พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2529 โดยกรมศิลปากรได้ขออนุมัติใช้อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ ปีพุทธศักราช 2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ และเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ประกอบไปด้วยอาคารสำคัญ 2 หลัง ได้แก่อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร (ศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรี) และอาคารจัดนิทรรศการพิเศษ อาคารสำนักงาน และคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรที่เน้นเรื่องราวของท้องถิ่น ทั้งทางด้านธรณีวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลป วัฒนธรรมพื้นบ้าน ชาติพันธุ์วิทยา แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี

ที่อยู่:
ถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี 70000
โทรศัพท์:
0-3232-1513
วันและเวลาทำการ:
เปิดบริการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุสามเณรและนักบวชในศาสนาต่างๆ ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2526
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

อาคารจัดแสดง นิทรรศการถาวร แต่เดิมเป็นศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลราชบุรี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยใช้เป็นทั้งที่ว่าการเมืองราชบุรีและที่ว่าการมณฑลราชบุรีในสถานที่เดียวกัน ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)เมื่อมีการประกาศยกเลิกระบอบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และมีการจัดระเบียบการปกครองขึ้นใหม่เป็นจังหวัดและอำเภอ อาคารหลังนี้ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรีตาม ลำดับ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2524 จึงได้มีการย้ายไปใช้ศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังใหม่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้จัดสร้างขึ้นที่บริเวณถนนสมบูรณ์กุล อันเป็นสถานที่ตั้งปัจจุบัน
 
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นโบราณสถานของชาติในปี 2520 และได้เริ่มเข้ามาสำรวจเพื่อขอใช้อาคารและบริเวณพื้นที่โดยรอบจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ในปี พ.ศ. 2526 การบูรณะซ่อมแซมของกรมศิลปากรแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 และในปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรได้เริ่มเข้าใช้อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิมเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 เมื่อได้มีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในอาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิมเสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์ กรมศิลปากรจึงได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2534 และทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการถาวรของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรีอีกครั้งหนึ่ง ในโอกาสที่ทรงนำนักเรียนนายร้อยจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เดินทางทัศนศึกษาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2536
 
ลักษณะของอาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิมที่ใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร เป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบการสร้างมาจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ที่ได้รับความนิยมนำมาสร้างกันอย่างแพร่หลายในช่วงรัชกาลที่ 5 - 6 โดยมีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 30.00 เมตร ยาว 57.00 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 1,710 ตารางเมตร ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องว่าว และมีพื้นที่ว่างสำหรับตกแต่งเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับอยู่บริเวณด้านในอาคาร
 
อาคารหลังที่สองของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นอาคารส่วนบริการ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2418 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อใช้เป็นจวนที่พักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้ใช้เป็นกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรีเมื่อครั้งแรกตั้ง เมื่อมีการสร้างศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลราชบุรีขึ้นใหม่แล้ว (อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิมที่ใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร ของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน) อาคารหลังนี้ก็ใช้เป็นจวนที่พักของเจ้าเมืองราชบุรี ที่ทำการสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง ราชบุรี และห้องสมุดประชาชน จังหวัดราชบุรี ตามลำดับ ภายหลังจากที่กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดสร้างห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดราชบุรีปัจจุบันแล้วเสร็จ และได้ย้ายสำนักงานไปตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับห้องสมุด กรมศิลปากรโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี จึงได้ขออนุญาตใช้อาคารหลังนี้และบริเวณโดยรอบจากกรมธนารักษ์ ให้ใช้ได้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2539 และดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคารทั้งหมดในปี พ.ศ. 2540 
 
สำหรับ อาคารกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรีที่ใช้เป็นอาคารส่วนบริการของพิพิธภัณฑ์นั้น มีลักษณะเป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบการสร้างมาจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เช่นเดียวกันกับอาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม โดยมีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 14.30 เมตร ยาว 16.00 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 458 ตารางเมตร ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสองชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องว่าว และด้านหน้าก่อเป็นมุขยื่นออกไป การใช้สอยภายในอาคารได้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกที่อยู่ชั้นล่างของอาคาร ใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน จัดกิจกรรมพิเศษ หรือจัดประชุมและบรรยาย ในขณะที่ส่วนที่สองที่อยู่ชั้นบนของอาคาร ใช้เป็นสำนักงานและคลังจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุเพื่อการศึกษาของพิพิธภัณฑ์
มีห้องจัดแสดงรวมทั้งสิ้น 10 ห้องจัดแสดง ดังนี้
 
ห้องจัดแสดงที่ 1 (ธรณีวิทยา) จัดแสดงแหล่งกำเนิดทรัพยากรธรรมชาติประเภทดิน หิน แร่ และรูปจำลองด้านภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง (กาญจนบุรีและเพชรบุรี) โดยมีตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์ หิน แร่ อัญมณี และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีกำเนิดในจังหวัดราชบุรีจัดแสดง ประกอบ

ห้องจัดแสดงที่ 2 (ก่อนประวัติศาสตร์) จัดแสดงร่องรอยหลักฐานของมนุษย์ในยุคแรกๆ ที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในบริเวณจังหวัดราชบุรี โดยใช้โบราณวัตถุที่พบในจังหวัด เป็นต้นว่า เครื่องมือหิน และโลหะ ภาชนะดินเผา กลองมโหระทึก เครื่องประดับจากหินสีและโลหะ และโครงกระดูกมนุษย์ ประกอบคำบรรยาย สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงชีพ และการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนภายนอก ทั้งดินแดนใกล้เคียงและดินแดนที่อยู่ไกลออกไป (เช่น จีน อินเดีย ฯลฯ)
 
