล์" กึ่งศตวรรษบ้านตุกตาไทย

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 26/5/2548

ที่มา: ผู้จัดการรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

"ตุ๊กตาบางกอกดอลล์" ลมหายใจของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย

ชื่อผู้แต่ง: ทีมการศึกษา | ปีที่พิมพ์: 2/7/2548

ที่มา: เดลินิวส์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

รำลึกวัยเยาว์ เข้าบ้านตุ๊กตาที่ "บางกอกดอลล์"

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 30 พฤศจิกายน 2551

ที่มา: ผู้จัดการ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

บางกอกดอลล์ บ้านตุ๊กตากลางกรุง

ชื่อผู้แต่ง: พรเพ็ญ ชินสกุลเจริญ | ปีที่พิมพ์: 15-11-2551

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจเสาร์สวัสดี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ไม่ใช่ลูกเทพ!!!แต่งามขั้นเทพ ตุ๊กตาฝีมือคนไทยดังไกลระดับโลก ที่ “บางกอกดอลล์”

ชื่อผู้แต่ง: หนุ่มลูกทุ่ง | ปีที่พิมพ์: 3 ก.ค. 2558;03-07-2015

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 23 มีนาคม 2559


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของบ้านตุ๊กตาบางกอกดอลล์

ในการแสดงความเป็นตัวตนของการเป็นคนชาติใดชาติหนึ่ง เสื้อผ้า เครื่องประดับ วิถีชีวิต เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเหล่านี้คือความภาคภูมิใจของชาติที่ดำรงมายาวนานนับจากโบราณกาล ด้วยความรักในศิลปะการทำตุ๊กตาผ้าของ คุณหญิงทองก้อน จันทวิมล จากห้องเก็บของสะสมที่ท่านรัก ปัจจุบันได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา ในความดูแลของคุณอาภัสสร์ จันทวิมล ที่พร้อมแบ่งปันความงามและคุณค่าให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส

การบิดแขนและลำตัวหรือเบนศรีษะให้เอนไปนิดเดียวก็สามารถทำให้ตุ๊กตามีชีวิตชีวาได้ นี่คือเคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งของตุ๊กตาบางกอกดอลล์ ภายในห้องจัดแสดงเราจะเห็นตุ๊กตาของบางกอกดอลล์ดูโดดเด่นแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นไทย อย่างตุ๊กตารูปโขน ลองจินตนาการถึงการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ เช่น ในฉากที่พระรามรบกับทศกัณฑ์หรือตอนจองถนนข้ามมหาสมุทร ภาพเหล่านี้ได้ถูกจำลองมาเป็นตุ๊กตาผ้าที่วิจิตรบรรจงด้วยความประณีตในการเก็บรายละเอียด งานแต่ละชิ้นจะเห็นถึงความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในนาฏศิลป์ไทย ในการแสดงท่าทางของตุ๊กตารูปโขน จะเหมือนกับการแสดงที่ใช้คนจริงที่ต้องมีการเอนศรีษะที่ถูกต้อง การทรงตัวจะต้องทิ้งน้ำหนักลงบนขาใดขาหนึ่ง ความสมจริงนี้รวมไปถึงอุปกรณ์ประกอบฉากอื่นๆ อย่างเช่นอาวุธและพาหนะ ในประเภทของละครมีหลายฉากจากวรรณคดีหลายเรื่องที่เราคุ้นเคย เช่นพระอภัยมณีตอนหนีนางผีเสื้อสมุทร พระเวสสันดรตอนชูชกขอสองกุมาร เป็นต้น 

วิถีชีวิตแบบไทยก็เป็นอีกชุดหนึ่งที่ดูแล้วเพลิดเพลินเป็นอย่างมาก เพราะสวยงามทั้งการแต่งกายที่มีหลายยุคสมัย อีกทั้งยังจัดแสดงพร้อมกับฉากเป็นเรือนไทย วิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ตุ๊กตานักดนตรีไทยก็น่าชม หรือจะเป็นแบบน่ารักอย่างแม่กำลังไกวเปลให้ลูกน้อยที่นอนอยู่ในเปล 

