พิพิธภัณฑ์กรมสารวัตรทหารบก


สารวัตรทหารบกหรือ สห.ทบ. เป็นฝ่ายกิจการพิเศษ ขึ้นตรงกับกองทัพบก มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาระเบียบวินัย การจราจรในกิจการทหาร การป้องกันอาชญากรรมในกองทัพบก ฯลฯ พิพิธภัณฑ์ของกรมการสารวัตรทหารบก เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่นำเสนอเฉพาะข้าวของวัตถุเครื่องใช้ของเหล่าสห.ทบ. อาทิ เครื่องแบบทหารต่างๆ ทั้งแบบทั่วไป ชุดพรางที่ใช้ฝึกเวลาออกสนาม เครื่องแบบที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจ นอกจากนี้ยังมีอาวุธประจำตัวของสารวัตรทหาร ได้แก่ โล่ กระบอง กระบองไฟฟ้า กระบองตาข่าย ปืนพก เป็นต้น

ที่อยู่:
เลขที่ 75/3 ถ.โยธี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์:
0-2354-4403 -12
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
pmdept@hotmail.com
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์กรมสารวัตรทหารบก

หลายคนคงคุ้นตากับคนในเครื่องแบบที่สวมปลอกแขนสีแดง ที่มีอักษรย่อตัวโตเขียนว่า สห ผู้ปฏิบัติงานด้วยความเคร่งครัดเหล่านี้ ภารกิจและหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการนำขบวนและอารักขาบุคคลสำคัญ พวกเขาเป็นใคร มีที่มาอย่างไร

สารวัตรทหารบกหรือ สห.ทบ. เป็นฝ่ายกิจการพิเศษ ขึ้นตรงกับกองทัพบก มีหน้าที่วางแผน ประสานงาน และกำกับการเกี่ยวกับการรักษาระเบียบวินัย การจับกุมทหารกระทำความผิด การเรือนจำ การจราจรในกิจการทหาร การรักษาความปลอดภัย การฝึกและการศึกษาวิชาการเหล่าทหารสารวัตร การสืบสวนสอบสวนคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหาร การป้องกันและวิจัยอาชญากรรมในกองทัพบก

ก่อนจะมาเป็นสารวัตรทหารบกอย่างในปัจจุบัน ทหารสารวัตร ที่เรียกกันในอดีตได้ถือกำเนิดในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปีพ.ศ. 2440 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารแผนปัจจุบันจากต่างประเทศในทวีปยุโรป และเสด็จกลับมาเข้ารับราชการในกระทรวงกลาโหม ทรงปรับปรุงกิจการทหารตามแบบอย่างในต่างประเทศ มีการจัดเหล่าทหารต่างๆ ตามแบบนานาอารยะประเทศ จนสามารถเรียกว่าเป็น“กำลังกองทัพบก” ได้ให้มีการใช้ คำบอก คำสั่งที่เปลี่ยนจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย มีการกำหนดเครื่องแบบ เครื่องหมายสังกัด ให้เป็นระเบียบแน่นอนรวมทั้งทรงตรา กฎ ข้อบังคับ ระเบียบและวินัย ซึ่งทหารจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด จึงมีการจัดตั้ง ทหารสารวัตร ขึ้นมาเพื่อทำการตรวจตรา ดูแลระเบียบวินัยของทหารบกภายนอกกรมกอง ตามแบบอย่างของต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่ได้มีการจัดตั้งเหล่าทหารสารวัตรขึ้น คงให้หน่วยและกองทหารต่างๆ จัดเวรผลัดเปลี่ยนกันตรวจตราบริเวณตลาด ชุมชน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกวดขันทหารให้อยู่ในระเบียบวินัย โดยแต่งตั้ง สารวัตรใหญ่ทหารบก เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติ

กิจการสารวัตรทหาร ได้รับการปรับปรุงมาโดยตลอดจนถึงปีพุทธศักราช 2467 ได้กำหนดให้ทุกมณฑลทหารบก จัดสารวัตรทหารขึ้น เพื่อทำการตรวจตราภายในท้องที่แต่ละมณฑล สารวัตรทหารเหล่านั้นประดับปลอกแขนสีแดงที่แขนขวา มีจักรสีทองขนาดย่อมติดทับปลอกแขน เป็นเหตุให้ได้รับสมญานามว่า พวกทหารแขนแดง 

สารวัตรทหารได้สร้างเกียรติภูมิอย่างน่าจดจำในสองสมรภูมิรบ เรื่องราวนี้ได้เขียนเล่าไว้ในพิพิธภัณฑ์กรมการสารวัตรทหารบก สมรภูมิแรกคือวีรกรรมปราบเงี้ยว ปี พ.ศ.2445 เกิดผู้ร้ายเงี้ยวคบคิดกันเป็นขบถในมณฑลมหาราษฏร กรมยุทธนาธิการมีคำสั่งให้ พ.ต.หลวงอรรคสรกิจ (อิ่ม ธรรมานนท์) เป็นสารวัตรใหญ่คนแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) ภายหลังได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์เป็น พ.อ. พระยาวิเศษ สัจธาดา คุมกำลังสารวัตรทหารบกกรุงเทพฯ ไปปราบขบถจนสงบราบคาบลง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2451 รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรมยุทธนาธิการตั้งสารวัตรใหญ่ทหารบกขึ้น สำหรับมณฑลทหารบกกรุงเทพฯ พระราชทานอนุญาตให้ พ.ท. พระวิไชยยุทธเดชาคณี (จอน วิภาตะทรรศน์) สำรองราชการกรมยุทธนาธิการ