ห้องจัดแสดงที่ 3 (ทวารวดี) จัดแสดงร่องรอยของวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในจังหวัดราชบุรี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 - 15 โดยเฉพาะเรื่องราวของเมืองโบราณคูบัวและเทือกเขางูที่เป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งการจัดแสดงมีทั้งการใช้โบราณวัตถุ คำบรรยาย และรูปจำลองฐานโบราณสถานสำคัญของเมืองโบราณคูบัว เป็นสื่อสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้เข้าชม
 
ห้องจัดแสดงที่ 4 (ลพบุรี) จัดแสดงร่อยรอยหลักฐานของวัฒนธรรมเขมร หรือที่นักวิชาการชาวไทยนิยมเรียกกันว่า "ลพบุรี" ที่ปรากฏในจังหวัดราชบุรี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 โดยมีทั้งหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่พบจากเมืองโบราณราชบุรี ที่มีพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นศูนย์กลางเมือง และพบจากเมืองโบราณโกสินารายณ์ ในท้องที่อำเภอบ้านโป่ง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ ที่มีการพบร่อยรอยหลักฐานของวัฒนธรรมเขมร และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เปล่งรัศมี พบที่บริเวณจอมปราสาท เมืองโบราณโกสินารายณ์ อันเป็นจำนวน 1 ใน 5 องค์ มีการพบในดินแดนประเทศไทย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายใน

ห้องจัดแสดงที่ 5 (อยุธยา) จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา (ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 - 24) ซึ่งชื่อของเมืองราชบุรีมีปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) รวมทั้งดำรงฐานะเป็นเมืองท่าสำคัญด้านตะวันตกและเมืองหน้าด่านปราการชั้นใน ของกรุงศรีอยุธยา ที่เคยเป็นสมรภูมิรบกับพม่าตลอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ อันสะท้อนให้เห็นได้จากงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ ที่ยังหลงเหลือร่องรอยให้ศึกษาได้ และในห้องนี้ได้มีการจัดทำฉากจำลองโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาชนิด ต่างๆ ที่จมอยู่ใต้ลำน้ำแม่กลอง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้เข้าชมในเรื่องราวของเมืองราชบุรี ที่เคยเป็นเมืองท่าสำคัญด้านทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาด้วย
 
ห้องจัดแสดงที่ 6 (รัตนโกสินทร์) จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดราชบุรีในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325 - 2475) โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองราชบุรีที่เกี่ยวข้องกับพระบรมราชจักรี วงศ์ในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า การเมืองการปกครอง การสังคม การเศรษฐกิจ การพัฒนาท้องถิ่น และกิจการเสือป่า ซึ่งจัดแสดงโดยการใช้พระแสงราชศาสตราประจำมณฑลราชบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระราชทานเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์แก่ประชาชนจังหวัดราชบุรี และภาพถ่ายเก่าจังหวัดราชบุรีสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 เป็นสื่อสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวแก่ผู้เข้าชม
 
ห้องจัดแสดงที่ 7 (ราชบุรีวันนี้) จัดแสดงสภาพในปัจจุบันของจังหวัดราชบุรี ทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง การสังคม การเศรษฐกิจ ประชากร การประกอบอาชีพ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติ และศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดราชบุรี โดยมีภาพโปร่งแสงแสดงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และตัวอย่างศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงเป็นสื่อในการจัดแสดง
 
ห้องจัดแสดงที่ 8 (วัฒนธรรมพื้นบ้าน) จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต และสิ่งของเครื่องใช้ที่สำคัญของชนกลุ่มต่างๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในจังหวัดราชบุรี โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายลาวโซ่ง ชาวไทยเชื้อสายกระเหรี่ยง และชาวไทยเชื้อสายไทยวน ซึ่งเป็นการนำเอาลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชนมาจัดแสดง ได้แก่ ภาพถ่ายและสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ในพิธีเซ่นผีเฮือนของชาวไทยเชื้อสายลาวโซ่ง หุ่นจำลองบ้านเรือนพักอาศัยของชาวไทยเชื้อสายกระเหรี่ยง และเครื่องมือเครื่องใช้และตัวอย่างผ้าซิ่นตีนจกลวดลายต่างๆ ที่ทอกันมาแต่โบราณของชาวไทยเชื้อสายไทยวน
 
ห้องจัดแสดงที่ 9 (โอ่งมังกร) จัดแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์และกรรมวิธีการผลิตโอ่งมังกร ที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองราชบุรี และเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและทำรายได้ให้กับจังหวัดในแต่ละปีเป็นจำนวน เงินหลายล้านบาท
 
ห้องจัดแสดงที่ 10 (กีฬา) จัดแสดงเรื่องราวของนักกีฬาที่ทำชื่อเสียงให้จังหวัดราชบุรีและประเทศไทย ในการแข่งขันกีฬาประเภทและระดับต่างๆ โดยสื่อในการจัดแสดงมีทั้งสิ่งของ รางวัลที่นักกีฬาได้รับ ไม่ว่าจะเป็นโล่และถ้วยเกียรติยศ เหรียญรางวัล และธงกีฬา ตลอดจนภาพถ่ายกิจกรรมการกีฬาและนักกีฬาที่มีชื่อเสียง
 
ชื่อผู้แต่ง:
-