พิพิธภัณฑ์ชาวไทยภูเขา โรงเรียนบ้านมูเซอ


พิพิธภัณฑ์ชาวไทยภูเขา หรือพิพิธภัณฑ์ชนเผ่า 4 เผ่า โรงเรียนบ้านมูเซอ ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิดของผอ.วัฒนา วัชรกิจ เนื่องจากเห็นว่าชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงเรียนและนักเรียนที่มาเรียนนั้น ประกอบไปด้วยชนเผ่าจำนวน 4 ชนเผ่า ได้แก่ เผ่าม้ง เผ่ามูเซอดำ เผ่ามูเซอเหลือง และเผ่าลีซอ จึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมา โดยการจัดแสดงแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องแรกจัดแสดงเรื่องราวของชนเผ่ามูเซอดำและชนเผ่าม้ง ส่วนห้องที่สองจัดแสดงเรื่องราวของชนเผ่ามูเซอเหลืองและชนเผ่าลีซอ โดยแต่ละส่วนจะมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และวิถีชีวิตของชนเผ่านั้น ๆ นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังมีที่พักในรูปแบบ Home Stay ของแต่ละชนเผ่า ไว้บริการนักท่องเที่ยวโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แล้วแต่การสนับสนุนของนักท่องเที่ยวเอง

ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านมูเซอ เลขที่ 4 หมู่ 7 ตำบลแม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก 63000
โทรศัพท์:
055-507-055
วันและเวลาทำการ:
ตามวันและเวลาราชการ หรือหากเดินทางมาเข้าชมในวันหยุดสามารถติดต่อกับทางโรงเรียนไว้ล่วงหน้าได้
ค่าเข้าชม:
คนละ 20 บาท
ปีที่ก่อตั้ง:
2549
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ชาวไทยภูเขา โรงเรียนบ้านมูเซอ

พิพิธภัณฑ์ชาวไทยภูเขา หรือพิพิธภัณฑ์ชนเผ่า 4 เผ่า โรงเรียนบ้านมูเซอ จัดสร้างขึ้นจากแนวความคิดของผอ.วัฒนา วัชรกิจ เนื่องจากเห็นว่าชุมชนที่อยู่รอบโรงเรียนนั้นประกอบไปด้วยชนเผ่าจำนวน 4 ชนเผ่าด้วยกัน ได้แก่ เผ่าม้ง เผ่ามูเซอดำ เผ่ามูเซอเหลือง และเผ่าลีซอ ซึ่งนักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนก็เป็นคนที่มาจากชนเผ่าเหล่านี้ ดังนั้นท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังจะสังเกตเห็นได้จากการแต่งตัวของนักเรียนทำให้ ผ.อ.และคณะครูของโรงเรียนมีแนวความคิดที่อยากจะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำ เผ่าต่างๆ ไว้ นอกจากนี้ประเด็นสำคัญคือ อยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมของตนเอง จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมา ในปีพ.ศ.2548 แล้วเสร็จในปี 2549 โดย รวมทั้งได้มีการบูรณาการเข้าไปในการเรียนการสอนกล่าวคือสนับสนุนให้เด็กฝึก การเป็นผู้นำโดยการฝึกให้เด็กนำเสนอในรายละเอียดของข้อมูลชนเผ่าตัวเอง และได้เปิดให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจเข้าศึกษาและเยี่ยมชม
 
พิพิธภัณฑ์ชาวไทยภูเขา 4 เผ่า จัดแสดงอยู่ภายในอาคารของโรงเรียนบ้านมูเซอ การจัดแสดงแบ่งเป็น 2 ห้อง โดยห้องแรกจัดแสดงเรื่องราวของชนเผ่ามูเซอดำ และเผ่าม้ง ส่วนห้องที่สองจัดแสดงเกี่ยวกับชนเผ่ามูเซอเหลือง และชนเผ่าลีซอ โดยมีรายละเอียดของการจัดแสดงดังนี้
 
ชนเผ่ามูเซอดำ มีการจัดแสดงสิ่งของสิ่งของเครื่องใช้ ยกตัวอย่างเช่น เมล็ดพันธุ์พืช ได้แก่ อิเน๊าะป่ายหรือลูกสะบ้า ก่อแพหรือไม้หอม (เครื่องเทศใช้ประกอบอาหาร) ปี่ปะนีหรือสมุนไพรบำรุงน้ำนมสำหรับผู้หญิง นะซึหรือสมุนไพรใช้ดองเหล้าหรือต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเหล้า การจัดแสดงชุดเครื่องแต่งกายหรือชุดม้งของชายและหญิง รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและเครื่องมือในการประกอบอาชีพของ ชาวม้ง ได้แก่ จี๊กู่หรือจอบ เล้ขุ่ยหรือที่ดายหญ้าใช้คู่กับเล้ขุ่เบ หวะพูหรือขวาน อุ๊จื่อชอหม่อหรือหมวก หลอกก้อหรือเคียว อ่าทอหรือมีด อ๊าถ่อผื่อหรือปลอกมีด หน่อคู่มาหรือแคนใหญ่หัวน้ำเต้า ค้าวู่หรือตระกร้า อาแข่ วาบุก ฮ่อมา ลือ จาตือ เว หรือกระบอกไม้ไผ่ใช้ใส่ข้าวกิน นอกจากนี้มีการจำลองบ้านมูเซอดำ ซึ่งเป็นบ้านทำด้วยไม้ไผ่ ชั้นเดียวยกพื้น หลังคาบ้านมุงด้วยหญ้าคา และลานจะคึ ซึ่งเป็นลานสำหรับใช้เต้นรำในงานประเพณีสำคัญของชาวมูเซอดำ
 