ตุ๊กตาของบางกอกดอลล์ที่ผลิตออกมาแบ่งได้เป็น 7 ประเภทคือ โขนและละคร ชุดชีวิตไทย ชาวเขาเผ่าต่างๆในประเทศไทย ตุ๊กตาสำหรับเด็กเล่นและหุ่นมือ ตุ๊กตาที่ผลิตในโอกาสพิเศษต่างๆ ตุ๊กตาที่ผลิตตามความต้องการของผู้สั่งทำ ตุ๊กตาเพื่อนบ้านของไทย นอกจากนี้ยังมีหัวโขนและหัวแขวนรถ สำหรับหัวโขนที่ผลิตจะใช้สวมกับตุ๊กตา หัวโขนขนาดเล็กมีความถูกต้องทั้งสีและลักษณะ มีทั้งรูปหัวพญายักษ์ เสนายักษ์ และพลยักษ์ หัวลิงมีพญาวานร สิบแปดมงกุฎ เตียวเพชร และเขนลิง หัวโขนเหล่านี้สามารถจัดเป็นกองทัพฝ่ายพลับพลาและฝ่ายกรุงลงกาได้อย่างครบครัน

การจัดแสดงตุ๊กตาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งออกเป็น2 ส่วน ส่วนแรกเป็นของสะสม อีกส่วนด้านในมีตุ๊กตาบางกอกดอลล์ที่จำหน่าย ในห้องแรกที่จัดแสดงเราจะเห็นตุ๊กตารุ่นแรกๆ ของบางกอกดอลล์ ใกล้กันเราจะเห็นตุ๊กตาที่จัดทำขึ้นในโอกาสพิเศษ อย่างเช่น ตุ๊กตานางงามจักรวาล ตุ๊กตารูปสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอลที่ 2 เป็นต้น

ถ้านับอายุของตุ๊กตาตัวแรกในบ้านพิพิธภัณฑ์หลังนี้ก็เป็นเวลา 52ปี โดยที่พุทธศักราช 2499 ที่พักชั้นสาม อาคาร 9 ถนนราชดำเนินคือสถานที่แรกของการผลิตตุ๊กตารุ่นแรกๆ ของคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล นับจากนั้นมาไม่เพียงตุ๊กตาของคุณหญิงที่เผยโฉมด้วยท่วงท่าลีลาสง่างามอวดสายตาผู้คนเท่านั้น บ้านตุ๊กตาหลังนี้ยังมีสมาชิกใหม่เป็นตุ๊กตานานาชาติที่มาจากทั่วทุกมุมโลกโดยมาจากการที่คุณหญิงและสมาชิกของครอบครัวได้เลือกซื้อมาในการเดินทางไปต่างประเทศ การได้รับเป็นของขวัญจากมิตรสหายคนไทยและต่างประเทศ บางส่วนมีคนนำมาแลกเปลี่ยนกับตุ๊กตาของบางกอกดอลล์

