พิพิธภัณฑ์สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)


ที่อยู่:
สหกรณ์โคนมหนองโพ 119 หมู่ 3 ถ.เพชรเกษม ต.หนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120
โทรศัพท์:
0-3238-9038, 0-3238-9234-5, 032-351941
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2530
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)

เริ่มจากจักรยานรุ่นเก่าที่บรรทุกถังนม  พาหนะที่ชาวบ้านใช้นำน้ำนมดิบมาส่งให้โรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม  ปัจจุบันชาวบ้านมากกว่า  4500  ราย  เป็นสมาชิกของสหกรณ์โคนมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  36 ปีของสหกรณ์โคนมหนองโพได้ผ่านปัญหาอุปสรรคมามากมาย   กว่าสหกรณ์ฯจะแข็งแกร่งมาถึงทุกวันนี้  นั่นก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงให้การอุปถัมภ์
 
คุณสุรศักดิ์  วัฒนชัยเสรีกุล  หัวหน้างานประชาสัมพันธ์กล่าวว่า  การเลี้ยงวัวก็เหมือนกับการเลี้ยงลูก  เนื่องจากต้องดูแลประคบประหงมอยู่ตลอดเวลา  ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น  รีดนมเสร็จก็ให้อาหาร  ให้อาหารแล้วก็จูงออกไปนอกคอก  ให้ออกไปเล็มหญ้าตามท้องทุ่ง  เพื่อให้วัวได้บริหารร่างกาย  พอตกตอนเย็นก็รีดนมอีกครั้ง  เสร็จแล้วก็เอานมมาส่ง
 
การรีดนมจะรีดกัน  2  เวลา  ตอนเช้ากับตอนเย็น  สหกรณ์โคนมหนองโพจะรับน้ำนมที่เกษตรกรมาส่ง  2  เวลา  ตอนเช้าเริ่มตั้งแต่ 05.00 -10.00 น.  ตอนเย็น  17.00 - 20.00 น.  น้ำนมดิบที่เกษตรกรนำมาส่งจะมีการตรวจคุณภาพ  เพราะราคาที่เกษตรกรจะได้รับขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำนม  ถ้าน้ำนมมีปริมาณไขมันสูง  มีความสะอาด  มีความถ่วงจำเพาะสูง  มีปริมาณเชื้อแบคทีเรียน้อย  และไม่มีสารปฏิชีวนะ  น้ำนมของเกษตรกรรายนั้นจะได้ราคาสูง
สำหรับปริมาณน้ำนมที่เกษตรกรรีดได้ต่อมื้อ  สำหรับโคนมที่เลี้ยงในประเทศไทย  ถ้าเลี้ยงได้สมบูรณ์จะได้น้ำนมคราวละประมาณ 10  กิโลกรัมต่อหนึ่งตัว   การให้โคนมกินข้าวโพดไม่ว่าจะเป็นลำต้น  เปลือกหรือเป็นข้าวโพดฝักอ่อน  นอกเหนือจากการกินหญ้าตามปกติ  จะทำให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพดีมาก   การที่ครอบครัวหนึ่งจะเลี้ยงโคนมเพียง  4-5  ตัวก็สามารถมีรายได้เพียงพอ
 
เมื่อถามถึงการดำเนินงานในระบบสหกรณ์ว่าดีอย่างไร  สิ่งที่คุณสุรศักดิ์ได้อธิบายมา  ทำให้รู้สึกทึ่งและมองเห็นการกินดีอยู่ดีของสมาชิกสหกรณ์  เพราะว่านอกจากเกษตรกรจะได้ขายน้ำนมดิบมีรายได้แล้ว  พวกเขายังจะได้เงินปันผลจาก  6  ธุรกิจใหญ่ๆ ที่สหกรณ์โคนมหนองโพดำเนินการอยู่  ธุรกิจเหล่านี้ได้แก่  ฝ่ายผลิตภัณฑ์นม  โรงอาหารสัตว์  ฝ่ายเงินกู้-ออมทรัพย์  ฝ่ายโรงสีข้าว  ร้านค้า(ซุปเปอร์มาเก็ต) และปั๊มน้ำมัน
 
