ศูนย์สืบทอดศิลปผ้าตีนจกราชบุรี วัดแคทราย


ที่อยู่:
วัดแคทราย หมู่ 13 ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000
โทรศัพท์:
032-323197,081-7631989
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 08.30-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไมเก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2534
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

หมู่บ้านทอผ้า เมืองราชบุรี

ชื่อผู้แต่ง: วิบูลย์ ลี้สุวรรณ | ปีที่พิมพ์: หน้า 94-96

ที่มา: อสท.

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์สืบทอดศิลปผ้าตีนจกราชบุรี วัดแคทราย

กว่าจะมาเป็นผ้าซิ่นทอมือสักผืนหนึ่ง  เส้นด้ายแต่ละเส้นแต่ละสี  เกี่ยวสลับกันขึ้นลวดลาย  จากเช้าจรดเย็น  ด้วยสองมือของผู้ทอ  ทั้งแรงกายแรงใจ  บวกกับจินตนาการเพื่อให้ได้ผ้าผืนสวย  ผ้าบางผืนทอกันใช้เวลาหกเดือน  บางผืนทอนานนับปี
 
ในอดีตศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจก ราชบุรีแห่งนี้จะมีคนอยู่มากมาย  ทั้งคนทอผ้า  คนมาเรียนการทอผ้าและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมและซื้อสินค้า  แต่มาวันนี้ที่นี่อาจจะดูเงียบเหงาอยู่สักหน่อย  เพราะว่าการทอผ้าจกได้กระจายไปยังชาวบ้าน  ทำให้เกิดร้านค้าและมีศูนย์ทอผ้าอีกหลายแห่ง  แห่งหนึ่งที่ค่อนข้างใหญ่จะอยู่บริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี   ที่นั่นจะมีทั้งคนทอผ้าจกและมีร้านจำหน่ายผ้า
 
แต่ถ้าต้องการทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการทอผ้า   ที่นี่ยังมีเรื่องราวที่เก็บอยู่กับตัวของคุณป้าทองคำ  ยิ่งงามแก้ว  หนึ่งในสองคนที่ยังทอผ้าอยู่ที่นี่เป็นประจำทุกวัน  คุณป้าบอกว่าศูนย์ฯ แห่งนี้  ดร.อุดม  สมพรเป็นคนก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2530  คุณป้าได้มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เริ่มแรก  เมื่อก่อนจะมีการสอนทอผ้าจกกันที่นี่  ตัวคุณป้าเองก็ได้เรียนทอผ้าจากที่นี่เช่นกัน  อาจารย์ที่สอนชื่อ อาจารย์สมบูรณ์  คำยอด  ถึงจะเริ่มเรียนตอนอายุ  50 ปี  แต่คุณป้าก็ไม่เคยท้อ  เมื่อพบว่าเกิดความชอบและใจรัก  คุณป้าจึงทอผ้าตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งปัจจุบันอายุ  72  ปี  
 
คุณป้าบอกว่าก่อนจะมาทอผ้าก็ทำนา  พอหยุดทำนาก็ทำขลุ่ยไปตระเวนขาย  ไปกรุงเทพฯและที่อื่นๆ พออายุมากขึ้นรู้สึกไม่อยากไป  พอได้ทอผ้าจึงได้ทำเรื่อยมา  ผ้าจกผืนที่คุณป้ากำลังทอขณะคุยกันไปเป็นลายโบราณเรียกว่า  ลายโก้งเก้ง  ซึ่งลายโบราณจะมีลายหลักทั้งหมด  9  ลาย  ได้แก่  ลายโก้งเก้ง  ลายดอกเซีย  ลายกาบ  ลายหน้าหมอน  ลายดอกแก้ว  ลายหักนกคู่   ลายโก้งเก้งซ้อนเซีย  ลายกาบดอกแก้ว   ลายแคทราย  
 
โดยที่ลายแคทรายนี้เริ่มมาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้เสด็จมาที่วัดแคทราย  และได้ปลูกต้นแคทราย  อาจารย์อุดม  สมพร ท่านจึงให้คนไปแกะรูปดอกแคทรายมาทำเป็นลาย  
 
นอกจากนี้ยังมีลายประกอบ ได้แก่  ลายดอกข้าวตอก  ลายขอประแจ  ลายกูด  ลายนกคู่กินน้ำฮ่วมเต้า  ลายขอเหลียว  ลายนกเข้าโฮง  ลายนาค  ลายม้า  ลายนก  ลายซะเปา  ลายมะลิเลื้อย  เป็นต้น
 
ในการตั้งชื่อลวดลายการทอ   บางชื่อทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าต้นแบบมาจากไหน มีความหมายอย่างไร  อย่างเช่น  ลายดอกเซีย  คุณป้าทองคำบอกว่าเขาเรียกกันอย่างนี้มาตั้งแต่โบราณ  แต่บางลายก็มีที่มาให้สันนิษฐานได้  อย่างเช่น  ลายกาบ  ลายนี้จะดูคล้ายกับกาบของลำไม้ไผ่  หรืออย่างลายกาบดอกแก้ว  ลายนี้นักวิชาการส่งเสริมอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรม  ได้กำหนดชื่อขึ้นใหม่เป็นลายในตระกูลกาบ
 
