พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย


ที่อยู่:
วัดพลับพลาชัย ถ.ดำเนินเกษม ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี 76000
โทรศัพท์:
0-3241-0076
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

หนังตะลุงตาป่วนเพชรบุรี

ชื่อผู้แต่ง: เอนก นาวิกมูล | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 5 ฉบับ 51 (พ.ค. 2532)

ที่มา: สารคดี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย

วัดพลับพลาชัยสร้างขึ้นในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ราว พ.ศ.2229 -  2310  ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยบรรดาขุนนางพ่อค้าคหบดีและประชาชน รวมทุนกันสร้างขึ้น วัดพลับพลาชัย เจริญรุ่งเรืองที่สุดในสมัยที่หลวงพ่อฤทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นผู้นำในการวางรากฐานการศึกษาฟื้นฟูศิลปะวรรณกรรม และเป็นผู้ก่อตั้ง หนังใหญ่คณะวัดพลับพลาชัย ที่ขึ้นชื่อลือดังสมัยนั้น 
 
ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูอาทรวชิรธรรม(เชื่อม สิริวณฺโณ)อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย เขียนไว้ว่า “หนังใหญ่ของวัดพลับพลาชัยดังที่สุด เป็นการละเล่นที่มักจะมีคนว่าไปเล่นในงานศพของเจ้านาย ขุนนางหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งในกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง”
 
หนังใหญ่วัดพลับพลาชัยสร้างโดยหลวงพ่อฤทธิ์ อดีตเจ้าอาวาสของวัดพลับพลาชัย (เป็นเจ้าอาวาสระหว่างพ.ศ.2412 – 2462) หลวงพ่อฤทธิ์ในวัยเยาว์ บิดา-มารดาของท่านได้มอบท่านให้เป็นศิษย์ของขรัวอินโข่ง  ในกรุงเทพฯ ทำให้ท่านมีโอกาสเรียนศิลปะ และเมื่ออายุครบบวชท่านได้กลับมาบวชที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เมืองเพชรบุรี และจำพรรษาที่วัดพลับพลาชัย นอกจากจะได้เรียนพระปริยัติธรรมตามที่ผู้บวชพระควรจะเรียนแล้ว ท่านยังศึกษาวิชาแพทย์ต่างๆ จากหลวงพ่อคง(เจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัยในขณะนั้น) โดยเฉพาะการรักษาโรคตา เช่นโรคตาแดง ตาริดสีดวง และตาต้อทุกชนิด จนสามารถผ่าต้อได้ทุกชนิด 
 
หลังจากที่หลวงพ่อคง มรณภาพ ในปี 2412 หลวงพ่อฤทธิ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ในช่วงนั้นนอกจากการรักษาโรคตาแล้ว หลวงพ่อฤทธิ์ยังริเริ่มทำหนังใหญ่ขึ้น โดยท่านได้ระดมลูกศิษย์ด้านงานวิจิตรศิลป์มาช่วยในการทำหนังใหญ่ ในเวลา 3 ปีที่ทำตัวหนังนั้น หลวงพ่อฤทธิ์ สามารถผลิตตัวหนังได้กว่า 200 ตัว โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดพลับพลาชัย เป็นโรงงานฉลุหนังใหญ่  ตัวหนังใหญ่ทั้งหมดฉลุขึ้นมาเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์  หนังใหญ่ทำโดยฝีมือของหลวงพ่อฤทธิ์และบรรดาลูกศิษย์ในตอนนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ หนังเมืองหรือหนังจับ เป็นรูปของตัวละครกับสถานที่ หรือตัวละครสองตัวกำลังแสดงอิริยาบทอยู่ดัวยกัน  และหนังเดี่ยวคือ ฉลุเป็นตัวละครตัวเดี่ยวๆ หลังจากที่ได้ฉลุหนังจนเสร็จและค้นหาลูกศิษย์ที่มีหน่วยก้านดีพอที่จะเป็นคนเล่นหนังใหญ่ได้แล้ว ก็เริ่มการฝึกซ้อมจนเป็นที่โจษขานว่า หนังใหญ่ของหลวงฤทธิ์เล่นงามนักหนา 
 
จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองเพชรบุรี ก็ทรงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองเพชรบุรีสมัยนั้น ไปหาหนังใหญ่มาเล่นถวายเพื่อจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบรอบปีสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์ ณ พระราชวังรามราชนิเวศน์(วังบ้านปืน) ท่านเจ้าเมืองได้เชิญให้หนังใหญ่คณะวัดพลับพลาชัยเล่นถวายหน้าพระที่นั่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2453 เมื่อหลวงพ่อฤทธิ์ได้มรณภาพลง ลูกศิษย์ของท่าน คือหลวงพ่อกร เป็นเจ้าอาวาสต่อ และยังคงมีการสืบทอดเรื่องของการทำหนังใหญ่อยู่บ้าง แต่หลังจากหลวงพ่อฤทธิ์จะมรณภาพได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุไฟไหม้วัดพลับพลาชัยครั้งใหญ่วอดวายไปเกือบทั้งหมด หลวงพ่อกรจึงเร่งบูรณะวัดให้กลับมาสวยงามดังเดิม การต่อยอดในเรื่องของหนังใหญ่จึงได้ชะงักไป 
 
ในวันนี้หนังใหญ่วัดพลับพลาชัยเหลือไว้แต่ตัวหนังและชื่อเสียงเท่านั้น  แต่ด้วยท่านเจ้าอาวาสปัจจุบันเล็งเห็นความสำคัญ และต้องการจะเก็บรวบรวมความทรงจำเกี่ยวกับหนังใหญ่ของวัดพลับพลาชัย   ท่านจึงได้จัดทำพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัยขึ้น ด้วยความร่วมมือและความอนุเคราะห์ของชมรมครูผู้รับบำเหน็จบำนาญของเพชรบุรี อาคารพิพิธภัณฑ์คือภายในวิหารพระคันธารราฐ อีกฟากของถนนบันไดอิฐ (วัดถูกแบ่งออกเป็นสองฟาก จากการตัดถนนบันไดอิฐ) ภายในวิหารมีพระพุทธรูปและรูปจำลองของหลวงพ่อฤทธิ์ หลวงพ่อกร อดีตเจ้าอาวาสของวัด และตัวหนังใหญ่แขวนอยู่บนผนังของวิหารโดยรอบ  โดยถูกจัดแสดงจัดไว้ในกรอบ มีไฟส่องสว่างให้เห็นลวดลายของตัวหนัง  ส่วนใหญ่จะแยกระหว่างหนังจับกับหนังเดี่ยว เนื่องจากหนังจับอาจจะมีตัวละครหรือสถานที่ประกอบอยู่ในตัวหนังด้วย จึงทำให้ขนาดของตัวหนังจับใหญ่กว่าหนังเดี่ยว ซึ่งมีความสูงส่วนใหญ่ประมาณ 1 เมตรเท่านั้น  
 
การดูแลรักษานั้น แยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่จัดแสดงจะอยู่ในกรอบไฟสำหรับจัดแสดงในวิหาร  ตัวหนังอีกส่วนหนึ่งจะอยู่ในอาคารไม้ข้างๆ กับวิหาร หนังทั้งหมดนั้น เป็นหนังที่แกะและสร้างมาตั้งแต่สมัยหลวงพ่อฤทธิ์ เมื่อเกิดไฟไหม้ที่วัดพลับพลาชัย ตัวหนังใหญ่เหล่านี้ถูกย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่วัดคงคาราม จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นกรมศิลปากรก็ขึ้นทะเบียนและเก็บรักษาไว้ เมื่อทางวัดพลับพลาชัยทราบว่า กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมดแล้ว จึงขอความอนุเคราะห์ยืมหนังใหญ่บางตัว มาเก็บไว้ที่วัดเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
 
ผู้เข้าชมส่วนใหญ่คือ ผู้ที่เข้ามานมัสการพระในวิหาร ก็จะได้ชมตัวหนังใหญ่ไปด้วย ในบางครั้งก็มีกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเข้ามาชมเพื่อทำรายงาน  ปีละ 2-3 ครั้ง หลวงพ่อเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ท่านได้มอบหมายหน้าที่การดูเลเปิด-ปิดตัวอาคาร และเป็นผู้นำชมภายในพิพิธภัณฑ์แก่ พระธนภูมิ สัญญโม ด้วยท่านสนใจงานด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ และศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง 
 
ข้อมูลจาก: การสำรวจวันที่ 15 พฤษภาคม 2553
หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูอาทรวชิรธรรม(เชื่อม สิริวณฺโณ)อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ,2537.
ชื่อผู้แต่ง:
-