โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
ชื่อผู้แต่ง: กัญญรัตน์ ธนะสมบูรณ์กิจ | ปีที่พิมพ์: 2541
ที่มา: สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
แหล่งค้นคว้า: มหาวิทยาลัยศิลปากร
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: บุญชัย บูรณวัฒนาโชค | ปีที่พิมพ์:
ที่มา: จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: พิพัฒน์ สุนทรสุต | ปีที่พิมพ์: 2532
ที่มา: สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
แหล่งค้นคว้า: มหาวิทยาลัยศิลปากร
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: ฉวีวรรณ ศิริ | ปีที่พิมพ์: 2528
ที่มา: สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต(มานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยศิลปากร
แหล่งค้นคว้า: ม.ศิลปากร
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: ผอบ โปษะกฤษณะ | ปีที่พิมพ์: 2537
ที่มา: เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ ครบ 37 ปี เมื่อวันที่ 8-9 ก.ค. 2537. คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แหล่งค้นคว้า: ม.ศิลปากร
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ปีที่พิมพ์: 2537
ที่มา: กรุงเทพฯ : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: จังหวัดราชบุรี, มหาวิทยาลัยศิลปากร และวัดขนอน | ปีที่พิมพ์: 2534
ที่มา: [ม.ป.ท. : ม.ป.พ.]
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: นฤเบศ สมฤทธิ์ | ปีที่พิมพ์: 4, 45(พฤศจิกายน 2531) ; หน้า 145-153.
ที่มา: สารคดี
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: สุวรีย์ รัตนพันธุ์ | ปีที่พิมพ์: 2542
ที่มา: กรุงเทพฯ : รำไทยเพรส
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
เส้นทางการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดขนอน
หากคิดว่าการรื้อฟื้น และสืบทอดมรดกวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายให้ยั่งยืนและประสบผล เป็นเรื่องของคนท้องถิ่นหรือเจ้าของวัฒนธรรมแต่เพียงผู้เดียว อาจต้องคิดใหม่ กรณีการรื้อฟื้นหนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี เป็นแบบอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่า งานอนุรักษ์เป็นเรื่องของทุกฝ่ายในสังคม สำคัญคือชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมต้องมี “ใจ” ศรัทธา และเห็นคุณค่า ในมรดกวัฒนธรรมของตนเองก่อน อันจะนำไปสู่ความสำเร็จต่อท้องถิ่นตนเอง และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่นๆ“สมัยอาตมายังเล็ก เคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เขาคุยกันว่า วัดขนอนมีหนังใหญ่ที่แสดงเรื่องรามเกียรติ์ แต่อาตมาไม่เคยสัมผัส เพียงแต่มีความรู้สึกว่าหนังใหญ่นั้นคงได้ตายไปจากโลกนี้แล้ว แต่พอเข้ามาสัมผัสใกล้ๆ จึงมีความคิดว่าหนังใหญ่นั้นยังไม่ตาย เพียงแต่สลบเท่านั้น ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ถ้ามีคนมาเยียวยารักษา หนังใหญ่นั้นก็คงจะลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง”
คำกล่าวของพระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน สะท้อนความจริงที่เป็นไปได้ของการรื้อฟื้นหนังใหญ่วัดขนอนขึ้นมาอีกครั้ง
ถึงตอนนี้คงมีน้อยคนนักที่ไม่รู้จักหนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี แต่กว่าวัดขนอนและคนในชุมชนจะร่วมแรงร่วมใจรื้อฟื้นมหรสพชั้นครูนี้ขึ้นมา ได้นั้น เขามีวิธีการที่ไม่ธรรมดา