ตุ๊กตาเหล่านี้มีชีวิต คำเปรียบเปรยนี้ไม่เกินความจริง เมื่อสายตาของเราได้พบกับตุ๊กตาบางตัวราวกับว่าเขาเรียกให้เราเข้าไปใกล้ ตุ๊กตาสวมชุดกระโปรงยาวสีน้ำเงินลายดอกไม้ ผมสีทอง หน้าตามีเอกลักษณ์มาจากนอร์เวย์ ตุ๊กตาผู้ชายโพกศีรษะสวมชุดแบบชายชาวตุรกีมาจากตุรกี เขาเป็นช่างทำรองเท้า อ้อ…นี่มีวัวกระทิง พวกเขามาจากสเปน นี่เป็นตุ๊กตาราชินีของประเทศอังกฤษ ตุ๊กตาครอบครัวชนบทมาจากออสเตรีย ตุ๊กตาแม่ลูกจากรัสเซีย ตุ๊กตาคุณตาคุณยายจากฝรั่งเศส ตุ๊กตาผู้หญิงสวยสวมกระโปรงยาวสีน้ำเงินกับหมวกปีกกว้างสีเดียวกัน ไม่เพียงแต่ตุ๊กตาที่มาจากยุโรปเท่านั้น ยังมีตุ๊กตาอาหรับที่สวยงามแปลกตา อาทิเช่นจากอียิปต์ โอมาน อิสราเอล ในอากัปกิริยาที่เป็นธรรมชาติตามวิถีชีวิตของผู้คนแถบนั้น หรือจะเป็นตุ๊กตาที่มาจากฝั่งเอเชียก็มีให้ชม อย่างตุ๊กตาจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เนปาล มาเลเซีย เป็นต้น

ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้เดินชมคือ ตุ๊กตาเหล่านี้เปรียบเหมือนตัวแทนของผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ทุกคนแต่งกายงดงามและอยู่ในอารมณ์ของความรื่นรมย์ ไม่มีตุ๊กตาตัวไหนที่อมทุกข์ บางตัวยิ้มแย้ม ขณะที่บางรอยยิ้มนั้นฝังอยู่ในสีสันและรอยปักบนเนื้อผ้า จริงๆ แล้วในโลกใบนี้ความแตกต่างทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมคือสีสัน คือสิ่งแต่งแต้มให้อารยธรรมของมนุษย์ในศตวรรษนี้มีความสวยงาม

ดังนั้นเราจึงไม่แปลกใจที่ตุ๊กตาของบางกอกดอลล์ได้ทำหน้าที่อันมีเกียรติในฐานะสื่อวัฒนธรรมเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากในปี พ.ศ.2502 ได้ผลิตตุ๊กตาขนาด12 นิ้ว เป็นตุ๊กตาจับคู่กันตามความต้องการของราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานแก่เจ้าหญิงอเล็กซานดร้าแห่งเค้นท์ ในวโรกาสเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกและในพ.ศ. 2503 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ทรงใช้ตุ๊กตาบางกอกดอลล์เป็นของขวัญพระราชทานแก่บุคคลสำคัญของประเทศเหล่านั้น 

หากยังมีข้อสงสัยว่าทำไมตุ๊กตาบางกอกดอลล์มีชีวิต หนึ่งในคำตอบคือ เพราะว่าพิพิธภัณฑ์นี้มีชีวิต ในห้องเล็กๆ อีกห้องหนึ่ง ภายในห้องมีชิ้นส่วนตุ๊กตา ขวดกาว ผ้าไทยตัดตามแบบชิ้นเล็กๆ ตุ๊กตาที่ยังประกอบไม่เสร็จ ช่างทำตุ๊กตายังคงผลิตตุ๊กตา เป็นอยู่เช่นนี้นับตั้งแต่ปีแรกของตุ๊กตาบางกอกดอลล์ คุณป้านรี ฑีฆายุ ช่างทำตุ๊กตาของคุณหญิงได้เล่าให้ฟัง การทำตุ๊กตาจะมีหลายแผนก แบ่งหน้าที่กันทำชิ้นส่วน ทำแขน ลำตัว แล้วเอามาประกอบกันตามแบบที่คุณหญิงได้สร้างไว้ ตุ๊กตาจะมี2 ขนาดคือ 8นิ้วกับ 12 นิ้ว คุณป้าเป็นช่างทำตุ๊กตามาตั้งแต่อายุ 20 ปี ทำมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ โดยคุณหญิงเป็นผู้สอน ทุกวันนี้เป็นคุณป้าทำหน้าที่ถ่ายทอดวิธีการทำตุ๊กตาให้กับช่างรุ่นใหม่ๆ 

ในการชมพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาบางกอกดอลล์ ผู้เข้าชมควรเผื่อเวลาให้มากสักหน่อยโดยเฉพาะคนที่รักตุ๊กตารับรองว่าคุณจะไม่เคยเห็นตุ๊กตาที่สวยงามจำนวนมากเท่านี้มาก่อน ไม่เพียงความสวยงามเฉพาะแต่ละตัวเท่านั้น ยังมีเรื่องราวในแต่ละฉากของวรรณคดี กลิ่นไอของวัฒนธรรมอันหลากหลาย การได้ย้อนรำลึกถึงวิถีชีวิตในอดีต พร้อมกันกับความรู้สึกร่วมภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาในสังคมไทยที่อบอวลด้วยวัฒนธรรมอันงดงาม 

เรื่อง/ภาพ: สาวิตรี ตลับแป้น 

ข้อมูลจากสำรวจภาคสนาม : 22 พฤษภาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-

ไม่ใช่ลูกเทพ!!!แต่งามขั้นเทพ ตุ๊กตาฝีมือคนไทยดังไกลระดับโลก ที่ “บางกอกดอลล์”

ท่ามกลางกระแส “ตุ๊กตาลูกเทพ” ที่โด่งดังกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ทริปนี้ฉันจึงขอร่วมเกาะกระแส ด้วยการพาไปชมตุ๊กตา(จริงๆ)ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยฝีมือขั้นเทพอันสวยงามประณีตวิจิตร จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลในระดับโลกที่ “บางกอกดอลล์”กัน “บางกอกดอลล์” หรือ “พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา” สถานที่ท่องเที่ยวที่เพื่อนๆ นักตะลอนเที่ยวเมืองกรุงพูกถึงอยู่บ่อยๆ โดยเป็นแหล่งจัดแสดงตุ๊กตานานาชนิด หลากหลายรูปแบบให้ได้ชม
ชื่อผู้แต่ง:
-

รำลึกวัยเยาว์ เข้าบ้านตุ๊กตาที่"บางกอกดอลล์"

นี่เป็นครั้งแรก ที่ฉันได้เดินทางมาที่ซอยหมอเหล็ง หรือชื่ออย่างเป็นทางการฟังดูดีว่าซอยรัชฏภัณฑ์ ในย่านมักกะสัน ซอยเดียวกับบ้านของอดีตนายก ชวน หลีกภัย นั่นแหละ ฉันมาที่แห่งนี้ก็เพราะได้ยินกิตติศัพท์ของ"บางกอกดอลล์" (Bangkok Doll)ที่แปลตรงตัวได้ว่า ตุ๊กตากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงบรรดาตุ๊กตาต่างๆ มากมายทั้งของไทยและตุ๊กตานานาชาติ ซึ่งถึงแม้อายุฉันจะเลยวัยเล่นตุ๊กตามาหลายปีดีดักแล้วก็ตาม
ชื่อผู้แต่ง:
-

Bangkok Dolls Factory & Museum พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา

Bangkok Dolls ก่อตั้งโดยคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล เมื่อปี พ.ศ.2499 ซึ่งคุณหญิงได้ไปเรียนประดิษฐ์ตุ๊กตาจากโรงเรียนโอซาวาดอลล์ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาประยุกต์ให้เข้ากับความเป็นไทย ตุ๊กตาของที่นี่เป็นที่รู้จักและโด่งดังนานาชาติและนักสะสมตุ๊กตา สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งสถานที่จัดแสดงและโรงงานผลิต ตุ๊กตาชนิดต่างๆ การผลิตจะทำด้วยมือทุกขั้นตอนโดยใช้วัสดุภายในประเทศเป็นหลัก ตุ๊กตาที่ผลิตออกมามีด้วยกันหลายประเภท
ชื่อผู้แต่ง:
-