ภโวทัยพิพิธภัณฑ์


ที่อยู่:
เลขที่ 94 หมู่ 1 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 70180
โทรศัพท์:
032-395192, 086-1718400
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็กนักเรียนเป็นหมู่คณะคนละ 5 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท
ปีที่ก่อตั้ง:
2542
จัดการโดย:
เนื้อหา:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของภโวทัยพิพิธภัณฑ์

หลายสิ่งในความฝันของมนุษย์  การจะได้มาอาจจะต้องเนรมิต  แต่ที่ภโวทัยเป็นความฝันที่ไม่ต้องใช้เวทมนตร์ใดๆ ด้วยใจรัก  ด้วยสองมือของสามีภรรยา  คุณวัลลภและคุณขวัญจิรา  อุมัษเฐียร  บนพื้นที่เนินเขาเกือบ  20  ไร่  อาณาจักรกลางพงไพรที่เริ่มจากการมีต้นไม้ใหญ่ไม่ถึงสิบต้น  เวลาผ่านไปสิบเจ็ดปีที่นี่คือสวนป่าในวรรณคดี  ที่มีพรรณไม้ไทยโบราณกว่า  200  ชนิด  พร้อมกับเรือนพิพิธภัณฑ์ที่บ่มความรักความผูกพันของผู้สร้างที่มีต่อคุณพ่อคุณแม่และผืนแผ่นดิน
 
หลายคนอาจจะรู้จักที่นี่จากการเป็นรีสอร์ทท่ามกลางแมกไม้  ด้วยรูปแบบของเรือนพักแต่ละหลังที่ไม่ซ้ำแบบกัน  สำหรับผู้เป็นเจ้าของ  คุณวัลลภบอกว่าเราสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นหลัก  เรือนพักและร้านอาหารเป็นส่วนประกอบ  ที่นี่มีเรือนพิพิธภัณฑ์ 2 หลัง  เรือนทรงไทยหลังใหญ่บนพื้นที่ 400  ตารางวา  ประกอบด้วยเสา  94   ต้น  ฝาเรือนเป็นแบบโบราณเรียกว่า ฝาประกน คือสามารถถอดเป็นชิ้นๆ ได้ กับเรือนทรงไทยหมู่ใช้ชื่อว่าเรือนศิริสุนทร  เพื่อรำลึกถึงคุณพ่อคุณแม่
 
เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูทางเข้าภโวทัย  เราจะเริ่มรู้สึกถึงความหมายของการให้ชื่อที่นี่ว่าภโวทัย  “รุ่งอรณแห่งภพ”  ความฉ่ำเย็นของการได้ยืนอยู่ท่ามกลางไม้ใหญ่  ล้อมรอบไปด้วยสระน้ำใสสะอาด  แว่วได้ยินเสียงนกร้องกับเสียงน้ำไหล  มองไปเห็นศาลากลางน้ำกับสะพานไม้ทอดข้าม  ป้ายทางเข้าพิพิธภัณฑ์ปรากฏให้เห็นเป็นระยะพร้อมกับการก้าวข้ามแต่ละซุ้มประตู  ที่บอกให้เราได้ข้ามและพักสิ่งที่อยู่ข้างหลัง
 
ประตูไม้สักบานใหญ่แกะสลักรูปดอกทานตะวันฝีมือช่างพม่าเปิดกว้างต้อนรับ  เสียงดนตรีไทยแว่วบรรเลง  พร้อมกับสายตาได้สัมผัสกับความมลังเมลืองของวัตถุที่จัดแสดง  ที่นี่มีวัตถุโบราณจัดแสดงอยู่มากกว่าหมื่นชิ้น  ส่วนใหญ่เป็นของสะสมตกทอดมาจากรุ่นคุณพ่อ  สิ่งของจัดแสดงข้างในนี้เป็นประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด  โดยทุกหกเดือนหรือหนึ่งปีจะสลับสับเปลี่ยนมาจัดแสดงที่นี่
 