หนังใหญ่วัดขนอน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยอดีตเจ้าอาวาสคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) (พ.ศ.2390 - 2485) ท่านได้ชักชวนครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้างตัวหนัง หนังชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด มีตัวหนังรวม 313 ตัว
แต่เมื่อหลวงปู่กล่อมมรณภาพ การแสดงก็ค่อยๆ หยุดไป เหลือแต่เพียงการแสดงในวันครบรอบการมรณภาพของหลวงปู่กล่อม ที่ศิษย์ของหลวงปู่กล่อมจะมาร่วมกันเชิดหนังใหญ่ถวายทุกๆ ปีในช่วงแรกๆ เมื่อเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่ทรงพลังในโลกสมัยใหม่ อย่าง รายการทางโทรทัศน์ ละคร และภาพยนตร์ หนังใหญ่ตามสมัยไม่ทัน นักแสดงก็ล้วนแก่เฒ่าชราลงเรื่อยๆ ความนิยมเริ่มซบเซาลง จนในที่สุดตัวหนังหลายร้อยตัวก็ไม่ได้ถูกหยิบขึ้นเชิดอีก และถูกนำไปเก็บไว้ในศาลาดินหลังเก่าๆ ขาดการดูแลรักษา และเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดายและน่าอนาถใจ
ว่ากันว่าเมื่อถึงหน้าฝน ตัวหนังบางส่วนเปียกปอน ส่งกลิ่นโชยแก่บรรดาสุนัข ทำให้มารุมดึงกัดกินตัวหนังเป็นอาหาร เสียหายไปหลายตัว ในห้วงเวลานั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นกับการแสดงเก่าแก่ของไทยในลักษณะนี้ คงไม่เฉพาะวัดขนอน คงจะรวมถึงคณะหนังใหญ่อื่นๆ อีกด้วย
จนราวเมื่อปี พ.ศ. 2519 ศ.พันตรีหญิงผอบ โปษะกฤษณะ เข้ามาทำวิจัยที่วัดขนอน ผลงานวิจัยเผยแพร่ออกไป ทำให้เริ่มมีคนนอกเข้ามาสนใจเพิ่มขึ้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หนังใหญ่เป็นที่รู้จักอีกครั้ง เมื่อทางวัดเห็นว่าผู้คนเริ่มให้ความสนใจการแสดงแขนงนี้อีกครั้ง วัดและชุมชนเห็นร่วมกันว่า ควรจะนำเอาประเพณีการแสดงที่เคยมีอยู่ในท้องถิ่น กลับมาฝึกหัดให้เด็กนักเรียนและคนในชุมชน ทำให้ตัวหนังใหญ่มีชีวิตสืบต่อไปได้อีก ที่สำคัญยังเหลือศิลปินคนสำคัญของวัดขนอนคือ ครูลออ ทองมีสิทธิ์ วัย 80 ปี อดีตครูพากย์ที่ยังมีศรัทธาและเรี่ยวแรงประสิทธิประสาทวิชาการแสดงหนังใหญ่ ให้กับคนรุ่นใหม่ได้สืบทอดวิชาต่อไป จนคณะหนังใหญ่วัดขนอนสามารถออกมาโลดแล่นบนหน้าจออีกครั้ง มีการนำคณะออกไปเปิดตัวตามงานต่างๆ ที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
พระครูพิทักษ์ศิลปาคม ในขณะนั้นเป็นพระลูกวัดเล่าว่า ในคราวเริ่มแรกของการรื้อฟื้นนั้นค่อนข้างจะลำบาก เมื่อนำหนังใหญ่ออกแสดง ไม่ค่อยมีผู้ชมให้ความสนใจมากนัก จนกระทั่งปีพ.ศ. 2532 เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของงานอนุรักษ์หนังใหญ่วัดขนอนอย่างจริงจัง โดยมีทั้งคนในและคนนอกเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ภายใต้โครงการจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ของวัดขนอน ตามพระราชดำริใน สมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้ทดแทนชุดเก่าที่ชำรุด ส่วนหนังชุดเก่าที่สมบูรณ์ได้นำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน โดยมีพระราชดำริฯว่าห้ามนำออกไปแสดง
วัดขนอนมีหน้าที่สำคัญคือ การฝึกหัดเยาวชนเล่นหนังใหญ่และดนตรีไทยประกอบการแสดง ตลอดจนการนำหนังใหญ่ออกแสดง เพื่อหาทุนเข้าโครงการฯ โดยประสานงานกับจังหวัดราชบุรี ส่วนมหาวิทยาลัยศิลปากร รับหน้าที่ลอกลายหนังใหญ่ชุดเก่าเก็บไว้ และจัดทำตัวหนังใหญ่ใหม่ทั้งหมด โดยมี ผศ.สน สีมาตรัง เป็นหัวหน้าฝ่ายงานช่าง เนื่องจากชุมชนขาดช่างทำหนังใหญ่มาเป็นระยะเวลานาน ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ขอความร่วมมือจากนายหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สินและบุตรชายคือ อาจารย์วาที ทรัพย์สิน เจ้าของพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน จ.นครศรีธรรมราช มาช่วยถ่ายทอดกระบวนการฟอกหนัง เตรียมหนัง และแกะสลักหนังใหญ่ชุดใหม่ จนในที่สุดได้ตัวหนังชุดใหม่เพื่อใช้ออกแสดง