สำหรับพิพิธภัณฑ์โคนมหนองโพ  ถือเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่   การเข้าชมพิพิธภัณฑ์จะทำให้ได้รู้วิวัฒนาการของการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมหนองโพตลอดระยะเวลา  36 ปีที่ผ่านมาว่าได้ผ่านอะไรมาบ้าง    พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นมาได้เริ่มจากวันที่  28  มีนาคม  พ.ศ.2530  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินฉลองครบรอบ  15  ปีของสหกรณ์ ได้ทอดพระเนตรการผลิตผลิตภัณฑ์นมภายในโรงงาน  และการจัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมา  ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในการเลี้ยงโคนมและอุปกรณ์การผลิตนม  ขณะทอดพระเนตรการจัดแสดงอยู่นั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับคณะกรรมการของสหกรณ์ว่า  นิทรรศการเหล่านี้จัดได้ว่าเป็นวิชาการทางหนึ่งสำหรับการศึกษาหาความรู้ของคนรุ่นหลัง  และประชาชนที่สนใจทั่วไป  ควรเก็บรักษาไว้  โดยการสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้านโคนม  พร้อมกันนั้นได้พระราชทานเงินจำนวน  960,000 บาท  ซึ่งมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยให้แก่สหกรณ์โคนมหนองโพฯ  เพื่อเป็นทุนสำหรับการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว  โดยมีนายบุญทัน  เอื้อพูนผล  ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมหนองโพฯ เป็นผู้รับมอบ  อาคารนี้ได้รับพระราชทานนามว่า อาคารเทพฤทธิ์  เทวกุล เพื่อเป็นที่ระลึกแด่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์  เทวกุล  ผู้ซึ่งออกแบบอุปกรณ์เครื่องใช้การผลิตนมผงของโรงงานนมผงหนองโพ  ตั้งแต่เริ่มแรก
 
ในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ทางคณะกรรมการได้มีมติให้ปรับปรุง  เนื่องจากมีความทรุดโทรมและไม่ทันสมัย  การดำเนินการเริ่มเมื่อเดือนพฤศจิกายน  2551  เสร็จสิ้นประมาณต้นเดือนมีนาคม  2552  และเนื่องในโอกาสครบรอบ  36 ปีของสหกรณ์โคนมหนองโพ ทางสหกรณ์โคนมฯจึงได้ทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี  มาเปิดงานฉลองครบรอบพร้อมกับเปิดพิพิธภัณฑ์ในวันเดียวกัน
 
การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์นี้แบ่งการนำเสนอออกเป็น  3  ประเภทได้แก่   การนำเสนอด้วยภาพ  เริ่มจากภาพการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทุกครั้ง  และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ได้เสด็จมาที่นี่  จากนั้นจะเป็นภาพของบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้สหกรณ์โคนมหนองโพ  มีความรุ่งเรือง  หนึ่งในท่านเหล่านั้นคือ  ผู้ใหญ่ใช้  จันทร์ภิวัฒน์   ผู้ใหญ่ใช้มีบทบาทในการจัดตั้งศูนย์รวมนมและเป็นผู้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนที่ไม่มีตลาดจำหน่ายน้ำนมดิบ   ในเวลาต่อมาได้ทรงพระกรุณาให้ตั้งโรงงานนมผงหนองโพขึ้น
 
ในส่วนการนำเสนอด้วยภาพยังมีภาพในอดีตของการดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบันที่นมหนองโพได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายวางขายในท้องตลาด  ผลิตภัณฑ์ของที่นี่ได้แก่  นมพาสเจอร์ไรส์  นมยู.เอช.ที.  นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม  โครงการนมโรงเรียน  โยเกิร์ต  ไอศกรีม
ส่วนที่สองเป็นอุปกรณ์แปรรูปนมที่เคยใช้ในอดีต  ได้แก่  เครื่องผลิตเนยสด  เครื่องปิดฝากระป๋องนมผง  เครื่องแยกครีมออกจากนมดิบ  ใกล้กันที่เด่นสะดุดตาคือจักรยานรุ่นบุกเบิกที่มีถังนมมัดติดอยู่ข้างท้าย   จักรยานรุ่นนี้คือรุ่นที่ผู้เลี้ยงโคนมสมัยก่อนนำน้ำนมมาส่งให้ที่สหกรณ์   คุณสุรศักดิ์บอกว่าตอนนี้จักรยานส่งนมก็ยังพอมีให้เห็น  แต่ส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์หรือไม่ก็ให้รถรับจ้างมาส่ง   อุปกรณ์แปรรูปนมให้เป็นผลิตภัณฑ์นมที่จัดแสดงในนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง   ยังมีบางส่วนที่ตั้งอยู่ที่โรงผลิตนมพาสเจอร์ไรส์   เนื่องจากเครื่องนั้นนั้นมีขนาดใหญ่  ไม่สามารถมาตั้งข้างในนี้ได้
การนำเสนออีกอย่างหนึ่งที่จะแทรกในหลายจุดของพิพิธภัณฑ์คือจอฉายวีดีทัศน์เรื่องราวการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมหนองโพ 
 
หลังจากเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แล้วคุณสรศักดิ์ได้พาเดินชมในส่วนของโรงงาน   ถือได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบของการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่นี่   เพราะว่าคณะที่ขอเข้าชมจะได้ชมในส่วนของโรงงานด้วย   เราจะได้เห็นไซโลแท็งค์ขนาดใหญ่ที่เก็บน้ำนมที่รับจากเกษตรกรที่นำน้ำนมมาส่งทุกเช้าเย็น  ในส่วนของการผลิตนมยู.เอช.ที. จะเห็นเครื่องจักรที่สามารถผลิตนมกล่องได้  6500  กล่อง/ชั่วโมง  และในโรงนมพาสเจอร์ไรส์ยังจะได้เห็นเครื่องจักรเก่าที่ยังเก็บรักษาไว้ตั้งอยู่   และยังมีความรู้อีกมากมายที่คุณสุรศักดิ์และวิทยากรของแผนกประชาสัมพันธ์ทุกคนยินดีที่จะให้คำอธิบาย
 
ยกตัวอย่างเรื่องความแตกต่างของนมยู.เอช.ที.กับนมพาสเจอร์ไรส์   นมยู.เอช.ที.จะฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อน 138 องศาเซลเซียส  ในช่วงเวลา  4  วินาที  จากนั้นทำให้เย็นลงแล้วบรรจุกล่อง  ซึ่งจะเก็บได้นานถึง  6  เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น  ส่วนนมพาสเจอร์ไรส์คือผลิตภัณฑ์ที่บรรจุขวดหรือซอง  อุณหภูมิที่ใช้ฆ่าเชื้ออยู่ที่  73  องศาเซลเซียส  ในช่วงเวลาไม่ต่ำกว่า  16  วินาที  นมพาสเจอร์ไรส์จะดีตรงที่ความสดใหม่  และยังมีวิตามินบางตัวอยู่มากกว่านมยู.เอช.ที.  แต่จะต้องแช่เย็นไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า  8 องศาเซลเซียส  โดยสามารถเก็บได้นาน  10  วัน 
 
เมื่อเราได้ทราบความเป็นมาของนมสดหนองโพตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว   สิ่งที่เรารู้สึกทันทีคือ  นมสดหนองโพนี้สดจริงๆ หลายคนที่ได้ดื่มจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า  นมที่นี่อร่อย   นั่นก็เพราะว่านมสดของที่นี่ได้มาจากโคนมที่เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในรัศมีประมาณ  20  กิโลเมตร  ทำให้ใช้ระยะเวลาน้อยในการนำน้ำนมมาส่ง   โดยคุณภาพของน้ำนมดิบยิ่งมาส่งได้เร็วเท่าไหร่คุณภาพน้ำนมยิ่งดีมากเท่านั้น
 
ในการขอเข้าชมพิพิธภัณฑ์และโรงงาน   จะต้องมีการทำจดหมายแจ้งล่วงหน้า  เนื่องมาจากว่าที่นี่มีส่วนของการผลิตที่จะต้องควบคุมดูแลเพื่อความสะอาดปลอดภัย   ถ้าอยากจะรู้  อยากจะชิม  และต้องการความสดของน้ำนม  แนะนำให้แวะมาดื่มนมที่นี่
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน 
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  15  เดือนกรกฎาคม  พ.ศ.2552
ชื่อผู้แต่ง:
-