ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ (เฮือนผู้ไทดำ) วัดดอนพรม


ที่อยู่:
วัดดอนพรม ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี
โทรศัพท์:
032-206126 (กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา)
วันและเวลาทำการ:
สามารถเข้าชมในเฮือนผู้ไทดำได้ทุกวัน สำหรับการเข้าชมภายในอาคารศูนย์วัฒนธรรม โปรดติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
ของเด่น:
เฮือนผู้ไทดำ, เครื่องแต่งกาย, ประเพณีไทยทรงดำ, สีฝัด, เครื่องจักสาน
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ (เฮือนผู้ไทดำ)

ในตำบลดอนคา มีชาวไทยทรงดำอาศัยอยู่ใน 5 หมู่บ้านหลัก ๆ ได้แก่ บ้านหน้าโพ บ้านดอนพรม บ้านดอนคา บ้านตากแดด และบ้านตาลตอ กำนันประจวบ ติ่งต้อยกล่าวถึงชาวไทยทรงดำในตำบลดอนคาว่เคลื่อนย้ายมาจากเพชรบุรี “น่าจะในราว พ.ศ. 2440  และบางส่วนก็ยังเดินทางจ่อไปยังนครสวรรค์และพิษณุโลก ไปจนถึงจังหวัดเลยก็มี เดิมทีนั้นอพยพมาจากเวียดนาม “ผมเคยเดินทางไปเที่ยวในเวียดนาม ได้เห็นว่าเขายังยึดในประเพณีเดิม อาศัยการทำนาเพื่อทำกิน และบ้านก็เป็นทรงเดิม” จึงได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเฮือนผู้ไทดำไว้ให้ลูกหลานได้ดู “เรือนนั้นยกพื้นสูง เพื่อเอาวัว คันไถ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ใต้ถุนเรือน หลังคานั้นใช้หญ้าคา จะคลุมจนถึงพื้น ฝนตกก็ไม่เปียก หน้าหนาวก็ไม่หนาว หน้าร้อนก็ไม่ร้อน”

จากความตั้งใจในการสืบสานประวัติและประเพณีของไทดำนี้เอง ชาวบ้านในตำบลดอนคาได้เริ่มการสืบสานอัตลักษณ์ไทยทรงดำของตำบลดอนคา เริ่มต้นมาเมื่อ พ.ศ. 2547 โดยมีการจัดงานทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ วันที่ 4 เมษายน ทุกปี จัดขึ้นที่วัดตากแดด วันที่ 9 เมษายน ทุกปี จัดขึ้นที่วัดดอนคา และปิดท้ายด้วยการจัดงานที่วัดดอนพรม วันที่ 17 เมษายน ทุกปี ภายในงานจะเห็นชาวบ้านแต่งกายด้วยชุดไทยทรงดำตามประเพณี ประกอบการละเล่น อิ้นกอน ฟ้อนแคน และโยนลูกช่วง

เฮือนผู้ไทดำ

ส่วนการจัดสร้างเฮือนผู้ไทดำนั้นเกิดขึ้นใน 2 ระยะ นั่นคือการสร้างเรือนหลักที่แสดงให้เห็นหน้าที่ต่าง ๆ ภายในเรือน การสร้างเรือนหลังแรกอาศัยความร่วมมือของชาวบ้านและงบประมาณของวัดบางส่วนในการจัดทำเฮือนผู้ไทดำ โดยได้รับบริจาคเสาไม้จากวัดดอนพรมและแรงงานที่มาจากชาวบ้านเป็นสำคัญ

หลวงพ่อองค์ปัจจุบัน ท่านชวนคนที่มีแนวคิดเดียวกันว่า เราต้องสืบสานประเพณีของไทยทรงดำ คนไทยเชื้อสายไทยทรงดำ ให้ยั่งยืน เพราะเด็กรุ่นใหม่ ก็จะละเลยอัตลักษณ์ของตนเองส่วนศูนย์วัฒนธรรมของตำบล ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสให้ใช้พื้นที่ของวัด ได้รับการสนับสนุน งบประมาณสำหรับตั้งศูนย์ ... หากไม่เก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ของไทยทรงดำไว้ ก็จะสูญหายไปเรื่อย ๆ เพราะเด็กรุ่นใหม่ มาถึงรุ่นผมก็ไม่เก็บกัน พอเปลี่ยนแปลงบ้าน จากบ้านโบราณเป็นบ้านสมัยใหม่ ข้าวของเครื่องใช้ก็ไม่ได้เก็บอะไร ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ จนเสียหาย อันนี้ก็เก็บสะสมไว้ได้พอสมควร