งานอนุรักษ์ แตกกิ่งก้านใบ
กระบวนการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดขนอน ค่อยๆ ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง โดยมีวัดที่นำโดยพระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันและคนในชุมชนเป็นแกนหลักในดำเนินงานและร่วมคิดวิธีการ สืบทอดอย่างไม่ขาดตอน
โดยมีแนวคิดใหม่ว่า ถ้าจะอนุรักษ์หนังใหญ่ให้ยั่งยืนสืบไป ต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับคนใน มิใช่พึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว ทางวัดจึงสร้าง “คน” โดยส่ง “จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์“ลูกศิษย์ที่มีแววและสนใจศิลปะแขนงนี้อยู่แล้ว ศึกษาต่อด้านการเขียนลายไทยที่วิทยาลัยเพาะช่าง เมื่อจบการศึกษาแล้วได้กลับมา พัฒนาหนังใหญ่ฯโดยร่วมกับชุมชนวัดขนอน จากวันนั้นจนถึงวันนี้ลูกศิษย์ผู้นี้ เป็นทั้งช่างสลักหนัง และผู้จัดการคณะหนังใหญ่ นำคณะออกแสดงตามงานต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ
วิธีการอีกทางหนึ่งที่ทำให้การแสดงหนังใหญ่สืบทอดอย่างไม่ขาดตอน คือ เปิดการแสดงหนังใหญ่ เป็นการเผยแพร่มหรสพแขนงนี้อย่างต่อเนื่อง โดยทางวัดสร้างโรงแสดงเป็นของตนเอง และเปิดแสดงหนังใหญ่อย่างต่อเนื่องทุกวันเสาร์ตอนสิบโมงเข้า จุดมุ่งหมายหลักคือ ให้เยาวชนนักแสดงได้ฝึกฝนวิชา และยังเป็นการเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้ออกสู่สายตาประชาชนทั่วไปด้วย สร้างขวัญกำลังใจให้กับนักแสดง และเป็นการสร้างให้พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต หรือที่ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันเรียกว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ได้”
อีกกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นการต่อยอดงานอนุรักษ์หนังใหญ่วัดขนอนคือ การจัดงานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน จัดอยู่ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ คือในวันที่ 13 - 14 เมษายน ของทุกปี เริ่มทำในปี พ.ศ. 2549 เป็นปีแรก ลักษณะงานเป็นรูปแบบงานวัดย้อนอดีต
งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน มิได้มีเพียงการแสดงและสาธิตการเชิดหนังใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้เปิดพื้นที่และเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมอื่นๆ จากทั่วประเทศ เช่น การแสดงของกลุ่มศิลปินพื้นบ้าน อาทิ การแสดงหนังใหญ่ติดตัวโขน , การแสดงวัฒนธรรมภาคใต้ (ดิเกร์ฮูลู) , การแสดงล้านนา , การแสดงวัฒนธรรมอีสาน , หุ่นกระบอก ,หุ่นละครเล็ก , หุ่นคน , หนังตะลุง และการแสดงของนักเรียน
ช่วงกลางวัน มีการออกซุ้มงานศิลปะ ช่างสิบหมู่ งานศิลปะเชิงช่าง เช่น การแกะสลักหนัง , แกะสลักไม้ , ปั้นหัวโขน , ปูนปั้นเมืองเพชร , ปั้นโอ่งราชบุรี สาธิตงานศิลปะจากกลุ่มศิลปินพื้นบ้าน และตลาดนัดศิลปะจากกลุ่มศิลปินอิสระ มีซุ้มอาหารไทยพื้นบ้านทั้งไทยและมอญ เช่น ข้าวแช่ สาธิตการทำขนมไทย เช่น กวนกาละแม เป็นต้น ท่านเจ้าอาวาสอธิบายว่า