วัตถุโบราณที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ที่ชนชั้นสูงของสยามนำเข้ามาจากยุโรปและจีนในสมัยรัชกาลที่  5  สิ่งของจัดแสดงจัดไว้ในตู้กระจกโดยแบ่งหมวดหมู่ของประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกันเอาไว้ด้วยกัน  มีตั้งแต่จานชามถ้วยลายคราม  เครื่องสังคโลก  เครื่องเบญจรงค์  กาน้ำชา หม้อน้ำมนต์ลายคราม  ชามมอญ  โถร่องมะเฟือง  ชามตราไก่    เครื่องเงิน    ถาดกระเบื้องยุควิคตอเรียน  เครื่องแก้ว  เป็นต้น ที่เป็นของหายากและจัดแสดงแยกอยู่อย่างโดดเด่นคือถาดกระเบื้องที่มีรูปธงช้างเผือก  รูปพระบรมสาทิสลักษณ์ ร.5 และสมเด็จพระบรมราชินี   ถัดกันไปอีกตู้หนึ่งคือเครื่องแก้วหลากรูปแบบหลากสีสรร  แต่ละชิ้นล้วนงดงามจับใจ   ส่วนกลุ่มที่ดูสวยเพลินตากับลวดลายคือ ถาดกระเบื้องยุควิคตอเรียนที่มีทั้งภาพดอกไม้  ภาพทิวทัศน์  ซึ่งข้างในนี้มีจัดแสดงอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร  
ที่เป็นของมีค่าอย่างทองคำได้แยกจัดแสดงไว้ตู้หนึ่ง  มีพระพุทธรูปทองคำ  ฮก ลก ซิ่ว ทองคำ  ปิ่นทองคำสมัยอยุธยา  ตลับสามกษัตริย์สมัยทวารวดี  ส่วนของพื้นบ้าน วัตถุโบราณหรือของหายากก็มีอย่างเช่น  อังกะลุง เชี่ยนหมาก  ขันลงหิน  กริช  ขวดน้ำมะเน็ด  ดาบไทย  ลูกปัด  ขวานหินขัด  พานถมทอง ชามเคลือบเขียวสุโขทัย  เครื่องเงิน  คนที  กลอง โม่หิน  ตะเกียงลาน  หรือจะเป็นตะเกียงที่มีแขวนอยู่หลายอัน  นั่นเรียกว่าตะเกียงสายฟ้าแลบ  เวลาจุดให้แสงสว่างมาก  ใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง  อายุประมาณ  70-80 ปี  ประเทศผู้ผลิตมีทั้งอังกฤษ  เยอรมัน เชคโกฯ จีน  
 
ส่วนที่เห็นเป็นตุ่มขนาดใหญ่ตั้งวางอยู่ทั่วไปเป็นจำนวนมาก  บางลูกเป็นสีเขียว  โอ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีนอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี  มีทั้งตุ่มเขียว  ตุ่มเซียงไฮ้  ตุ่มเสี้ยนตาล  
     
เรือนหลังใหญ่นี้มีสองชั้น  ชั้นบนตรงกลางเป็นโถงห้อง   จัดวางชุดโต๊ะไม้ฝังมุกของเวียดนาม  สุดปลายแถวมีกระจกบานใหญ่และมีตัวอักษรจีนตัวโตอยู่ด้านบน  ชั้นบนนี้ทั้งสองด้านของห้องโถงกลางแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ด้านละเจ็ดห้องจัดแสดงสิ่งของ  ได้แก่ เครื่องดนตรี  หินบดยา เตารีด  ถาดมอญ  ขันน้ำ  พานสมัยรัตนโกสินทร์ โตกทองเหลือง อ่างเคลือบสีน้ำตาลภายในเคลือบเขียวของจีน โต๊ะเครื่องแป้ง  ขันหมาก  กล่องเก็บคัมภีร์  ปิ่นโต  ถาด  กระโถน  โถ  กลอง  ไห   ชามเขียว  หีบ  ผ้าโบราณ  เป็นต้น
     
ถัดจากเรือนหลังใหญ่  เป็นเรือนไทยที่ใช้ชื่อว่าเรือนศิริสุนทร  สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับคุณพ่อคุณแม่  ตัวเรือนบางส่วนเป็นของเดิมที่รื้อมาประกอบใหม่  สิ่งของที่จัดแสดงบนเรือนนี้ส่วนใหญ่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันของพวกท่าน  ความสวยงามของเรือนนี้เริ่มตั้งแต่รูปทรงที่มองจากระยะไกล  เมื่อก้าวขึ้นตัวเรือนจะพบกับประตูไม้สักทองแกะสลักนำเข้าจากพม่า  บนเรือนแบ่งเป็นสามห้องซ้ายขวาและห้องกลาง   ห้องกลางเป็นห้องพระมีพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์  มีรูปหลวงปู่ทวดแกะจากไม้จำปีป่าและมีภาพพุทธประวัติ  บนเรือนนี้มีห้องนอนที่จัดไว้เหมือนเดิมทั้งเตียง  โต๊ะเขียนหนังสือ  อ่างล้างหน้า  สิ่งของบนเรือนนี้ที่เด่นสะดุดตาคือปิ่นโตหลากสี  ปิ่นโตนี้อายุประมาณ  60-80 ปี  และไม้พายสำหรับกวนข้าวมธุปายาสที่มีการเขียนลายไว้อย่างสวยงาม
 
คุณวัลลภบอกว่าในการจัดวางสิ่งของ   ผู้ที่จัดการเรื่องนี้คือ คุณขวัญจิรา ภรรยา โดยจะมีการบันทึกจดจำสิ่งของแต่ละชิ้นและค่อยประคับประคองในเวลาขนย้าย  สำหรับคนที่ชอบดูละครย้อนยุค  ที่นี่มีกองถ่ายละครมาขอถ่ายทำไปแล้วหลายเรื่อง
 
