พิพิธภัณฑ์ม้ง บ้านห้วยน้ำไซ


ที่อยู่:
บ้านห้วยน้ำไซ ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก 65120
โทรศัพท์:
08-3330-4237 คุณประชา การุญบริรักษ์
วันและเวลาทำการ:
เสาร์-อาทิตย์ หรือแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
10 บาทต่อคน
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ม้ง บ้านห้วยน้ำไซ

ถิ่นที่อยู่ของชาวม้งแต่เดิมอยู่ในเขตจีน  ม้งทำสงครามกับจีนเสมอมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ม้งอพยพลงใต้และตะวันตกเฉียงใต้  ม้งบางส่วนจึงอพยพเข้าสู่บริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ลาว รัฐฉานในพม่าและไทย  ม้งกลุ่มแรกที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยอยู่ในราวปี พ.ศ. 2383-2413 (ค.ศ.1840 -1870) และอพยพเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้นราว พ.ศ.2503 - 2520 อันเนื่องมาจากสงครามภายในลาว เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในระยะแรก ม้งแยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามภูเขาสูงในเขตจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ น่าน แพร่ เชียงราย ตาก และเชียงใหม่ จากนั้น ขยายไปจังหวัดพะเยา สุโขทัย กำแพงเพชร แม่ฮ่องสอน และลำปาง

 ม้งที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอนครไทย เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากดอยปัว จังหวัดน่าน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2493 เพราะต้องการหาพื้นที่อุดมสมบูรณ์แห่งใหม่ เริ่มต้นจากการส่งคณะเดินทางไปเลือกพื้นที่ก่อน โดยเดินทางไปตามสันเขาตั้งแต่จังหวัดน่านมาจนถึงจังหวัดพิษณุโลก และพบว่าบริเวณพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัย คือ บริเวณภูหินร่องกล้าในเขตอำเภอนครไทย จากนั้น มีครอบครัวม้งประมาณ 300 ครอบครัวเดินทางอพยพมา โดยเดินทางมาตามสันเขาใช้เวลาประมาณ 45 วัน จึงมาถึงภูหินร่องกล้า และจัดตั้งหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน หมู่บ้านละประมาณ 100 ครอบครัว และหมู่บ้านห้วยน้ำไซ เป็นหมู่บ้านม้งแห่งหนึ่งในจำนวนนั้น


ม้งบ้านห้วยน้ำไซส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็น อาชีพหลัก มีการเพาะปลูกได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มะม่วง มะขาม ขิง กระหล่ำปลี เป็นต้น และเลี้ยงสัตว์ เช่นหมู ไก่ ม้าต่าง เป็นต้น เดิมเลี้ยงไว้ขาย (หรือฆ่ากินในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือตอนเตรียมฟันไร่เกี่ยวข้าว) เนื่องจาก ม้งบริโภคสัตว์ป่าเป็นอาหารหลัก แต่ปัจจุบันจะเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคด้วย เพราะสัตว์ป่าบริเวณภูหินร่องกล้าลดน้อยลง ม้งทุกคนจะมีไร่ของตนเองตั้งแต่ 1 ไร่ไปจนถึง 70 ไร่ ที่ดินจะอยู่ทั้งในบ้านห้วยน้ำไซ และนอกหมู่บ้าน วิธีทำไร่ คือจะถางป่าพื้นที่ที่เลือกไว้ในฤดูแล้ง ถางหมดแล้วจะทิ้งไว้ให้แล้ง จากนั้นจะเผา เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจึงเริ่มเพาะปลูก

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เปิดดำเนินการราวปี 2538  โดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ (ในขณะนั้น) โดยจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของชาวม้ง  ต่อมาศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ได้ย้ายออกไป ทางชุมชนและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ต่อไป  โดยย้ายข้าวของออกมาจัดแสดงในอาคารที่เป็นสำนักงานเดิมของศูนย์ฯ  ส่วนอาคารหลังเก่าได้รื้อทิ้งไป หลังจากศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาได้ย้ายออกไป 

ข้าวของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เครื่องมือดักสัตว์ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องประกอบพิธีกรรม เครื่องดนตรี อาทิเช่น อานใส่หลังม้าสำหรับบรรทุกของ  เขาควายสำหรับใส่ดินปืน หน้าไม้  หลัวจั๊วเก๋า(เชือกดักจับสัตว์)  เค้งหรือแคนม้ง  โม่งแข่(เครื่องมือที่ใช้ทำสัญลักษณ์ตัดสินคคีความ)  หวู(เคียวเกี่ยวข้าว)  ช้อนตักแกงที่ทำจากไม้ไผ่  ตาชั่ง  จอบ  ทั้งนี้มีป้ายคำอธิบายภาษาไทยและคำเรียกของคนม้งคู่กัน

นอกจากนี้บริเวณผนังอาคาร มีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับ ประวัติการก่อต้ังหมู่บ้าน ภาพถ่ายเก่า เช่น ภาพครอบครัว ภาพขบวนม้าต่าง  ภาพกีฬาและการละเล่นต่างๆ ของคนในหมู่บ้าน เช่น กีฬาวิ่งแบกก๋วย ยิงหน้าไม้  ขว้างสากมอก เป็นต้น

ในแง่ประวัติศาสตร์ชาวบ้านหลายคนยังมีความทรงจำ เกี่ยวกับการร่วมต่อสู้กับหมู่นักศึกษาที่หนีเข้าป่าสมัย 16 ตุลา ระหว่างอธิบายข้าวของเครื่องใช้  ก็จะเล่าถึงวีรกรรมต่างๆ ของนักศึกษาคนเมืองที่ไม่เคยชินกับการอยู่ป่า เช่น การไม่รู้จักวิธีปลูกข้าวไร่ตามไหล่เขา ทำให้นักศึกษาบางคนหงายหลังตกเขาก็มี  หากใครไปเยี่ยมเยือนภูหินร่องกล้า ก็สามารถแวะเข้ามาชมวิถีชีวิตคนม้งได้ที่หมู่บ้านห้วยน้ำไซ แห่งนี้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน

ข้อมูลจาก:
สำรวจภาคสนาม วันที่ 10 มิถุนายน 2555
ฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ชื่อผู้แต่ง:
-