อีกสมรภูมิคือสมรภูมิเวียดนาม เริ่มจากปีพ.ศ. 2510 ได้เกิดสงครามในประเทศเวียดนาม เป็นสงครามระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์ จากการแบ่งประเทศเเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ จึงมีการสู้รบชิงดินแดนเกิดขึ้น สหรัฐอเมริกาช่วยเวียดนามใต้ทำการรบ ประเทศไทยเป็นภาคีร่วม จึงเข้าร่วมรบด้วย การรบในสมรภูมิเวียดนาม กองทัพไทยจัดให้มีสารวัตรทหารบกไทย เพื่อปฏิบัติภารกิจในการรักษาระเบียบวินัย การรักษาความปลอดภัย การเชลยศึก การจราจรและการเคลื่อนย้ายทางทหาร สารวัตรทหารบกจึงได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญเสียสละ จนได้รับคำชมเชยและเหรียญกล้าหาญ อันนำมาสู่เกียรติยศให้กับกองทัพไทย ทำให้เหล่าทหารสารวัตรได้รับความเชื่อถือจากชาติภาคีเป็นอย่างยิ่ง

ผู้กองจอยหรือ ร.อ. หญิง กนต์ธร หมวดเหล็ก ได้นำชมพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับอธิบายว่าพิพิธภัณฑ์ของกรมการสารวัตรทหารบกเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่นำเสนอเฉพาะสิ่งที่อยู่ในเหล่าสห.ทบ.คนที่เข้ามาชมจะได้เห็นเครื่องแบบและอาวุธที่ใช้ประจำตัว เครื่องแบบจะเป็นชุดทหารแบบทั่วไป ชุดพรางที่ใช้ฝึกเวลาออกสนาม ส่วนเครื่องแบบที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจ มีความแตกต่างจากเครื่องแบบปกติคือจะสวมปลอกแขนสีแดงมีเขียนว่า ส ห รัดเข็มขัดสีเขียว สวมรองเท้าแบบคอมแบท ถ้าเป็นการขี่มอเตอร์ไซด์นำขบวนก็จะสวมหมวกกันน็อค รองเท้าจะเป็นรองเท้าบู๊ตสูง 

ปัจจุบันมีหมวดสห.หญิง เพิ่งจัดตั้งเมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งเครื่องแบบของสห.หญิงก็มีให้เห็นภายในห้องพิพิธภัณฑ์ หน้าที่ของสห.หญิงคือการอารักขาบุคคลสำคัญอย่างภารกิจตามเสด็จสมเด็จพระเทพฯ อารักขาภรรยาท่านผบ.ทบ. หรือเป็นอาคันตุกะมาจากต่างประเทศที่เป็นผู้หญิง 

นอกจากเครื่องแบบก็มีอาวุธประจำตัวที่สารวัตรทหารใช้กัน ได้แก่ โล่ กระบอง กระบองไฟฟ้า กระบองตาข่าย ปืนพก ถ้าใครยังไม่เคยเห็นกระบองแบบต่างๆ สามารถดูเปรียบเทียบกันได้ในตู้ที่จัดแสดงไว้ อย่างกระบองตาข่าย ผู้กองจอยอธิบายว่าจะใช้จับผู้ร้าย ยิงออกมาจะเป็นตาข่าย ถ้าเป็นของเก่าที่จัดแสดงก็จะมีหมวกเหล็กแบบที่ทหารสมัยก่อนใช้ ตัวเข็มขัดสมัยก่อนจะเป็นสีขาว เครื่องแบบสมัยก่อนจะเป็นสีน้ำตาลและสีเขียวอ่อนซีดๆ สิ่งของพวกนี้ได้มาจากคนในเหล่าที่ได้เกษียนไปแล้ว โดยไปขอรวบรวมมา ที่น่าสนใจอีกอย่างคือภาพประวัติศาสตร์ ซึ่งแขวนติดผนังอยู่ 2 ภาพ ปกติภาพเขียนเราจะคุ้นเคยกับภาพทิวทัศน์ ภาพสถานที่ ภาพบุคคล แต่ที่นี่คือภาพเขียนสมรภูมิรบของทหารที่ได้เสียสละปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติ

คนที่เข้ามาชมสิ่งของในพิพิธภัณฑ์นี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างนักเรียนนายสิบของเหล่า คือเตรียมขึ้นสิบตรีจะเข้ามาดู ถ้าเป็นคนข้างนอกก็จะเป็นนักเรียนนายร้อยที่กำลังจะเลือกเหล่าว่าจะไปลงที่เหล่าไหน อีกกลุ่มที่จะมาคือคนที่จบปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ กลุ่มนี้จะมีภารกิจที่กองสืบสวนคดีอาญาในเขตอำนาจศาลทหาร จะมีจากต่างจังหวัดเข้ามาดูบ้างเนื่องจากเหล่าสห.จะมีอยู่ทั่วประเทศ ที่นี่จะมี 3-4 หลักสูตร คนที่มาจากต่างจังหวัดจะมาพักภายในกรมฯ และจะมาใช้ห้องสมุดรวมถึงเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ด้วย โดยส่วนของพิพิธภัณฑ์จะรวมอยู่กับห้องสมุด ในสังกัดกองวิชาการ สำหรับผู้ที่สนใจควรติดต่อล่วงหน้า

สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน/ ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามวันที่ 3 มิถุนายน 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-