พิพิธภัณฑ์ไทยวน วัดนาหนอง


ที่อยู่:
วัดนาหนอง ต.ดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000
โทรศัพท์:
032-207222, 081-7050331,081-5153580
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 08.00 – 18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ไทยวน วัดนาหนอง

ไม่ว่าอย่างไรวัดก็ยังมีความสำคัญต่อชุมชน  ในการทำพิพิธภัณฑ์ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่สืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ  ดังนั้นท่านพระครูสิริคณาภรณ์  เจ้าอาวาสวัดนาหนอง  จังหวัดราชบุรี  จึงได้มีเจตนารมณ์ในการตั้งพิพิธภัณฑ์ไท-ยวนขึ้นมาเพื่อเก็บรักษาวัตถุสิ่งของพื้นบ้านที่นับวันจะสูญหายไปพร้อมกับกาลเวลา
 
ความภาคภูมิใจของหลวงพ่อ  ท่านเจ้าคณะอำเภอ  พระครูสิริคณาภรณ์คือ การได้จัดตกแต่งขบวนของคนไท-ยวน  ได้รับรางวัลชนะเลิศหลายครั้งในงานส่งเสริมวัฒนธรรมไทย  จังหวัดราชบุรี  ในงานจะมีการจัดขบวนทั้งหมด  8   ชนเผ่า  ได้แก่  ไท-ยวน  ลาวโซ่ง  ลาวเวียง  มอญ  กระเหรี่ยง  จีน  ไทยทรงดำ  ไทยพื้นถิ่น     การจัดงานมีในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี  หลวงพ่อได้เล่าว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ขบวนมีความสวยงามและแสดงออกถึงวัฒนธรรมประเพณี  จะต้องกำลังคนถึง  300  คนมาช่วยกัน  ขบวนตัวแทนของคนไท-ยวนจะทำเป็นขบวนแห่นาค
 
ในการดำเนินงาน  หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่า  จัดขบวน  เมื่อปีที่แล้วเป็นตัวแทนของจังหวัดให้ไปแสดงที่สนามธูปเตมีย์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี  เราก็ทำสวยงามมาก...คือว่าเราร่วมมือกัน  ทุกฝ่าย  ผู้บริหาร  ฝ่ายปกครอง  ประชาชนก็ช่วยกัน  การทำงานมันต้องมีแกนกลาง  ถ้าทำเฉพาะเพียงลำพังไปไม่รอด  การได้งบมาสองหมื่นสามหมื่นมันไม่พอหรอก  เพราะว่าเราจะต้องออกเองหลายอย่าง  ทางวัดก็หมดไปหลายหมื่น
 
หรืออย่างการทำพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อบอกว่างบประมาณนั้นได้มาจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด  ปีที่แล้วได้มาแสนกว่าบาท   ก่อนหน้าที่ยังไม่ทำพิพิธภัณฑ์ข้าวของจะกระจัดกระจายหายไปทั้งของวัดและของที่ชาวบ้านเก็บไว้ที่บ้าน  ท่านจึงคิดว่าถ้าได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์จะมีความมั่นคงกว่า  ในการจัดทำป้ายคำอธิบายสิ่งของที่จัดแสดง   ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้เข้ามาช่วย
 
ในเรื่องการทำพิพิธภัณฑ์ของหลวงพ่อ  คุณสุรเดช  อินทรสันติ  ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนาหนองได้กล่าวว่า   หลวงพ่อเป็นคนอยากจะอนุรักษ์  อนุรักษ์ของเก่าไว้  ก็เชิญชวนชาวบ้าน  ชาวบ้านเขามีของเก่าเยอะ  เมื่อก่อนวัดก็มีของเก่าเยอะ  ก็มีสูญหายบ้างอะไรบ้าง  มันเป็นวัดเก่าแก่อยู่แล้วมันก็จะมี  แล้วบางอย่างก็ชาวบ้าน  ชาวบ้านบริจาคเยอะ  เขาก็จะมี  ยังดีนะเมื่อก่อน  มันมีพวกรับซื้อของเก่า  มาแล้วกว้านซื้อตะเกียงเก่าๆ อะไรอย่างนี้  เชี่ยนหมากเก่าๆอย่างนี้  รับซื้อหมด  คนเราอย่างว่า  ได้เงินก็ขายไปเยอะ  ตอนหลังก็มีก็รู้คุณค่า  ไม่ขายแล้วจะเก็บเอาไว้ให้พิพิธภัณฑ์
อย่างกรณีของเกวียน   ปัจจุบันหาได้ยากเนื่องจากเมื่อไม่ได้ใช้  ชาวบ้านเขาก็จะขายกันหมด  เพราะว่าเขาใช้รถในการขนข้าว  ขนไม้ต่างๆ  เกวียนนี้จะหายไปช่วง  40-50  ปี  ปัจจุบันไม้ที่จะทำเกวียนก็ไม่มี   คนก็ทำกันไม่เป็นแล้ว  ที่มีอยู่คนมีเงินเขาจะมาซื้อไปประดับบ้าน  อย่างที่วัดก็จะมีเกวียนเก็บไว้อยู่  2  เล่ม   
 