ในระยะต่อมามีการปลูกเรือนต่อขยายจากเรือนหลังแรก เพื่อรองรับการศึกษาดูงานและยังเป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงภาพเขียนเจ้าอาวาสองค์เดิมผู้เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน

ในบริเวณเฮือนผู้ไทดำนั้น มีลักษณะเป็นเรือนหลังคาทรงกระดองเต่าดังที่พบเห็นตามศูนย์วัฒนธรรมไทดำหรือไทยทรงดำในหลายจังหวัด เรือนยกพื้นสูงแต่มีการบูรณะโดยปรับเปลี่ยนวัสดุให้มีความคงทนถาวรมากขึ้น โดยพื้นไต้ถุนชั้นล่างเป็นพื้นคอนกรีต ส่วนชั้นบน ในบริเวณที่เป็นชานเชื่อมระหว่างเรือนหลังแรกกับเรือนหลังที่สอง เป็นพื้นปูนปูกระเบื้อง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เมื่อเข้าสู่เรือนหลัก (เรือนหลังแรก) “นอกกะชาน” คงเป็นไม่เนื้อแข็ง ผนังด้านหน้าทำจากไม้ไผ่เป็นฝาขัดแตะ มีการประดับเสื้อฮีและซิ่นลายแตงโมไว้บนผนังดังกล่าว

เข้าห้องเป็ง หรือโถงกลางหลักของเรือนภายใน มุมทางซ้ายมือ มีกะบะดินที่เป็นบริเวณจำลองครัวไฟ จัดแสดงหม้อดินเผา 3 ใบ ใบหนึ่งวางอยู่เหนือก้อนเส้า จากนั้น มีผนังไม้ไผ่ขัดแตะทั้งทางซ้ายและทางขวาของเรือน โดยผนังดังกล่าวมีความสูงจากพื้นประมาณ 90-100 ซม. และเป็นส่วนของการจัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอยภายในเรือน ส่วนหลังคาด้านบน แม้จะมีการใช้ตับหญ้าคามุงไว้เป็นระเบียบ แต่โครงสร้างส่วนบนได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นเหล็กเพื่อความแข็งแรง ส่วนห้องกว่านด้านหลัง ได้รับการปรับให้เป็นเหมือนชานนอกเรือน มีร่องรอยของทางพาดสำหรับบันไดขึ้นลงทางห้องกว่าน แต่ในปัจจุบันไม่พบบันไดแล้ว

เมื่อเดินย้อนกลับมาทางนอกกะชาน ทางเชื่อมนำสู่อาคารหลังที่สอง ไม่มีการจัดแสดงใด ๆ นอกจากภาพเขียนของเจ้าอาวาสองค์เดิมของวัดดอนพรม  ซึ่งกำนันประจวบกล่าวไว้ว่า ความตั้งใจเดิมนั้นจะเป็นสถานที่ประดิษฐานอัฐิของท่าน แต่ด้วยเป็นเรือนที่เปิดโล่งจึงเก็บรักษาอัฐิของท่านไว้บนกุฏิเจ้าอาวาส เมื่อลงสู่พื้นที่ใต้ถุนเรือน เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องจักสานบนชั้นเหล็ก ไม่มีป้ายกำกับชื่อเรียกวัตถุ จากนั้น จึงเป็นศาลาที่ทำหน้าคุ้มกันสีฝัดจำนวนมากเรียงรายอยู่ อันแสดงให้เห็นความตั้งใจในการจัดเก็บเครื่องใช้ไม้สอยพื้นบ้าน   รวมถึงกี่ทอผ้าขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้งานอีกหลังหนึ่ง

ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ

อาคารชั้นเดียวหลังนี้สร้างขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2550 หลังจากที่สร้างเฮือนผู้ไทดำแล้วหลายปี แม้กำนันประจวบจะไม่สามารถบอกระยะเวลาของการสร้างศูนย์วัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน แต่กล่าวไว้ว่า ข้าวของที่เก็บสะสมกันมาตั้งแต่การสร้างเฮือนผู้ไทดำ ก็เริ่มทยอยนำเข้ามาเก็บไว้ในศูนย์วัฒนธรรมแทน และในปัจจุบัน ศูนย์วัฒนธรรมไม่ได้เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนมากนัก เพราะอยู่ในระหว่างการจัดหางบประมาณในการจัดซ่อมโครงสร้างของอาคาร

อย่างไรก็ดี เมื่อเยี่ยมชมภายในศูนย์วัฒนธรรม ปรากฏเป็นห้องโล่งขนาดใหญ่ กำนันได้อธิบายว่า โดยปกติแล้วหากมีคณะมาศึกษาดูงาน พื้นที่ในส่วนนี้จะต้อนรับผู้มาเยือนและเป็นบริเวณสำหรับให้ผู้อาวุโสในชุมชนสนทนากับผู้มาเยือนที่ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำในตำบลดอนคา ตามผนังฝั่งด้านทางเข้าอาคาร มีโต๊ะเครื่องแป้งทำจากไม้ตั้งเรียงรายอยู่สามหลัง จากนั้นเป็นหอแก้วที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีศพชาวไทดำ จากนั้น เป็นผู้กระจกที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์จากงานผ้า เช่น กระเป๋าคาดเอว กระเป่าสะพายหลัง โดยมีดอกหน้าหมอนแบบดั้งเดิมประดับอยู่ และตู้ไม้สูงจัดเก็บหมอนสี่เหลี่ยมที่สะท้อนงานหัตถกรรมของชาวไทดำ

ส่วนผนังที่ตรงข้ามกับทางเข้าหลัก เป็นบริเวณจัดวางเครื่องใช้ สิ่งประดับ หุ่นจำลองที่สวมเครื่องแต่งกายไทยทรงดำประยุกต์ และเครื่องใช้ไม้สอยพื้นบ้านที่อยู่ในชั้นเหล็กอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ถังตวงข้าวที่มีฉลากแสดงเจ้าของที่บริจาคให้กับศูนย์วัฒนธรรม เตารีดเหล็กที่ใช้ถ่าน เครื่องปั้นดินเผา นอกจากนี้ ยังมีถังพลาสติกขนาดใหญ่ ภายในบรรจุเครื่องแต่งกายและสิ่งประดับสำหรับการจัดงานสืบสานประเพณีไทยทรงดำ ในส่วนสุดท้าย เป็นแคร่ไม้ไผ่ที่จัดวางเครื่องจักสาน เช่น ขะมุก กะเหล็บ หาบและคานไม้ สุ่มดักปลาที่ได้รับการประดับตกแต่งอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานประเพณีที่จัดเก็บไว้ภายในศูนย์วัฒนธรรมเพื่อรอการใช้งานในปีต่อ ๆ ไป

ในช่วงสุดท้ายของการเยี่ยมชม กำนันประจวบคลี่บอร์ดไม้ที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ สองสามชุด ภายในนำเสนอภาพถ่ายงานประเพณีสืบสานวัฒนธรรมไทยทรงดำ พิธีศพ การขึ้นบ้านใหม่ งานบวช และพิธีการแต่งงาน บอร์ดดังกล่าวเหมาะสำหรับการจัดแสดงในสถานที่ต่าง ๆ ในวาระที่มีงานใหญ่ภายในชุมชน กำนันประจวบระบุว่าคงเป็นโอกาสที่เด็ก ๆ ภายในชุมชนจะได้เห็นเรื่องราวและประเพณีต่าง ๆ ของชุมชนไทยทรงดำ

ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในชุมชน จำนวนลูกหลานก็มีอยู่น้อยลง จะเห็นได้จากจำนวนนักเรียนในโรงเรียน 3 แห่งภายในตำบลที่ต้องมีการกำหนดให้แต่ละโรงเรียนรับหน้าที่ทำการเรียนการสอนเป็นช่วงปี แห่งหนึ่งรับสอนในระดับชั้นอนุบาล แห่งหนึ่งรับสอนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น และอีกแห่งหนึ่งรับสอบในช่วงประถมศึกษาตอนปลาย สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เพราะในปัจจุบันนั้น การทำนาในตำบลดอนคานั้นลดน้อยถอยลงไปมาก สภาพของผืนนากลายเป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้ง หรือการเดินทางออกไปทำงานนอกพื้นที่ ฉะนั้นแล้ว งานสืบสานประเพณีที่เวียนกันจัดในวัดสำคัญของตำบลทั้งสามแห่ง คงเป็นโอกาสรวบรวมเครือญาติห่างไกล ให้กลับมายังชุมชนเป็นการชั่วคราว เป็นโอกาสได้เห็นสภาพของเรือนดั้งเดิม เครื่องแต่งกายแบบประเพณีของผู้เข้าร่วมงาน นี่เองที่สะท้อนบทบาทของเฮือนผู้ไทยดำและศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำในวาระและโอกาสที่เหมาะสม.

สัมภาษณ์

ประจวบ ติ่งต้อย, วัดดอนพรหม ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี, วันที่ 15 กันยายน 2561.


ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