ผ้าจกผืนที่คุณป้ากำลังทอ  มีคนมาเห็นและได้วางมัดจำจองไว้แล้ว   เมื่อทอเสร็จให้โทรศัพท์ไปบอกเขา  ถามถึงความถนัด  คุณป้าบอกว่าถนัดทอลายดอกเซีย  แต่ลายอื่นๆก็ทอได้ทุกลาย   การทอในช่วงแรกจะดูแบบจากกราฟที่ติดไว้ตรงระดับสายตา  โดยกราฟนั้นลงลายและระบายสี  เมื่อทอไปสักพักพอเริ่มจำได้ก็ไม่ต้องดูกราฟ  ในการให้สีก็แล้วแต่ผู้ทอหรือความชอบของลูกค้าว่าจะชอบแบบไหน
 
ปัจจุบันผ้าจกราชบุรีมีคนทอเป็นหลายคน  คุณป้าบอกว่าไม่รู้สึกกังวลว่างานทอผ้าพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่จะหายไป  อย่างในครอบครัวของคุณป้าทั้งลูกสาวและลูกสะใภ้ก็ทอเป็น  ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศิลปะการทอผ้าจกคงอยู่คือความนิยมของผู้ซื้อ  
 
คุณป้าเล่าว่าทางโรงเรียนก็ให้การสนับสนุน  โดยมีหลายโรงเรียนจ้างครูไปสอนการทอผ้าจก  หรืออย่างในวันศุกร์โรงเรียนประถมจะให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย  คนไหนจะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องใส่  ถ้าเป็นงานในโอกาสพิเศษ  คนเขาจะนิยมนุ่งผ้าจกกันในวันเข้าพรรษา  งานทอดกฐิน  วันสงกรานต์  วันทำบุญเลี้ยงพระ
 
สำหรับผ้าจกที่ราคาไม่แพงที่เห็นจำหน่ายได้ทั่วไป  คุณป้าอธิบายว่า  เราเรียกผ้าแบบนี้ว่าผ้าทอลายประยุกต์  คนทอจะทอได้เร็วกว่าผ้าลายโบราณ  ผ้าทอลายประยุกต์จะใช้เวลาการทอประมาณ  3-7  วัน  ขณะที่ผ้าทอลายโบราณทอกันหลายเดือนบางทีเป็นปี  สำหรับผ้าทอลายประยุกต์เราจะได้เห็นลายโบราณแทรกอยู่บ้างเป็นบางแถว  ซึ่งคุณป้าได้หยิบผ้าในตู้โชว์สินค้าสำหรับไว้จำหน่ายออกมาให้ดูว่า  ผืนนี้มีลายโก้งเก้ง  ผืนนี้มีลายดอกเซีย  แล้วก็จะมีลายประกอบอย่างเช่นลายปลา  ลายดอกไม้เครือ  บางผืนจะเล่นสีซึ่งจะมีถึง  8  สี  
 
ปัจจุบันแม้ว่าที่นี่นักท่องเที่ยวจะมากันไม่มากนัก  ในแต่ละเดือนน่าจะประมาณ  200-300 คน  แต่คุณป้าบอกว่าที่นี่ขายสินค้าในราคาย่อมเยา  สินค้าจะเป็นชาวบ้านเอามาฝากขาย  สินค้าอีกชนิดที่เป็นฝีมือชาวบ้านและขายดีคือ  ดอกเข็มหรือโมบาย  โดยจะมีคนมาสั่งซื้อคราวละมากมาก  
สำหรับผู้ที่ต้องการความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าจก  และต้องการเห็นการทอผ้าจกลายโบราณที่ขายกันในราคาแพง  ที่ศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจก  วัดแคทราย  ยินดีต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน   เกือบทุกวันคุณป้าทองคำจะมานั่งประจำอยู่กับกี่ทอผ้าอยู่กับเส้นด้ายและลายผ้า  ทีละเส้นทีละลายจนกลายมาเป็นผ้าเต็มผืนไปประดับบนร่างกายของผู้ชื่นชอบ
การเดินทาง :  การเดินทางไปราชบุรีมีรถประจำทางที่สถานีขนส่งกรุงเทพฯ(สายใต้)รถออกประมาณชั่วโมงละหนึ่งคันเมื่อไปถึงตัวเมืองราชบุรี   ให้เหมามอเตอร์ไซด์รับจ้างหรือรถสามล้อเครื่องให้ไปส่ง  สำหรับรถส่วนตัว  ให้ไปในเส้นทางที่ไปตำบลคูบัว  ระยะทางห่างจากตัวเมืองประมาณ  7 กม.
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน/ถ่ายภาพ 
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  5  เดือนมิถุนายน  พ.ศ.2552
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

ศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าตีนจกราชบุรี

ด้วยความตระหนักในคุณค่าและความต้องการในการที่จะอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะผ้าจกของชาวไท-ยวน ให้คงอยู่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาวไท-ยวน ในราชบุรีสืบไป สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดแคทราย นำโดย นายอุดม สมพร ผู้ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวไท-ยวนที่อพยพโยกย้ายจากเมืองเชียงแสน จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจกขึ้นที่ วัดแคทราย หมู่ที่ 13 ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2530 โดยความร่วมมือสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน และองค์การกุศลต่างๆ ทั้งในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดอื่นๆ
ชื่อผู้แต่ง:
-