“การริเริ่มงานนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการเผยแพร่การแสดงหนังใหญ่และการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยทั้งสี่ภาค ของเหล่านี้เป็นการสะท้อนอัต ลักษณ์และภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น เป็นช่วงวันครอบครัวที่ได้ให้เยาวชนและคนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมได้ ง่าย ถือเป็นการปลุกจิตสำนึกและสร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชนในเรื่อง งานอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม สำคัญคืองานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการถ่ายทอดและอนุรักษ์องค์ความรู้หนัง ใหญ่วัดขนอนและศิลปะพื้นบ้านอื่นๆ ให้คงอยู่ต่อไป และยังช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหนังใหญ่วัดขนอนที่มีอยู่แล้ว ให้แพร่หลายมากขึ้น”
ความพยายามของวัดขนอนในการปกป้อง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และถ่ายทอดมรดกแขนงนี้มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก ประกาศให้การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน ได้รับรางวัลจากยูเนสโก(UNESCO) ยกย่องให้เป็น 1 ใน 6ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ ได้ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550
“ช่วยเขา เรารอด” ภารกิจกอบกู้หนังใหญ่วัดพลับพลาชัยของคณะหนังใหญ่วัดขนอน
ประสบการณ์ บทเรียน การทำงานที่ประสบความสำเร็จของหนังใหญ่วัดขนอน มิได้เก็บไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่หนังใหญ่วัดขนอนกำลังริเริ่มภารกิจสำคัญ คือการเข้าไปฟื้นฟูคณะหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย จ.เพชรบุรี ให้กลับมามีชีวิตโลดเต้นหน้าจออีกครั้ง
หนังใหญ่วัดพลับพลาชัยขึ้นชื่อว่ามีตัวหนังที่อ่อนช้อยสวยงาม เป็นหนึ่งในตัวหนังชุดพระนครไหว ที่หลงเหลือแต่เพียงตัวหนังที่เก่าและชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ส่วนการเชิดนั้นยุติไปตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครทราบ หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย สร้างขึ้นในสมัยที่หลวงพ่อฤทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส(ระหว่าง พ.ศ. 2412 – 2462) ท่านเป็นผู้นำในการวางรากฐานการศึกษาฟื้นฟูศิลปะวรรณกรรม และเป็นผู้ก่อตั้ง หนังใหญ่คณะวัดพลับพลาชัย ที่ขึ้นชื่อลือดังสมัยนั้น ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูอาทรวชิรธรรม(เชื่อม สิริวณฺโณ)อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย เขียนไว้ว่า
“หนัง ใหญ่ของวัดพลับพลาชัยดังที่สุด เป็นการละเล่นที่มักจะมีคนว่าไปเล่นในงานศพของเจ้านาย ขุนนางหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งในกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง”
หลวงพ่อฤทธิ์ในวัยเยาว์ บิดา-มารดาของท่านได้มอบท่านให้เป็นศิษย์ของขรัวอินโข่ง ในกรุงเทพฯ ทำให้ท่านมีโอกาสเรียนศิลปะ และเมื่ออายุครบบวชท่านได้กลับมาบวชที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เมืองเพชรบุรี และจำพรรษาที่วัดพลับพลาชัย นอกจากจะได้เรียนพระปริยัติธรรมตามที่ผู้บวชพระควรจะเรียนแล้ว ท่านยังศึกษาวิชาแพทย์ต่างๆ จากหลวงพ่อคง(เจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัยในขณะนั้น) โดยเฉพาะการรักษาโรคตา เช่นโรคตาแดง ตาริดสีดวง และตาต้อทุกชนิด จนสามารถผ่าต้อได้ทุกชนิด หลังจากที่หลวงพ่อคง มรณภาพ ในปี 2412 หลวงพ่อฤทธิ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ในช่วงนั้นนอกจากการรักษาโรคตาแล้ว หลวงพ่อฤทธิ์ยังริเริ่มทำหนังใหญ่ขึ้น โดยท่านได้ระดมลูกศิษย์ด้านงานวิจิตรศิลป์มาช่วยในการทำหนังใหญ่ ในเวลา 3 ปีที่ทำตัวหนังนั้น หลวงพ่อฤทธิ์ สามารถผลิตตัวหนังได้กว่า 200 ตัว โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดพลับพลาชัย เป็นโรงงานฉลุหนังใหญ่ หนังใหญ่ของหลวงพ่อฤทธิ์เป็นที่โจษขานกันว่า เล่นงามนักหนา
จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองเพชรบุรี ก็ทรงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองเพชรบุรีสมัยนั้น ไปหาหนังใหญ่มาเล่นถวายเพื่อจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบรอบปีสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ณ พระราชวังรามราชนิเวศน์(วังบ้านปืน) หนังใหญ่คณะวัดพลับพลาชัยจึงมีโอกาสเล่นถวายหน้าพระที่นั่ง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ใน ตอน “พระรามลงสรง” เมื่อหลวงพ่อฤทธิ์ได้มรณภาพลง ลูกศิษย์ของท่าน คือหลวงพ่อกร เป็นเจ้าอาวาสต่อ และยังคงมีการสืบทอดเรื่องของการทำหนังใหญ่อยู่บ้าง แต่หลังจากหลวงพ่อฤทธิ์จะมรณภาพได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุไฟไหม้วัดพลับพลาชัยครั้งใหญ่ หนังใหญ่บางส่วนย้ายไปเก็บตามที่วัดอื่น และบ้างก็ถูกหยิบยืมไปไว้ที่วัดคงคาราม และวัดป้อม จ.เพชรบุรี นับแต่นั้นหนังใหญ่วัดพลับพลาชัยจึง “สลบ” ไป
ณ ห้วงเวลานี้ น่ายินดีที่ ประสบการณ์งานอนุรักษ์จากที่หนึ่ง กำลังจะถูกถ่ายทอดและมีส่วนช่วยในการฟื้นชีพมรดกวัฒนธรรมที่ได้เกือบจะสูญไป แล้วของอีกที่หนึ่ง ถึงตอนนี้เจ้าอาวาสวัดขนอนเล่าว่า ได้เริ่มมีการทำประชาคมหรือประชุมร่วมไปแล้วหนึ่งครั้ง และเริ่มออกแบบกระบวนการทำงานไว้บ้างแล้วว่า ตัวหนังชุดเก่าของวัดพลับพลาชัยควรลอกลายเก็บไว้ และสร้างตัวหนังชุดใหม่ขึ้นมาใช้ในการแสดง ซึ่งงานนี้ไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากศิลปะเชิงช่างของเมืองเพชรบุรี ก็ไม่เป็นสองรองใคร ส่วนกระบวนการรื้อฟื้นการแสดงนั้น อาจจะต้องใช้เวลาพอควร เนื่องจากการสืบทอดการแสดงของวัดพลับพลาชัยขาดช่วงไปนาน จำเป็นที่จะต้องนำอาสานักแสดงจากวัดพลับพลาชัย เข้ามาเรียนรู้กระบวนการเชิดและฝึกฝนการเชิด ดนตรี การพากย์อย่างเข้มข้นที่วัดขนอน โดยที่ต้องยังคงเอกลักษณ์และตัวตนของวัดพลับพลาชัยเอาไว้
การร่วมกันฟื้นหนังใหญ่วัดพลับพลาชัยขึ้นอีกครั้ง ที่นำโดยหนังใหญ่วัดขนอน จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม และสำคัญคือ คนไทยควรร่วมให้กำลังใจและแรงสนับสนุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
หมายเหตุ งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน จัดทุกวันที่ 13-14 เมษายน ของทุกปี ณ ลานกลางแจ้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน
อ้างอิง:
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. การศึกษากับการถ่ายทอดวัฒนธรรม: กรณีศึกษาหนังใหญ่วัดขนอน. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสวัดคล้ายวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ ครบ 37 ปี วันที่ 8-9 กรกฎาคม 2537.
หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูอาทรวชิรธรรม(เชื่อม สิริวณฺโณ)อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ,2537.
เอนก นาวิกมูล. หนังตะลุง-หนังใหญ่. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ, 2546.
--------------------------------------------------------------------------
ปณิตา สระวาสี ผู้เขียน
ตีพิมพ์ในหนังสือภูมิรู้สู้วิกฤต ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 2555.
รีวิวของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน
หนังใหญ่ถือกันว่าเป็นมหรสพชั้นสูงที่มีมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันมีเพียงสามคณะเท่านั้นที่ยังคงสืบสานการเชิดหนังใหญ่เอาไว้ คือหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง และหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี หนังใหญ่วัดขนอนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยอดีตเจ้าอาวาสคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) ท่านได้ชักชวนครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้างตัวหนัง หนังชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด มีตัวหนังรวม 313 ตัว นับเป็นสมบัติของวัดที่ได้ร่วมกันรักษาสืบทอดมาในปี 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะในตัวหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์ตัวหนังทั้ง 313 ตัว และจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นแสดงแทน พร้อมดำเนินโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ขึ้นในวัด โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรรับผิดชอบงานช่างจัดทำหนังทั้งหมด
ส่วนพิพิธภัณฑ์ ได้ดำเนินการปรับปรุงบูรณะหมู่เรือนไทยที่เป็นกุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญ ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาตัวหนังใหญ่ชุดเก่าอย่างถูกวิธี สามารถใช้เป็นแหล่งค้นคว้าวิทยาการแขนงนี้แก่ผู้สนใจได้โดยทั่วไป และในปี พ.ศ. 2540 - 2542 ได้ดำเนินการจัดตกแต่งภายในเพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในการร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
คณะหนังใหญ่วัดขนอนพยายามสืบทอดศิลปะแขนงนีจากรุ่นสู่รุ่น โดยฝึกฝนเยาวชนในชุมชนที่สนใจเพื่อเรียนเชิดหนังใหญ่ หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการอนุรักษ์และสืบทอดหนังใหญ่นอกจากท่านเจ้าอาวาส (พระครูพิทักษ์ศิลปาคม ) แล้ว จรันต์ ถาวรนุกูลพงศ์ เป็นคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งที่มีความสามารถและสนใจศิลปะชั้นสูงแขนงนี้ โดยเป็นกำลังสำคัญของวัดในการออกแบบและแกะสลักหนังใหญ่ และถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชน
เพื่อสืบทอดให้มรสพชั้นสูงนี้ยังคงอยู่ต่อไป ทุกวันเสาร์เวลา10.00 น. คณะหนังใหญ่วัดขนอนจะแสดงหนังใหญ่ให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าชมและศึกษา โดยชมฟรี ณ โรงแสดงหนังใหญ่วัดขนอน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ข้อมูลจาก:
1. การสำรวจภาคสนาม 11 กันยายน 2547
2. แผ่นพับประชาสัมพันธ์ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน (เอกสารเผยแพร่เพื่อการอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ)
3. http://www.su.ac.th/html_organizations/watkhanon.asp
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
ลมหายใจที่รวยริน หนังใหญ่ วัดขนอน
เนื่องจากติดภารกิจเลยหายหน้าหายตาไปซะนาน กลัวชาว OK จะลืมว่ามี BG Tuayai อยู่ด้วย เลยต้องแวะมาต่ออายุสมาชิกบล๊อคโอเคเนชั่นซะเรื่องก่อนถูกถอดถอนสิทธิ์ (>.<) ทริปนี้กระผมจะพาทุกท่านเดินทางไปช่วยต่อลมหายใจที่รวยริน จนเกือบสิ้นใจของวัฒนธรรมไทย ที่ชื่อว่า "หนังใหญ่" ที่วัดขนอน ราชบุรี ตามมาครับมา ผมจะพาไป เริ่มต้นการเดินทางจากพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน
หนังใหญ่ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูง เป็นการแสดงที่รวมศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายแขนง ได้แก่ ด้านศิลปะการออกแบบลวดลายไทยเชิงจิตรกรรมที่มีความวิจิตรบรรจง ผสมกับฝีมือช่างแกะสลักที่ประณีต เมื่อแสดงก็จะมีการนำศิลปะทางนาฏศิลป์การละคร ที่เคลื่อนไหวอย่างได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราว และให้อรรถรสทางศิลปะแก่ผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์ การแสดงหนังใหญ่จึงมีคุณค่าทางศิลปะสูง และแสดงถึงอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยได้เป็นอย่างดีแนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ศิลปะและการแสดง หนังใหญ่ วัดขนอน
เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์
จ. ราชบุรี
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา
จ. ราชบุรี
พิพิธภัณฑ์อุทยานธรรมชาติวิทยา
จ. ราชบุรี