พวกวัตถุโบราณของวัดก่อนหน้ามีมากกว่านี้   แต่เมื่อสักประมาณยี่สิบปีก่อน  ทางพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรีได้มาขอไป  ทางวัดได้ให้ไป  20-30 ชิ้น  เป็นพวกแผ่นหนังสือ  เกวียน  ผ้าโบราณ  ตะเกียงเจ้าพายุ
 
เมื่อถามถึงกลุ่มคนที่เข้าชม  ผอ.สุรเดช  บอกว่าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแม่บ้าน  เขามาดูงานกันเพราะที่นี่มีศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน  ซึ่งจะมีอาคารใกล้กับพิพิธภัณฑ์  กลุ่มนี้จะมากันเป็นรถทัวร์  ส่วนกลุ่มเด็กนักเรียนจะไม่ค่อยมี   ถ้าจะมีก็ช่วงของการเข้าค่ายยุวกาชาด  หรือมาอบรมปฏิบัติธรรมถือศีลที่วัด  
 
สำหรับเด็กนักเรียนของโรงเรียนวัดนาหนอง  จะมีหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับการทอผ้าจก  ที่นี่มีครูที่มีเชื้อสายไท-ยวน  2  คน  เขาก็ได้ทำหน้าที่การอนุรักษ์วัฒนธรรม  ในเรื่องการทอผ้าจก  ผอ.สุรเดชให้ความเห็นว่าไม่น่าจะหายไป  เพราะว่าเดี๋ยวนี้มีคนทอเป็นกันเยอะเป็นรายได้เสริม   อย่างที่นี่จะเป็นสหกรณ์รวม  เวลาชาวบ้านทอผ้าเสร็จแล้วเขาจะเอามาส่งที่นี่  แต่ละปีก็จะมีเงินปันผลด้วย
 
ในการช่วยเหลือกิจกรรมของวัด  ทางโรงเรียนก็มาช่วยเป็นประจำ  พวกงานประจำปี  งานเทศกาล  งานนักขัตฤกษ์  งานทั่วไป  คือวัดนี้เป็นวัดที่เจ้าคณะอำเภอ  เพราะฉะนั้นทุกหน่วยงานจะมาใช้สถานที่ของที่นี่  มาขอความร่วมมือจากทางวัด  เพราะฉะนั้นก็ช่วยกัน  เวลามีกิจกรรมก็มาร่วม  ชาวบ้านที่นี่เขาก็ให้ความสนใจกันดีเพราะว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน  หลวงพ่อเป็นศูนย์กลางของความช่วยเหลือร่วมมือ
 
ในการมาเยี่ยมชมที่นี่  สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้คือการที่ชาวบ้านและหน่วยงานในชุมชน  ต่างให้ความช่วยเหลือกัน  ทั้งนี้วัดยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเหมือนเมื่อในอดีต  คนไท-ยวนที่นี่   ได้มารวมเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย  และสามารถอยู่ร่วมกับอีกหลายชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน  ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้ละทิ้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง   ในการเก็บรักษาไว้นับวันยิ่งสร้างคุณประโยชน์ให้กับตนเองและชุมชน   
 
การเดินทาง :  การเดินทางไปราชบุรีมีรถประจำทางที่สถานีขนส่งกรุงเทพฯ(สายใต้)รถออกประมาณชั่วโมงละหนึ่งคันเมื่อไปถึงตัวเมืองราชบุรี   ให้เหมามอเตอร์ไซด์รับจ้างหรือรถสามล้อเครื่องไปส่ง  สำหรับรถส่วนตัว  ให้ไปในเส้นทางที่จะไปตำบลดอนแร่  วัดนาหนอง  ระยะทางห่างจากตัวเมืองประมาณ  10 กม.
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน/ถ่ายภาพ 
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  4  เดือนกันยายน  พ.ศ.2552
ชื่อผู้แต่ง:
-