ชนเผ่าม้ง มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ถ้วยโบราณ ที่เก็บจานหรือเต้อกล๋า แคนม้งหรือดกร้ง ที่ชาวม้งใช้เล่นในงานต่างๆ เช่น งานศพ วันปีใหม่ เป็นต้น รางข้าวหมูหรือต๊างบั่ว กระทอม้งหรือเก่อ (เครื่องจักรสานใช้ใส่ของ) หม้อหรือเหล้าเก๊า ที่ดักนกหรือหรือเต้อจว๊ะโหน่ง เหล็กใช้สำหรับเจาะรูหรือเหล่าจ่าง จอบดายหญ้าหรือเทรา ครกตำพริกหรือไต่ขอจ๊อ หน้อดินหรือโต่ง ที่สะพายไก่หรือเต้อขั่วกัว เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงลวดลายการปักผ้าใยกัญชง ของเล่นต่างๆ เช่น ลูกข่าง (ของเล่นของเด็กผู้ชาย) ลูกช่วง (ชาวม้งจะโยนลูกช่วงกันในช่วงปีใหม่ โดยเป็นการโยนลูกช่วงกันระหว่างชายหญิง เพื่อทำความรู้จักกัน)และการจัดแสดงบ้านจำลองของชาวม้ง ซึ่งจะเป็นบ้านแบบไม่ยกพื้นสร้างจากไม้ไผ่ มุงด้วยใบจาก และมีการแขวนไม้ไผ่สานลักษณะคล้ายเครื่องราง เพื่อให้ทราบว่าบ้านนั้นกำลังทำพิธีกรรม และจะไม่ออกมาต้อนรับใคร ตลอดจนไม่ขานรับ เพราะมีความเชื่อว่าถ้าขานรับหรือออกมาจากบ้านจะถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง ซึ่งจะมีการทำพิธีกรรมนี้ในแต่ละบ้าน ปีละ 1-2 ครั้ง
 
ชนเผ่ามูเซอเหลือง จัดแสดงเครื่องแต่งกายและสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ละสาหรือกระเป๋าของชนเผ่ามูเซอเหลือง ล่ะหู่ชุหรือชุดของผู้ชายชาวมูเซอเหลือง อ่ะปุ๊ห่ะหรือชุดของผู้หญิงชาวมูเซอเหลือง กะทอ (กะทู) หรือตะกร้าใส่ของแบกขึ้นหลัง อ่ะแตหรือมีด ท่ะเก่าะหรือที่ดายหญ้า จอลูหรือกระดิ่งวัว อะนะหรือปืนแก๊ป แห่ก๊ะหว่าหรือที่ดักไก่ป่า นอกจากนี้มีการจำลองบ้านของชาวมูเซอเหลืองซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านไม้ไผ่ ชั้นเดียวยกพื้น หลังคาทรงสูงมุงด้วยหญ้าคา
ชนเผ่าลีซอ จัดแสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวลีซอ ได้แก่ ชูป้ามีชุซึ่งเป็นชุดลีซอของผู้ชาย จ่ามือบีชุหรือชุดลีซอสำหรับผู้หญิง กระเป๋าของชาวลีซอ เครื่องประดับ เช่น เสื้อเกราะ (ใส่ในงานสำคัญ) สร้อยเงิน หมวก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจำลองบ้านลีซอ ซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านไม้ไผ่ชั้นเดียว ไม่ยกพื้น หลังคามุงด้วยหญ้าคา และมีการจัดหิ้งผีไว้บริเวณกลางบ้าน
   
ทุกวันศุกร์ โรงเรียนจะให้นักเรียนแต่งชุดประจำเผ่าของตัวเอง และมีการจัดแสดงของชนเผ่าต่างๆ เช่น การเล่นลูกช่วง เล่นลูกข่าง ของเผ่าม้ง การเต้นจะคึในแบบของชนเผ่าลีซอ และในแบบของชนเผ่ามูเซอเหลือง
   
นอกจากนี้ ทางโรงเรียนได้จัดทำที่พักแบบ Home Stay ของแต่ละชนเผ่า (มูเซอดำ ม้ง ลีซอ และมูเซอเหลือง) ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างอาคารเรียนไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชม พักโดยไม่คิดค่าบริการ (แล้วแต่การสนับสนุนจากนักท่องเที่ยว)

ข้อมูลจาก: เวบไซต์พิพิธภัณฑ์ชุมชนตาก [http://www.cmtak.com/index.php?menu=museum&museum_id=20 accessed 20090224]
ชื่อผู้แต่ง:
-