สิ่งหนึ่งที่คนมาเยี่ยมชมที่นี่เกิดความสงสัย  ทำไมที่นี่เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์  คุณวัลลภตอบเรื่องนี้ว่าเป็นเพราะที่นี่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก  คนมาเที่ยวยังไม่มาก  ทำให้ไม่มีจุดคุ้มทุน  ทั้งค่าน้ำ  ค่าไฟ  ค่าคนงานที่มีนับสิบคนที่จะต้องดูแลสวนและประจำอยู่ที่ตัวพิพิธภัณฑ์  ในแต่ละเดือนมีรายจ่ายเป็นแสน  แต่ที่ทำให้เสียกำลังใจอยู่บ้างก็คือ  การเก็บภาษีจากภาครัฐ  ทั้งอบต.  ภาษีโรงเรือน  ภาษีที่ดิน  ภาษีรายได้  ปีหนึ่งๆจะต้องจ่ายภาษีหลายหมื่นบาท  ในการเก็บค่าเข้าชมก็เพียงแต่ต้องการเลือกคนที่อยากดูจริงๆ รายได้ตรงนี้ก็ได้เดือนละไม่กี่พัน  กรณีคนที่มาพักก็ให้เข้าชมฟรี  คุณวัลลภให้ความเห็นว่าจริงๆแล้วการที่เอกชนทำพิพิธภัณฑ์   แต่ละคนล้วนทำด้วยใจรัก  การทำพิพิธภัณฑ์นั้นเลี้ยงตัวเองไม่ได้   ทั้งที่เมื่อมีคนทำพิพิธภัณฑ์   สังคมได้ประโยชน์ทุกอย่าง  ภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายหรือสนับสนุน   ชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยว  เด็กๆและเยาวชนจะได้มีที่ศึกษาหาความรู้  พร้อมกับได้ความเพลิดเพลินไปด้วย   อย่างมาที่นี่เด็กๆ วิ่งเล่นได้  เล่นน้ำในลำธารได้  พร้อมกันนั้นก็ได้รู้จักต้นไม้หายากแต่ละชนิดที่ได้เขียนคำอธิบายไว้  
 
คุณขวัญจิราได้เล่าให้ฟังถึงช่วงแรกที่มาใหม่ๆ สิ่งที่คิดถึงเป็นอันดับแรกคือ  การจะไปนำต้นผึ้งมาไว้ที่นี่  เนื่องจากต้นผึ้งไม่ใช่ไม้เศรษฐกิจ  จึงถูกโค่นล้มไปเป็นจำนวนมาก   ธรรมชาติของต้นผึ้งจะมีผึ้งมาอาศัยทำรังอยู่เป็นจำนวนมาก  บางต้นมีเป็นร้อยรัง  เวลาคนจะขึ้นไปเก็บรังจะต้องตอกทอยขึ้นไป   ต้นผึ้งที่มีอยู่ที่นี่เป็นต้นที่ขอมาจากวัดสวนผึ้ง   ต้นไม้หายากชนิดอื่นที่มีอยู่ที่นี่เป็นจำพวกมะตาด  พระเจ้าห้าพระองค์  ต้นลำพู  ซึ่งต้นลำพูนี้จะมีหิงห้อยมาให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก  ส่วนที่คนเข้ามาชมเห็นแล้วตื่นเต้นอีกอย่างคือต้นมะเดื่อออกผลสีแดงเป็นพวง   ต้นนี้อยู่ริมลำธารที่มีน้ำใสไหลรินละเลียดพื้น   ที่น่าสนุกคือตรงต้นมะเดื่อได้มีศาลาทำเป็นชั้นๆ  แต่ละชั้นมีบันไดให้ขึ้นไปนั่งเล่นได้
ถ้าจะถามว่าที่นี่มีอะไรน่าประทับใจบ้าง   หลายคนคงตอบไม่ได้ในทันที  เพราะเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง  สองชั่วโมง หนึ่งวัน  หรือการมาเยือนเพียงครั้งเดียว   ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปความรู้สึกที่มีให้กับที่นี่ได้   ไม่ว่าจะเป็นศาลากลางน้ำ  ศาลาต้นมะเดื่อ   ที่นั่งสักแห่งริมลำธาร  แสงกระพริบของฝูงหิงห้อยที่ต้นลำพู   เรื่องราวความเป็นมาของสิ่งของอีกเป็นหมื่นชิ้น   ทุกสิ่งในเวลาจำกัดเราทำได้เพียงแค่สัมผัสและก็ผ่านไป   รอเวลาว่าสักวันจะได้กลับมาเยือนอีกครั้ง
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  5  เดือนกันยายน  พ.ศ.2552
ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ: